เพลงที่แนะนำให้เปิดฟังไปพร้อมกับการอ่านบทความฉบับนี้
YAYYOUNG – Do You Feel Like You Have No One to Turn to?
หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นมาได้ทันเวลาพอดีกับที่เรากำลังตั้งคำถามกับความสามารถของตัวเอง เราสะดุดตาตั้งแต่คำโปรยหน้าปก มันคงเป็นคำพูดที่ลึกๆ แล้วเราอยากได้ยินในใจมาตลอด
เรากำลังเจอกับภาวะความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงหลายวันมานี้ เราเพิ่งเริ่มเข้ามาเรียนรู้งานด้านนักเขียนอย่างจริงจัง สิ่งที่รู้สึกได้คือ เราเห็นคนเก่งๆ รอบตัววิ่งผ่านหน้าไปไกลเต็มไปหมด ลองนึกภาพการแข่งรถฟอร์มูลาวันที่แล่นผ่านไปด้วยความเร็วสูง นั่นคือความเก่งของพวกเขาในสายตาเรา
ความรู้สึกกลัว กดดัน และด้อยค่านี้ก็ยังไม่มีท่าทีหายไป ซ้ำแต่จะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกครั้งที่กำลังจะลงมือทำอะไร สถานการณ์ตอนนี้ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Inside Out 2 ที่เรากำลังโดนเจ้าว้าวุ่น (Anxiety) ตัวละครสีส้ม ดวงตาโต ผมยุ่งเหยิง พูดเร็ว และกังวลอยู่ตลอดเวลา เข้ามาบังคับการในจิตใจ สภาพของเจ้าว้าวุ่นตอนนี้คงใกล้จะกลายเป็นพายุลูกใหญ่เข้าไปทุกที
หนทางที่จะพาเจ้าว้าวุ่นกลับไปนั่งจิบกาแฟอุ่นๆ บนโซฟาสีแดงนุ่มๆ คงเป็นการหาพื้นที่ไว้ฮีลใจ อย่างหนังสือเล่มนี้ที่กำลังโอบกอดเราว่า “เชื่อเถอะ เธอทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว”
กำแพงทุนนิยม
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องพิสูจน์คุณค่าของตัวเองในโลกทุนนิยม ต้องเป็นอะไรบางอย่างให้ได้ หากไม่ได้รับการยอมรับความสามารถก็จะกลายเป็นทำเงินไม่ได้ และถูกจัดอยู่ในขอบเขตของการไร้ความสามารถไปเสียอย่างนั้น
การติด ‘ราคา’ ให้กับทุกสิ่ง รวมไปถึงเวลาและความพยายามของเรา สังคมทุนนิยมเช่นนี้บีบบังคับให้เราต้องรักษาพรสวรรค์ที่คิดว่าตัวเองทำได้ดีเอาไว้ แต่ความยากคือ เมื่อเปรียบเทียบสิ่งที่ทุ่มเทลงไปกับสิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำได้ดีแล้ว กลับพบว่าไม่ได้ผลลัพธ์เท่ากับความพยายามนั้น (ไม่มีราคา) สุดท้ายเมื่อสร้างมูลค่าในแนวคิดทุนนิยมไม่ได้ เวลาและความตั้งใจที่ทุ่มเทไปจึงสูญเปล่า
การเปรียบเทียบ การโทษตัวเอง หลอมรวมเข้ากับเงินทุนทำให้เราลืมแก่นแท้ของชีวิต แก่นแท้ของชีวิตอยู่ที่การให้ความหมายว่า เราวางชีวิตตัวเองอย่างไร หลายคนต่างใช้ชีวิตด้วยมุมมองในสิ่งที่ตัวเอง ‘ต้องไขว่คว้า’ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดว่าตัวเอง ‘กำลังตามหา’ คุณค่าแบบไหน บางคนอาจให้คุณค่ากับความสุขของครอบครัวเป็นหลัก บางคนอาจมองว่า ความมั่นคงเป็นคุณค่าของชีวิต หรือบางคนอาจคิดแค่ว่า การดูแลตัวเองให้ดีและใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ก็เป็นคุณค่าสูงสุดแล้ว
