1.

ไม่นานมานี้ ประเด็นความสนใจของผู้คนในสังคมไทยต่างจับจ้องไปยังอดีตพระหนุ่มชื่อดังแถวภาคใต้ ที่ทำผิดหลักพระวินัยจนต้องโทษอาบัติปาราชิก เพราะถูกแฉว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสีกา ด้วยความมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นพระนักเทศน์ บรรดานักสืบโซเชียลฯ จึงลงมือสืบหาภูมิหลังต่างๆ นานา ก่อนจะพบกับคลิปสั้นคลิปหนึ่ง ที่พระรูปดังกล่าวกำลังเทศนาสอนเยาวชนให้มุ่งมั่นตั้งใจกับการเรียน อย่าออกมาชูสามนิ้วเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะเด็กยังไม่ประสีประสาต่อโลก หุงข้าวเป็นหรือยังก็ไม่รู้ (แต่ที่แน่ๆ คืออดีตพระหนุ่มคงไม่กล้าจับไมค์ไปสั่งสอนใครอีกนานโข)

ขณะที่ผู้คนยังสนใจกับภูมิหลังว่า อดีตพระหนุ่มรายนี้แอบไปมีความสัมพันธ์กับสีกาได้อย่างไร ในใจของใครหลายคนคงยังครุ่นคิดถึงประเด็นว่า ‘จริงหรือที่ศาสนาไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง’ ในเมื่อเราเคยเห็นบรรดาผู้ที่ยกยอตัวเองว่าเป็นพลเมืองตื่นรู้ ออกมาเดินขบวนเป่านกหวีดไล่รัฐบาล พร้อมกับพระสงฆ์ที่มีบทบาทเหมือนแกนนำม็อบ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อความสงบสุขของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ผิดไปจากกิจของสงฆ์หรือพระธรรมวินัย

แต่กับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเมื่อปี 2563 มีพระสงฆ์และสามเณรจำนวนไม่น้อยออกมาร่วมเดินขบวน ทวงถามความเป็นมนุษย์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังฉีดน้ำแรงดันสูง ไปยังนักเรียนนักศึกษาและผู้ชุมนุม ทว่ากระแสตอบรับที่ได้จากพลเมืองตื่นรู้ครานั้นกลับเป็นการด่าทอ ติติงว่านี่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ บ้างก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เข้าวัดกราบไหว้สักการะสิ่งที่ตนนับถือต่อไป ชนิดไม่ตั้งคำถามหรือเอะใจใดๆ กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

คำถามข้างต้นเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวเรื่อยมา จนกระทั่งมีโอกาสได้หยิบหนังสือ ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง ของ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ขึ้นมาอ่าน พลันรู้สึกดีใจเล็กๆ เสมือนการได้เพื่อนขี้สงสัยอีกรายมาร่วมสนทนาหาคำตอบในประเด็นเดียวกัน

2.

หนังสือ ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง เป็นการนำบทความจากนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ผี-พราหมณ์-พุทธ ที่อาจารย์คมกฤชเคยเขียนไว้ มาร้อยเรียงประเด็นใหม่ให้เข้าใจง่ายตามบริบทสัมคมไทย ด้วยการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองผ่าน 3 หัวข้อใหญ่ กับอีก 1 หัวข้อย่อย ได้แก่ 

  1. พุทธธรรมกับการเมือง 
  2. พราหมณ์-ฮินดูกับการเมืองและความศักดิ์สิทธิ์ 
  3. ไสยศาสตร์กับการช่วงชิงความหมายในการเมืองไทย 

และหัวข้อเสนอแนะส่งท้าย ‘ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง’ ที่ชวนพินิจพิจารณาว่า ถึงคราวแล้วหรือยังที่ควรปฏิรูปศาสนาให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยไปพร้อมๆ กับการขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

