“เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายอย่าง แต่หลักๆ แล้วเกี่ยวกับคนโง่ จึงต้องบอกกันไว้เสียแต่เนิ่นๆ ว่า เป็นเรื่องง่ายเหลือเกินที่จะป่าวประกาศว่าคนนั้นคนนี้โง่บัดซบ ถ้าเพียงแต่เราหลงลืมไปว่าการเป็นมนุษย์มันยากบัดซบแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราพยายามจะเป็นมนุษย์ที่ดีพอใช้เพื่อใครอีกคน”
การปักป้ายใครสักคนว่าโง่อาจเป็นเรื่องง่าย ถ้าไม่ได้ลองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่อีกฝ่ายต้องเผชิญ คงคล้ายเวลาที่เพื่อนมาปรึกษาเรื่องความรักกับคนที่ไม่เคยมีความรักมาก่อน เราต่างให้คำปรึกษาเรื่องของคนอื่นเป็นอย่างดี ขณะที่เรื่องของตัวเองแทบเอาตัวไม่รอด สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในสายตาของคนนอกมันง่ายที่จะตัดสินใครสักคน มากกว่าการพยายามทำความเข้าใจเรื่องราวของพวกเขา
มนุษย์เติบโตมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน การเลี้ยงดูภายในครอบครัว สภาพแวดล้อม หรือประสบการณ์ ล้วนมีส่วนประกอบสร้างให้ทุกคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่จุดร่วมของมนุษย์คือทุกคนมีปัญหาชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะอายุ 25 ปี หรือ 80 ปี ล้วนมีปัญหาโผล่มาเป็นบทเรียนให้เสมอ
ความน่าสนใจของ Anxious People หรือยอดมนุษย์วายป่วง คือการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของแต่ละตัวละครที่มีต่อเหตุการณ์จับกุมตัวประกัน ผู้อ่านสามารถเข้าใจว่าทำไมตัวละครจึงมีนิสัยแบบนั้น ผ่านพื้นเพของตัวละคร ประสบการณ์ อาชีพ ช่วงวัย หรือวิถีชีวิตที่แตกต่าง
อันนา-ลีนากับโรเกร์ คู่รักวัยเกษียณที่กำลังมีปัญหาในชีวิตคู่ ทั้งคู่พยายามซื้ออะพาร์ตเมนต์เพื่อใช้เวลาทำโปรเจกต์ร่วมกัน โดยหวังว่าชีวิตรักของทั้งคู่จะกลับมาสมานฉันท์เช่นเดิม
ยูเลียกับโร คู่รักที่กำลังมองหาอะพาร์ตเมนต์เพื่อสร้างครอบครัวให้เจ้าตัวน้อยอาศัยอยู่ในบ้านที่อบอุ่น เรื่องราวดูจะเพอร์เฟกต์ถ้าไม่ใช่ว่าทั้งคู่ทะเลาะกันตั้งแต่ก้าวขาเดินเข้ามาภายในอะพาร์ตเมนต์ เพราะยูเลียคาดหวังให้โรกล้าตัดสินใจเพื่อครอบครัว ในขณะที่โรหวาดกลัวเกินกว่าจะตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง
ซอรา ผู้หญิงหัวแข็ง เจ้าระเบียบ และยึดมั่นในตรรกะ ทุกคนลงความเห็นว่าเธอดูรวยเกินกว่าจะสนใจอะพาร์ตเมนต์ธรรมดาแห่งนี้ แต่เพราะเหตุใดทำไมเธอถึงเข้ามาดูห้องที่นี่ แล้วปัญหาส่วนตัวเธอคืออะไร ทำไมจึงทำหน้าตาราวกับแบกโลกไว้ทั้งใบ
เอสเตล หญิงชราร่างเล็กที่มาดูห้องให้ลูกสาว ใครจะคาดคิดว่าหญิงชราที่มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษจะยังคงมีปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน
ยิมกับยัก คู่หูตำรวจต่างวัยที่ไม่เคยเห็นตรงกันสักเรื่อง จับพลัดจับผลูเข้ามามีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์จับกุมตัวประกัน เรื่องราวดูจะคลี่คลายไปได้ดีเมื่อมีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปัญหาคือตำรวจสองคนนี้ไม่มีประสบการณ์รับมือกรณีคนร้ายจับกุมตัวประกันแม้แต่ครั้งเดียว
และโจรปล้นธนาคารก็คงมีปัญหา ไม่เช่นนั้นคงไม่ตัดสินใจปล้นธนาคาร
จะเห็นว่าทุกคนมีปัญหาชีวิตเป็นของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อเรารักใครสักคน เราพร้อมพยายามเรียนรู้และแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด เพื่อเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น เว้นก็เพียงแต่เราไม่รู้ว่าอะไรคือทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และการเป็นตัวเองแบบที่ดีขึ้นต้องทำอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเติบโตจนถึงช่วงวัยที่ได้รับการนิยามว่า ‘เป็นผู้ใหญ่’ สังคมจะยิ่งคาดหวังในตัวเราสูงขึ้น ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษี ทำประกันสุขภาพ ขึ้นรถเมล์ให้ถูกสาย พาลูกไปเรียนว่ายน้ำ วางแผนชีวิตหลังเกษียณ ชาร์จแบตโทรศัพท์ รับมือกับการสูญเสียคนรักเมื่อวานและตื่นไปทำงานในวันพรุ่งนี้ เรียนรู้ที่จะยิ้มแม้ภายในใจอยากกรีดร้องแทบตาย หรือการทำความเข้าใจกับศัพท์ใหม่อย่างระดับการผ่อนชำระและอัตราเงินเฟ้อ
