“เปรม หิวข้าวไหมลูก” เสียงแม่สุรินทร ชูดวง ถามลูกชายคนโตวัย 28 ปีที่นอนราบอยู่บนเตียง
ชายหนุ่มมองหน้าบุพการีพร้อมกะพริบตาแทนเสียงตอบรับ
“วันนี้มีปลานึ่งผักสมุนไพรที่ลูกชอบด้วยนะ”
น้ำเสียงแม่เปี่ยมไปด้วยความรักเช่นเคย ไม่กี่นาทีต่อมา ปลานึ่งถูกแกะออกเหลือแต่เนื้อปลาและผักหลายชนิดถูกเทไปรวมอยู่ในโถเครื่องปั่นอาหารกำลังวัตต์สูง เพื่อแปลงร่างเป็น ‘โจ๊กปลานึ่งสมุนไพร’ พร้อมกลืนแบบไม่ต้องเคี้ยว
“เดี๋ยวพ่อป้อนให้ลูกเอง” พ่อถวิล ชูดวง วัยเกษียณ รับ ‘โจ๊กปลานึ่ง’ จากภรรยาเดินมาข้างเตียงสำหรับผู้ป่วย มือซ้ายถือชาม มือขวาจับช้อนตักโจ๊กป้อนลูกชายด้วยสายตาห่วงใย
“เปรมต้องการเติมข้าวอีกไหมลูก” พ่อถามหลังป้อนอาหารคำสุดท้ายหมดชาม
คนถูกถามเหลือกตาขึ้นด้านบนแทนคำตอบปฏิเสธ
“เดี๋ยวกินข้าวเสร็จ พ่อจะเปิดคอมฯ ให้พิมพ์นะ”
ไม่กี่นาทีต่อมา หน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งดัดแปลงโดยใช้อุปกรณ์ทันตกรรมที่ไม่ใช้แล้วถูกเลื่อนเข้ามาบริเวณด้านหน้าของเปรม บนหน้าจอคอมพิวเตอร์มีกล้องเล็กๆ ติดอยู่ตรงกลาง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโปรแกรมที่ชื่อว่า ‘Camera Mouse’ มีการปรับกล้องให้ได้ระดับสายตาของชายหนุ่มบนเตียง เพื่อให้เขาสามารถพิมพ์คอมฯ ได้โดยไม่ต้องใช้มือ
เราตั้งคำถามแรกให้ชายหนุ่มบนเตียงพิมพ์ตอบ
“อะไรที่ทำให้เปรมต่อสู้มาจนถึงวันนี้?”
ตัวหนังสือปรากฏขึ้นบนหน้าจอทีละตัวจนกลายเป็นประโยคที่พ่อแม่อ่านแล้วเต็มอิ่มในหัวใจ
“ถ้าพ่อแม่สู้ ผมก็ต้องสู้”
อุบัติเหตุพลิกชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อหกปีก่อน คืนวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2554 ขณะนั้นเปรม – วิสุวิส ชูดวง กำลังเรียนอยู่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีที่สอง คืนนั้นทางคณะมีกิจกรรมพิเศษเลิกดึกกว่าปกติ หลังจบกิจกรรมเขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งเพื่อนๆ หลายคนก่อนขี่กลับบ้านตนเองแถวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ระหว่างทางบริเวณแยกสะเมิง รถยนต์คันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วเฉี่ยวรถมอเตอร์ไซค์ของเขาล้มลงจนฐานหมวกกันน็อคกระแทกบริเวณท้ายทอยทำให้กระดูกต้นคอแตกและมีเลือดคั่งในสมองซีกขวา ทางโรงพยาบาลโทรแจ้งข่าวกับทางครอบครัวพร้อมกับบอกให้ทุกคนทำใจเพราะสัญญาณชีพเหลือระดับ 1 จาก 10 นั่นหมายถึงโอกาสรอดมีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น
“พอไปถึงห้องฉุกเฉิน พ่อให้แม่ยืนตรงปลายเตียง ส่วนพ่อยืนหัวเตียง แล้วช่วยกันเรียกลูกสลับกันว่า “เปรม…พ่อมาแล้ว แม่มาแล้ว ไม่ต้องกลัว ตั้งสติให้ดี”
