ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับคอหนัง นั่นคือการเรียกร้องให้หนังเรื่องT2: Trainspotting ภาคต่อของ Trainspotting (1996) หนังสุดฮิตจากเกาะอังกฤษเข้าฉายในโรง หลังจากที่หนังถูกถอดจากโปรแกรมฉายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องนี้นอกจากลามไหลในโซเชียล เน็ตเวิร์ก ยังมีผู้ลงชื่อใน Change.org มากกว่า 800 รายชื่อ (ล่าสุด หนังมีกำหนดฉายในวันที่ 1 มิถุนายน เฉพาะที่ House RCA)
เสียงเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ Trainspotting เป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆ คน และมีแฟนคลับมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป มันจึงไม่ได้เป็นแค่หนังฮิตธรรมดา แต่เป็น ‘ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม’ ของยุค 90 (เคียงบ่าเคียงไหล่หนังอย่าง Pulp Fiction และ Chungking Express) โดยในปี 1999 สถาบันภาพยนตร์อังกฤษได้จัดอันดับ 100 หนังอังกฤษที่ดีที่สุด หนังเรื่องนี้ติดอยู่ในอันดับ 10 และในปี 2004 หนังสือพิมพ์ The Observer ได้สำรวจความเห็นจากคนทำหนังและนักวิจารณ์ถึงหนังอังกฤษที่ดีที่สุดในรอบ 25 ปี หนังเรื่องนี้ติดอันดับ 1 นอกจากนั้น องค์ประกอบของหนังอย่างบทพูด ตัวละคร ซีนต่างๆ ยังถูกอ้างอิงเสมอมา ซึ่งถือว่ามาไกลเมื่อย้อนเปรียบกับจุดเริ่มต้น ว่ามันเป็นเพียงหนังอังกฤษทุนต่ำจากผู้สร้างมือใหม่และดาราโนเนม (ในตอนนั้น) ที่เล่าชีวิตกลุ่มวัยรุ่นขี้ยาในสกอตแลนด์
สาเหตุที่หนังอังกฤษเล็กๆ เรื่องนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ภาพยนตร์แห่งยุค 90 นั้น เกิดจากเหตุผลสำคัญ 4 ข้อดังนี้
ตัวหนังที่สดใหม่ มีพลัง เต็มไปด้วยซีนและบทพูดสุดจี๊ด – ไม่น่าแปลกใจที่หนังจะครองใจวัยรุ่นยุคนั้น เนื่องจากหนังมีสไตล์สุดฉูดฉาด (ฝีมือแดนนี บอยล์ ผู้กำกับฯ เจ้าของรางวัลออสการ์จากหนัง Slumdog Millionaire) ทั้งการถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยมุมกล้องหวือหวา แปลกประหลาด การตัดต่อฉับไว ซึ่งร้อยเรียงเหตุการณ์ที่กระจัดกระจายทั้งเวลาและสถานที่เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ส่งผลให้หนังพล็อตบางเบากลับดูสนุกเพลิดเพลินได้อย่างไม่น่าเชื่อ และยังทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในหัวของตัวเอก นั่นคือเมายาตลอดเวลา
หนังมีฉากเด็ดที่น่าจดจำมากมาย เช่น ฉากที่ตัวละครมุดลงไปเอายาในโถส้วมที่สกปรกที่สุดในสกอตแลนด์ เรนตัน-ตัวเอก ถูกดูดเข้าไปในพื้นหลังเสพยา ทารกที่ตายไปแล้วตามมาหลอกหลอนเขา และฉากที่โด่งดังที่สุดคือฉากเปิดเรื่อง ที่เรนตันวิ่งหนีตำรวจพร้อมเสียงวอยซ์โอเวอร์ของเขาว่า (ยกมาบางส่วน) “เลือกชีวิต เลือกงาน เลือกอาชีพ เลือกครอบครัว เลือกทีวีโคตรใหญ่ เลือกเครื่องซักผ้า รถยนต์ เครื่องเล่นแผ่นดิสก์ และที่เปิดกระป๋องไฟฟ้า เลือกอนาคตของคุณ เลือกชีวิต แต่ทำไมผมต้องทำเรื่องพรรค์นั้น ผมเลือกที่จะไม่เลือกชีวิต ผมเลือกอย่างอื่น เหตุผลน่ะหรือ? — ไม่มีหรอก ใครต้องการเหตุผลล่ะเมื่อมีเฮโรอีน”
ตัวละครในหนังที่น่าจดจำและมีเอกลักษณ์ – แม้หนังจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรนตัน – หนุ่มขี้ยาที่พยายามกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปแต่ล้มเหลว (ถือเป็นบทแจ้งเกิดให้กับยวน แมคเกรเกอร์) เป็นหลัก แต่เชื่อว่าใครที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะไม่มีวันลืมตัวละครเหล่าผองเพื่อนของเขา ไม่ว่าจะเป็น สปั๊ด-หนุ่มหุ่นกุ้งแห้งมาดจ๋อย ซิคบอย-หนุ่มหน้าหล่อที่คลั่งไคล้ฌอน คอนเนอรี่ (นักแสดงชาวสก๊อตต์ที่รับบทเจมส์ บอนด์) เป็นชีวิตจิตใจ ทอมมี-ผู้ชอบถ่ายวีดิโอตอนมีเซ็กซ์กับแฟนเพื่อเก็บไว้ดู เบ็กบี้-ชายตัวเล็กอารมณ์แปรปรวนนิยมใช้ความรุนแรง และ ไดแอน-คู่สาวที่มีเซ็กซ์กับเรนตัน ซึ่งเขามารู้ทีหลังว่าเธอเป็นเด็กมัธยมโรงเรียนไฮโซอายุเพียง 14 ปี
หากวัดมาตรฐานศีลธรรมแล้ว ต้องถือว่าพวกเขาสอบตกแบบกราวรูด แต่ความที่พวกเขาเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และโดยเนื้อแท้ไม่ใช่คนเลวร้าย จึงทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากติดตามและเอาใจช่วยให้ผ่านเรื่องเลวร้ายต่างๆ ไปได้ด้วยดี
ประเด็นในหนังที่ยังคงร่วมสมัย – แม้หนังจะเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นขี้ยาในเมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์ ซึ่งเหมือนเป็นเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม แต่ผู้ชมทั่วโลกก็สามารถมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังได้ เนื่องจากมันพูดถึงประเด็นสากลอย่างการที่คนรุ่นใหม่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับสังคมปกติ และช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ เรียกได้ว่าหนังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
ท่ามกลางสังคมทุนนิยมที่ผู้คนส่วนใหญ่มีเป้าหมายหลักคือทำงาน เก็บเงิน ซื้อบ้านซื้อรถ สร้างครอบครัว แต่เรนตันกับพวกกลับ ‘ไม่เลือก’ เส้นทางชีวิตดังกล่าว พวกเขาสนใจแต่การเล่นยา ปาร์ตี้ มีเซ็กซ์กับหญิงไม่ซ้ำหน้า ใช้ชีวิตล่องลอยไปวันๆ เหมือนคนที่วันๆ นั่งจ้องมองแต่รถไฟ อันเป็นชื่อของหนัง (Trainspotting) โดยเงินของพวกเขาได้มาจากสวัสดิการรัฐ ไม่ก็จากกระเป๋าพ่อแม่ หากเงินขาดมือ พวกเขาก็พร้อมจะค้ายาหรือลักเล็กขโมยน้อย แม้มีความพยายามกลับคืนสู่ระบบอยู่บ้าง แต่สุดท้าย พวกเขาก็ไม่อาจกลมกลืนไปกับมัน และต้องถอนตัวออกมาอยู่เสมอ
ที่น่าสนใจคือ หนังไม่ได้ตัดสินว่ายาเสพติดหรือการใช้ชีวิตแบบพวกเขาเป็นเรื่องผิด แถมการกระทำของพวกเขาก็ไม่มีการสอดแทรกบทลงโทษหรือบทเรียนสอนใจในตอนหลัง ส่งผลให้หนังมีปัญหากับกองเซนเซอร์ในหลายประเทศ ที่มองว่าหนังส่งเสริมการใช้ยาเสพติดหรืออาชญากรรม แต่หนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพวกเขาเพื่อจุดประสงค์ในการวิพากษ์วิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมกระแสหลัก ว่ามันถูกต้อง หรือเป็นคำตอบสุดท้ายจริงหรือ
เพลงประกอบหนัง – สิ่งที่น่าจดจำอีกอย่างได้แก่เพลงประกอบ ซึ่งหนังใช้เพลงเก่าที่มีอยู่แล้วมาประกอบหนังทั้งเรื่อง อัลบัมเพลงประกอบ Trainspotting ฮิตถล่มทลายจนต้องมีการทำชุด 2 ตามมา โดยเน้นเพลงที่ไม่ได้อยู่ในหนัง แต่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำหนัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวพังก์ร็อกและบริตป็อปของทั้งศิลปินยุค 70 และศิลปินยุคปัจจุบัน เพลงที่หลายคนคงจำได้ดี คือ ‘Lust for Life’ (อิกกี พ็อพ) ‘Perfect Day’ (ลู รีด) ‘Born Slippy’ (อันเดอร์เวิลด์) ‘Sing’ (เบลอร์) ‘Mile End’ (พัลป์) ‘Temptation’ (นิว ออร์เดอร์)
อัลบัมดังกล่าวยังได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก โดยในปี 2007 นิตยสาร Vanity Fair ได้จัดให้อัลบัมนี้ติดอันดับ 7 ของอัลบัมเพลงประกอบหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล รวมถึงในปี 2013 นิตยสาร Entertainment Weekly จัดให้อัลบัมนี้อยู่ในอันดับ 17 ของ 100 อัลบัมเพลงประกอบหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล ความยอดเยี่ยมของมันเกิดจากการที่ผู้กำกับไม่ได้ใส่เพลงในหนังแบบขอไปที แต่ใส่ตามจังหวะเนื้อหาและการตัดต่อของหนังได้อย่างลงตัว
FACT BOX:
- Trainspotting เคยเข้าฉายในไทยอย่างเป็นทางการหนึ่งรอบในเทศกาลภาพยนตร์อังกฤษในปี 1997 ที่ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าชมเยอะมากจนโรงแทบแตก
- แม้จะเป็นหนังฮิตที่ได้ดูกันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่เชื่อหรือไม่ว่าหนังเพิ่งออกแผ่นลิขสิทธิ์ในไทยเมื่อปี 2010 นี่เอง โดยความฮิตของหนังเรื่องนี้ต้องขอบคุณร้าน ‘แว่นวีดิโอ’ และ Trainspotting ถือเป็นหนึ่งในหนังที่ขายดีที่สุดของร้าน
- 20 ปีต่อมาได้มีการสร้างภาคต่อในชื่อ T2: Trainspotting โดยผู้กำกับ/ทีมงาน/นักแสดงเดิม หนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีว่า “ยังคงมีพลังเหมือนเดิม แต่เสริมแง่มุมความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น” แต่น่าเสียดายที่ฟุบด้านรายได้ จนไม่น่าจะมีภาคต่อให้ชมกันในอนาคต