เราอยากขอให้คุณลองนึกถึง 5 คำ หรือวลีแรกที่แวบเข้ามาในหัว เมื่อนึกถึงภาพ ‘ผู้สูงอายุ’ แล้วลองเขียนลงกระดาษ

นี่คือโจทย์แรกที่ เบกกา เลวี (Becca Levy) ผู้เขียนหนังสือ Breaking the Age Code สูงวัยอย่างสวยงาม มอบให้แก่ผู้อ่าน แม้เป็นโจทย์ที่ใช้เวลาคิดไม่นาน แต่คำตอบของคุณอาจมีนัยแฝงอยู่มากมาย

คำถามต่อไปคือ หนังสือเล่มนี้กำลังจะบอกอะไรกับเรา

“ผู้สูงอายุที่มีทัศนคติค่อนไปทางบวกเกี่ยวกับความชรา มีสมรรถภาพทางกายและการรู้คิดดีกว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติค่อนไปทางลบ พวกเขามีโอกาสฟื้นตัวจากความบกพร่องรุนแรงสูงกว่า ความจำดีกว่า เดินได้เร็วกว่า และกระทั่งอายุยืนกว่า” นี่คือหลักใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับ

เบกกา เลวี เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิทธิพลของความเชื่อเกี่ยวกับการเจริญวัยต่อผู้สูงอายุ เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล และยังเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในโครงการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดวัยให้กับองค์การอนามัยโลก ในหนังสือเล่มนี้เธอจะพาเราไปไขความลับของวิทยาศาสตร์วัยชรา และจิตวิทยาแห่งการสูงวัย เพื่อบอกเราว่าการอายุยืนไม่ได้ยากอย่างที่คิด รวมไปถึงวิธีจัดการกับทัศนคติเชิงลบต่อวัยชราด้วย

I.

“ผู้ที่มีมุมมองเชิงบวกมากเกี่ยวกับความชราโดยเฉลี่ยแล้วอายุยืนกว่ากลุ่มที่มีทัศนคติเชิงลบถึง 7.5 ปี” ผลการค้นพบอันน่าตื่นเต้นของเบกกาบอกเราเช่นนี้ 

เบกกานำข้อมูลจาก ‘การศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับภาวะสูงวัยและการเกษียณอายุในโอไฮโอ’ ที่เก็บข้อมูลความคิดเกี่ยวกับวัยชราของคนอายุเกิน 50 ปีในเมือง ที่ติดตามผลตลอด 20-30 ปีของการศึกษา มาเทียบกับ ‘ดัชนีการตายแห่งชาติ’ ที่เก็บข้อมูลอายุขัยของชาวอเมริกันไว้ ทำให้ได้ผลสรุปข้างต้นซึ่งกำลังบอกว่า ในทางหนึ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับวัยก็เป็นตัวกำหนดอายุขัยของเราได้มากกว่าอิทธิพลทางเพศ เชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ และสุขภาพเสียอีก 

ฉันนึกถึงวลีไทยๆ ที่ว่า ‘แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน’ เพราะในกรณีนี้ทัศนคติเกี่ยวกับวัยของคุณอาจ ‘พราก’ หรือ ‘เพิ่ม’ เวลา 8 ปีในชีวิตของคุณได้เลย 

เบกกาสนใจปัจจัยที่ควบคุมได้อย่าง ‘ทัศนคติ’ เธอจึงพุ่งเป้าไปที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นประเทศที่ผู้คนอายุยืนมากเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

นี่เป็นหนึ่งในข้อสงสัยของเบกกา เธอได้รับทุนตอนเรียนปริญญาเอกให้ไปศึกษามุมมองของคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับการเจริญวัยว่าเป็นอย่างไร และเธอก็ได้พบกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการอายุยืนนี้ นอกเหนือไปจากเรื่องพันธุกรรม นั่นคือ ‘ความเชื่อทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับวัยชรา’

การศึกษาของเธอบ่งชี้ว่า ความเชื่อทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับวัยชราของฝั่งตะวันออกนั้นสร้างทัศนคติเชิงบวกให้ผู้สูงอายุมากกว่าฝั่งตะวันตก เช่น ในประเทศญี่ปุ่นมีการเฉลิมฉลองให้คนที่อายุยืนที่สุดในชุมชนทุกๆ ปี ทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่กันเป็นครอบครัวขยาย ทำให้ผู้คนหลากหลายวัยได้อยู่ด้วยกันและมีปฏิสัมพันธ์กัน ผู้สูงวัยแบ่งปันประสบการณ์และเป็นต้นแบบที่ดีให้คนหนุ่มสาว นี่จึงทำให้ผู้สูงวัยเองมีทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับตน และคนอายุน้อยก็มองเห็นภาพตัวเองตอนสูงวัยในทางบวกเช่นกัน

