ทิลเบิร์ก (Tilburg) เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ มีสถานีรถไฟ 3 สถานี เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อเดียวกับเมือง โดดเด่นด้วยงานรื่นเริงต่อเนื่อง 10 วันต้นเดือนกรกฎาคมในชื่อวันจันทร์สีชมพู (Pink Monday) ที่มีเหล่าพระเอกนางเอกคือเหล่า LGBT นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นเอกลักษณ์อยู่พอตัว
แต่ปลายทางของเราไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับย่อหน้าข้างต้น ผมเดินทางมาที่นี่ด้วยจุดประสงค์เดียวเท่านั้นคือมา ‘จิบความเงียบ’ (Taste the Silence) ตามคำโปรยของ La Trappe เบียร์ยี่ห้อโปรดที่เจอทีไรก็อดไม่ได้ที่จะหยิบติดไม้ติดมือทุกครั้งที่ไปเดินในซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนหนึ่งเพราะราคาย่อมเยาด้วยภาษีที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินในประเทศแสนเสรี รสชาติกรุ่นกล่อม หอมเป็นเอกลักษณ์ และระดับแอลกอฮอล์ที่สูงลิ่ว นั่นหมายความว่าสามารถปรับอารมณ์ให้ลื่นไหลได้ทันใจภายในหนึ่งขวด
ที่สำคัญ La Trappe ยังรุ่มรวยด้วยมรดกทางวัฒนธรรม เพราะเบียร์แบรนด์นี้ได้รับรองว่าเป็นทราปปิสต์ (Trappist) ของแท้แบบดั้งเดิม ทราปปิสต์หมายถึงนักบวชชาวคริสต์ตามแนวทางของนักบุญเบเนดิกต์ หลายคนอาจคุ้นหูเบียร์ประเภทนี้ในชื่อว่า ‘เบียร์พระ’ โดยการผลิตเบียร์ทราปปิสต์แบบดั้งเดิมนั้น ปัจจุบันมีการรับรองโบสถ์เพียง 14 แห่งทั่วโลก โดยมี 6 แห่งที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19 และที่นี่คือหนึ่งในนั้น
ผมนั่งรถประจำทางออกนอกเมืองทิลเบิร์ก ผ่านทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ไม่นานก็พอมองเห็นรั้ววิหารและยอดอาคารศาสนาสถานตั้งอยู่กลางทุ่งนา หลังลงจากรถ ผมเดินผ่านแมกไม้ แวะชมร้านของที่ระลึกและห้องชิมเบียร์ คราฟท์เบียร์แทปแปะแบรนด์ La Trappe ยืนยันว่าผมมาถูกที่ ผมคว้าแซนด์วิชที่เตรียมมารับประทานรองท้อง ก่อนการทัศนศึกษาโรงบ่มเบียร์ในวิหารจะเริ่มตอนเที่ยงตรง
บรรยากาศภายในโรงต้มเบียร์ ด้านบนมีการประดับรูปพระเยซูถูกตรึงกางเขน
หัวใจทราปปิสต์
วัดโคนิงชูเวน (Koningshoeven Abbey) ก่อตั้งโดยพระทราปปิสต์จากประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1881 หัวใจสำคัญของทราปปิสต์คือการผสมผสานระหว่างการสวดมนต์และการใช้แรงงาน เป็นวิถีชีวิตที่ใส่ใจและเคารพสภาพแวดล้อม และสามารถเข้าถึงความสัมพันธ์ต่อโลกได้อย่างเรียบงาม นอกจากนี้ พระทราปปิสต์ยึดมั่นในการดำรงชีวิตในความเงียบ แม้ไม่ได้ถือสาบานความเงียบ (Vows of Silence) แต่จำกัดการพูดเฉพาะในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น
ดังคำพูดที่ว่า ‘Ora et labora’ หมายถึงการภาวนาและทำงาน ซึ่งตามแนวทางของนักบุญเบเนดิกต์ทั้งสองเรื่องต้องผสานเป็นหนึ่ง เป็นแกนกลางของวิถีชีวิตทราปปิสต์ สินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายหล่อเลี้ยงกิจการสงฆ์นั้น มีตั้งแต่ชีส ขนมปัง สิ่งทอ และโรงศพ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ทราปปิสต์เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือเบียร์นั่นเอง