ไม่กี่นาทีต่อมา ปาฏิหาริย์จากความรักของบุพการีทำให้สัญญาณชีพจากใกล้ดับเหลือเพียง 1 เพิ่มขึ้นมาเป็น 5
เปรมเข้ารับการผ่าตัดสมองครั้งแรกหลังจากผลเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจพบว่าบริเวณฐานหมวกกันน็อคด้านท้ายทอยกระแทกกับกระดูกต้นคอจนแตกและเคลื่อนมีเลือดคลั่งบริเวณศีรษะด้านขวา หลังออกจากห้องผ่าตัดเพียงสามวัน เปรมฟื้นตัวเร็วมากจนสามารถลุกเดินและพูดคุยได้ตามปกติ จนหมออนุญาตให้กลับบ้านหลังจากพักฟื้นครบสิบวัน ทว่า ความดีใจของทุกคนยังไม่ทันผ่านพ้นข้ามวัน มัจจุราชก็ย้อนกลับมาทดสอบพลังความรักของครอบครัวชูดวงอีกครั้ง บททดสอบครั้งนี้ทั้งยากและต้องอาศัยหัวใจที่แข็งแกร่งมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว
“วันที่ 6 กันยายน เราพาเปรมกลับมาบ้าน ระหว่างลูกนอนดูทีวี พ่อแม่ก็ไปนวดแผนไทยให้ลูกค้า (เปิดบริการอยู่ที่บ้าน) ตกค่ำจู่ๆ เปรมก็บอกว่าปวดหัว หูอื้อ ตามด้วยลงไปนอนชักและฉี่แตกเลย เราก็รีบโทรเรียกรถฉุกเฉิน แต่ไม่มีคนรับสาย เลยเอารถส่วนตัวไปส่งที่โรงพยาบาลเอง”
อาการที่เกิดขึ้นกับเปรมครั้งนี้เป็นผลจาก กระดูกคอแตก ซึ่งโดยหลักการรักษาแล้ว ในการดูแลผู้ป่วยกระดูกคอแตก เปรมจำเป็นต้องล็อคคอนอนอยู่กับที่ไม่ให้ขยับเขยื้อนอย่างน้อย 3 สัปดาห์เพื่อให้กระดูกสมานติดกัน แต่เปรมยังคงเคลื่อนไหวตามปกติเพราะหมอแจ้งว่ากระดูกคอแตกเล็กน้อย และไม่ได้ล็อคคอไว้ให้ ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงก้านสมองทั้ง 4 เส้นพร้อมกัน ก้านสมองเลยตายเป็นบริเวณกว้าง ระบบคำสั่งการทำงานของร่างกายล้มเหลว สูญเสียการหายใจด้วยตนเอง รวมทั้งไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย แม้ว่าสติสัมปชัญญะต่างๆ จะยังคงครบถ้วนก็ตาม ซึ่งในทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ‘Locked-in syndrome’
ระหว่างที่ลูกนอนหลับอยู่ในห้องไอซียูรอบสอง ความรู้สึกของพ่อแม่ดำดิ่งลงสู่ก้นลึกของหุบเหวอันมืดมิดอีกครั้ง
“หมอบอกว่า เปรมคงหายใจเองไม่ได้ และถ้าฟื้นก็คงเป็นเจ้าชายนิทรา”
บุพการีทั้งสองยืนมองร่างที่หลับใหลบนเตียงภายในห้องไอซียูด้วยหัวใจปวดร้าว ผู้เป็นแม่ร้องไห้จนไม่มีน้ำตา ภาวะมืดแปดด้านทำให้ทั้งคู่วิ่งหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทุกรูปแบบ
“ตอนแรกๆ ใครว่าวัดไหนดี เราก็ไปทำพิธีกรรมทุกอย่าง หมดเงินไปเยอะ จนกระทั่งหลวงปู่ที่เราศรัทธาเตือนสติว่า โยมอย่าหลง แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังตายนะโยม หลังจากนั้นเราจึงตาสว่างมากขึ้น”
เมื่อแสงธรรมส่องทาง ทั้งคู่จึงเริ่มยอมรับความจริง เลิกฟูมฟายกับอดีต มีสติอยู่กับปัจจุบัน หันมาดูแลลูกด้วย ‘ความรู้’ และ ‘ความรักเอาใจใส่’ จนกระทั่งพัฒนาการของเปรมดีขึ้นเรื่อยๆ หลายสิ่งที่แพทย์เคยลงความเห็นว่า เปรมไม่มีทางทำได้ เขาก็สามารถทำได้ ความหวังที่พังทลายเหลือแค่ศูนย์จึงเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
พ่อถวิลตั้งกฎของการเยี่ยมไข้เอาไว้ว่า ห้ามร้องไห้ต่อหน้าคนป่วย ถ้าอยากร้องไห้ต้องไปร้องข้างนอกห้องให้พอแล้วค่อยเข้ามาเยี่ยม เพราะเสียงร้องไห้จะทำให้คนป่วยยิ่งหมดกำลังใจ ทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมเปรมจึงมีแต่รอยยิ้มมาเติมพลังบวกให้เปรมมีกำลังใจมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ เพื่อนเอาหนังสือการ์ตูนมาอ่านให้ฟัง แม่หาซีดีธรรมะมาเปิด เป็นต้น ทว่า คงไม่ง่ายนักหากจะห้ามมิให้คนเป็นแม่มีน้ำตา
“แม่เปรมร้องไห้ทุกวันจนถึงสี่เดือน วันสุดท้ายที่ร้องไห้ ผมบอกว่า หยุดร้องไห้ได้แล้ว ร้องไปก็ไม่มีประโยชน์ เอาเวลาที่ร้องไห้มาคิดว่า เราจะทำอะไรให้ลูกเราดีขึ้นดีกว่าไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นความจริง ถ้าเรารับความจริงได้ เราก็จะคิดแก้ปัญหาได้” ผู้เป็นพ่อกล่าว
หากในวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่ ในความโชคร้ายของนักศึกษาหนุ่มอนาคตไกลก็มีความโชคดีซ่อนอยู่เช่นกัน
ความโชคดีของเขาคือเกิดมาเป็นลูกของพ่อถวิล ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาทั้งชีวิตและมีความรู้ด้านแพทย์แผนไทยระดับชั้นครู และแม่สุรินทร ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยพยาบาลและเรียนจบด้านการนวดและแพทย์แผนไทย ทั้งคู่จึงมีทั้งความรู้และความรักมาดูแลลูกชายคนโตโดยไม่ได้เชื่อมั่นในการแพทย์ตะวันตกเพียงแนวทางเดียว แต่ยังค้นคว้าความรู้แพทย์ตะวันออกมาใช้รักษาลูกด้วยตนเอง จนเปรมกลายเป็นเคสตัวอย่างกับผู้ป่วยคนอื่นในเวลาต่อมา
เมื่อเลิกคร่ำครวญถึงอดีต วาดฝันถึงอนาคต ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ความสุขจึงอยู่ตรงหน้าให้ไขว่คว้าได้ทุกวัน
“เปรมไม่เคยมีพัฒนาการด้อยลงเลย มีแต่ดีขึ้นทุกๆ วัน”
แม่บอกด้วยรอยยิ้มปลื้ม
ความรักพลิกวิกฤต
เปรมลืมตาตื่นขึ้นมาในห้องไอซียูอีกครั้งหลังจากได้รับการรักษารอบที่สอง เขาต้องพบกับความประหลาดใจเมื่อสติสัมปชัญญะทุกอย่างยังครบถ้วน แต่เขากลับไม่สามารถขยับอวัยวะส่วนใดในร่างกายได้เลย แม้แต่การหายใจ เขาพยายามเปล่งเสียงพูด แต่ไม่สามารถขยับลิ้นหรืออ้าปากได้เหมือนเคย สิ่งเดียวที่เขาทำได้มีเพียงการกะพริบตาและเหลือกตาขึ้นด้านบนเท่านั้น
เขาพิมพ์ตัวอักษรบนหน้าจอถ่ายทอดความรู้สึกนาทีแรกที่ลืมตาตื่นขึ้นมาแต่ขยับร่างกายไม่ได้ว่า
“ผมงง คิดอยากลุกกลับบ้าน แต่ผมขยับตัวไม่ได้เลยพูดก็ไม่ได้ มีแต่สายยางกับเสียงติ๊ดติ๊ด!”
แม้ว่าหมอจะบอกว่าหมดหวัง ให้พาลูกกลับไปตายที่บ้าน แต่สำหรับพ่อแม่แล้ว แค่เพียงได้รู้ว่าลูกยังกะพริบตาได้ ความหวังนั้นก็มากเกินพอ
ผู้เป็นพ่อยังจำได้ดีถึงวันแรกที่สังเกตเห็นว่าลูกสามารถกะพริบตาได้
“ผมบอกแม่เปรมว่า ลูกรู้เรื่อง มีสติ ฟังคำสั่งเราได้ ให้กระพริบตาก็ทำได้ ไม่ใช่เจ้าชายนิทรา แค่นี้แม่ก็ดีใจมากแล้ว”
แม่สุรินทรเล่าเสริมด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“พอเราบอกให้กะพริบตาลูกทำได้ แม่เลยนึกถึงคณะละครสัตว์ ขนาดสัตว์ยังฝึกได้เลย แล้วเราฝึกคน ทำไมเราจะฝึกไม่ได้ เมื่อลูกเคยทำสิ่งเหล่านี้มาก่อน ลูกต้องฝึกได้สิ พอคิดได้เท่านี้ก็เริ่มมีกำลังใจมากขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกลูกทุกวัน สิ่งที่หมอบอกว่าลูกทำไม่ได้ ลูกก็ทำได้เพิ่มขึ้นทีละอย่างจนหมอก็ยังประหลาดใจ”
สิ่งแรกที่เปรมทำได้คือ การหายใจด้วยตนเอง ซึ่งหมอเคยบอกว่า เปรมจะต้องเจาะคอและใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอดชีวิต ทว่าไม่ถึงสองเดือนหลังจากเข้ารับการรักษารอบสอง เปรมก็สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจและหายใจได้เองมาจนถึงวันนี้
ด้วยเพราะพ่อมีความรู้ด้านสาธารณสุข ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยเป็นต้นทุนสะสม ยามนั่งเฝ้าดูลูกใกล้ชิดจึงสังเกตเห็นความผิดปกติของการหายใจ
“ตอนแรกหมอต้องเจาะคอให้ แต่หลังเจาะคอได้สามสี่วัน ผมก็นั่งสังเกตหน้าอกลูกเวลาหายใจพองและยุบ ไม่ตรงกับจังหวะของเครื่องช่วยหายใจ จนดูเหมือนลูกอึดอัด ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ระบบหายใจอัตโนมัติสามารถทำงานได้ ตอนแรกพยาบาลไม่เชื่อ แต่พอปรับอัตราการหายใจเข้าออกของเครื่องให้ตรงกับการหน้าอกพองและยุบของเปรม เปรมก็หายใจได้ไม่อึดอัด แสดงว่าร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้”
ต่อจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ หมอก็ถอดเครื่องช่วยหายใจออกเพราะเปรมหายใจเองได้ แต่ก็ยังใส่ท่อเหล็กช่วยหายใจอยู่ หลังจากออกจากห้องไอซียูมาอยู่ห้องพักผู้ป่วย พ่อและแม่ก็เริ่มสังเกตการหายใจของลูกว่ามีลมออกบริเวณจมูก ทั้งคู่จึงมีความหวังว่าลูกจะได้ถอดท่อเหล็กช่วยหายใจออก และกลับมาหายใจทางจมูกได้อีกครั้ง การทดลองให้เปรมหายใจด้วยตนเองจึงเกิดขึ้น โดยเริ่มจากฝึกหายใจในช่วงเวลาสั้นๆ โดยการใช้พลาสเตอร์ปิดท่อเหล็กเอาไว้ก่อน แล้วก็เพิ่มช่วงเวลาให้นานขึ้นเรื่อยๆ จากนาทีเป็นชั่วโมง จากชั่วโมงเป็นหนึ่งวัน จากหนึ่งวันเป็นสองวัน จนในที่สุดหมอก็ยอมถอดท่อเหล็กช่วยหายใจออกและปิดช่องเจาะคออย่างถาวร
แม่สุรินทรเล่าถึงคืนแรกที่ถอดท่อเหล็กช่วยหายใจออกว่า แม่แทบนอนไม่หลับเลยเพราะกลัวลูกจะหลับไปแล้วไม่ตื่นมาอีก
“เปรมไม่ยอมใส่ท่อช่วยหายใจอีก เพราะมันทรมานมาก แม่เลยบอกว่า ถ้าเปรมไม่อยากใส่ท่อ เปรมต้องหายใจเองให้ได้ แล้วเปรมก็หายใจเองได้จริงๆ”
คืนนั้นเปรมไม่ทำให้แม่ผิดหวัง เขาหายใจได้เองตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า
พัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ของเปรมได้ลบล้างการประเมินของแพทย์ในหลายๆ เรื่อง พ่อถวิลและแม่สุรินทรจึงเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเส้นทางสายนี้อาจยังอีกยาวไกล แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกมืดมนเหมือนจมอยู่ใต้ก้นบึ้งของหุบเหวลึกอีกต่อไป
“หมอเคยบอกว่า เปรมสูญเสียระบบการกลืนและการหายใจ เลยต้องให้อาหารทางสายยางหน้าท้อง แต่เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางช่องปาก หมอจึงให้แม่แปรงฟันให้เปรมทุกวัน วันที่รู้ว่าเปรมกลืนได้เป็นเหตุบังเอิญระหว่างแปรงฟัน จู่ๆ เปรมก็เผลอกลืนน้ำที่แปรงฟันลงคอ แม่ก็เลยรู้ว่าลูกกลืนได้แล้ว หลังจากนั้นแม่เลยเริ่มหยอดน้ำนมให้กิน ตามด้วยอาหารเหลว”
การกลืนอาหารได้ด้วยตนเองนับเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกให้เปรมและทุกคนในครอบครัวรู้ว่า เปรมจะได้กลับมามีชีวิต ‘ใกล้เคียง’ กับคนทั่วไป อยากกินอะไรก็กินได้ แต่อาจต้องแปลงร่างให้อยู่ในรูปของเหลวเสียก่อน ทุกวันนี้เวลาไปกินข้าวนอกบ้าน แม่ก็จะพกเครื่องปั่นอาหารไฟฟ้าติดไปด้วย ไปถึงร้านไหนก็ไปขอเสียบปลั๊กแล้วปั่นให้ลูกได้กินพร้อมกัน เปรมจึงไม่เคยถูกทอดทิ้งให้กินอาหารคนป่วยรสชาติเดิมๆ แต่ในบ้าน หากยังได้ออกไปนั่งกินข้าวนอกบ้านพร้อมครอบครัวเหมือนเช่นเดิม โดยพ่อแม่คอย ‘ปั่น’ และ ‘ป้อน’ อาหารทุกคำให้เขาด้วยแววตาแห่งความรักเสมอมา โดยไม่เคยปริปากพร่ำบ่นแม้เพียงครั้งเดียว
“ถ้าไปกินข้าวข้างนอก เราก็จะเอาเครื่องปั่นไปด้วย เปรมเลยกินอาหารได้ทุกอย่างเหมือนกับเรา ตอนนี้เครื่องปั่นพังไปสามเครื่องแล้ว” ผู้เป็นแม่เล่าอย่างอารมณ์ดี ไร้ความหม่นเศร้าในแววตาที่มีลูกพิการ
ด้วยความรักอันเปี่ยมล้นของบุพการี เปรมจึงมีกำลังใจเต็มร้อยที่จะก้าวข้ามความบกพร่องทางกายไปทีละขั้น
บทพิสูจน์ความรักอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่คือ แม่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ (ตำแหน่งครูพยาบาลของวิทยาลัยเอกชน) เพื่อมาทำหน้าที่พยาบาลลูกตนเอง มีเพียงพ่อที่ยังคงทำงานประจำเพื่อหาเลี้ยงสมาชิกครอบครัวทั้งสี่คน
“เราคุยกันว่า ถ้าพ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ แล้วเอาเงินไปจ้างพยาบาลพิเศษมาดูแลเปรมก็คงไม่มีใครดูแลลูกเราได้ดีไปกว่าเราแล้ว แม่เลยลาออกจากงาน เหมือนกับจ้างตัวเองเป็นพยาบาลดูแลลูก ทำให้แม่ได้สังเกตลูกอย่างใกล้ชิด และหาวิธีช่วยลูกได้มากขึ้นเรื่อยๆ”
หากเปรียบการรักษาเปรมเป็นการรบ พ่อเปรียบได้กับแม่ทัพผู้วางแผนยุทธศาสตร์การรบ ส่วนแม่เปรียบได้กับทหารแนวหน้าที่พร้อมจับอาวุธฟาดฟันกับศัตรูที่เข้ามาด้วยหัวใจอันเข้มแข็ง ‘แม่ทัพ’ เล่าถึงยุทธศาสตร์การรักษาให้ฟังว่า
“ผมให้แม่เปรมไปเฝ้าลูกในไอซียู ขอให้พยาบาลสอนวิธีดูแลลูกให้เราเพื่อช่วยลดภาระของพยาบาลไปหนึ่งเตียง แม่จึงรู้พัฒนาการของลูกละเอียดขึ้น เริ่มจากรู้ว่าลูกกะพริบตาและร้องไห้ได้ แม้ว่าจะไม่มีเสียงสะอื้นเหมือนคนทั่วไป แต่ลูกก็มีเสียงอื้ออ้าและมีน้ำตาออกมาให้รู้ว่ากำลังร้องไห้ มีอยู่คืนหนึ่ง พยาบาลบอกว่าเมื่อคืนเปรมร้องไห้ ตอนแรกเข้าใจว่าคิดถึงพ่อแม่ เลยปลอบว่าเดี๋ยวตอนเช้าพ่อแม่ก็มาก็ไม่หยุดร้องไห้สักที แต่พอเอาอาหารให้กิน ก็หยุดร้องไห้ทันที พอพ่อได้ยินพยาบาลเล่าจบ ก็หันมาบอกแม่เลยว่า ลูกเราไม่ตายหรอก เพราะเวลาหิว ลูกยังร้องไห้ได้” พ่อพูดพร้อมเสียงหัวเราะ
วันแรกที่แม่เข้าไปขอทำหน้าที่พยาบาลส่วนตัวให้เตียงของลูก แม่บอกกับพยาบาลว่า
“ฉันยอมเหนื่อยทุกอย่างเพื่อให้ลูกฉันรอด คุณมีความรู้อะไร คุณสอนเราเลยนะ”
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา เปรมก็มีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีแม่ดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากความรู้ที่หมอและพยาบาลถ่ายทอดมาให้ผู้เป็นแม่แล้ว แม่ยังคิดหาวิธีช่วยลูกเสริมเข้าไปโดยที่ไม่มีตำราเล่มไหนเขียนไว้ด้วยเช่นกัน อาทิ ตอนฝึกยืนกับเครื่องกายภาพบำบัด ผู้ป่วยอื่นใส่แค่ถุงเท้า แต่แม่ไปซื้อรองเท้าให้เปรม เพื่อให้รองเท้าช่วยประคองเท้าด้วยอีกทาง เป็นต้น
หากการหายใจได้เองคือนับหนึ่ง การกลืนคือนับสอง จนถึงวันนี้ พัฒนาการของเปรมนับเลขไปได้ไกลจนมองไม่เห็นว่าเลขสุดท้ายจะสิ้นสุดลงที่ใด
จากวันแรกที่หมอบอกให้ทำใจและแนะนำให้พาลูกกลับไปตายที่บ้าน ในวันนี้เปรมได้กลายเป็น ‘ไอดอล’ ให้ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงอีกจำนวนมากที่มารักษาที่โรงพยาบาลแล้วหมดหวัง รวมทั้งพ่อถวิลและแม่สุรินทรซึ่งคอยเป็นแบบอย่างให้ครอบครัวอื่นๆ ที่เผชิญภาวะวิกฤตก้าวเดินแบบ ‘ถูกทาง’ ด้วยการใช้สติปัญญามากกว่าพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ทุกวันนี้ เปรมสามารถขับเคลื่อนรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าที่ได้รับบริจาคจากทางสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยตนเอง ออกไปกินข้าวนอกบ้านพร้อมหน้ากันในครอบครัว ไม่ได้เป็นผู้ป่วยติดเตียงที่นอนจมจ่อมอยู่กับบ้านอย่างน่าเบื่อเพียงลำพัง ไม่ว่าพ่อแม่จะไปไหน เปรมก็จะได้ไปด้วยเสมอ
ยิ่งไปกว่านั้น เปรมได้กลายเป็นศูนย์กลางความรักของครอบครัว และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้จากประสบการณ์ตรงของการใช้การแพทย์แผนตะวันตกและตะวันออกมาบรรจบกันเพื่อเป็นความหวังให้กับอีกหลายครอบครัวของผู้ป่วยติดเตียงที่กำลังหมดหวังด้วยเช่นกัน
นวัตกรรมจากความรัก
โจทย์ใหญ่ของผู้ป่วยติดเตียงแบบเดียวกับเปรม คือ เรื่องการสื่อสารกับคนรอบข้าง เนื่องจากเปรมสามารถขยับได้เพียงเปลือกตาเท่านั้น ในช่วงแรก พ่อและแม่จะใช้วิธีตั้งคำถามโดยเดาความต้องการของเปรมว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งกว่าจะตั้งคำถามตรงกับคำตอบก็ใช้เวลานานมาก
ต่อมาจึงเริ่มคิดวิธีสื่อสารผ่านการสะกดคำ แต่ความยากอยู่ที่ภาษาไทยมีทั้งพยัญชนะ 44 ตัว สระ และวรรณยุกต์ หากไล่เลียงทั้งหมดกว่าจะผสมเป็นคำบางทีก็ไม่ทันสถานการณ์ ดังเช่น ครั้งหนึ่งเปรมเคยถูกยุงกัด แต่กว่าจะสะกดคำครบ ยุงก็บินจากไปซะแล้ว
เมื่อการสื่อสารผ่านการกะพริบตาเป็นหนทางเดียวที่จะรู้ว่าเปรมต้องการอะไร ทั้งพ่อและแม่จึงเริ่มหาวิธีสื่อสารที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเลือกพยัญชนะที่ใช้บ่อยมาไล่เลียงเพื่อให้ถึงตัวอักษรนั้นเร็วขึ้น หลังจากได้พยัญชนะแล้วแม่ก็จะถามว่ามีสระด้านหน้า ด้านบน หรือด้านล่าง เพื่อเหลือชุดสระที่น้อยลง ตามด้วยวรรณยุกต์ ซึ่งเมื่อสื่อสารไปบ่อยครั้ง แม่ก็จะเริ่มเดาคำศัพท์ แล้วถามคำศัพท์ไปเลยเพื่อให้เปรมกะพริบตาว่าใช่หรือไม่ ทำให้การสื่อสารระหว่างกันรวดเร็วขึ้น
หลังจากเปรมเริ่มสื่อสารผ่านการกะพริบตาได้แล้ว นวัตกรรมด้านการสื่อสารที่ทำให้เปรมสามารถเขียนบันทึกบนคอมพิวเตอร์ก็ตามมา เมื่อเพื่อนที่มีความชำนาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์นำโปรแกรม Camara Mouse ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ต่างประเทศพัฒนาขึ้นมาสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องใช้แขน มาผนวกกับแป้นพิมพ์พิเศษ ซึ่งปรากฏเป็นภาพอยู่บนหน้าจอแทนแป้นพิมพ์จริง โดยมีทั้งคีย์บอร์ดภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้เลือกพิมพ์
วิธีใช้งานของโปรแกรม Camara Mouse จะมีการทำเครื่องหมายตำแหน่งของลูกศรเอาไว้บนตรงกลางของแว่นตาเปรม เพราะเป็นตำแหน่งที่เปรมสามารถขยับไปหน้าซ้ายขวาขึ้นลงได้ทั่วทั้งหน้าจอ เมื่อเปรมต้องการตัวอักษรไหนก็หันหน้าเลื่อนเม้าส์ชี้ไปที่ตัวอักษรนั้น แล้วค้างนิ่งอยู่ประมาณ 1 วินาที ตัวอักษรนั้นก็จะถูกเลือกให้ปรากฏอยู่บนบรรทัดที่ต้องการเขียน ด้วยวิธีนี้เปรมจึงสามารถใช้คอมพิวเตอร์เขียนหนังสือ เล่นเฟซบุ๊ก และท่องอินเทอร์เน็ตได้เหมือนคนทั่วไป ด้วยระบบ ‘no hand’
นวัตกรรมเขียนหนังสือนี้ ช่วยให้เปรมสามารถบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตนเองตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุออกมาเป็นบันทึกประจำวัน รวมทั้งยังทำให้เปรมหายเหงา เพราะสามารถเล่นเฟซบุ๊กได้ด้วยตนเอง ในชื่อ Wisusit Prem เปรมเริ่มเขียนบันทึกโพสต์เฟซบุ๊กเกือบทุกวันมาเป็นเวลาหลายปี เรื่องราวของเขาได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนที่ได้อ่านจนเขาได้มี ‘ครอบครัวใหม่’ จากผู้อ่านที่แวะเวียนมาเยี่ยมเพื่อส่งต่อกำลังใจให้กัน