อาจารย์คมกฤชชวนตั้งคำถามถึงเนื้อแท้ของทุกศาสนา ที่จะให้ตอบเร็วๆ คงหนีไม่พ้นการทำความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่หากมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่าง 6 ตุลาคม 2519 ศาสนากลับเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแจ่มแจ้ง เมื่อ ‘พระกิตติปัญญาคุณ’ หรือ ‘พระกิตติวุฑโฒ’ ออกมาตอบคำถามสื่อที่ว่า “การฆ่าฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์บาปไหม?” ซึ่งอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ตอบว่า “ผิดน่ะผิดแน่ แต่ผิดน้อย เพราะเป็นการฆ่าที่ได้บุญจากการมีส่วนทะนุบำรุงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

เมื่อพินิจพิจารณาดูแล้ว แทบจะผิดต่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาทุกบรรทัด แถมยังเป็นความคิดยุยงส่งเสริมให้เกิดการเข่นฆ่า แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพลเมืองฝ่ายขวาจัด ณ เวลานั้น ต่างหยิบอาวุธใช้กำลังฆ่านักศึกษาผู้มีความคิดเห็นต่างราวกับผักปลา เพียงเท่านี้ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลระหว่างศาสนากับการเมืองไทย ที่พระคุณเจ้าหลายรายน้อมนำหลักธรรมคำสอนอันผิดเพี้ยนมาชี้นำประชาชน ขณะเดียวกันเรื่องของไสยศาสตร์ บูชาผี ก็เข้ามาผสมเติมแต่งอีกด้วย 

เหตุการณ์ ‘หมุดคณะราษฎร ปี 2475’ และ ‘หมุดคณะราษฎร ปี 2563’ ที่ถูกฝังลงผืนดินเพื่อให้รับทราบประจักษ์ทั่วกันว่าประเทศเป็นของประชาชน ถึงกระนั้นชนชั้นปกครองกลับมองว่าเป็นการเล่นของไสยศาสตร์มนตร์ดำ ทั้งที่จริงแล้วความหมายสำคัญคือการแสดงเชิงสัญลักษณ์ตามประชานิยม หรือเรื่องการตั้งคำถามต่อ ‘พระสยามเทวาธิราช’ ว่าเป็นผู้ปกปักรักษาชาติจริงๆ มิใช่เป็นภูตผี รักษาประจำตระกูลราชวงศ์ ทั้งหมดล้วนเป็นการเล่นกับศาสนาและความเชื่อ เป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจปกครองประชาชนได้ง่าย และพลันให้แก่นแท้ของศาสนาถูกกลืนหายจนมิด

3.

ทั้ง 3 หัวข้อหลักต่างสอดประสานร้อยเรียงอย่างน่าสนใจ จนเชื่อว่าคนที่ไม่ค่อยชอบอ่านอะไรยาวๆ หรือตีตัวออกห่างจากศาสนาจะสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหัวข้อเสนอแนะส่งท้ายปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง ผู้อ่านจะได้ซึมซับ เข้าใจระบบโครงสร้างศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ที่แบ่งลักษณะการบริหารออกเป็น ‘มหานิกาย’ กับ ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ซึ่งมีข้อถกเถียงมากมาย บ้างก็ว่าอีกฝ่ายเคร่งกว่า อีกฝ่ายเคร่งน้อยกว่า แต่พอมารวมแล้วต่างมี ‘สมณศักดิ์’ กดทับแยกแยะชนชั้นวรรณะ นานวันเข้าก็กลายเป็นเครื่องมือเผด็จการ ไล่จับสึกพระเณรเห็นต่าง แลกกับข้อเสนอเพื่อคุณูปการศาสนาพุทธศาสนาเดียว ทั้งที่ประเทศปกครองระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ล้วนเป็น ‘รัฐฆราวาสวิสัย’ (Secular State) แยกศาสนาออกจากรัฐชัดเจน เพื่อให้ศาสนามีสถานะเป็นเอกชน ที่มีผู้นับถือเป็นกรรมการตัดสินใจหาข้อสรุปตรงกลาง มิใช่รัฐเป็นผู้ชี้นำว่าศาสนาใดศาสนาหนึ่งต้องเป็นศาสนาหลักที่ได้รับการอุ้มชูดั่งเช่นที่เป็นอยู่ รวมถึงให้แก่นแท้ของศาสนาพุทธกลับมาถูกต้องตามครรลองที่ควรเป็น คือการปล่อยวาง ไม่หวังลาภยศสรรเสริญ

อาจารย์คมกฤชยังยกตัวอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ที่มีผู้นับถือศาสนาต่างกันสุดขั้ว ทั้งพุทธ พราหมณ์ และฮินดู หากมองจากมุมคนนอก ใครก็ยกให้เป็นประเทศล้าหลังวกวนอยู่กับความเชื่องมงาย แต่คนที่มีความเชื่อต่างกันในอินเดียกลับอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดรัฐฆราวาส ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ลุกขึ้นมาประท้วงเรียกทหารออกมาทำการรัฐประหาร ประชาชนไม่ก้าวก่ายความเชื่อของกันและกันจนแตกหัก แต่ก็ยังคงเห็นเส้นบางๆ ของความแตกต่าง เช่น รัฐบาลปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทารา โมดี (Narendra Modi) เลือกใช้ทิฐิอุ้มชูศาสนาฮินดูจนออกนอกหน้า

ในช่วงต้น อาจารย์คมกฤชยกการเทศนาของ แต็นจิน กยาโช (Tenzin Gyatso) องค์ทะไลลามะที่ 14 แห่งทิเบต ในเรื่องหลัก ‘โพธิจิต’ หรือ ‘จิตแห่งการตรัสรู้’ ตามหลักพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน ที่สอนให้รู้จักการร่วมทุกข์กับสรรพสัตว์ เพื่อขยับเข้าใกล้กับศูนยตา (ความว่างเปล่า) โดยมิหวังอวดตนเป็นพระโพธิสัตว์ แต่เพื่อทำใจให้ว่างเปล่ามากพอจะเปิดรับความทุกข์ยากเข้าใจผู้อื่น ถ้าเปรียบเป็นเรื่องการเมือง คือการยอมพูดคุยกับผู้เห็นต่างให้ตาสว่างมองเห็นถึงปัญหา และมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

ทุกวันนี้เราต่างไขว่คว้ากอบโกยประโยชน์สุขส่วนตนตามอัตตา มุ่งทำบุญใส่บาตรเที่ยวไหว้สารพัดวัด เคารพเกจิชื่อดัง ด้วยหวังถึงสิ่งอุปมาที่เรียกว่าเป็น ‘บุญ’ จะติดตัวยามหมดลมหายใจ 

การเมืองก็เช่นกัน เราต่างเชื่อในตัวปัจเจกบุคคล เชื่อว่าจะมีบุรุษขี่ม้าขาวมาช่วยประเทศชาติตามคำทำนาย โดยปราศจากการมองโลกแห่งความเป็นจริงที่สังคมกำลังถูกผู้มีอำนาจบงการชักนำ ขณะที่เพื่อนมนุษย์ผู้กล้าลุกขึ้นตั้งคำถาม กลับโดนรังแกจับยัดเข้าตะราง แต่บางคนก็ยังเลือกปิดหูปิดตาปิดกั้นหัวใจต่อไป เพียงแค่เพราะเขาเห็นต่างไปจากตน 

ลึกๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ชวนให้นึกถึงประโยคที่มิตรสหายใกล้ตัว หรือใครหลายๆ คนเคยออกมากล่าวอยู่เป็นนิจตลอดที่มีการชุมนุมว่า “ไม่ต้องเป็นคนดีเต็มร้อย… แค่เป็นมนุษย์ให้ได้ก่อนก็พอแล้ว”

Fact Box

ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง, คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เขียน, สำนักพิมพ์ มติชน, จำนวน 265 หน้า, ราคา 280 บาท

Tags: