ถึงนาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้ว่า ขยะหลอดพลาสติกทำร้ายชีวิตสัตว์ร่วมโลกอย่างไร และเราจะช่วยอะไรได้บ้าง

เพราะช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กระแสผู้บริโภคที่พยายาม ‘ลด’ ไปจนถึง ‘เลิก’ ใช้หลอดพลาสติกดูจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มบางรายก็ขยับสู่นโยบายงดแจกหลอดพลาสติกแก่ลูกค้า หรือเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษ หลอดสเตนเลส หลอดจากวัสดุธรรมชาติ ฯลฯ ที่ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าหรือทำความสะอาดเพื่อใช้ซ้ำได้ ซึ่งล้วนน่าชื่นชมในความตั้งใจทั้งนั้น

นอกจากวิธีแพร่หลายดังกล่าว ยังมีอีกหนึ่งไอเดียน่าสนใจที่เพิ่งเกิดขึ้น นั่นคือโปรเจ็คต์ ‘Last Straw’ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตน้ำผึ้งแบรนด์เม็กซิกัน Son de Miel กับเอเจนซีการตลอดดิจิทัล Flock Linked by Isobar, ฟิล์มโปรดักชัน Arbol และดิจิทัลโปรดักชั่น Praxlab พันธมิตรทั้ง 4 รายเสนอแนวทางลดสร้างขยะหลอดพลาสติก ด้วยการนำมารียูสสร้างเป็นรังผึ้งเทียม พร้อมกับช่วยเพิ่มจำนวนประชากร ‘ผึ้งพันธุ์’ (Apis Mellifera) ในคราวเดียวกัน

พวกเขาจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ มืออาชีพด้านการเลี้ยงผึ้ง และนักออกแบบอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดทางเทคนิค พร้อมกันนั้นก็ป่าวประกาศหาแนวร่วมโครงการ ซึ่งไม่ใช่แค่รณรงค์เลิกใช้หลอดพลาสติกและชักชวนผู้ประกอบการร้านอาหารลงนาม ‘งดแจกหลอดแก่ลูกค้า’ แต่ยังขอรับบริจาคหลอดพลาสติกอันสุดท้ายจากผู้บริโภคแต่ละคน เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตรังผึ้งเทียมรุ่นต้นแบบ

บางคนอาจสงสัย…รวบรวมแล้วส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิลไม่ได้หรือ

แม้หลอดใช้ครั้งเดียวทิ้งทั่วโลกจะเป็นพลาสติกกลุ่มโพลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือไม่ก็กลุ่มโพลิโพรพิลีน (Polypropylene) ซึ่งในทางทฤษฎีสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งคู่ แต่ในทางปฏิบัตินั้นตรงกันข้าม ด้วยรูปทรงแท่งผอมๆ ยาวๆ แถมยังบิดงอได้ง่าย มันจึงมักหล่นร่วงลงสู่ซอกหลืบต่างๆ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเครื่องจักรรีไซเคิลที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับขยะพลาสติกชิ้นเล็กแบบนี้

เมื่อไม่มีโรงงานใดรับหลอดพลาสติกเข้ากระบวนการผลิตใหม่ พวกมันก็จะไปรวมกันอยู่ในกองขยะหรือหลุมฝังกลบ อาจจะโดนส่งเข้าเตาเผาขยะบ้าง และอีกมีไม่น้อยที่ลอยล่องตามสายน้ำออกสู่ท้องทะเล

อาจกล่าวได้ว่า โปรเจ็คต์ ‘Last Straw’ ไม่เพิกเฉยต่อการรีไซเคิลที่ปิดตาย แต่เลือกวิธีลดการสร้างขยะหลอดพลาสติกชิ้นใหม่ ควบคู่กับเปิดประตูการรียูส ซึ่งเป็นการใช้ซ้ำที่ส่งผลบวกต่อระบบนิเวศด้วย

ด้วยรูปทรงแท่งผอมๆ ยาวๆ แถมยังบิดงอได้ง่าย มันจึงมักหล่นร่วงลงสู่ซอกหลืบต่างๆ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเครื่องจักรรีไซเคิลที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับขยะพลาสติกชิ้นเล็กแบบนี้