ต่างไปจากฝั่งตะวันตก ในสหรัฐอเมริกา ผู้คนอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวและมีแนวคิดพึ่งพาตัวเองสูงกว่า นั่นทำให้พวกเขาไม่มีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับคนสูงวัยเท่าไร คุณย่าของเบกกาอายุยืนมากและแข็งแรงอย่างเหลือเชื่อ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอสะดุดล้มกล่องในร้านขายของชำ แต่คุณย่าไม่ได้รับคำขอโทษ แถมเจ้าของร้านยังบอกว่า “ไม่ใช่ความผิดของผมที่คนแก่ล้มอยู่บ่อยๆ” ตั้งแต่นั้นคุณย่าไม่มั่นใจในร่างกายของตัวเอง อะไรที่เคยทำได้กลับไม่กล้าทำ และใช้เวลาอยู่นานกว่าคุณย่าจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

เห็นได้ชัดว่า ‘ความเชื่อทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับวัย’ นั้นสร้างพลังได้มากเพียงใด

ด้วยเหตุนี้ผู้คนในแดนอาทิตย์อุทัยจึงมีแนวโน้มอายุยืนอย่างเปี่ยมสุขมากกว่ามนุษย์ในเมืองลุงแซมนั่นเอง

II.

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เราบางกลุ่มมีความฝันและพยายามไขว่ขว้าความเป็นอมตะ เห็นได้จากภาพยนตร์มากมายที่ว่าด้วยการออกตามหาและแย่งชิงยาอายุวัฒนะ น้ำพุแห่งความเยาว์วัย ไปจนถึงศิลาอาถรรพ์ หรือหากมองในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่นานมานี้นักธุรกิจรายหนึ่งก็เพิ่งเข้ากระบวนการชะลอวัยด้วยพลาสมาจากลูกชายของตัวเอง 

เห็นๆ กันอยู่ว่ามนุษย์ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ให้นานขึ้น และแม้ว่าปัจจุบันเราจะมีอายุยืนกว่าเมื่อหลายพันปีก่อนมาก แต่สิ่งที่ตามมาจากความยืดยาวของอายุนี้กลับตรงข้ามกัน

“แทนที่จะมองว่าการที่คนอายุยืนยาวทั่วโลกเป็นชัยชนะที่มนุษยชาติใฝ่ฝันมานานหลายพันปี ส่วนใหญ่กลับมองว่าเรื่องนี้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเป็นภาระแก่ประชากรโลก” เบกกาอธิบายว่า เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่ผู้มีอำนาจกล่าวโทษว่า ปัญหาเศรษฐกิจเกิดจากจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะโทษความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากคนไม่กี่คนที่กุมเม็ดเงินมหาศาลไว้ในกำมือ

และความคิดเหล่านี้เองก็พัฒนาไปสู่ ‘การเหยียดวัย’ (Ageism) ที่แนบเนียนอยู่ในสังคมจนไม่ทันสังเกต

คำว่า ‘ส่อแววสูงวัย’ (Senior Moment) จากหนังสือเล่มนี้จะอธิบายว่า “ไม่ว่าเราจะคิดว่าตัวเองเชื่ออะไร พวกเราทุกคนต่างก็มีอคติโดยไม่รู้ตัว” เพราะภาพของผู้สูงอายุในสื่อต่างๆ มักฉาย ‘แวว’ ความขี้หลงขี้ลืม งกๆ เงิ่นๆ เปราะบาง สมรรถภาพร่างกายถดถอย และห่างไกลเทคโนโลยี ซึ่งบางทีฉันเองก็คิดเช่นนี้ 

เรามักคิดว่าพฤติกรรมและอาการเหล่านี้เป็น ‘เรื่องธรรมดา’ ของคนสูงวัย จนลืมไปว่ามีเหตุผลตั้งมากมายที่อาจเป็นต้นตอที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องอายุ คิดง่ายๆ เช่นว่า หากคนวัยหนุ่มสาวมีอาการเช่นนั้น พวกเขาคงไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะตัวเองแก่ แต่เขาอาจจะหลงลืมเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้สนใจตั้งแต่แรกหรือเป็นแค่ปรากฏการณ์ทางความคิดที่เกิดได้กับคนทุกวัย ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุทุกคนจะหลงลืม เบกกาเคยเจอผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าและจดจำเห็ดหลายร้อยแบบได้อย่างแม่นยำ ไปจนถึงท่องบทนิยายทั้งเล่มได้ก็มี เช่นเดียวกับเรื่องเทคโนโลยี ลองคิดกลับกันว่า ให้คนหนุ่มสาวไปนั่งพิมพ์ดีดก็อาจจะได้ภาพที่ใกล้เคียงกับภาพจำของผู้สูงอายุที่เล่นโทรศัพท์ไม่เก่ง นั่นเป็นเพราะความไม่คุ้นชินที่ต้องอาศัยเวลาทำความเข้าใจต่างหาก ไม่ได้เกี่ยวกับวัยเสมอไป

