ความเดิมตอนที่แล้ว บันทึกสั้นถึง ‘กรงกรรม’ (01)
ในที่สุดมันก็เป็นเรื่องของโสเภณีหัวใจทองคำที่พยายามถีบตัวเองออกมาจากชีวิตขายตัวด้วยการทำคุณไสยใส่ชายคนรัก จนได้ติดสอยห้อยตามเขากลับมาบ้านและใช้ทั้งความดีและคุณไสยเอาชนะใจแม่ผัวที่มองว่าเธอเป็นเพียงหญิงชั้นต่ำ ‘รับกรรม’ จากการเล่นของของตนเอง
มันเป็นเรื่องของสะใภ้ไทยในครอบครัวจีนที่ต้องผจญกรรมเวรกับแม่ผัวจนนางตายลง จากนั้นก้าวขึ้นครองอำนาจในบ้าน ทำธุรกิจด้วยการกดขี่ขูดรีดคนยากจน จัดการชีวิตลูกชายจนพังพินาศไม่มีชิ้นดี ‘รับกรรม’ ที่ตัวเองเคยทำกับแม่ผัวและเคยใช้อำนาจของตัวเองทำลายชีวิตคนอื่น
มันเป็นเรื่องของนางลูกเมียน้อยที่เติบโตมาด้วยความริษยา โกรธแค้น เมื่อโตเป็นสาวก็ถูกชิงคนรักไป แต่งเข้าบ้านเพื่อแก้แค้นและหาหนทางเอาสมบัติแม่ผัวมาเป็นของตัว ทั้งใส่ร้าย ทั้งขี้ขโมย ทั้งเหยียดคนอื่น ถึงที่สุดก็ต้อง ‘รับกรรม’ จนแทบเป็นบ้าไป
มันเป็นเรื่องของสาวคนรับใช้ที่มีอดีตเจ็บปวดจากวัยสาว พยายามเก็บตัวเงียบ แต่สวยจนใครๆ มาหลงรัก ถึงที่สุด ‘กรรม’ ก็ย้อนมาหาอดีตก็ตามหลอกหลอนจนแทบอยู่ไม่ได้
มันเป็นเรื่องของโสเภณีคลั่งแค้นที่ถูกนายทุนริบบ้านริบที่ดินจนพ่อแม่ตายต้องมาขายตัว รอเวลาชำระแค้นกับคนที่กระทำตนไว้จนต้องเล่นคุณไสย ถึงที่สุด ‘รับกรรม’ จนต้องกลายเป็นโสเภณีหน้าบาก
มันเป็นเรื่องของลูกสาวกำนันที่ชิงสุกก่อนห้ามกับหนุ่มคนรักยากจน ท้าทายอำนาจพ่อแม่จนโดนจับใส่ตระกร้าล้างน้ำแต่งงาน ‘กรรม’ มาในรูปของการไม่สามารถมีชีวิตที่สงบสุขได้ คนรักก็มาตีจากจนต้องระหกระเหินไป
มันเป็นเรื่องของสาวใช้ในร้านชำที่ทนให้โดนโขกสับมาตลอดชีวิตหาก ‘กรรมดี’ ก็มาในรูปของสามีที่เธอเฝ้ารักมาตลอด และการขยับฐานะของตน
และมันยังเป็นเรื่องของสาวชาวบ้านที่เลือกเป็นเมียน้อยเศรษฐีเพื่อขยับฐานะ สาวช่างเย็บผ้าที่ตกหลุมรักหนุ่มเจ้าชู้และต้องเป็นพยานรู้เห็นชีวิตของพี่สาว สาวร้านเสริมสวยที่ท้องกับหนุ่มสำรวยแต่เขาไม่เอาจนต้องเอาลูกมาทิ้ง
ทั้งหมดทั้งมวลมันจึงเป็นเรื่องของผู้หญิงทั้งยากดีมีจน ที่ต่างต้องดิ้นรนอย่าข้นแค้นที่จะมีชีวิตที่ดี ในโลกที่เธอกำหนดอะไรเองไม่ได้ ชีวิตถูกกำกับในตำแหน่ง ‘แม่และเมีย’ ของพวกผู้ชาย มีบทบาทเพียง ‘โสเภณีและแม่พระ’ กำหนดบทบาทด้วย กรรมของแต่ละคน
จากบทความ ‘ไม่มี หญิงดี-หญิงชั่ว ในกรงกรรม : การมองคุณค่าผู้หญิงในยุคทหารจีไอผ่านสายตาจากปี 2560’ ที่แจกแจงอย่างดงามถึงการขีดแบ่งเส้นผู้หญิงดีและผู้หญิงชั่วในแบบรัฐสมัยใหม่ ‘จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพตัวแทนของผู้หญิงในกรงกรรม ได้แบ่งแยกผู้หญิงทั้งสองกลุ่มไว้ด้วยการเป็นผู้หญิง ‘ทำงาน’ และ ‘ไม่ทำงาน’ โดยมีรางวัลตอบแทนก็คือ การประสบความสำเร็จในชีวิตรักครอบครัว ได้เป็นแม่เป็นเมียในที่สุด’ และบทความ ที่ชุมแสงผู้หญิงแผลงฤทธิ์ : การดิ้นรนและสถาปนาอำนาจผู้หญิงในกรงกรรม ที่มองการดิ้นรนของเหล่าผู้หญิงในกรงกรรมอย่างน่าสนใจ
