จะมีสักกี่เรื่องที่ทำให้คนทั้งประเทศ และยังลามไปถึงทั่วโลก ต้องช่วยกันติดตามข่าว เฝ้าลุ้นกันนาทีต่อนาที ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 12 คนและโค้ชของเขา ที่เดินเข้าไปในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อ 23 มิถุนายน 2018 ก่อนจะเกิดฝนตกจนระดับน้ำขึ้นสูง ทำให้ไม่สามารถกลับออกมาได้ พ่อแม่และคนที่เฝ้ารออยู่ข้างนอกเห็นเบาะแสเพียงจักรยาน ข้าวของสัมภาระ และรองเท้าที่วางทิ้งไว้บริเวณปากถ้ำ
แม้วันนี้ทุกคนจะใจชื้นขึ้นแล้วเมื่อรู้ว่า ทุกคนปลอดภัยดี แต่จากประสบการณ์ที่ทุกฝ่ายเผชิญร่วมกันครั้งนี้ มีสารพัดเรื่องที่ต้องคิดและจัดการต่อ
แค่เจอยังไม่จบ ภารกิจและขั้นตอนพา ‘ทีมหมูป่า’ ออกจากถ้ำ
หลังจาก 10 วันที่ติดอยู่ในความมืดภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ในที่สุด ทีมกู้ภัยก็พบทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิตที่บริเวณเนินนมสาว ห่างออกไปจากหาดพัทยาประมาณ 400 เมตร สร้างความปิติยินดีแก่เหล่าผู้ปกครอง ทีมค้นหา และทุกคนที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
แต่ประเด็นต่อมาหลังพบทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตแล้วคือ จะช่วยเหลือและพาทั้งหมดออกมาจากถ้ำอย่างไร ด้วยระดับน้ำภายในถ้ำที่ยังไม่ลดลงไปอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และวิสัยทัศน์ใต้น้ำที่มีโคลนปนอยู่จำนวนมากจนไม่สามารถมองเห็นเส้นทางได้ รวมถึงสุขภาพร่างกายของทั้ง 13 คนก็เป็นเรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดก่อนจะเคลื่อนย้ายพวกเขา
การส่งเสบียงเข้าไปให้ทีมหมูป่าเป็นสิ่งแรกที่ทำเมื่อพบพวกเขาแล้ว โดยเสบียงหลักๆ ที่ถูกส่งเข้าไปคือ เจลให้พลังงาน (power gel) น้ำเปล่า เกลือแร่ เพื่อให้พวกเขาได้รับพลังงานทดแทนหลังจากสูญเสียไปจากการติดอยู่ในถ้ำถึง 10 วัน โดยมีหมอเข้าไปเพื่อตรวจสภาพร่างกายของทั้ง 13 คนให้แน่ใจว่าสภาพร่างกายของพวกเขาอ่อนแอหรือแข็งแรงมากแค่ไหน เพื่อวางแผนช่วยเหลือต่อไป
ขณะที่แนวทางเสริมที่ยังจำเป็น คือการสูบน้ำเพื่อระบายน้ำภายในถ้ำให้รักษาระดับเอาไว้ ส่วนเรื่องการพาตัวทุกคนออกมาจากถ้ำนั้น ทางทีมค้นหาตัดสินใจจะรอให้ทุกอย่างพร้อม และให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถพาตัวทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัยจึงเริ่มการผจญภัยรอบต่อไป การวางแผนทั้งหมดคือการต่อสู้กับธรรมชาติ ขณะที่น้ำยังไม่ลดและพายุฝนระลอกใหม่กำลังจะมา เสริมด้วยข้อจำกัดที่ว่าทั้ง 13 คนว่ายน้ำไม่เป็น แล้วจะมีวิธีใดที่ทั้ง 13 ชีวิตจะผ่านทางน้ำออกมาได้
‘รอน้ำลด’ ในช่วงแรกมีข้อเสนอว่า อาจตุนเสบียงไว้ให้ทั้งหมดอยู่ภายในถ้ำไปก่อนหลายเดือนจนกว่าน้ำจะลด แต่ดูเหมือนนี่จะเป็นทางที่พยายามไม่เลือก เพราะหากรอน้ำลดก็อาจต้องให้พ้นหน้าฝนไป ซึ่งก็กินเวลาอีกหลายเดือน เพราะตอนนี้เพิ่งต้นฤดูฝนเท่านั้น ช่วงเวลานี้อาจเกิดความเสี่ยงที่ไม่คาดหมายอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