สิ่งที่ คิม ซังฮยอน (Kim Sang-Hyun) ต้องการจะสื่อคือ การรู้ว่าตัวเองตามหาคุณค่าแบบไหน จะได้ช่วยให้ไม่ต้องเอาความหมายของชีวิตไปผูกไว้กับบรรทัดฐานของใคร หากมีความคิดว่าอยากจะเป็นอะไรบางอย่าง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การครุ่นคิดอย่างละเอียดว่า เราทำอะไรได้ มอบอะไรให้ได้ และพยายามสร้างความสามารถนั้นอย่างสม่ำเสมอ หากโน้มน้าวตัวเองได้ว่าเรามีความสามารถ เราก็จะสามารถโน้มน้าวคนอื่นได้เช่นกัน อย่าล้มเลิกเพียงเพราะทำเงินไม่ได้หรือเราด้อยกว่าหากเทียบกับเหล่าผู้มากความสามารถในโลกทุนนิยมนี้ สุดท้ายแล้ว ทุกความพยายามของเราก็นับว่าเป็นการทิ้งร่องรอยความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต เพียงเท่านี้ก็เป็นวิธีการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว
ผลิบานตามกาล
“ถึงใครบางคนจะเป็นดอกซากุระที่บานในฤดูใบไม้ร่วง แต่เราจะบอกว่านั่นไม่ใช่ดอกซากุระได้หรือ ถึงใครบางคนจะเป็นดอกซากุระที่บานในฤดูใบไม้ร่วง แต่เราจะบอกว่านั่นไม่สวยได้หรือ เช่นเดียวกับที่ไม่ว่าดอกซากุระจะบานเวลาไหนก็ยังคงเป็นดอกซากุระ”
ซังฮยอนใช้เวลาบานของดอกซากุระเป็นสัญญะ สื่อถึงช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ของแต่ละคน ปกติแล้วซากุระบานในฤดูใบไม้ผลิ หลังผ่านแสงแดดร้อนแรง ผ่านพายุลมหนาว แล้วสัมผัสแสงแดดอันอบอุ่น ดอกซากุระจะตัดสินใจได้ว่า นั่นเป็น ‘เวลาที่จะเบ่งบาน’ ทว่าไม่ใช่ทุกดอกซากุระจะบานพร้อมกันหมด หากปีไหนมีพายุโหมกระหน่ำ ซากุระจะสับสนแล้วเข้าใจผิด คิดว่าแสงแดดในฤดูใบไม้ร่วงเป็นสัญญาณของการผลิบาน ซังฮยอนทำให้เราคิดถึง ‘ความเร็วของตัวเราเอง’ ไม่ว่าจะดอกซากุระหรือมนุษย์ เราย่อมมีช่วงเวลาที่หวาดหวั่น แต่สุดท้ายแล้ว ช่วงเวลาของความกลัว ความกังวล และความเจ็บปวดเหล่านั้นก็จะจบลง
ก่อนหน้านี้เราไม่เชื่อในความเร็วของตัวเอง เวลาเจอคนเก่งๆ ก็เอาแต่คิดว่า ทำไมถึงไม่เก่งได้อย่างเขา พอคิดอย่างนั้น เราก็เอาแต่วิ่งตามความเร็วของคนอื่น เพราะกังวลที่รู้สึกช้ากว่าคนอื่น เหมือนเราจะทำไม่ดีเท่าคนอื่น แต่สุดท้ายก็มีแต่เราที่เหนื่อยและรู้สึกแย่กับตัวเอง สิ่งที่เราจะทำให้กับตัวเองได้ มีเพียงการตามหาความเร็วในแบบของตัวเองให้เจอและไม่หักโหมเกินไป เพราะต่อให้ช้าแต่เราก็กำลังพยายามอยู่ ขอแค่เชื่อมั่นในขั้นตอนของตัวเอง และในที่สุดความตั้งใจที่เรามีจะนำพาความสำเร็จมาให้ในสักวัน
มนุษย์ว้าวุ่น
ว่าด้วยเรื่องความกลัว กลัวผิดหวัง กลัวเสียใจ กลัวการด้อยค่า กลัวการตัดสิน จึงเลือกที่ ‘หยุด’ ตัวเองจากการทำอะไรก็ตามที่จะพาไปถึงจุดนั้น
“ผู้คนที่ลดคุณค่าของตัวเองมักจะพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในชีวิต” คำพูดหนึ่งของ จอร์แดน บี. ปีเตอร์สัน (Jordan B. Peterson) อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักเขียนที่ซังฮยอนหยิบยกขึ้นมากลางหน้ากระดาษ เขาอยากให้เราเข้าใจมากขึ้นด้วยการสลับตำแหน่งคำใหม่
“ผู้ที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของชีวิตจะยิ่งเห็นคุณค่าของตัวเองลดลง”
ใช่ เขาพยายามจะสื่อว่า คนที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบมากเท่าไร ก็จะยิ่งเห็นว่าตัวเองทำไม่ได้มากเท่านั้น สิ่งนี้มาให้เห็นในรูปแบบของการผัดวันประกันพรุ่ง เป็นการผัดวันออกไปเรื่อยๆ ยิ่งเราปล่อยทิ้งไว้ ความกังวลก็จะยังไม่จางหาย แต่จะก่อตัวไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด สุดท้ายกลายเป็นความรู้สึกผิดที่กัดกินอยู่ในใจ