“โลกของกรงกรรมจึงเป็นโลกที่ผู้หญิงพยายามต่อสู้และหลีกหนีการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ชาย เหมือน ‘สตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง’ (Second Wave Feminism) ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เริ่มหมุดหมายตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1980 (ในกรงกรรมเมนชั่นถึง อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลในค่ายโลกเสรี ยุคสงครามเย็น ค.ศ. 1965 อย่างน้อยเรื่องนี้ถูกเล่าในปลายทศวรรษ 2500 หรือในช่วง 60s) ที่พยายามปลดปล่อยผู้หญิง (women’s liberation) ออกจากอำนาจของผู้ชาย การถูกกดทับ กดขี่ของระบอบสังคมปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ที่ไม่เพียงละเลยและไม่เข้าใจเพศหญิงและ ‘ความเป็นหญิง’ แต่ยังให้คุณค่ากับ ‘ความเป็นเพศชาย’ สูงกว่า ‘ความเป็นหญิง’”
โลกของกรงกรรมจึงเป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยผู้หญิง ที่ทั้งรู้และไม่รู้ตัวว่าตัวเองต้องดิ้นรนอย่างยากลำบาก เพราะนอกจากจะถูกกำกับด้วยความเป็นหญิงในโลกชายเป็นใหญ่ดังที่ได้กล่าวไปมันยังถูกกำหนดไว้ด้วยชนชั้น และศาสนาอีกชั้นหนึ่ง
ติ๋ม เรณู วรรณา บุญปลูก จันตา พิกุล ย้อย คือภาพแทนรูปแบบต่างๆ ของการต่อสู้ดิ้นรนเอาชนะโชคชะตาในรูปแบบต่างๆ กันของผู้หญิงชนชั้นล่าง ที่ต้องเผชิญการกดขี่ของเพศชาย (เรณูเสียตัวให้พี่เขย จันตาถูกคนที่มีเมียแล้วหลอก) การกดขี่ของนายทุน (ติ๋มโดนยึดบ้านจนต้องไปขายตัว บุญปลูกโดนโขกสับอยู่ในร้านชำ) หรือผู้หญิงด้วยกันเอง (ในกรณีของย้อยกับแม่ผัว) พวกเธอมีทางเลือกไม่มากนัก ขั้นต่ำสุดคือไปขายตัว รองลงมาคือไปเป็นเมียน้อย (พิกุลแม่ของพิไล) ยอมให้ถูกโขกสับ (ย้อย บุญปลูก) ขั้นโชคดีที่สุดคือมีวิชาติดตัว (วรรณา) ถึงที่สุดชีวิตของพวกเธอถูกกำกับด้วยทุนที่พวกเธอมีไม่เท่ากัน เรณูตอนไม่มีทุนต้องขายตัว พอมีทุน เธอสามารถไปขายขนมแทนได้ และฉุดวรรณาให้พ้นจากเคราะห์กรรมที่อาจจะลงเอยแบบเธอได้ด้วย การดิ้นรนของผู้หญิงชนชั้นล่างจึงไม่ได้เป็นการดิ้นรนแบบคนเท่ากัน ถ้าทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว เพราะทุกตัวละครมีปัจจัยที่แตกต่างกัน
ในขณะที่ผู้หญิงชนชั้นกลางอย่างเพียงเพ็ญ มาลา และพิไล ก็จะเผชิญปัญหาการต้องเอาตัวรอดน้อยลงแต่เจอกับปัญหาใหม่ในเรื่องอัตลักษณ์ การดิ้นรนของพิไล (นำมาซึ่งบทโมโนลอกที่งดงามและเจ็บปวดที่สุด) นั้นน่าสนใจมากๆ เธอมีทุนแล้วในฐานะลูกหลานคนร่ำรวย แต่งเข้าบ้านคนมีฐานะ แต่เธอไม่มีตัวตน เธอไม่มีเงินของตัวเอง (กล่าวตามหนังสือของวูล์ฟ เธอไม่มี ‘ห้องส่วนตัว’ ) การดิ้นรนของเธอจึงคือการสะสมทรัพย์ในฐานะปัจเจก เธอต้องพิสูจน์ว่าเธอเป็นลูกเมียน้อยที่ได้ดี สะใภ้รองที่เก่งกาจ การที่เธอย้อนเกล็ดย้อยว่าเธอก็ขูดรีดทำนาบนหลังคนแบบเดียวกับย้อย เพราะเธอถูกกีดกันการเข้าถึงทุนแบบเดียวกับที่เรณูและติ๋มโดน เพียงแต่เธอไม่ได้ลงไปถึงจุดที่ไม่มีทางเลือกขนาดนั้น
กรณีของเพียงเพ็ญ และมาลา นั้นยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก ปัญหาของเธอคือเธอไม่ได้เป็นเจ้าของมดลูกของตนเอง เพียงเพ็ญท้องลูกกับคนรัก แต่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่กับเขาได้ ในขณะที่มาลาไม่สามารถไปทำแท้งลูกของพ่อที่ไม่รับผิดชอบได้ มดลูกของพวกเธอถูกกำหนดโดยสังคมชายเป็นใหญ่ที่เชิดชูความเป็นแม่ ทำให้พวกเธอต้องระหกระเหินไป และเมื่อมองในแง่นี้ มดลูกของเรณูจึงเป็นมดลูกขบถผ่านทางการท้องปลอม และมดลูกของพิไลที่ไม่ท้อง ก็ถูกทำให้ค่าของความเป็นคนของเธอลดลง – ต่ำกว่ามดลูกสาวของจันตา วรรณา และมดลูกที่มีคุณค่าคือมดลูกที่ได้ให้กำเนิดบุตร)
พวกเธอจึงเป็นด้านกลับคู่ขนานของกันและกัน กรรมของพวกเธอจึงไม่ใช่เพราะพวกเธอทำกรรมดีกรรมชั่ว แต่คือเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง พวกเธอถูกกำหนดหลายชั้นขั้นตอนจากความเป็นเพศของเธอเอง ไปจนถึงชนชั้นที่เธอสังกัด กรรมของพวกเธอไม่ได้มาจากอดีตชาติ แต่มาจากการเมือง ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าพ่อของติ๋มและแม่ของก้านคนรักของเพียงเพ็ญ ได้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเรณู จันตา บุญปลูก แม้แต่ย้อย เข้าถึงการศึกษา เรื่องราวทั้งหมดจะพลิกไปขนาดไหน
เมื่อมองกลับไป ต้นทุนเดียวที่ทุกคนหาได้จึงไม่ใช่รัฐแต่เป็นไสยศาสตร์ จากเสน่ห์ยาแฝดไปจนถึงยาสั่ง อำนาจนอกรัฐที่ตัวละครหญิงเลือกใช้จึงเป็นหนทางไม่กี่ทางที่จะทำให้เธอต่อทุนและมีอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา (อัตลักษณ์ที่ปรารถนาในที่นี้คือการเป็นเมีย และ เป็นแม่ ไม่ใช่เป็นตัวของตัวเอง) แต่ไสยศาสตร์เป็นสิ่งตรงข้ามกับอำนาจสูงสุดในโลกของละครเรื่องนี้ เหนือกว่าอำนาจของผู้ชาย นั่นคืออำนาจของกรรม (ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ชื่อเรื่อง) ที่เป็นภาพแทนอำนาจของศาสนา
ในตอนจบของละครเรื่องนี้มันจึงกลายเป็นตอนบทสรุปที่น่าเบื่อที่สุดเมื่อเทียบกับละครทั้งเรื่อง เพราะมันคือการใช้เวลาสองชั่วโมงสั่งสอนคนดูเรื่องกฎแห่งกรรม จู่ๆ มันก็ทำตัวเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อของศาสนาที่ลงโทษผู้กระทำผิดแล้วคืนคนดีสู่สังคมผ่านมิติของศาสนา หวังให้ผู้ชมได้รับความอิ่มใจ ไถ่บาปจากการปล่อยให้ผู้ชมสาแก่ใจไปกับการจิกด่าตบตีตลอดเรื่องที่ผ่านมา ตีสองหน้าสำหรับการทำตัวเป็นละครสาธกคุณูปการของศาสนาเหนือชีวิตสามัญของผู้คน