‘เจาะถ้ำ’ เคยมีข้อเสนอว่า หากการมุดถ้ำออกมาฟังดูเป็นเรื่องยาก การเจาะถ้ำอาจจะเป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยเหลือทั้ง 13 คน แต่ขั้นตอนการเจาะถ้ำก็จำเป็นต้องอาศัยถนนในการเคลื่อนย้ายเครื่องมือเข้าไปยังพื้นที่และต้องมีการจัดการผิวหน้าพื้นที่การเจาะเพื่อรองรับเครื่องมือการขุดเจาะที่จะต้องเจาะพื้นผิวของหินที่หนาและซับซ้อน ทางเลือกนี้ท้ายที่สุดถูกตัดไป เพราะดูจะเป็นแนวทางที่ไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากยังไม่เจอโพรงที่อยู่ใกล้จุดที่ทั้ง 13 หลบอยู่
‘ดำน้ำออกมา’ คือแนวทางที่คนนึกถึง เพราะเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการพาออกจากถ้ำ หากเลือกวิธีนี้หมายความว่า ทางทีมช่วยเหลือต้องฝึกการดำน้ำเบื้องต้นเพื่อให้พวกเขารู้และเข้าใจทักษะในการดำน้ำก่อนที่จะพาพวกเขาออกมา แต่อย่างไรก็ตาม ทักษะการดำน้ำจำเป็นต้องใช้เวลาฝึกและอาศัยสภาพร่างกายที่พร้อม แต่ด้วยระดับน้ำบวกกับโคลนที่กีดขวางวิสัยทัศน์ใต้น้ำและเส้นทางที่แคบ อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำน้ำออกมาครั้งนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่า วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่อันตรายหากผู้ดำน้ำไม่มีความชำนาญอาจเกิดอาการตื่นตกใจและเป็นอันตรายต่อตัวเขาพวกเองด้วย
อีกแนวทางที่ใกล้เคียงกันคือ ฝึกให้ทุกคนรู้จักวิธีดำน้ำเบื้องต้น และให้ทุกคนสวมหน้ากากดำน้ำพร้อมออกซิเจน แล้วทีมช่วยเหลือยืนต่อกันเป็นโซ่มนุษย์แล้วค่อยๆ ลำเลียงทุกคนออกมา แต่ก็เป็นวิธีที่ซับซ้อนและยากมาก เพราะอย่าลืมว่า บางช่วงทางแคบแค่ขนาดลำตัวในแบบที่ต้องถอดถังออกซิเจนก่อนจึงจะผ่านไปได้
อย่างไรก็ตาม ทางทีมช่วยเหลือมองว่า การพาทีมหมูป่ากลับออกมาทางปากถ้ำก็ยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดและสภาพร่างกายของทั้ง 13 คนก็ยังต้องได้รับการประเมินจากหมออย่างละเอียดมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ทางทีมกู้ภัยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ยังต้องทำหน้าที่ต่อไปเพื่อลดระดับน้ำภายในถ้ำให้มากที่สุด เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงทีมหมูป่าและเปิดช่องทางให้สามารถพาพวกเขาออกมาได้อย่างปลอดภัยทั้ง 13 ชีวิต
หน่วงกันมานาน รางวัลและการลงโทษ ต้องมี
เมื่อวาระแห่งความเป็นมนุษย์ใกล้จะจบลง บรรดาผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ 13 คนในถ้ำและครอบครัว ทีมค้นหา ผู้บริหาร สื่อ จนถึงฝั่งจิตวิญญาณ ก็คงจะต้องได้รับผลตอบแทนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลหรือการลงโทษจากสังคม ที่ดูเหมือนจะอยากมอบให้กันจงได้
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทั้ง 13 ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย หลายคนระเบิดความอัดอั้นผ่านโซเชียลมีเดียหลังจากที่หน่วงกันมากว่า 10 วัน นอกเหนือจากความยินดีและมุกตลก ที่เราเห็นเป็นจำนวนมากคือวาทกรรม ‘ก้านมะยม’ ที่ต้องการสั่งสอนเจ้าพวกเด็กซนให้เข็ดหลาบ บางคนใจดีหน่อยก็บอกว่า หลังจากที่พวกเขาฟื้นฟูร่างกายจนกลับมาสมบูรณ์แข็งแรงแล้วค่อยมาโดนเฉ่งทีหลัง
10 วันในความมืด คงเป็นบทเรียนชิ้นใหญ่พอแล้วสำหรับเด็กๆ แต่หากจะมีใครมารวบตึงให้ฟังอีกสักรอบก็อาจจะไม่หนักหนาสาหัสนัก หากเป็นน้ำเสียงที่อยู่ในความพอดีและความเข้าใจ เพราะเรายังไม่อาจรู้ได้ว่าพวกเขาจะมีสภาวะ PTSD กันมากน้อยแค่ไหน ในทางกลับกัน การประคบประหงมจนเกินเหตุก็อาจไม่ใช่ผลดีกับเด็กๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้คงเป็นหน้าที่ของแต่ละครอบครัวเป็นอันดับแรก ส่วนที่สังคมจะเติมเข้าไปหรือกรมสุขภาพจิตที่เตรียมเข้าช่วยเหลืออาจจะเป็นเรื่องรองลงมา แต่ก็คงแค่มองผ่านไปไม่ได้ เมื่อเราเริ่มเห็นวี่แววความกังวลเกี่ยวกับการยกเด็กๆ เป็น ‘ฮีโร่’ หรืออภิสิทธิ์อื่นๆ ที่จะได้รับในเวลาต่อจากนี้
ส่วนโค้ชเอก วัย 25 ปี นอกจากจะได้รับคำชื่นชมเรื่องการดูแลเด็กๆ ระหว่างติดถ้ำ ตามที่ป้าของโค้ชให้ข้อมูล ก็ยังมีคำติเตียนเรื่องการพาเด็กๆ เข้าไปในถ้ำในฤดูน้ำหลาก โดยก่อนหน้านี้เขาก็เคยพาทีมฟุตบอลเข้าไปทำสมาธิหรือออกกำลังในถ้ำมาแล้ว และอย่างไรก็ตาม น่าจะต้องมีกระบวนการตามมาอีกเป็นกระบวนจากองค์กรที่โค้ชสังกัดหรือถูกจ้างวาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้สนใจต้องติดตามกันต่อไป
อีกด้านหนึ่ง ยังมีผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยโดยครอบครัวของทั้ง 13 คน (ที่แน่ๆ ทั้ง 13 ครอบครัวได้เงินปลอบขวัญจาก สพฐ. ไปแล้ว ครอบครัวละ 1 หมื่นบาท) นี่อาจเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ในวงกว้าง ซึ่งในประเทศที่คนนิยมกิจกรรมผจญภัย มีการตั้งคำถามเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับงาน SAR (search and rescue) อยู่บ่อยครั้ง และตลอดมาผู้ที่แบกรับค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยคือองค์กรรัฐในพื้นที่นั้นๆ
อย่างกรณีเมื่อปี 2012 ของเซบาสเตียน บุชเชอร์ (Sebastian Boucher) ที่ออกไปนอกเขตเล่นสกีของรีสอร์ทจนค้างอยู่บนภูเขาหิมะในแวนคูเวอร์ ทางรีสอร์ทเรียกเก็บค่าชดเชยเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์ เพื่อจ่ายให้ทีมช่วยเหลือ แต่ท้ายที่สุดบิลนั้นได้ถูกยกเลิก ส่วนบุชเชอร์จะต้องเข้าร่วมการรณรงค์ไม่ให้ผู้คนออกนอกเขตที่กำหนดตามฤดูกาลแทน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและช่วยเหลือเองให้เหตุผลว่า การเรียกเก็บเงินไปที่ผู้ถูกช่วยเหลือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทางที่ดีควรจะสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของธรรมชาติเสียมากกว่า
อีกหนึ่งกรณีที่หลายคนพุ่งเป้าคือ เราควรขอบคุณใครกันแน่ ถึงจะถูกคน ขณะที่สื่อต่างชาติพร้อมใจกันพาดหัวว่า ‘2 British divers found 13 Thai cave boy’ จนนำมาซึ่งบางเสียงทวงถามว่าแล้วหน่วยซีลล่ะ? รวมถึงทีมกู้ภัยรายอื่น ทีมจากประเทศอื่น หรือคนที่ไปอำนวยความสะดวกต่างๆ เราจะไม่ขอบคุณเขาสักหน่อยหรือ —การทวงถามกันเป็นจำนวนมากนี้ เราคงเห็นกันชัดอยู่แล้วว่าชาวเน็ตได้แจกจ่ายคำขอบคุณอย่างทั่วถึง ส่วนแง่มุมการนำเสนอข่าวของสื่อนั้นก็คงเป็นเรื่องที่สื่อจะต้องพิสูจน์ตัวเองกันต่อไป
ให้นางนอนอย่างสงบ สเต็ปต่อไปคือ ฟื้นฟูถ้ำ
