กุหลาบเป็นดอกไม้แห่งความรักของคนทั่วโลก และเป็นดอกไม้ที่มีเสน่ห์ทั้งหน้าตาและกลิ่นหอมที่ทุกคนต่างหลงใหล ใครเห็นเป็นต้องหลงรักอยากชิดใกล้ ถ้าคุณได้อยู่ท่ามกลางสวนกุหลาบหลายร้อยสายพันธุ์กับคนที่คุณรักตลอดทั้งชีวิต ความรักของคุณจะเบ่งบานสักเพียงใด เพราะนอกจากจะได้เห็นดอกกุหลาบหลากสีบานสะพรั่งแล้ว ยังได้เห็นรอยยิ้มของคนที่คุณรักส่งมาให้ทุกวันเช่นกัน
ณ สวนกุหลาบ พ.น. บน กิโลเมตรที่ 48 อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่ไม่ได้มีแค่ดอกไม้ที่เบ่งบานบนพื้นที่กว่าหกไร่เท่านั้น หากยังมีความรักของสองตายายคู่หนึ่งงอกงามอยู่ในสวนกุหลาบแห่งนี้มายาวนานกว่าสามสิบกว่าปีด้วยเช่นกัน
“หนูเชื่อไหม ตั้งแต่แต่งงานมา เรายังไม่เคยทะเลาะกันเลยสักครั้งเดียว ยายพูดแบบไม่อายเลยนะว่าเรามีแต่ความรักให้กันเท่านั้น” คุณยายอนงค์ นาควัชระ วัย 86 ปีกระซิบบอกด้วยรอยยิ้มปนเสียงหัวเราะ
“ตอนเจอกันครั้งแรกเห็นเขาชอบต้นไม้เหมือนกันก็หลงรักทันที เพราะคิดว่าคนที่ชอบต้นไม้อย่างน้อยต้องมีจิตใจดีแน่ๆ” คุณตาพจนา นาควัชระ วัย 91 ปีเอ่ยถึงนาทีรักแรกพบ
“แล้วคุณตาชอบอะไรในตัวคุณยายบ้างคะ” เราถามกลับไปด้วยรอยยิ้มปนอิจฉาตาร้อนในความรักของผู้สูงวัยตรงหน้า คำตอบที่ได้รับราวกับเป็นบทสรุปของความรักที่ทำให้ชีวิตคู่ดำเนินมายาวนานจนกลายเป็นลมหายใจของกันและกันมานานกว่าหกสิบปี
“ชอบทุกอย่างที่เป็นตัวของเขานั่นแหละ”
ต้นไม้สื่อรัก
ปลายปี พ.ศ. 2500 คุณตาพจนาเพิ่งเรียนจบจากประเทศอังกฤษในฐานะนักเรียนทุน ก.พ. ของการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้ว่างานแรกจะต้องเดินทางไปเป็นนายสถานีประจำรถไฟไกลถึงหาดใหญ่ แต่โชคชะตาก็ยังนำพาสาวจากอยุธยาให้มาพบรักกันจนได้
“มันก็แปลกนะหนู จริงๆ ยายก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย วันนั้นเพื่อนร่วมงานชวนไปเยี่ยมญาติที่ทำงานอยู่การรถไฟหาดใหญ่ พอไปถึงบ้านพักรถไฟก็เจอเขากำลังง่วนอยู่กับต้นไม้อยู่พอดี แล้วเขาก็เรียกให้เราไปช่วยหน่อย ยายชอบต้นไม้มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วก็เลยเข้าไปช่วย” คุณยายอนงค์เล่าฉากรักแรกพบที่มีต้นไม้เป็นสื่อรัก
เย็นวันนั้น คุณยายและเพื่อนมีหน้าที่เป็นแม่ครัวเตรียมอาหารเลี้ยงนายสถานีรถไฟที่บ้านพักรถไฟ ก่อนลาจากคุณตาอยากขอพบหน้าแม่ครัวเพื่อกล่าวขอบคุณ จึงได้รู้ว่าเป็นหญิงสาวคนเดียวกันที่มาช่วยปลูกต้นไม้ หัวใจชายหนุ่มดีกรีนักเรียนนอกจึงยิ่งเต้นแรง เช่นเดียวกับหญิงสาวจากอยุธยาที่แอบปิ๊งชายหนุ่มอยู่ในใจเช่นกัน
“ตอนนั้นเราก็เริ่มแอบชอบเขาแล้วเหมือนกัน” คุณยายเผยความในใจด้วยรอยยิ้มเขินอาย
หลังลาจากกันไป ฝ่ายหญิงกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ ฝ่ายชายยังคงประจำการอยู่ภาคใต้ ในยุคนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือโลกออนไลน์ให้แชตคุยกัน เมื่อหัวใจคิดถึงใครสักคนที่อยู่ห่างไกล หนทางเดียวที่ส่งต่อความคิดถึงไปได้คือ การเขียนจดหมาย