แล้วทำไมต้องเป็นผึ้งพันธุ์ด้วยล่ะ…

ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งทั่วโลกสังเกตเห็นการลดลงอย่างผิดปกติของฝูงผึ้งจำนวนมาก บางช่วงปัญหารุนแรงเข้าขั้น ‘ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย’ (Colony Collapse Disorder) คือผึ้งงานหายไปโดยไม่รู้ว่าพวกมันตายหรือทิ้งรังไปเฉยๆ เมื่อเหลือเพียงราชินีผึ้งกับผึ้งพยาบาลคอยดูแลตัวอ่อน เพียงไม่นานพวกมันก็จะตายยกรัง

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือปรสิตและเชื้อโรคที่ระบาดในฝูงผึ้ง ซึ่งน่าวิตกอย่างยิ่ง เนื่องจากผึ้งเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยแพร่กระจายและแลกเปลี่ยนเกสร ราว 1 ใน 3 ของพืชอาหารที่มนุษย์บริโภคกันในปัจจุบันเป็นผลผลิตจากการผสมเกสรของผึ้ง

แม้ผีเสื้อ ค้างคาว และแมลงอื่นๆ จะทำหน้าที่นี้เช่นกัน แต่บทบาทของผึ้งก็โดดเด่นและสำคัญมากที่สุด กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังเคยคาดการณ์เมื่อนานมาแล้วว่า “หากผึ้งสูญพันธุ์ มนุษย์จะสูญพันธุ์ตามไปภายใน 4 ปี”

ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งทั่วโลกสังเกตเห็นการลดลงอย่างผิดปกติของฝูงผึ้งจำนวนมาก บางช่วงปัญหารุนแรงเข้าขั้น ‘ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย’ (Colony Collapse Disorder)

สำหรับผึ้งพันธุ์นั้นมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปยุโรปและแอฟริกา แต่นิยมเลี้ยงในเชิงพาณิชย์กันทั่วโลก ประเทศไทยก็เลี้ยงผึ้งพันธุ์เพื่อเก็บน้ำหวาน ในเม็กซิโกก็เช่นกัน เพราะมันสะสมน้ำผึ้งเก่ง ผลิตน้ำหวานคุณภาพดีได้ปริมาณมาก และไม่ค่อยทิ้งรัง

ทีมงานโปรเจ็คต์ ‘Last Straw’ พบว่า หลอดพลาสติกที่ใช้งานกันแพร่หลายมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตรซึ่งใกล้เคียงกับขนาดหลอดรวง (honeycomb cell) ของผึ้งพันธุ์ นอกจากนี้แผ่นฐานรวงหรือแผ่นรังผึ้งเทียมที่ผู้เลี้ยงผึ้งระดับอุตสาหกรรมใช้กันอยู่นั้นยังผลิตจากโพลิเอทิลีนซึ่งเป็นพลาสติกกลุ่มเดียวกับที่ใช้ผลิตหลอดด้วย จึงตัดปัญหาเรื่องผึ้งไม่ยอมรับหรือไม่เข้ารังไปได้

ทั้งนี้ หลอดที่รวบรวมมาจะต้องผ่านขั้นตอนสเตอริไรซ์ฆ่าเชื้อโรคก่อน จากนั้นจึงนำไปผลิตเป็นแผ่นฐานรวงพร้อมหลอดรวง ซึ่งต้องเคลือบขี้ผึ้งแท้ด้วยเพื่อช่วยดึงดูดผึ้ง

แผ่นฐานรวงพร้อมหลอดรวงเหล่านี้ช่วยให้ผึ้งไม่ต้องเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสร้างรัง เมื่อเข้าจับจองพื้นที่ก็สามารถบรรจุเกสร ใส่น้ำหวาน และปิดผนึกหลอดรวงได้เลย ภาระการสร้างรังที่ลดลงน่าจะเอื้อให้ประชากรผึ้งเพิ่มเร็วขึ้น จึงเป็นเส้นทางการอนุรักษ์ประชากรผึ้งที่น่าจะไปได้สวย และสามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ขยะหลอดพลาสติกได้อย่างชาญฉลาด

Fact Box

สำหรับผู้สนใจ สามารถแวะอ่านข้อมูล ชมคลิป และดูภาพรังผึ้งเทียมต้นแบบโครงการ ‘Last Straw’ ได้ที่ https://www.laststraw.lat/en ซึ่งเขาแจกพิมพ์เขียวให้ดาวน์โหลดไปศึกษารายละเอียดแบบไม่หวงเลยด้วย

Tags: , , , , ,