หากความน่าเบื่อมากๆ นี้น่าสนใจอย่างยิ่ง มันทำให้นึกไปถึงบทสนทนากับผู้ใหญ่ในแวดวงหนังไทยท่านหนึ่งซึ่งชีิ้ให้เห็นว่าหนังไทย (ในที่นี้อาจจะจำเพาะเจาะจงถึงหนังไทยยุค 16 มม.) ว่ามันเติบโตมาจากมหรสพแบบลิเก ในแง่ที่ว่าหนังเหล่านี้ มีโลกภายในของหนังซึ่งขยิบตาให้กับผู้ชมนอกโลกของหนังให้รับรู้ถึงกฎของกันและกันว่านี่คือโลกของการ ‘สมมติความตามท้องเรื่อง’ เมื่อผู้ชมตกลงใจกับกฎนี้ ก็ยินดีต้อนรับสู่โลกที่แม้ทุกคนจะแต่งตัวสวยปักเลื่อมเพชรแวววาวก็สามารถเป็นได้ทั้งเจ้าชาย เสือร้าย ขอทาน ในโลกแบบนี้ เพชราหน้าเป๊ะผมปังก็อาจเป็นลูกชาวบ้านยากจนได้พอๆ กับมิตร ที่สามารถเป็นทั้งนักธุรกิจและคนเดินตลาดได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องทรง
มันจึงเป็นมาตรฐานที่แตกต่างจากมาตรฐานของความสมจริง เป็นภาพแทนความจริง (หรือใกล้ความจริงมากที่สุด) ของหนังยุคปัจจุบัน การหนีห่างความจริงแบบรู้กันในละครไทย มาพร้อมกับการเล่นใหญ่ที่อาศัยการออกเสียงแบบละครเวที การแต่งหน้าทำผมแม้แต่ในตอนนอน และถึงที่สุดการต้องตีสองหน้าเพื่อให้ ‘พระนางได้กัน’ ในตอนจบ แต่ระหว่างทางจะประหลาด พิสดาร ดุเดือดแค่ไหนก็ได้ และนั่นทำให้หนังไทยมีบทบาทของตัวตลกตามพระที่มาคอยทำหน้าที่แทนพระนางตลอดเรื่อง
หัวท้ายที่ชัดเจนในมหรสพแบบไทยเชื่อว่าพระนางต้องลงเอย และมีการสอนศีลธรรมตามสมควรจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในหมู่ผู้จัดทำ และผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย ที่ไม่ต้องการเปื้อนบาปผิดติดตัวของชีวิตที่ทั้งคาดเดาไม่ได้ และไร้ศีลธรรม ช่องหนึ่งอาจจะสอนศีลธรรมแบบโต้งๆ ประเภทอธิบายกฎแห่งกรรม ลงโทษผู้คนอย่างหนักมือเยี่ยงบัญญัติไตรยางค์ราวกับนิทานอีสป ในขณะที่อีกช่องหนึ่งซึ่งมุ่งขายชนชั้นกลาง อาจต้องการการสั่งสอนที่แนบเนียนกว่า และยังอวดอุตริทางศีลธรรมอย่างบ้าคลั่งมากกว่า จึงต้องสอดแทรกไว้เนียนกว่า (แต่ต้องไม่เนียนจนต้องตีความ) มหรสพเช่นนี้จึงมีกรงของมันเองที่จะต้องเป็นเพียง ‘ความบันเทิง’ ที่ต้องห่อแพคเกจของคติสอนใจ ไม่ว่าจะสวยหรือเชยขนาดไหนก็จำเป็น
ใน ‘กรง’ ชนิดนี้ ‘กรรม’ จึงตกเป็นของตัวละครที่จะต้อง ชดใช้กรรมที่ตัวเองก่อ ‘กรรม’ กลายเป็นเรื่องเล่าขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือเรื่องเล่าของตัวเรื่อง เป็น ‘กรง’ ที่กักขังเรื่องเล่าเอาไว้ไม่ให้มันเป็นชีวิตจริงๆ ของมนุษย์ ทุกๆเรื่องเล่าถูกดึงกลับไปสู่โครงเรื่องชนิดเดียวคือกฎแห่งกรรม ตัดขาดผู้ชมออกจากความเป็นไปได้อื่นๆ และผู้ชมก็พร้อมใจยอมรับเพราะถึงที่สุด ความสนุกสาแก่ใจทั้งมวลไม่ได้เป็นเรื่องเล่าเปล่ากลวงแบบเรื่องอ่านเล่น (ต่อให้มันเต็มไปด้วยประกายของชีวิตก็ตาม) และกลายเป็นนิทานสอนใจที่ไม่เสียเวลารอชม
มันจึงเป็น นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ‘ชีวิต’ ที่แท้นั้นติดอยู่ในกรงของโลกประเภท ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ ในตัวมันนั่นเอง
Tags: ผู้หญิง, ละครไทย, กรงกรรม, การเมือง