วิธีแก้จากต้นตอคือการเปลี่ยนความคิดและล้างทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับวัยเหล่านี้ซึ่งอาจนำไปสู่การเหยียดวัย รวมไปถึงระวังคำพูดอย่างเช่น ‘สาวน้อย’ ‘ดูไม่เปลี่ยนไปเลย’ หรือ ‘แก่วัยไม่แก่ใจ’ ซึ่งอาจกลายเป็น ‘พลังบวกเชิงลบ’ ที่แม้ผู้พูดอาจพูดด้วยความปรารถนาดี แต่ก็แฝงนัยของการพยายามปฏิเสธความแก่ไว้เช่นกัน

ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือการหมั่นสังเกตสื่อต่างๆ รอบตัวเราว่า ฉายภาพผู้สูงวัยในเชิงบวกหรือลบ และคิดว่าใครจะได้ประโยชน์จากภาพเหมารวมของคนสูงวัยเหล่านี้ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาวที่โฆษณาอยู่บนรถเมล์ หรือสบู่ดับกลิ่นแก่ที่อาจจะไม่ต่างจากสบู่กลิ่นหอมอื่นๆ ก็ได้ เพราะยิ่งเราเห็นการเหยียดวัยที่แฝงอยู่ได้มากเท่าไร ก็จะลบล้างอคติของเราได้มากเท่านั้น

เบกกาบอกว่า การฝึกสังเกตสื่อพวกนี้ก็เหมือนมุกตลกเรื่องปลาน้อยกับปลาอาวุโส ปลาน้อยไม่รู้จักน้ำ และไม่รู้ว่าพื้นที่ที่ตัวเองแหวกว่ายอยู่นั้นเต็มไปด้วยน้ำ เมื่อปลาอาวุโสบอกให้รู้เข้า ตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าปลาน้อยจะมองไปทางใดก็เต็มไปด้วยน้ำเสียหมด

หนังสือเล่มนี้ของเบกกาจะบอกข้อเท็จจริงของความเชื่อเหมารวมผิดๆ เกี่ยวกับวัย รวมถึงวิธีสังเกตการเหยียดวัยเอาไว้มากมาย และยิ่งคุณเข้าใจกลไกของมันมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสต่อต้านการเหยียดวัยได้มากเท่านั้น

III.

เบกกาชวนให้เราสังเกตว่า การออกมาเรียกร้องความไม่เท่าเทียมทางอายุนั้นยังพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและความหลายหลายทางเพศ แม้ว่าประเด็นเรื่องผู้สูงอายุและการเหยียดวัยจะเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างอะไรกับสำนวน ‘ช้างในห้อง’ (Elephant in the room) เลยก็ตาม 

แต่ข้อดีหนึ่งคือเราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับวัยของตัวเองให้เห็นถึงด้านดีของการสูงวัยได้ เสมือนว่าเรากำลังเป็น ‘ผู้สูงอายุฝึกหัด’ อยู่ตลอดเวลา

เบกกาเชื่อว่า เราทุกวัยสามารถทลายความเชื่อเชิงลบเกี่ยวกับวัยชราได้ และผู้สูงอายุเองก็ออกมาตอบโต้และช่วยลบล้างมุมมองเชิงลบได้เช่นกัน 

หนังสือสูงวัยอย่างสวยงาม เล่มนี้ได้ย้ำเตือนผู้อ่านอยู่ตลอดเวลาว่า แค่คิดบวกเกี่ยวกับวัยชราชีวิตเราก็อาจยืนยาวขึ้นได้ แข็งแรงขึ้นได้ และอาจมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยทางพันธุกรรมเสียอีก 

และในเมื่อวันหนึ่งพวกเราทุกคนก็ต้องเข้าสู่ช่วงวัยแห่งความชรา ซึ่งเราสามารถกำหนดช่วงวัยนั้นได้ด้วยทัศนคติของเรา โจทย์สำคัญก็คือคุณอยากเป็นคนแก่แบบไหน

ขอให้คุณคิดถึง 5 คำหรือวลีที่แวบเข้ามาในหัว เมื่อนึกถึงภาพ ‘ผู้สูงอายุ’ แล้วเขียนลงกระดาษ… อีกครั้ง

Fact Box

Breaking the Age Code สูงวัยอย่างสวยงาม, ผู้เขียน: Becca Levy, ผู้แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล, บรรณาธิการ: ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์, สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป จำนวนหน้า 336 หน้า, ราคาปก 365 บาท

Tags: , , , ,