เมื่อปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิตทั้ง 13 ชีวิต มีสภาพอากาศและธรรมชาติเป็นอุปสรรคสำคัญ เช่น ลักษณะของถ้ำและระดับน้ำจากฝนที่ตกหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การช่วยเหลือต้องอาศัยพลังและเทคโนโลยีเข้าไปต่อสู้เพื่อเปิดทางในถ้ำ ทั้งการสูบน้ำ เจาะโพรงภายในและภายนอกถ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าเข้าไปกวนสภาพธรรมชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำถามสำคัญคือ หลังจากนี้ทางกรมอุทยานฯ จะมีกระบวนการฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไร
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 61 นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับมอบหมายให้วางแผนสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูล่วงหน้า ทั้งสภาพพื้นที่ภูมิทัศน์ในระยะสั้นและระยะกลาง
การประเมินเบื้องต้นพบว่าภารกิจตามหาทีมฟุตบอลนั้นทำให้เกิดผลกระทบบ้าง แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถฟื้นฟูได้ ไม่ได้ทำให้เสียหาย และขณะนี้มีการเตรียมมาร์กแต่ละจุดเอาไว้แล้ว
นายจงคล้าย กล่าวต่อว่านอกจากนี้ยังเตรียมวางแผนพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และอาจจะประกาศยกระดับจากวนอุทยานแห่งชาติเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แต่ทั้งหมดต้องเร่งทำแผนต่างๆ รวมทั้งฟื้นฟูร่องรอยต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อน
นพรัตน์ นาคสถิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ อดีตข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เนื่องจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเป็นถ้ำที่มีน้ำผ่านตลอด จึงมีความมั่นคงแข็งแรงระดับสูง และเป็นถ้ำระบบเปิดจึงไม่ค่อยเปราะบางมากนัก การเจาะถ้ำที่เกิดขึ้นอาจจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางกายภาพ (physical factor) บ้าง เช่น ปัจจัยความชื้น ลม ดิน ฯลฯ แต่ก็สามารถกระทำได้หากมีความจำเป็นดังเช่นกรณีการช่วยชีวิตที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำน้อย องค์ความรู้พื้นฐานที่มีอยู่ อาจไม่พอต่อกระบวนการฟื้นฟู ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีจากต่างชาติที่มีองค์กรทำงานด้านนี้มานาน เพราะอย่างไรก็ดี ถ้ำก็เป็นสภาพธรรมชาติที่มีความเปราะบางสูง ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ
ส่วนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสูบน้ำเข้าที่นาเพื่อช่วยลดระดับน้ำหน้าถ้ำ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมและปริมาณน้ำที่สูบออกลงลำรางสาธารณะ 1,397 ไร่ คิดเป็นเกษตรกร 101 ราย แต่ก็ต้องดูว่าจะมีการขยายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมหรือไม่
สำหรับการช่วยเหลือหลังน้ำลด กรมส่งเสริมการเกษตรจะลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอีกครั้งหนึ่ง หากพบต้นข้าวเสียหาย ผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตภัยพิบัติและเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ไร่ละ 1,113 บาท รวมไม่เกินรายละ 30 ไร่
ชีวิตติดถ้ำหลวง ความดราม่าและเรื่องการตลาดที่อาจตามมา