โลกของผู้ใหญ่มีความคาดหวังมากมายรออยู่ แต่ไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อความล้มเหลว เพราะแบบนี้ เราจึงไม่พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ และใครสักคนควรหยุดเราไว้
“ทุกเช้าที่เราลืมตา ชีวิตก็รออยู่ตรงหน้า เตรียมที่จะคว่ำคำเตือนใหม่ๆ โถมทับลงมาที่เรา ‘อย่าลืมนะ!’, ‘จำให้ได้ละ!’ เราไม่มีเวลาคิด หรือแม้แต่หายใจ แค่ลืมตาตื่น จากนั้นขุดพาตัวเองออกมาจากคำเตือนที่กองทับถมให้ได้ เพราะจะมีคำเตือนใหม่ๆ ถูกเททับลงอีกในวันต่อๆ ไป บางครั้งเรามองไปรอบๆ … และรับรู้ด้วยความอกสั่นขวัญหายว่า ดูเหมือนทุกคนจะรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร เราเป็นคนเดียวที่ต้องทำเป็นรู้”
เมื่อลองพลิกหนังสือหน้าถัดไป ใช้สายตากวาดมอง ดื่มด่ำตัวหนังสือระหว่างบรรทัด จะพบว่า แท้จริงแล้วโจรก็เป็นเพียงแค่ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ตัดสินใจผิดพลาด เหมือนกับทุกคนที่เคยผิดพลาดก่อนจะมาเป็นตัวเองในวันนี้
ทั้งหมดล้วนมีส่วนประกอบสร้างให้ทุกคนตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง แม้ว่าจะบิดเบี้ยวไปบ้างก็ตาม แต่การให้อภัยและโอบรับทุกความผิดพลาดของตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในโลกของผู้ใหญ่ ไม่มีใครสนใจใยดีเราขนาดนั้น มีเพียงแค่เราเท่านั้นที่ต้องรับมือกับทุกอย่างด้วยตัวเอง
“ว่ากันว่าตัวตนของคนคนหนึ่งคือผลรวมของประสบการณ์ แต่นั่นไม่เป็นความจริง อย่างน้อยก็ไม่ทั้งหมด เพราะถ้าอดีตเป็นสิ่งเดียวที่นิยามความเป็นตัวเรา เราจะไม่มีทางทนตัวเองได้ เราจำเป็นต้องได้รับอนุญาตให้เชื่อว่า เราเป็นมากกว่าความผิดพลาดที่ได้ทำในวันที่ผ่านมา ว่าเราคือสิ่งที่เราจะเลือกในครั้งต่อๆ ไป เราคือวันพรุ่งนี้”
บางครั้งหนึ่งความคิดที่แสนเจ็บปวดก็แวะมาเยี่ยมเยือนยามพักผ่อน ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการเน้นย้ำความผิดพลาดในอดีต บางครั้งมันเจ็บปวดจนทนไม่ไหวแต่ต้องไปทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น การกินยานอนหลับอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ในบางครั้งเราก็อยากกล้าหาญพอที่จะสู้กับมัน การรับมือกับความเจ็บปวดคนเดียวมันเจ็บจนไม่อาจบรรยายได้ ตอนเป็นเด็กน้ำตาคือเครื่องระบายความเจ็บปวดที่ดีที่สุด แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เราก็ไม่รู้แล้วว่าการร้องไห้มันทำอย่างไร หรือบางครั้งเราตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าควรจะรับมืออย่างไร จึงนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดเหมือนกับโจรปล้นธนาคาร
ถึงแม้จะล้มเหลวในฐานะโจร
และล้มเหลวในฐานะการเป็นผู้ใหญ่
แต่ภายใต้การพยายามใช้ชีวิต เขาก็ทำเต็มที่แล้ว
เพราะการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไม่มีคู่มือเขียนบอกไว้
เราจึงไม่รู้ว่าต้องรับมืออย่างไร
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะผิดพลาด
และล้มเหลวในการเป็นผู้ใหญ่
Fact Box
- Anxious People หรือยอดมนุษย์วายป่วง เขียนโดย เฟรียดริค บัคมัน (Fredrik Backman) แปลโดย โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล
- ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดย สำนักพิมพ์ Merry Go Round จำนวน 400 หน้า ราคา 420 บาท