ตอนค่ำของวันที่ 18 สิงหาคม 1905 ในโอลิมเปีย-โรงละครบนบูเลอวาร์ด คาปูซีนส์ ใจกลางกรุงปารีส ทุกสายตาของผู้ชมเพศชายพากันจดจ้องไปที่เรือนร่างของ ‘มาตา ฮารี’ นางระบำที่ก้าวขึ้นโชว์การแสดงบนเวที บนศีรษะของเธอพราวพร้อยไปด้วยเครื่องประดับพื้นเมืองของชวา ท่อนบนสวมชุดรัดทรวงอกและผืนผ้าไหม มีผ้าปักพันรอบสะโพก หลวมและลึก

รุ่งสางของวันที่ 15 ตุลาคม 1917 ที่บริเวณป้อมปราสาทแวงซอนส์ ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันออกไม่กี่กิโลเมตร นายทหาร 12 คนกำลังเล็งปลายกระบอกปืนไปที่เรือนร่างของมาร์กาเรตา แกร์ทรูอิดา แม็คเลโอด (Margaretha Geertruida MacLeod) นามสกุลแรกเกิด เซลเล (Zelle) ผู้ตกเป็นนักโทษคดีจารกรรมความลับ เธอปฏิเสธที่จะใช้ผ้าผูกปิดตา อีกทั้งยังร้องขอไม่ให้ล่ามตัวเธอไว้กับเสา นายทหารจึงคล้องเชือกไว้รอบสะโพกของเธอ หลวมและลึก

มาร์กาเรตา แกร์ทรูอิดา เซลเล หรือ ‘มาตา ฮารี’ เกิดเมื่อปี 1876 เป็นบุตรสาวของช่างทำหมวกในเลอูวาร์เดน จังหวัดฟรีสแลนด์ เธอเสียชีวิตในระหว่างที่สงครามยุโรปครั้งใหญ่กำลังกลายเป็นสงครามโลก แต่ตลอด 41 ปีในชีวิตของเธอกลับเต็มไปด้วยความลับ มีหนังสือกว่าสองร้อยเล่มเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับมาตา ฮารี ล่าสุดเมื่อสองปีก่อน นักเขียนชื่อดังอย่างเปาโล โคเอโล (Paulo Coelho) ก็นำจดหมายโต้ตอบระหว่างเธอกับทนายมาเป็นวัตถุดิบในหนังสือของเขา

เรื่องของเธอกลายเป็นงานบัลเลต์ มิวสิคัล และแทบทุกๆ ทศวรรษหลังความตายของเธอมันมักถูกนำมาเป็นพล็อตสำหรับภาพยนตร์ มีผู้แสดงสวมบทบาทเป็นเธอตั้งแต่ดาราสาวสวีดิช-เกรตา การ์โบ (Greta Garbo) เมื่อปี 1931 มาจนถึงดาราสาวเยอรมัน-นาตาเลีย เวอร์เนอร์ (Natalia Wörner) เมื่อปี 2017 แต่มาร์กาเรตา เซลเลเป็นหญิงสาวสมัยใหม่ที่มีจิตใจเหี้ยมโหดจริง หรือการต้องโทษประหารด้วยการยิงในตอนท้ายจะบอกอะไรเกี่ยวกับเธอมากกว่าความผิดจริงของเธอกันแน่

มาร์กาเรตา บ้างถูกเรียกว่า เกรตา หรือกรีต เป็นลูกรักของพ่อ-อดัม เซลเล (Adam Zelle) และดูเหมือนเธอจะซึมซับอะไรบางอย่างจากเขา บ่อยครั้งผู้เป็นพ่อมักหมดเนื้อหมดตัว หรือหายตัวไปเฉยๆ เวลาอยู่บ้านเขามักมีปากเสียงกับภรรยา ใส่ใจก็เพียงลูกสาวของตน ตอนวันเกิดครบรอบหกขวบของเธอ เขาซื้อรถเทียมม้าคันเล็กๆ ให้ ที่ใช้แพะลากแทนม้า หรือบางครั้งเขาก็หาตัวถังมาครอบให้ดูเหมือนรถนั่งของบรรดาเศรษฐีที่เวลาแล่นผ่านแต่ละทีสะเทือนไปทั้งถนน

ปี 1895 เมื่ออายุได้ 19 ปี มาร์กาเรตา เซลเลตกปากรับคำแต่งงานกับชายที่ลงประกาศหาคู่ เขาชื่อ รูดอล์ฟ แม็คเลโอด (Rudolph MacLeod) อายุมากกว่าเธอเกือบยี่สิบปี เป็นชายชาวอังกฤษที่รับราชการในกองทัพของเนเธอร์แลนด์ และต้องไปประจำการในดินแดนอาณานิคมซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า อินโดนีเซีย

มาร์กาเรตา แม็คเลโอดมีทายาทคนแรกเป็นลูกสาว ถัดมาเป็นลูกชาย แต่ชะตาชีวิตคล้ายเล่นตลก ลูกชายของเธอเสียชีวิตอย่างปริศนาระหว่างที่เธอไม่อยู่บ้าน หลังจากนั้นชีวิตคู่เริ่มสั่นคลอน มีการฟ้องร้องแย่งสิทธิการเลี้ยงดูลูกสาว แต่เธอแพ้

นอกจากรูดอล์ฟ แม็คเลโอดจะปฏิเสธไม่ให้เธอพบเจอลูกสาวอีก และไม่ยอมจ่ายค่าเลี้ยงดูให้เธอ ทำให้เธอต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิงในช่วงเวลานั้น ความสูญเสียและสิ้นหวังนี่เองน่าจะเป็นเหตุผลให้มาร์กาเรตาผันตัวเองไปเป็น ‘มาตา ฮารี’

มาร์กาเรตา เซลเลเดินทางกลับไปที่ปารีส ขณะอายุ 28 ปี เริ่มดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยงานอาชีพนางแบบเปลือย จากนั้นได้เป็นคนขี่ม้าในคณะละครสัตว์ กระทั่งมีคนแนะนำให้เธอเป็นนางระบำ ปี 1905 เธอขึ้นโชว์ครั้งแรกด้วยชื่อ ‘เลดี แม็คเลโอด’ สาวผมดำได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตในเอเชียมาใช้สำหรับการแสดง เธอออกแบบชุดแต่งกายจากเครื่องประดับแฟชั่นให้ใกล้เคียงกับงานศิลปะเกี่ยวกับพระศิวะในพิพิธภัณฑ์กุยเมต์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม

ในไม่ช้า เลดี แม็คเลโอดก็เปลี่ยนตัวเองเป็นมาตา ฮารี ในภาษามาเลย์แปลว่า นัยน์ตาแห่งรุ่งอรุณ พร้อมปูมหลังที่เล่าถึงสาวลูกครึ่งยุโรป-อินโดนีเซีย แต่ไม่ว่าชีวประวัติของเธอจะจริงเท็จ หรือระบำบูชาของเธอจะชดช้อยหรือน่าเบื่อแค่ไหน มาตา ฮารีมาถูกจังหวะเวลา ทุกอย่างที่ผู้คนสนใจเกี่ยวกับ ‘ตะวันออก’ กำลังกลายเป็นแฟชั่น รวมถึงการเปิดเผยเนื้อหนัง เพียงแต่มาตา ฮารีเผยมากกว่านั้นเล็กน้อย เพราะนอกจากชุดเครื่องประดับปิดเต้านม และผ้าบางๆ ห่มสะโพกแล้ว ท่อนล่างเธอไม่สวมใส่อะไรเลย

ไม่นานนักเธอก็มีงานแสดงทุกวัน แขกขาประจำของเธอมีทั้งนายทหาร นักการเมือง นักการทูต และนายธนาคารอย่างเฟลิกซ์ ซาวิเยร์ รูสโซ (Félix Xavier Rousseau) ที่ถึงกับทุ่มเงินซื้อวิลล่าย่านชานกรุงปารีส พร้อมมอบรถคันงามให้เธอ มาตา ฮารีตระเวนไปทั่วยุโรป รายชื่อคู่ควงและคู่นอนยาวเป็นหางว่าว ความมีชื่อเสียงของเธอทำให้จำนวนผู้หญิงที่อยากลอกเลียนแบบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดาวของมาตา ฮารีก็เริ่มตกและอับแสง ระหว่างที่สงครามปะทุขึ้น เธอยังอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เหตุเพราะความวุ่นวายทางการเมืองทำให้งานแสดงของเธอต้องถูกยกเลิก นางระบำสาวมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากมาย ทว่ากลับไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ถึงกระนั้นเธอก็ยังลักลอบเดินทางกลับเข้าเนเธอร์แลนด์จนได้

และแม้สงครามจะลุกลามไปทั่วภูมิภาค แต่เธอก็ยังสามารถเดินทางไปยังเมืองใหญ่ๆ ของยุโรปได้อยู่ หลักฐานข้อมูลจากหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษยืนยันว่า พฤติกรรมของเธอเป็นที่น่าสงสัยตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว อาจเพราะความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ ด้วยเหตุนี้หน่วยสืบราชการลับของเยอรมนีจึงพุ่งความสนใจมาที่เธอ และยื่นข้อเสนอให้เธอเป็นสายลับ ผ่านทางกงสุลเยอรมันในเนเธอร์แลนด์เมื่อต้นฤดูร้อนปี 1916 มาตา ฮารีรับคำสั่งผ่านเอลสเบธ ชรากมึลเลอร์ (Elsbeth Schragmüller) ผู้หญิงคนเดียวที่ครองตำแหน่งผู้บัญชาการในหน่วยงานสายลับของเยอรมนี