ตลอด 10 วันของการช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน มีข้อมูลข่าวสารมากมายล้นทะลัก รวมถึงมีข่าวดราม่าให้เราเสพกันอยู่เป็นระยะ ความดราม่ามีทั้งที่เกิดจากศิลปินดาราที่โพสต์แสดงความคิดเห็น อันไม่เป็นไปตามกระแสสังคม เช่น มีการโพสต์ข้อความทำนองว่า การที่ทั้ง 13 คนเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงเป็นความวุ่นวายระดับชาติและสร้างภาระให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่มีป้ายเตือนถึงความอันตรายของถ้ำนี้อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าชาวเน็ตก็เข้ามาถล่มยับว่าด้วยคำหยาบต่างๆ นานา และว่าเป็นพวกชอบสร้างกระแส
อีกกรณี คือเมื่อ เช่นเดียวกับอดีตนักร้องอีกคนที่ไลฟ์สดวิจารณ์ถ้ำหลวงว่าทำไมไม่มีแผนที่เส้นทาง ปล่อยให้เด็กเดินหลงอยู่ในถ้ำได้อย่างไร และการพาดพิงถึงทีมค้นหาว่ามีเครื่องมือในการค้นหาที่ไม่ดีพอ ทำให้หาเด็กไม่เจอ หรือแม้แต่ดาราสาวอีกคนที่ตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า ผ่านไปหลายวันแล้วยังหาเด็กไม่เจอ จนชาวเน็ตต่างคอมเมนต์ว่าในทำนอง มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ
แม้แต่กรณีของคลิปวิดีโอที่พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคุยกับเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเรื่องข้อกฎหมายในการขุดเจาะ จนเป็นดราม่าในโลกโซเชียลสร้างความเกลียดชังพล.ต.อ.ศรีวราห์ พร้อมติดแฮชแท็ก ศรีวราห์ #มาทำไม ถึงขนาดมีการลงชื่อสนับสนุนไล่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ออกจากราชการ ซึ่งภายหลังมีการเพยแพร่คลิปวิดีโอตัวเต็มที่ทำให้เห็นได้ว่าข้อความในช่วงแรกถูกบิดเบือนไป กระแสดราม่าจึงลดลง มีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและถอนการล่ารายชื่อออกไป
ส่วน ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก็ได้ตอบคำถามปมดราม่าต่างๆ อย่างชัดเจน ตั้งแต่เรื่องที่ว่า ไม่มีการเปิดเว็บไซต์รับบริจาค ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายบอกว่า งบของราชการมีเพียงพออยู่แล้ว ใครที่อ้างตัวว่าเปิดรับบริจาค หากพบจะถูกดำเนินดคี รวมทั้งภาพเจ้าหน้าที่จีนกินข้าวเปล่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายบอกว่าเจ้าหน้าที่จีนบางคนทานมังสวิรัติ แต่ภาพที่ออกไปดูไม่ดี แค่ข้าวกล่องเดียว เพราะอาหารตรงนี้มีเพียงพอ
ดรามายังไม่จบอีกเรื่องคือการที่ลือกันว่าสหรัฐอเมริกาจะใช้ดาวเทียมสแกนภูเขาทั้งลูก และทำออกมาเป็นภาพสามมิติ แถมจับรังสีความร้อนจากตัวมนุษย์ที่อยู่ในถ้ำก็ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดนั้น โดยเว็บไซต์ spaceth.co เป็นผู้ให้ความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว
แม้จะเจอตัวเด็กและโค้ชทั้ง 13 ชีวิตที่อยู่ในถ้ำแล้ว ตอนนี้ น่าจับตาดูว่า เมื่อทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำแล้ว สื่อเจ้าไหนจะได้เป็นเจ้าแรกที่ได้สัมภาษณ์ หรือการอาศัยกระแสนี้ในการทำแผนการตลาดของธุรกิจหรือห้างร้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างไร กระทั่งก่อนหน้านี้ สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้โพสต์ข้อความให้กำลังใจและพร้อมรับเด็กๆ ทีมหมูป่าเข้าร่วมทีมอะคาเดมีของเมืองทองด้วย
ยิ่งอยากรู้ ยิ่งหิวข่าว ก็ยิ่งเสี่ยงเจอข่าวปลอม
