ข่าวไฟไหม้ป่าแอมะซอนครั้งใหญ่ทำให้ทั่วโลกอกสั่นขวัญหายว่าโลกกำลังจะสูญเสียทรัพยากรอันทรงค่าทั้งป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และพื้นที่กักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ ในห้วงเวลาที่กระแสเขียวกำลังมาแรงโดยมีพาดหัวประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสื่อข้ามชาติอยู่แทบทุกสัปดาห์
หลายคนพร้อมใจชี้นิ้วไปที่ประธานาธิบดีคนใหม่หมาดของบราซิล จาอีร์ บอลซานาโร (Jair Bolsonaro) ที่ตั้งแต่รับตำแหน่งมา อัตราการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอนก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายและสวยหรูเหมือนภาพยนตร์ฮีโร่ ที่เพียงรวมพลังปราบตัวร้ายในสายตาของหลายคนคือประธานาธิบดีบอลซานาโร ทุกปัญหาก็จะหายวับไปพริบตา จับมือแล้วฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน แล้วทุกคนก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขราวกับไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
ในบทความนี้ ผู้เขียนขอพาย้อนไปดูเรื่องราว 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคบุกเบิกการหักร้างถางพง ยุคฟื้นฟูแนวคิดด้านการอนุรักษ์ และสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากป่าแอมะซอนกลับมา ‘อินเทรนด์’ ในยุคหลัง ซึ่งสัมพันธ์แนบแน่นกับการเมืองเรื่องปากท้องที่แวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ
แอมะซอน ขุมทรัพย์ธรรมชาติและทุนทางเศรษฐกิจ
ป่าดิบชื้นในลุ่มน้ำแอมะซอน เป็นป่าผืนใหญ่ขนาดกว่า 7 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของป่าดิบชื้นทั่วโลกและเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดยักษ์ ผืนป่าแห่งนี้เป็นบ้านของแมลงมากกว่า 2.5 ล้านสายพันธ์ุ รวมถึงนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 2 ล้านสายพันธุ์ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในผืนป่าแอมะซอน) โดยพื้นที่ป่าร้อยละ 60 อยู่ในประเทศบราซิล ส่วนที่เหลือก็กระจายตัวอยู่ในประเทศ เช่น โบลิเวีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู
ในประเทศบราซิล พื้นที่ป่าแอมะซอนคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ และมีชาติพันธุ์พื้นถิ่นหลายเชื้อชาติอาศัยผูกพันกับผืนป่าดังกล่าว การรุกรานผืนป่าแอมะซอนเกิดขึ้นเมื่อราวคริสตทศวรรษ 1970s นำโดยรัฐบาลทหารในขณะนั้น โดยมีโครงการที่เปรียบเสมือนเรือธงคือการก่อสร้างทางด่วนข้ามแอมะซอน (Trans-Amazonian Highway) ที่เริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1972 นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ เพราะถนนแห่งใหม่ช่วยอำนวยความสะดวกในการตั้งรกราก และการแปลงผืนป่าให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ
การสูญเสียพื้นที่ป่าในบราซิลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง โดยบางปี เช่น ค.ศ. 1995 บราซิลสูญเสียพื้นที่ป่ามากถึง 29,059 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับ 10 เท่าของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในไทย แน่นอนว่าอัตราการทำลายป่าในระดับนี้ย่อมดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก กลายเป็นกระแสวัฒนธรรมในระดับย่อมๆ ซึ่งผันเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลบราซิลดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ เมื่อประธานาธิบดีลูลา (Luiz Inácio Lula da Silva) ได้รับเลือกเป็นผู้นำใน ค.ศ. 2003 และได้แต่งตั้งให้มารินา ซิลวา (Marina Silva) ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้นำด้านกระแสการอนุรักษ์ในบราซิลผู้ซึ่งเติบโตจากครอบครัวในป่าแอมะซอนเป็นรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อม เธอมาพร้อมกับแผนแก้ไขปัญหาที่เข้มแข็งและเข้มข้น โดยมีการลงโทษผู้รุกล้ำพื้นที่ป่าอย่างรุนแรงและจริงจัง ทำให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อ ค.ศ. 2012 คือเหลือเพียง 4,517 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลลดลง คือเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตำแหน่งงานจำนวนมากดึงดูดคนจากพื้นที่ชนบทเข้ามาทำกินในเมือง ป่าไม้กลายเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่มีใครต้องการไปแตะต้องเพราะอาจตามมาด้วยบทลงโทษราคาแพง อนาคตของบราซิลดูจะสดใสจนกระทั่งบราซิลเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี ค.ศ. 2013
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลลดลง คือเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตำแหน่งงานจำนวนมากดึงดูดคนจากพื้นที่ชนบทเข้ามาทำกินในเมือง ป่าไม้กลายเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่มีใครต้องการไปแตะต้องเพราะอาจตามมาด้วยบทลงโทษราคาแพง
ยุคสมัยแปลงแอมะซอนเป็นทุน
เมื่อประชาชนเรือนแสนตกงานพร้อมกันจากพิษเศรษฐกิจ พวกเขามีทางเลือกไม่มากที่จะแก้ปัญหาปากท้องและทางเลือกหนึ่งในนั้นคือการกลับไปพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่เขามีอยู่อย่างเหลือเฟือ นั่นคือผืนป่าแอมะซอน