คล้ายกับอาการที่เรารู้จักกันดีคือ โรคนิยมความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) เป็นอาการที่คนเราหมกมุ่นในความสำเร็จที่ตั้งไว้สูง และพยายามทำทุกทางจนกว่าผลลัพธ์จะออกมาไร้ที่ติ พอไม่ได้ตามอย่างที่คาดหวังก็จะผิดหวังและคิดว่าตัวเองเก่งไม่มากพอ
เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้รู้จักกับอาการที่คาบเกี่ยวกับโรคนิยมความสมบูรณ์แบบ ที่มีชื่อว่า Atelophobia อาการที่คิดว่า ตัวเองดีไม่พอหรือกลัวความไม่สมบูรณ์แบบ โดยจะพยายาม ‘หลีกเลี่ยง’ ทุกหนทางที่นำไปสู่ความผิดพลาดที่จินตนาการไว้ พออ่านแล้วก็นึกถึงตอนที่เราต้องลงมือเขียนงานชิ้นแรก เป็นงานที่ต้องใช้ภาษาแบบพรรณนาโวหาร ยอมรับเลยว่าเป็นงานที่ยาก เพราะเราไม่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาสละสลวยและเรื่องที่เขียนก็เป็นเรื่องไกลตัว
หน้าที่ของงานชิ้นแรกวางบนบ่าของเราอย่างหนัก เรากลัวการตัดสินจากคนภายนอก กลัวว่าเขาจะมองว่าเราไม่เก่ง จนถึงขั้นที่ว่าไม่กล้าแม้แต่จะพิมพ์ตัวอักษรสักตัวบนหน้ากระดาษ แต่หลังจากที่ตกอยู่ในความพะวงอยู่นาน สุดท้ายก็กล้าเขียนจนสำเร็จ ทั้งจากคนรอบข้างที่เข้ามาช่วยเหลือ และตัวเองที่เชื่อมั่นว่าต้องทำได้
อย่างที่หนังสือเล่มนี้กำลังพยายามบอกว่า การเห็นคุณค่าในตัวเองขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของเรา แม้จะมีทางเลือกอย่างง่ายคือการหลีกหนีความจริง แต่จำไว้ว่ายังมีเส้นทางที่เราเดินหน้าเผชิญความกลัวนั้นได้ โดยที่ต่อให้ล้มเหลวแต่เราก็ได้รับอะไรบางอย่างกลับมา แค่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะต้องทำได้ แล้วลงมือทำตอนนี้เลย อย่างน้อยก็มีตัวเราที่ยืนรอปรบมืออยู่ข้างหลังม่านนั้น
แค่อยากเอาชนะ
วิธีแรกเริ่มที่จะเอาชนะความกังวลอย่างสุดขีดและความไร้เรี่ยวแรงของเราได้ คือการรู้เท่าทันความรู้สึกตัวเอง เรารู้สึกอย่างไร เราคิดอะไรในใจ ค่อยๆ ทำความเข้าใจและอนุญาตให้ความกลัวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเรา แม้ความกลัวจะไม่ได้จางหายไปไหน แต่เราจะรู้วิธีรับมือและทนกับมันได้มากขึ้น
เมื่อพื้นฐานจิตใจเราพร้อม ‘คิดบวก’ คือขั้นต่อมาที่ซังฮยอนบอก แน่นอนว่าหลายคนน่าจะเข้าใจกันดีว่า การคิดบวกต่อเรื่องราวในชีวิตช่วยเรามากแค่ไหน ถ้าเจอเรื่องยากลำบาก ก็แค่คิดว่าจะเอาชนะไปได้อย่างไรดี หรือหากพยายามจนถึงที่สุดแล้วยังไม่ได้อีก ก็แค่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น วิสัยทัศน์ที่มองว่า ไม่ว่าอย่างไรชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อยังคงเป็นสิ่งสำคัญ
ภาพตัวเราที่หยุดนิ่งพร้อมความคิดที่ฟุ้งซ่าน ซังฮยอนเชื่อว่า ‘การออกไปตากแดด เดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย ดื่มน้ำเยอะๆ แล้วนอนหลับให้เพียงพอ’ คือการจ่ายยาที่ดีที่สุดในการกำจัดวงจรอุบาทว์นี้ การทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นกิจวัตรประจำวันไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตมีวินัย แต่ยังทำให้ใจที่ไร้เรี่ยวแรงกลับมามีความมั่นใจว่า เราจะทำสำเร็จได้ทุกอย่าง
อีกสิ่งหนึ่งคือ ‘การจดบันทึก’ ที่เมื่อไม่นานนี้เราเพิ่งเริ่มลงมือทำ ส่วนใหญ่เลือกเขียนวันที่มีโมเมนต์ดีๆ หรือบางวันที่รู้สึกแย่ก็แค่ระบายความในใจออกไป สิ่งที่น่าสนใจคือ เราฝึกไตร่ตรองการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้น อย่างที่ซังฮยอนบอก ‘การจดบันทึกมีพลังอันยิ่งใหญ่’ เราเริ่มเข้าใจมันแล้ว
แม้หนังสือเล่มนี้บอกให้พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก แต่เราเห็นว่า การมีคนพึ่งพาได้ในวันที่โลกดูเหมือนจะมืดมนก็สำคัญ ผู้เขียนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ ส่วนหนึ่ง ไม่สิ เกือบจะทั้งหมดที่ผ่านมาได้ ก็เพราะผู้คนรอบข้างที่ยื่นมือเข้ามาและเปลี่ยนวิธีคิดเราได้อย่างน่าแปลกใจ ‘เปลี่ยนจากความคิดลบว่าตัวเองไม่เก่ง เป็นเราจะเก่งขึ้นจากเรื่องที่ไม่เก่งแทน’
ถึงแม้หนังสือบอกว่าแบ่งเป็น 3 บท ในแต่ละบทก็มีประเด็นซ้ำกันอยู่บ้าง ทำให้โดยรวมแล้ว หนังสือมีเพียงไม่กี่ประเด็นที่ต้องการจะสื่อ ทว่าในทุกประเด็นก็ล้วนทำงานกับมนุษย์ขี้กังวลอย่างเราได้อย่างน่าพึงพอใจ
ตลอดระยะทางของการเป็นนักเขียน เราเผชิญกับความกังวลมากมาย แม้แต่บทความนี้เราก็ยังกังวลว่าจะทำได้ดีหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผลสำเร็จของความพยายามคือ เราเขียนบทความมาได้จนถึงตอนจบ และเราก็หวังว่าผู้อ่านที่อ่านมาจนถึงตอนนี้ หากมีความกังวลใดในใจ ขอให้คุณพยายามเชื่อมั่นในตัวเองให้ถึงที่สุด เหมือนกับเราที่กำลังพยายามอยู่เช่นกัน
อ้างอิง
คิม ซังฮยอน. (2567). เชื่อเถอะ เธอทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว. สำนักพิมพ์สปริงบุ๊กส์
วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ. (ม.ป.ป.). Perfectionist เมื่อชีวิตนิยมความสมบูรณ์แบบ. https://shorturl.at/YBgNn
Aksorn Education. (2566, 7 มิถุนายน). ไม่กล้าลงมือทำอะไร เรากำลังเป็น Atelophobia อยู่หรือเปล่า?: This is Attanai’s Podcast[Video]. YouTube.
https://youtu.be/fbGnrQJ5pSo?si=0xpvwy3BAm3kgRZi
Doctor Anywhere Thailand. (2567, 26 มิถุนายน). ความกังวลในโลกแห่งสีสัน รู้จักจิตใจที่กังวลของเรา ผ่าน ‘Inside Out 2’. https://www.doctoranywhere.co.th/post/anxiety-in-a-colorful-world-get-to-know-our-worried-minds-through-inside-out-2
Fact Box
- หนังสือแปลเกาหลี เชื่อเถอะ เธอทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว (You’re the One Who Does Everything in the End), คิม ซังฮยอน เขียน, มินตรา อินทรารัตน์ แปล, สำนักพิมพ์สปริงบุ๊กส์, จำนวน 145 หน้า, ราคา 179-225 บาท
- คิม ซังฮยอน เป็นนักเขียนและนักบรรยาย บริหารสำนักพิมพ์ฟิล์มและคาเฟ่คงมย็องในย่านย็อนนัม เจ้าของผลงานหนังสือ อย่าลืมว่าเรามีวันนี้ได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น