ในช่วงวิกฤตที่ผู้คนเพ่งความสนใจไปที่เรื่องเดียวพร้อมๆ กัน หากในโซเชียลมีเดีย มีบัญชีหรือเพจใดที่รายงานเหตุการณ์ขึ้นมา ก็สร้างความนิยมขึ้นมาได้ไม่ยาก พูดภาษาชาวบ้านคือ นี่เป็นประเด็นหอมหวานสำหรับการโหนกระแส เพิ่มยอดไลก์ยอดแชร์ และอาจกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคลหรือองค์กร
ข่าวปลอมที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย เกิดได้ทั้งจากผู้ใช้สื่อทั่วไปที่พลาดพลั้งเข้าใจผิดไปจนถึงองค์กรสื่อมืออาชีพ ซึ่งมีให้สังเกตเห็นได้หลายลักษณะ เช่น ข่าวปลอมข่าวด่วนจากคนวงใน ข่าวปลอมแอบอ้างเพื่อฉ้อโกงทรัพย์ มีเนื้อหาใจความแอบอ้างขอเรี่ยไรเงินบริจาค
เรื่องราวข่าวปลอมที่พูดถึงกัน มีตั้งแต่ การชิงประกาศว่าเจอตัวทั้ง 13 คนแล้วทั้งที่เวลานั้นยังไม่เจอ ข่าวการใช้อุปกรณ์สแกนภูเขาทั้งลูกของสหรัฐฯ ซึ่งในทางเทคนิคยังไม่มีวิทยาการใดๆ สามารถทำได้ บ้างก็สร้างข่าวขึ้นมาด้วยเรื่องเล่าของร่างทรงที่ออกมาส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ฯลฯ ซึ่งในระหว่างที่ข้อมูลผิดพลาดกำลังทำงาน ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ ผู้สร้างข่าวก็ได้แต้มของการถูกมองเห็นและกล่าวขานไปเป็นที่เรียบร้อย
ท่ามกลางโจทย์ที่ต้องเสนอข่าวสารให้ได้ก่อนใคร ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลจึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สื่อและเพจต่างๆ อยากจะทำให้ได้ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายเสมอก็คือ ความเร็วและไวที่จะมาควบคู่กับความถูกต้องนั้น ต้องอาศัยหลายปัจจัย ทั้งความเชี่ยวกรากในสนามที่จะเข้าถึงข้อมูลขั้นต้น และการตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบข้อมูล และกลั่นกรองเนื้อหาก่อนจะมาถึงมือผู้เสพข่าว
จะเป็นไรถ้าจะวัวหายแล้วล้อมคอก อุทยานต่างๆ ควรมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นอย่างไร
เมื่อพูดถึงก้านมะยม ก่อนอื่นเลยต้องย้อนดูว่า การเข้าไปในถ้ำของทั้ง 13 คนนั้นเป็นการละเลยเพิกเฉยต่อคำเตือนจริงหรือไม่
เนื่องจากเป็นถ้ำที่เป็นทางน้ำไหลผ่าน และถ้ำบางจุดมีพื้นต่ำ ทำให้ต้องลอดลงไป ทางวนอุทยานฯ จึงมีป้ายเตือนอันตรายที่หน้าถ้ำ ป้ายดังกล่าวมีขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจน แต่เตือนว่าจะมีอันตรายในช่วงน้ำหลาก คือระหว่างเดือน ก.ค.-พ.ย. ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่ 23 มิถุนายน สัปดาห์สุดท้ายก่อนจะถึงดำหนดแจ้งเตือน
แม้จะสุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่ได้อยู่ในระยะเวลาที่เตือนไว้ อีกทั้งทีมนักกีฬามีความคุ้นเคยกับถ้ำและเคยมาเที่ยวแล้วจึงอาจจะประเมินความเสี่ยงต่ำไป นี่จึงเป็นบทเรียนที่น่าคิดว่า ในอนาคตจะต้องมีการปรับเปลี่ยนคำเตือน กำหนดช่วงเวลาให้กว้างขึ้นเพื่อครอบคลุมช่วงหน้าฝน หรือควรมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดเพื่อคอยประเมินสถานการณ์ หรือทำเครื่องหมายกั้นบริเวณเอาไว้ในอนาคตหรือไม่