หากมองด้วยแว่นตานักธุรกิจ ผืนป่าแอมะซอนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่ แหล่งแร่มีค่า ไม้และสัตว์หายาก สิ่งเหล่านี้สามารถแปลงเป็นเงินในกระเป๋าได้ทั้งสิ้น แม้จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่สำหรับประชาชนที่ไร้งานทำและอาจต้องเผชิญกับความอดอยาก ปัญหาระยะยาวอาจอยู่ไกลเกินกว่าที่จะมองเห็น เช่นเดียวกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องผ่อนปรนเพื่อรักษาฐานเสียง โดยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ขนาดเล็กเมื่อ ค.ศ. 2013
พื้นที่การตัดไม้ทำลายป่าเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับเทรนด์ใหม่ของการไม่จ่ายค่าปรับจากการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และหนึ่งในนั้นก็คืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาอีร์ บอลซานาโร ซึ่งปรากฏภาพการจับปลาในเขตอนุรักษ์ เขาไม่ใส่ใจที่จะจ่ายค่าปรับ และเมื่อเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่าการปรับเช่นนี้เป็นอุตสาหกรรมที่สมควรจะถูกปิด
การตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลเพิ่มสูงขึ้นราวร้อยละ 70 ระหว่าง ค.ศ. 2013 – 2018 ประชาชนไม่แยแสกฎหมายอีกต่อไป และเดินหน้าเปลี่ยนพื้นที่แอมะซอนให้เป็นทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์เลี้ยงและแปลงเกษตร
ปัจจุบัน บราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดในโลกโดยเมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ บราซิลยังเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองที่อันดับสองของโลกซึ่งราวร้อยละ 80 ถูกใช้เป็นอาหารสัตว์ ยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกาขัดแย้งกับจีน บราซิลจึงเป็นแหล่งถั่วเหลืองแห่งใหม่ที่จีนต้องเข้ามาซบ ยังไม่นับแร่มีค่าไม่ว่าจะเป็นทองและอลูมิเนียม กระทั่งแหล่งน้ำมันในแอมะซอน สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นแรงจูงใจให้ชาวบราซิลพร้อมจะแปลงแอมะซอนเป็นทุนหากไม่มีทางเลือกอื่น
ท่าทีของประธานาธิบดีคนใหม่
บอลซานาโรได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยชูจุดยืนสำคัญของเขาว่าป่าแอมะซอนคือทรัพยากรของบราซิล ซึ่งควรถูกนำมาใช้โดยชาวบราซิล เขาแสดงท่าที่เป็นศัตรูกับชาติพันธุ์พื้นถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ในผืนป่าแอมะซอนโดยมีพื้นที่เป็นของตนเองถึงร้อยละ 13 ของประเทศบราซิล อีกทั้งยังประกาศอย่างชัดเจนว่าเขตอนุรักษ์ของบราซิลนั้นคือสิ่งกีดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
เหตุการณ์ไฟป่าบริเวณแอมะซอนนั้น แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีตามวัฏจักรเก็บเกี่ยวและเผาของเกษตรกร แต่ปีนี้เป็นปีที่มีการเผาในระดับที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษ ซึ่งการเกิดการเผาเช่นนี้เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับอัตราการตัดไม้ทำลายป่า สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกังวลคือ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ป่าแอมะซอนอาจเสื่อมโทรมจนอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ และกลายสภาพจากป่าดงดิบเป็นป่าหญ้าสะวันนา
ปัญหาดังกล่าวได้ถูกนำไปถกบนโต๊ะของการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 โดยทั้ง 7 ประเทศมีมติให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกตะลึงคือประธานาธิบดีบราซิลปฏิเสธเงินช่วยเหลือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงอธิปไตยของบราซิล และหากประเทศเหล่านั้นใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็ควรเอาเงินก้อนนี้ไปปลูกป่าในประเทศของตนเอง แต่ทั้งนี้ บราซิลอาจพิจารณารับเงินไว้หากประธานาธิบดีมาครงจากประเทศฝรั่งเศสออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการจากคำกล่าวถึงเขาในเชิงเสียๆ หายๆ
ประเด็นชวนคิดอยู่ในคำกล่าวของประธานาธิบดีบอลซาโรในเชิงว่า เราจะไม่ฟังคำวิพากษ์จากกลุ่มประเทศที่หักร้างถางทำลายป่าไม้ในประเทศของตนเองเมื่อหลายปีก่อนเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต สะท้อนจุดยืนชาตินิยมที่ไม่พร้อมจะโอนอ่อนผ่อนตามชาติมหาอำนาจอีกต่อไป อีกทั้งยืนกรานว่าอำนาจอธิปไตยในการจัดการป่าแอมะซอนอยู่ในมือของชาวบราซิล
ความยุ่งยากจึงเกิดขึ้น เพราะในมุมหนึ่ง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าควรให้เกียรติและอำนาจชาวบราซิลในฐานะผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรนั้นๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ทรัพยากรดังกล่าวก็มีเอกลักษณ์และมีความสำคัญในระดับโลกจนสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นสมบัติที่ทั่วโลกควรร่วมมือกันรักษา ความย้อนแย้งของสองประเด็นแหลมคมนี้ทำให้การถกเถียงดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ และข้อสรุปน่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของเราในการจัดการทรัพยากรในระดับสากล
เอกสารประกอบการเขียน
The Daily – Why the Amazon Is Burning?
Amid Outrage Over Rainforest Fires, Many in the Amazon Remain Defiant
Amazon Rainforest Fires: Here’s What’s Really Happening
Why it’s been so lucrative to destroy the Amazon rainforest
Brazil: huge rise in Amazon destruction under Bolsonaro, figures show
Tags: บราซิล, ป่าแอมะซอน