แรกเริ่มเดิมที วัดโคนิงชูเวนเผชิญความยากลำบากทางการเงินอย่างยิ่งจนชุมชนสงฆ์เกือบล่มสลาย กระทั่ง ค.ศ. 1884 เจ้าอาวาสก็ได้ตัดสินใจก่อตั้งโรงเบียร์ขึ้นซึ่งดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามธรรมเนียมของทราปปิสต์ การจำหน่ายเบียร์ดำเนินไปได้ด้วยดี กิจการที่เติบโตทำให้มีการต่อเติมโรงต้มเบียร์และโรงงานบรรจุขวดในอาศรม วัดโคนิงชูเวนสามารถปลดหนี้ที่เคยกู้ยืมมาได้ในช่วงข้นแค้น ภายในจึงเกิดเป็นแบรนด์ La Trappe ใน ค.ศ. 1928 ซึ่งผลิตและจำหน่ายจวบจนปัจจุบัน
เบียร์ที่ติดป้ายว่าทราปปิสต์แท้นั้น จะต้องผ่านเงื่อนไขจำนวนมาก โดยมี 3 ข้อสำคัญคือ
1.เบียร์จะต้องบ่มภายในรั้วของศาสนสถานโดยพระแทรปปิสต์เอง หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระ
2.โรงบ่มเบียร์จะต้องมีความสำคัญลำดับสองภายในศาสนสถาน และวิธีปฏิบัติทางธุรกิจจะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเหล่าพระในศาสนสถานแห่งนั้น
3.โรงบ่มเบียร์จะต้องไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหากำไร รายได้มีจุดประสงค์สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของพระแทรปปิสต์ การบำรุงรักษาศาสนสถานและอาณาบริเวณ ส่วนรายได้ที่เหลือจะต้องนำไปบริจาคช่วยเหลือสังคม หรือชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ
ด้วยเงื่อนไขเข้มงวดดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกมีเบียร์เพียง 14 แบรนด์ที่ได้รับเครื่องหมายการันตีผลิตภัณฑ์ทราปปิสต์แท้ ซึ่งดำเนินการพิจารณาโดยสมาคมทราปปิสต์สากล (International Trappist Association) ส่วนเบียร์พระอื่นๆ ในตลาดซึ่งไม่ได้ตีตราดังกล่าว แม้จะต้นกำเนิดใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันได้ผันตัวเองไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์เต็มตัว และมักมีบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่เป็นผู้ถือหุ้น
สวนสมุนไพรและฮ็อปส์บริเวณด้านหลังวัด แหล่งวัตถุดิบสำหรับการทำเบียร์
โรงบ่มในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า
ผมผิดหวังนิดหน่อยที่ผู้นำคณะทัวร์ของเราไม่ใช่พระทราปปิสต์ แต่เป็นฝรั่งตาน้ำข้าวที่เปิดให้เราชมวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโรงเบียร์แห่งนี้คร่าวๆ แล้วพาเราเดินไปชมหม้อต้มทองแดงเก่าแก่ที่อยู่ภายในโบสถ์ เล่ากรรมวิธีที่เรียบง่ายของการต้มเบียร์ จากมอลต์ซึ่งเป็นข้าวบาร์เลย์ที่งอกมาบด ผสมน้ำแร่นำมาต้ม แยกกากออก นำมาปรุงด้วยฮ็อบส์และสารพันสมุนไพรให้ได้เป็นเวอร์ต (Wort) ใส่ยีสต์เพื่อให้ยีสต์น้อยกินน้ำตาลในเวิร์ตและสร้างแอลกอฮอล์ หมักบ่มสักพักแล้วจึงนำมากรองออก
คณะเราได้ชมและชิมส่วนผสมของแต่ละขั้นตอน ระหว่างเดินก็สังเกตเห็นรูปพระเยซูถูกตรึงกางเขนอยู่เหนือห้องควบคุม เตือนให้เราสำรวมและตระหนักว่าเรากำลังเดินอยู่ในศาสนสถาน หากมองจากภายนอก อาคารอิฐสีแดงแห่งนี้ไม่ต่างจากโบสถ์คริสต์ทั่วไป แตกต่างกันอย่างเดียวคือมีปล่องควันพวยพุ่งอยู่ตลอดเวลาบนท้องฟ้าสีหม่น
หลังจากทัวร์ห้องต้มและห้องหมักบ่ม เราก็ไปเยี่ยมชมพื้นที่ด้านหลังซึ่งเป็นสวนสมุนไพรและสวนฮ็อปส์ขนาดใหญ่ วัตถุดิบซึ่งนำมาใช้ในสูตรหลักหมักเบียร์ทราปปิสต์ที่สืบทอดมากว่าหนึ่งร้อยปี
อาคารสุดท้ายที่เราไปเยี่ยมเยือนคือโรงงานบรรจุขวดที่ทันสมัย ด้านในยังมีพนักงานสวมชุดแดงสดใสทำงานอย่างขะมักเขม้น กระบวนการบรรจุขวดซึ่งจะใส่ยีสต์และน้ำตาลเข้าไปในขวด เพื่อให้ยีสต์ยังคงทำงานต่อไป ทำให้เบียร์ La Trappe ทุกขวดจะมีตะกอนอยู่ก้นขวดซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะกระบวนการหมักบ่มไม่ได้จบในโรงเบียร์ แต่ยังสร้างสรรค์รสชาติต่อในขวดอีกด้วย
แผนภาพแสดงขั้นตอนบรรจุขวดของ La Trappe สามารถดูแผนภาพกระบวนการทั้งหมดได้ที่ La Trappe Trappist
เราจบการทัศนศึกษาในห้องชิมเบียร์ โดยเบียร์สดหนึ่งแก้วรวมอยู่ในแพ็คเกจสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อมาถึงที่ ผมเลือกชิมเบียร์ La Trappe Quadrupel เบียร์สีน้ำตาลเข้มที่ชื่อบ่งบอกว่ามีแอลกอฮอล์สูงที่สุดในตระกูลเบียร์ทราปปิสต์คือราว 10 เปอร์เซ็นต์ กลิ่นกรุ่มหอมของผลไม้สีม่วงที่คุ้นเคย ความหวานแบบน้ำตาลไหม้ เครื่องเทศสะกิดจมูก จบท้ายด้วยความละมุนอุ่นขนมปัง โดยไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ติดปาก คุ้มค่ากับที่เดินทางมาไกลและทำให้ยามบ่ายที่ฟ้าปิดดูสดใสขึ้นทันตา
ระหว่างที่เราต่างละเลียดชิมเบียร์กันอยู่นั้น ก็มีหนึ่งในคณะทัวร์ถามขึ้นว่าสงฆ์ในวัดโคนิงชูเวนนั้นดื่มเบียร์เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งไกด์ทัวร์ก็ตอบอย่างอารมณ์ดีแกล้มหัวเราะว่า “ก็ต้องดื่มอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า และบางครั้งก็ดื่มเพื่อการเฉลิมฉลอง แต่ก็ไม่ได้ดื่มกันจนเมานะ”
โรงงานบรรจุขวดทันสมัยในอาคารอิฐหลังสีแดง มีพนักงานกำลังทำงานอย่างขะมักเขม้น
ก่อนกลับ ผมตัดสินใจซื้อเบียร์ถุงใหญ่ครบทั้ง 8 ประเภทของแบรนด์ La Trappe และยังยอมกัดฟันควักกระเป๋าเพื่อซื้อ La Trappe Quadrupel Oak Aged เบียร์รุ่นพิเศษซึ่งหมักในถังไม้โอ๊ค ซึ่งผมมารู้ราคาซื้อขายในไทยแล้วพบว่าคุ้มเกินคุ้ม นับว่าเป็นหนึ่งวันดีดี ที่ได้ทั้งความรู้เรื่องทราปปิสต์แบบเต็มอิ่ม ได้เบียร์รสดีกลับบ้านในราคาสบายกระเป๋า และยังได้สนับสนุนภารกิจทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของทราปปิสต์อีกด้วย
เอกสารประกอบการเขียน
International Trappist Association
Fact Box
- วัดโคนิงชูเวน และโรงบ่มเบียร์ La Trappe นั้นเปิดให้ชมทั้งปี โดยทัวร์ภาษาอังกฤษนั้นจะมีทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 12.00 น. และวันเสาร์เวลา 11.30 น. สนนราคา 12 ยูโรสำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กอายุต่ำกว่านั้นจะอยู่ที่ 6 ยูโร โดยจะไม่ได้รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนจบทัวร์
- การเดินทางมาเมืองทิลเบิร์กก็ไม่ยาก โดยสามารถโดยสารรถไฟจากอัมสเตอร์ดัมโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยผู้เขียนแนะนำว่าถ้าต้องการเข้าร่วมทัวร์ภาษาอังกฤษ ควรจะจองล่วงหน้าเพราะรอบน้อยมากๆ โดยสามารถจองล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ La Trappe