และเมื่อต่อจากนี้ คนไทยรู้จักชื่อถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนกันมากขึ้นหลังจากเป็นข่าวดัง ก็เป็นไปได้สูงว่าจะมีนักท่องเที่ยวสนใจไปเยือนมากขึ้น กรมอุทยานฯ จึงจะจัดทำแผนแม่บทและปรับภูมิทัศน์ต่างๆ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจุดไหนควรปิดหรือเปิดเพื่อการท่องเที่ยวได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวถ้ำในจังหวัดอื่นๆ เบื้องต้นบางแห่งได้เริ่มทำแผนที่ภูมิศาสตร์แสดงให้เห็นตรงทางเข้า จัดทำป้ายเตือนและคำแนะนำ มีสมุดลงเวลาสำหรับเข้า-ออก มีการจัดเวรยาม เตรียมสัญญาณช่วยเหลือ และจัดอุปกรณ์แสงสว่างไว้ในบริเวณถ้ำ
ทั้งนี้คงจะดีหากมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับถ้ำมาให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวกับการรักษาสภาพตามธรรมชาติของถ้ำไว้ให้ไม่ถูกรบกวน
ผู้เชี่ยวชาญการสำรวจถ้ำ อาชีพใหม่ที่เราเพิ่งรู้ และไทยก็ยังไม่เคยมี
น่าจะเป็นกรณีศึกษาเลยก็ว่าได้สำหรับการช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ที่ยังไม่เคยมีหน่วยงานหรือบุคคลใดมีประสบการณ์การหรือความรู้ในการช่วยเหลือบุคคลที่ติดอยู่ในถ้ำมาก่อน แม้จะผู้มีความรู้เรื่องถ้ำ แต่มักเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์
อย่างเช่น ชัยพร ศิริไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ และนักธรณีวิทยาซึ่งเคยปฏิบัติงานกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเคยสำรวจถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนมาแล้ว หรือแม้แต่ภาพถ่ายภายในถ้ำของ รศ.ดร.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อครั้งที่เข้าไปสำรวจภายถ้ำระยะทาง 1 กิโลเมตรปี 2559
ขณะที่หน่วยซีลซึ่งเป็นหน่วยหลักในการค้นหาทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ ไม่ได้เชี่ยวชาญในการสำรวจถ้ำ
งานนี้ จึงต้องยืมมือผู้เชี่ยวชาญการสำรวจถ้ำจากต่างประเทศ ได้แก่ สมาคมช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำของอังกฤษ (The British Cave Rescue Council) ที่มากันทั้งหมด 3 คน ได้แก่ จอห์น โวลันเธน และริชาร์ด สแตนตัน สองผู้เชี่ยวชาญการสำรวจถ้ำจากอังกฤษ และเป็นคนแรกที่พบตัวเด็กๆ รวมทั้งโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง ซึ่งทั้งสามคนเดินทางมาช่วยเหลือหลังจากที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำได้สามวัน
ด้วยประสบการณ์การสำรวจถ้ำมาอย่างโชกโชน จึงทำให้พวกเขาเข้าใจระบบและโครงสร้างภายในถ้ำเป็นอย่างดี รวมทั้งเคยปฎิบัติภารกิจช่วยเหลือคนติดถ้ำในฝรั่งเศสเมื่อปี 2010 จึงทำให้การทำงานร่วมกับหน่วยซีลของไทยในการค้นหาทั้ง 13 ชีวิตเป็นไปอย่างรวดเร็วและเจอในที่สุดเมื่อราวเวลา 22.30 น. ของวันจันทร์ที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกคือนอกจากบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านถ้ำจะหายากแล้ว ทักษะที่จะสามารถกู้ภัยในสถานการณ์และพื้นที่พิเศษเช่นนี้ก็เป็นทักษะที่เฉพาะทางมากขึ้นไปอีก ดังที่ตอนนี้ยังไขโจทย์กันไม่แตก ว่าหน่วยซีลจะใช้วิธีใดช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตให้ออกมาจากถ้ำได้เร็วและปลอดภัยที่สุด
ภาพสะท้อนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเมื่อคนไทยต้องการความหวัง
เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เมื่อเราตกอยู่ในห้วงแห่งความสิ้นหวังอย่างเช่น 10 วันก่อนพบ 13 ชีวิต นอกจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว อีกสิ่งที่ผู้คนยึดเป็นที่พึ่งก็คงหนีไม่พ้นพระพุทธเจ้า… เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าแม่นางนอน คนมีบุญ คนมีญาณ ระบบบาประบบบุญ ระบบภพชาติ หรือใครก็ตามที่ติดต่อกับผู้อยู่เหนือธรรมชาติได้
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้จะบอกว่าเป็นแนวคิดแบบพุทธก็คงจะว่าได้ไม่เต็มปาก และมันก็สะท้อนภาพความผสมผสานทางความเชื่อและวัฒนธรรมของคนไทยได้เป็นอย่างดี
หากติดตามทางอินเทอร์เน็ต เรามักจะเห็นคอมเมนต์เชิงคำทำนายทายทัก การเบิกบุญในชีวิตยกให้น้องๆ 13 คน การอธิบายเหตุผลของการติดถ้ำเช่นอาถรรพ์ ผีบังตา การไปรบกวนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือกรรมเก่า ฯลฯ แม้จะมีหลายคนที่เบะปากใส่แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่คล้อยตาม เราพบว่าความหวั่นไหวของจิตใจทำให้คนพร้อมจะคว้าอะไรบางอย่างมา ‘เชื่อ’ แม้แต่ข่าวลวงอย่างที่เราได้เล่าไปในข้างต้น
หลายครั้งที่ความหวั่นไหวไร้ที่ยึดเหนี่ยวเช่นนี้เอง นำมาซึ่งการตักตวงผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม หลายคนเลือกโปรโมตตัวเองด้วยการพาตัวเองไปออกหน้าออกตาในสภาวะอย่างนี้ หลายคนเข้าไปล่าข้อมูลอย่างหิวกระหายเพราะใครๆ ก็อยากรู้ หลายคนเลือกเป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงเหนือธรรมชาติ ซึ่งข้อหลังนี้เองที่ปรากฏภาพเด่นชัด
โดยเฉพาะเมื่อลองเข้าดูหมวด trending ของยูทูบในช่วงที่ยังหาน้องๆ ไม่เจอ เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของตำนานอาถรรพ์และคำอธิบายอย่างไม่วิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปมันคือเรื่องของความเชื่อที่ฝังรากลึก หากใครอยากรื้อก็คงต้องเจาะไปถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน การสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ในระดับวิธีคิด และการสร้างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อไปกับการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งนั่นนับเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องว่าต่อไปกันยาวๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณมีฟังก์ชั่นของมันเองในทางสังคม เช่นหนึ่งในครอบครัวของเด็ก 13 คน ที่ระบุว่า พวกเขารู้สึกโล่งใจทันทีที่ครูบาบุญชุ่มบอกว่าจะพบเด็กในอีก 2 วัน ซึ่งโดยไร้คำอธิบาย คำทำนายนั้นเกิดขึ้นจริง และกลายเป็นขวัญกำลังใจสำคัญ ที่อาจจำเป็นต้องมีก็ได้ ในสภาวะที่คนยังไร้ทางออก แต่ที่ควรต้องตระหนักและระมัดระวังกันก็คือ ขอบเขตและความพอดีของความเชื่อและเรื่องผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง ไม่ใช่เฉพาะกรณีถ้ำหลวงเท่านั้น แต่รวมถึงครั้งอื่นๆ ที่สำนักต่างๆ อาจเลือกใช้ความหวั่นไหวของคนเป็นเครื่องมือ ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่ามีคนไทยจำนวนมากที่หวั่นไหวเก่งและเชื่อเก่งเหลือเกิน
Tags: หมูป่าอะคาเดมี, ถ้ำหลวง, ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน