ไต้หวันเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก นอกจากประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามที่กำหนดให้การผิดประเวณีเป็นความผิดอาญาและมีผลทางกฎหมาย

เมื่อปี 2002 ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันเคยมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 239 ในประมวลกฎหมายอาญา เป็น “สิ่งที่จำเป็นต่อการปกป้องการสมรส ระบบครอบครัว และความเป็นระเบียบของสังคม”   

มาตรา 239 ในประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า ผู้ที่สมรสแล้วกระทำการผิดประเวณี และกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการผิดประเวณีอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี แต่ก็จะไม่มีการไต่สวนถ้าไม่มีการฟ้องร้องจากเหยื่อที่เป็นผู้กล่าวหา แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดมักได้รับโทษปรับแทน แต่ก็ถูกบันทึกประวัติอาชญากร

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อไม่นานมานี้ 2 ครั้ง เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษอาญา แต่ว่ากลุ่มผู้หญิงจำนวนมากเห็นว่า กฎหมายการผิดประเวณีมักจะลงโทษผู้หญิง แต่ผู้ชายไม่ถูกลงโทษ  ส่วนนักกิจกรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ นักวิชาการด้านกฎหมายเที่รณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายกล่าวว่า มันยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศรุนแรงขึ้น และยังละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษา 18 คนออกมาประกาศคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายข้อนี้ ซึ่งกลับมาเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมเมื่อไม่นานมานี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้พิพากษาออกมาอ่านคำพิพากษาด้วยตัวเอง ที่ผ่านมามักจะเป็นคำแถลงด้วยตัวอักษร และมีการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ต

เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่า ศาลวินิจฉัยว่ามาตรา 239 ในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญ และควรสิ้นสุดทันที ศาลไม่ควรแทรกแซงความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการสมรส หรือความสัมพันธ์ และมาตรานี้ยังละเมิดเสรีภาพทางเพศ

ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ อินเดียและเกาหลีใต้ก็ยกเลิกกฎหมายนี้เช่นกัน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้เมื่อปี 2015 ให้เหตุผลว่า นี่เป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพทางเพศของประชาชน ส่วนอินเดียยกเลิกในปี 2018 ด้วยเหตุผลว่าผิดรัฐธรรมนุญ

ที่มา:

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3941397

https://focustaiwan.tw/society/202005290009

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/taiwan-court-rules-adultery-no-longer-a-crime-marriage-12784356

https://www.livelaw.in/foreign-international/law-criminalizing-adultery-is-unconstitutional-taiwan-constitutional-court-157526

Tags: , ,