“เขาไม่ได้เขียนหายายหรอกนะ แต่เขาเขียนถึงเพื่อนร่วมงานของยาย เล่าว่าวันนี้รถไฟตกรางตรงนั้นตรงนี้ เพื่อนก็เอามาให้อ่าน ไม่มีเรื่องความรักอะไรเลย ยายก็ไม่เคยเขียนจดหมายตอบกลับไป เพราะเขาไม่ได้เขียนถึงเราโดยตรง”
แม้ว่าข้อความในจดหมายจะมิใช่จดหมายรักแสนหวาน แต่จดหมายที่ส่งมาอย่างต่อเนื่องก็ทำหน้าที่เป็นสะพานความรักที่ทำให้ทั้งคู่ได้พบเจอกันอีกหลายครั้งจนกระทั่งถึงวันสำคัญของชีวิต
“พอเขาขอแต่งงานนะ ยายรีบตอบตกลงเลย เพราะเดี๋ยวเขาเปลี่ยนใจไม่เลือกเรา แล้วจะยุ่งน่ะสิ” คุณยายพูดอย่างอารมณ์ดี
หลังจากนั้นหญิงสาวก็ลาออกจากงานประจำเพื่อทำหน้าที่แม่บ้านนายสถานีรถไฟอย่างเต็มตัว ติดตามสามีไปประจำสถานีรถไฟตั้งแต่ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขึ้นเหนือมาจังหวัดลำปาง แล้วย้ายไปอยู่ภาคอีสานตอนล่าง จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะย้ายเข้ากรุงเทพฯ
ชีวิตหลังแต่งงานของคุณยายอนงค์แสนเรียบง่ายแต่มีความสุขสมบูรณ์แบบในฐานะภรรยาและแม่ของลูกห้าคน ส่วนคุณตาทำงานประจำในฐานะหัวหน้ากองโดยสารและเลื่อนตำแหน่งไปจนถึงระดับผู้อำนวยการฝ่ายเดินรถ มีงานอดิเรกคือปลูกต้นไม้และสีไวโอลิน เครื่องดนตรีที่หลงรักมาตั้งแต่เรียนอยู่ต่างประเทศ
“ถึงเราจะเรียนเมืองนอกแต่ก็ยังชอบทำสวน ไม่ชอบทำงานนั่งโต๊ะ พอปิดเทอมก็ไปหางานทำอยู่ในฟาร์มนอกเมืองตลอด แล้วก็ชอบดนตรีมาตั้งแต่อยู่ ม. 6 หัดเล่นแมนโดลินของน้าชายด้วยตนเอง พอไปอยู่อังกฤษก็เปลี่ยนมาเล่นไวโอลินเพราะหลงรักเสียงของเขา เล่นทุกวันจนไวโอลินกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
หากดีเอ็นเอคือรหัสพันธุกรรมที่ส่งผ่านมาในยีนส์ของพ่อและแม่ ความรักในการทำอาหาร ดนตรีและต้นไม้ก็คงจะเป็น ‘รหัสพฤติกรรม’ ที่ลูกๆ ได้เห็นและซึมซับมาตั้งแต่เยาว์วัย จนกลายเป็นนิสัยที่โดดเด่นแตกต่างกันไปในตัวลูกแต่ละคน
ลูกสาวคนโตชอบเข้าครัวกับแม่จึงโดดเด่นในเรื่องฝีมือทำอาหารจนกลายเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดังของเมืองเชียงใหม่ชื่อ ‘หวานละมุน’ ลูกสาวคนที่สองซึมซับความรักในเสียงดนตรีของพ่อจนกลายเป็นครูสอนเปียโนที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ลูกสาวคนที่สามหลงรักต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนลูกคนที่สี่และคนที่ห้าก็ได้รับส่วนผสมของความรักดนตรี ต้นไม้ และการทำอาหารติดตัวกันไปมากบ้างน้อยบ้างตามความชอบของแต่ละคน
ด้วยความรักต้นไม้อยู่ในสายเลือด คุณตาพจนาจึงตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการเป็นชาวไร่ชาวสวน เมื่อมีคนมาเสนอขายที่ดินในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จึงซื้อเก็บไว้ เพราะชื่นชอบอากาศทางภาคเหนือตั้งแต่ตอนไปประจำที่สถานีรถไฟจังหวัดลำปาง ทว่าหลังจากซื้อที่ดินได้ไม่นาน คุณตามีปัญหาขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา จึงตัดสินใจลาออกก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้สองปี
ชีวิตชาวสวนจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่อายุ 53 ปีเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันคุณตาอายุ 91 ปีแล้ว รวมสามสิบแปดปีที่ความรักในสวนดอกไม้ก็ยังไม่เคยลดลง เช่นเดียวกับความรักที่มีให้คู่ชีวิตที่คอยให้กำลังอยู่เคียงข้างเสมอมาจนกลายเป็นลมหายใจของกันและกันมากว่า 60 ปี จนถึงวันนี้
สวนกุหลาบแห่งความรัก
ช่วงปีแรกๆ ที่คุณตาลาออกจากการรถไฟฯ ย้ายไปเป็นชาวสวนดอกไม้ คุณยายยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ด้วยกัน เพราะยังต้องดูแลคุณย่าอีกสามคนที่กรุงเทพฯ ส่วนลูกๆ ก็เติบโตมีครอบครัวกันไปหมดแล้ว คุณยายจึงต้องอยู่ห่างไกลกันกว่าแปดร้อยกิโลเมตร ช่วงเวลานั้น คุณตามีเด็กหนุ่มคอยช่วยดูแลงานบ้านแบบตามมีตามเกิด อาหารการกินก็ไม่ได้พร้อมสรรพเหมือนตอนที่มีคุณยายดูแลใกล้ชิด จวบจนกระทั่งผู้มีพระคุณล่วงลับ คุณยายจึงย้ายจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่สวนกุหลาบกับชายผู้เป็นที่รัก และไม่เคยห่างไกลกันอีกเลยจนถึงวันนี้
คุณตาเล่าถึงเหตุผลที่เลือกปลูกกุหลาบให้ฟังว่า ตอนแรกเริ่มจากปลูกมะม่วง แต่ต้องยุ่งยากห่อผลไม่ให้หนอนกิน เลยหันมาปลูกดอกไม้เพื่อตัดดอกขาย เริ่มจากดอกคาเนชั่น แต่เป็นไม้ล้มลุก ต้องปลูกใหม่อยู่เรื่อย จึงเริ่มทดลองปลูกกุหลาบซึ่งเป็นไม้ยืนต้น แต่ความยากของการปลูกกุหลาบคือศัตรูพืช และต้องการอากาศที่เย็นมากพอ เพราะถ้าอากาศไม่เย็น โรคต่างๆ ก็จะตามมา
“กุหลาบทำให้เราสดชื่น เวลาเห็นเขาออกดอกเราก็สบายใจ เวลาออกดอกใหญ่จะตื่นเต้น กุหลาบเป็นดอกไม้ที่ไม่มีดอกไม้อื่นสวยเท่า ต้นนิดเดียวดอกเบ้อเร่อ เสน่ห์ของกุหลาบมีตั้งแต่ทั้งสีสันร้อยแปดชนิด รูปทรงดอก แล้วยังหอมอีก เป็นดอกไม้ที่ไม่มีดอกไม้อะไรอื่นมีคุณสมบัติทุกอย่างครบถ้วนเท่ากุหลาบอีกแล้ว เราอยู่ด้วยก็ยิ่งหลงรัก”
เมื่อยิ่งปลูกก็ยิ่งรัก คุณตาจึงสนุกกับการเพาะพันธุ์กุหลาบสายพันธุ์ใหม่ๆ จนกลายเป็นสวนกุหลาบที่มีกุหลาบมากสายพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย และคุณตายังกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกุหลาบที่มีคนแวะเวียนมาขอความรู้ ศึกษาดูงาน รวมทั้งเขียนตำราเรื่อง ‘กุหลาบ’ เผยแพร่โดยมีสำนักพิมพ์อมรินทร์เป็นผู้จัดพิมพ์
คุณตาบอกสูตร (ไม่) ลับของคนอยากปลูกกุหลาบว่าจะต้องมีสองสิ่งนี้ คือ หนึ่ง อากาศต้องเย็น เพราะจะได้เปรียบไปแล้วครึ่งนึง สอง ดินต้องดี แต่ถ้าดินไม่ดีก็สามารถแก้ไขได้ แค่ขุดทิ้ง แล้วเอาดินดีมาใส่ สิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้คืออากาศและสภาพแวดล้อม นี่เป็นปัญหาใหญ่ของคนปลูกกุหลาบ
ท่ามกลางกุหลาบที่ได้รับความเอาใจใส่จนงอกงามเต็มพื้นที่กว่าหกไร่ ความรักของเจ้าของสวนกุหลาบก็เบ่งบานไม่แพ้กัน คุณยายเล่าถึงหน้าที่ในสวนกุหลาบแห่งความรักให้ฟังว่า กุหลาบแต่ละสายพันธุ์มีการดูแลแตกต่างกัน หากรู้จักลึกซึ้งในกุหลาบสายพันธุ์ไหนแล้วก็จะทำให้สามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์นั้นได้ง่ายขึ้น
“เขาจะมอบหน้าที่ให้ว่าเราทำอะไร เราก็จะดูว่า เราถนัดไหม ถ้าเราถนัดเราก็รับหน้าที่นั้น เราดูแลพันธุ์นี้พันธุ์เดียว เป็นพันธุ์แบบออกดอกเป็นช่อๆ โดยจะออกดอกแรกก่อน เราก็ต้องเด็ดยอดออกเพื่อจัดทรงให้สวย วิธีเด็ดก็ต้องรู้ว่าเด็ดยังไงถึงจะไม่เน่า หลังจากนั้นก็รอให้ดอกใหม่โตขึ้นมาปิดรอยแผลที่เราเด็ดทิ้งไปจนเป็นช่อสวยงาม”
เมื่อรักต้นไม้เหมือนกัน และปลูกต้นไม้แห่งความรักด้วยกัน สวนกุหลาบแห่งนี้จึงอบอวลไปด้วยความสุขและความหอมจากดอกกุหลาบเสมอ ที่โรแมนติกไปกว่านั้นก็คือ นอกจากสวนกุหลาบจะทำให้ความรักของทั้งคู่สดใสแม้ในวัยชราแล้ว คุณตายังชอบหยิบไวโอลินมาสีให้คุณยายฟังเกือบทุกวัน ใครผ่านมาแถวนี้เป็นต้องอิจฉาความรักในสวนกุหลาบของสองตายายคู่นี้นักเชียว
“ดนตรีเป็นเครื่องมือที่เราจะสื่ออารมณ์ความรู้สึก ต้นไม้บางทีมันมีทุกข์นะ เวลาเหี่ยวเฉา มีโรคก็ทำให้เราไม่สบายใจ ดนตรีเราเล่นแล้วก็จบไป ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต เวลาเขาป่วยเราก็ไม่สบายใจ การอยู่กับต้นไม้ ทำให้เราอ่อนโยนลง ทำให้เราช่างสังเกต ถ้าปลูกไปนานๆ จะรู้ว่าต้นไม้ต้นนี้แฮปปี้หรือไม่แฮปปี้ หน้าตาจะบอก ถ้าแฮปปี้ใบจะกว้าง หรือใบเปิด ถ้าใบกางเต็มที่แสดงว่าสมบูรณ์ ถ้ามันไม่ดี ใบจะห่อ”
คุณตาบอกเคล็ดลับของการปลูกกุหลาบให้งอกงามสะพรั่งว่า ความพอดีคือหัวใจของคนปลูกกุหลาบ หากใส่ปุ๋ยมากไป หรือดูแลเอาใจใส่น้อยไป กุหลาบก็จะค่อยๆ เหี่ยวแห้งตายจากไปในไม่ช้า
“ถ้าจะให้ต้นไม้งามไม่ใช่ใส่ปุ๋ยอย่างเดียวนะ คนที่ปลูกต้นไม้ใหม่ๆ ไม่รู้ว่าปุ๋ยเคมีมันแรงแค่ไหน ขนใส่ไปเยอะๆ ก็ตายเลย ใบแห้ง อยู่กับต้นไม้ต้องมีความพอดี ความช่างสังเกต”
คุณยายเสริมว่า การดูแลต้นไม้ก็เหมือนดูแลคนๆ หนึ่ง ยามป่วยไข้ต้องรีบหาหมอมารักษาให้แข็งแรง “เวลาเห็นต้นไม้ค่อยๆ ตาย ก็เดือดร้อนน่ะสิ ต้องหาอะไรมาบูรณะให้แข็งแรงขึ้น”
ทุกๆ เช้า สองตายายจะออกเดินตรวจดูกุหลาบในสวนด้วยกัน คุณตาบอกว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุดของชีวิตคู่ เมื่อรักชอบในสิ่งที่ต่างคนเป็นอยู่ ชีวิตคู่จึงปราศจากเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง มีเพียงความรักให้กันเท่านั้นที่อบอวลอยู่ในสวนกุหลาบแห่งนี้
“คงเพราะเรามีความชอบต้นไม้เหมือนกันเป็นพื้นนะ เราถึงไม่เคยทะเลาะกัน” คุณตาเอ่ยถึงหัวใจของชีวิตคู่
“จริงด้วยเนอะ เราพบรักเพราะต้นไม้ เราจึงช่วยกันดูแลต้นไม้โดยไม่เคยทะเลาะกันเลย” คุณยายเห็นด้วยกับคุณตา และดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของความรักที่มีให้กันมายาวนานกว่าหกสิบปีของคู่รักสูงวัยคู่นี้
ภาพ : นัยนา นาควัชระ
Tags: สวนกุหลาบพ.น., แม่แตง, เชียงใหม่, little big hearts, สวนกุหลาบ