“บางคนก็แวะมาหา เอาขนมมาฝาก เอาอาหารมาให้ หรือเวลาเราไปเที่ยวจังหวัดไหนก็มีคนเอื้อเฟื้อที่พักให้ฟรีทั้งที่เราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ตอนนี้เปรมกลายเป็นศูนย์กลางของความรักในครอบครัว น้องชายก็ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อที่เกี่ยวกับเปรม เหมือนกับเราได้มีญาติพี่น้องเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีก”
ผู้เป็นแม่เล่าด้วยรอยยิ้มกว้าง ผิดจากเมื่อหกปีก่อน ใบหน้าเดียวกันนี้ไม่มีพื้นที่แห้งผากจากรอยน้ำตาเลยแม้แต่อณูเดียว
“ทุกวันนี้ เราไม่รู้หรอกว่า อนาคตจะเป็นแบบไหน เราขอดูแลเขาทุกวันก็พอ”
หลังจากเปรมได้ยินเรื่องราวจากหนังสือ ‘ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ’ ของฌอง โดมินิค โบบี้ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน ซึ่งผู้เขียนป่วยเป็นโรค Lock-in Syndrome เช่นเดียวกับเขา แต่ยังสามารถเขียนหนังสือได้ด้วยการขยับเปลือกตามากว่าสองแสนครั้ง เปรมจึงฝันอยากนำบันทึกของเขา รวมกับบันทึกของพ่อแม่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างเพื่อเป็นวิทยาทานกับคนอื่นต่อไป
จวบจนวันนี้ เปรมก็ยังได้รับการฝึกกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาล รวมทั้งการนวดแบบการแพทย์แผนไทยที่บ้านควบคู่กันไป เขาบอกเล่าถึงความฝัน ณ วันนี้ผ่านการพิมพ์ข้อความบนจอคอมฯ ให้เราอ่านว่า
“ผมอยากหายเป็นต้นแบบให้คนพิการคิดสู้จนหายได้เหมือนผม + เห็นว่าความพิการไม่ใช่จุดจบ มันหายกลับมาเป็นปกติได้แค่ต้องสู้ สู้มันเข้าไป”
เราอ่านจบพร้อมกับรอยยิ้มและส่งกำลังใจไปให้อย่างเต็มเปี่ยม
ก่อนจากลาเรากล่าวขอบคุณพ่อถวิล แม่สุรินทร และเปรมที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดมรสุมชีวิตรุนแรงสักปานใด ไม่ว่าวิกฤติจะพลิกผันชีวิตมากมายแค่ไหน หากครอบครัวยังพร้อมส่งความรักและกำลังใจให้กัน สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ก็จะเป็นไปได้ขึ้นมา เพื่อพิสูจน์ว่า ‘ปาฏิหาริย์มีอยู่จริง’
(หมายเหตุ – บ้านไหนมีผู้พิการและสนใจโปรแกรม Camera Mouse และแป้นพิมพ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทางเพื่อนของเปรมและครอบครัวชูดวงยินดีแบ่งปันให้เป็นวิทยาทานโดยไม่ค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 087 – 172 -1467 และสามารถติดตามพัฒนาการของเปรมได้ที่เฟซบุ๊ก Wisuwit Prem)
Tags: Camera Mouse, ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ, ฌอง โดมินิค โบบี้, little big hearts, Wisuwit Prem, เปรม วิสุวิส, ผู้ป่วยติดเตียง