จากหลักฐานที่ได้รับการคุ้มครองมานาน กระทั่งครบกำหนด 100 ปีเมื่อปี 2017 มีการเปิดเผยว่า ความจริงแล้วจะพูดว่ามาตา ฮารีเป็นสายลับหรือนักจารกรรมระดับสูง ที่ฝรั่งเศสถึงกับต้องประหารชีวิตนั้น ก็ไม่ถูกต้องนัก

ความผิดพลาดของมาตา ฮารีเกิดขึ้นเพียงเพราะว่า เธอใช้ชีวิตระหว่างแนวรบทั้งสองฝ่าย แม้กระทั่งตอนที่สงครามโลกปะทุขึ้นในปี 1914 เธอก็ยังเดินทางข้ามพรมแดนไปยังฝ่ายศัตรู แถมยังหลับนอนกับนายทหารระดับสูงทั้งของเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย

เมื่อครั้งที่รับงานจากฝ่ายเยอรมนี มาตา ฮารีเรียกร้องเอาเงิน จากนั้นเธอยังไปขายข่าวให้กับฝ่ายฝรั่งเศส เพื่อรับเงินอีกทอด กระทั่งครั้งหนึ่งระหว่างพักอยู่ในกรุงแมดริด เธอรับรู้ข้อมูลจากสถานกงสุลที่นั่นเกี่ยวกับการขนส่งอาวุธสงคราม เธอจึงรายงานต่อให้กับฝ่ายฝรั่งเศส แต่กับฝ่ายเยอรมนี เธอ-สายลับภายใต้ชื่อรหัส ‘เอช-21’ กลับส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน

เป็นไปได้ว่า ฝ่ายเยอรมนีเริ่มรู้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า มาตา ฮารีเป็นสายลับสองหน้า จึงย้อนแผนเพื่อเอาคืน เหมือนในนิยายสายลับ ด้วยการยื่นข่าวลวงให้เธอส่งต่อไปยังฝ่ายฝรั่งเศส เหมือนส่งมีดที่มันจะย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเธอเอง

มาตา ฮารีถูกจับกุมตัวที่วิตเทล เมืองตากอากาศของฝรั่งเศส ขณะเดินทางไปพบทหารหนุ่มรัสเซียนที่ชื่อ วาดิม มาสลอฟฟ์ (Vadim Masloff) ซึ่งเธอเคยมีความสัมพันธ์ด้วย และปรารถนาจะพบเจอเขาอีกครั้ง แม้รู้ดีว่าต้องเสี่ยงอันตราย

ในเดือนกรกฎาคมปี 1917 ระหว่างที่มาตา ฮารีขึ้นศาลทหารนั้น สงครามที่โหดร้ายกำลังทวีความรุนแรง จนถึงปัจจุบันมีการตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงสงครามและศาลทหารซึ่งเป็นโจทก์ฟ้อง น่าจะสร้างหลักฐานขึ้นเพื่อเพิ่มความผิดของเธอให้มีน้ำหนักและร้ายแรง เพื่อปกปิดความล้มเหลวของฝ่ายตน บ่ายเบี่ยงความพ่ายแพ้ที่แนวรบ โดยมีสื่อหนังสือพิมพ์ขานรับด้วยข่าวว่า สาวฮอลแลนด์ป้อนข้อมูลให้กับฝ่ายเยอรมนีเกี่ยวกับอาวุธสำคัญซึ่งก็คือรถถัง เป็นเหตุให้ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตถึง 50,000 นาย

ใครหักหลัง ใครคนนั้นคือคนทรยศ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย หลังการพิจารณาคดีในศาลผ่านไปสองวัน คำตัดสินก็มีขึ้น และมาตา ฮารีมีความผิด

กระสุนปืนสิบสองนัดฝังร่างของมาร์กาเรตา เซลเล พลเมืองของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นกลาง ความตายของเธอเป็นตัวอย่าง ของการก้าวล่วงพรมแดนประเทศที่เป็นศัตรูกันอย่างเลินเล่อเกินไป

อ้างอิง:            

https://www.spiegel.de/einestages/mata-hari-striptaenzerin-edelprostituierte-doppelspionin-a-1133691.html

https://blog.tagesanzeiger.ch/historyreloaded/index.php/169/mata-hari-das-toedliche-spektakel/

https://www.bazonline.ch/mata-hari-das-toedliche-spektakel/story/12241302

Tags: , ,