เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 มีการประกาศที่สำคัญอย่างหนึ่งจากประเทศอินเดียคือ รัฐบาลกลางของอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนทระ โมที (Narendra Modi) ประกาศยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้สถานะการเป็นพื้นที่พิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ถูกยกเลิก และเปลี่ยนสถานภาพจากรัฐ กลายเป็นดินแดนสหภาพ (Union Territory) ซึ่งขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางโดยตรง พร้อมๆ กับลาดักห์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ การตอบโต้จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษและการตัดการสื่อสาร และกลายเป็นชนวนเหตุความไม่สงบเมื่อเริ่มมีการประท้วงตามมา
อะไรคือสาเหตุเหล่านี้ และเราจะต้องทำความเข้าใจกับเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง?
จัมมูและแคชเมียร์: ดินแดนพิพาทสามเส้า
ตั้งแต่ช่วงที่อังกฤษเข้าปกครองดินแดนอนุทวีปอินเดีย หรือที่ขณะนั้นถูกเรียกเป็น บริติช ราช (British Raj) แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ถือเป็นรัฐมหาราชา (รัฐพื้นเมือง หรือ Princely/Native state) รัฐหนึ่ง ซึ่งในทางการเมืองและการบริหาร รัฐเหล่านี้มีสถานะเป็นรัฐพันธมิตรที่มีเจ้าผู้ปกครองท้องถิ่นเป็นของตัวเอง ไม่ได้ถูกปกครองโดยอังกฤษโดยตรง (แต่มีบางเรื่องที่อังกฤษก็เข้าแทรกแซงได้)
จนกระทั่งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออังกฤษตัดสินใจถอนตัวออกจากภูมิภาคนี้ และให้อำนาจอธิปไตยแก่ดินแดนภายใต้การปกครองตัวเอง ดังเช่นที่ทำกับประเทศอื่นๆ อย่างเช่น มาเลเซีย หรือ พม่า โดยในกรณีของอนุทวีปอินเดีย ได้มีการประกาศแผนว่าจะสร้างประเทศสองประเทศขึ้นมาใหม่คือ อินเดีย และ ปากีสถาน โดย ลอร์ด เมานต์แบ็ตเตน (Lord Mountbatten) อุปราชและข้าหลวงต่างพระองค์ประจำอาณานิคมอินเดีย ในวันที่ 3 มิถุนายน 1947 ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว ได้มีการประชุมกันระหว่างสภาแห่งชาติอินเดียและผู้นำมุสลิม ที่ตกลงกันให้แบ่งกั้นออกเป็นสองประเทศ
แผนการนี้ทำให้รัฐมหาราชาต่างๆ ต้องตัดสินใจว่าจะไปขึ้นอยู่กับฝั่งไหน ระหว่างอินเดียหรือปากีสถาน ซึ่งในเวลานั้นก็เป็นเรื่องที่วุ่นวายพอสมควร รัฐมหาราชาบางส่วนไปขึ้นกับอินเดีย บางส่วนขึ้นกับปากีสถาน แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือกรณีของจัมมูและแคชเมียร์ ที่เจ้าผู้ปกครองท้องถิ่นในเวลานั้น ตัดสินใจไม่ได้ เพราะการแบ่งประเทศในเวลานั้น เลือกเอาตามสัดส่วนทางศาสนาของประชากร ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในรัฐ นับถือศาสนาอิสลาม แต่ในทางการเมืองแล้ว กลับมีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับทางอินเดีย และอยากเป็นรัฐอิสระ (สำหรับผู้ที่อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม ขอแนะนำหนังสือ Kashmir in Conflict)
สถานการณ์นี้ทำให้ปากีสถานตัดสินใจบุกเข้าจัมมูและแคชเมียร์ ด้วยกองกำลังชนเผ่าท้องถิ่นที่ตนเองสนับสนุน ทำให้เจ้าผู้ปกครองรัฐในเวลานั้นไม่มีทางเลือก ต้องขอความช่วยเหลือจากอินเดีย และเลือกที่จะมอบอำนาจบางส่วนของตนเองให้รัฐบาลกลางอินเดีย และนั่นถือเป็นความขัดแย้งแรกในดินแดนนี้ เพราะทั้งอินเดียและปากีสถานต่างประกาศสิทธิเหนือดินแดนแห่งนี้ จนกระทั่งในปี 1951 ได้มีการลงประชามติให้จัมมูและแคชเมียร์ไปอยู่กับอินเดีย
ยังปวดหัวกันไม่พอ จีนเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในเรื่องนี้ เพราะจีนเลือกที่จะเข้ามายึดดินแดนบางส่วนของแคชเมียร์ด้วย และทำให้เกิดข้อพิพาททั้งกับอินเดียและปากีสถานไปในเวลาเดียวกัน ยังไม่พอแค่นั้น ภายในรัฐเองก็มีความขัดแย้งทางศาสนาเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมในจัมมูและแคชเมียร์ ที่ปฎิบัติการอยู่เรื่อยๆ
ความขัดแย้งระหว่าง 3 ประเทศ กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ดินแดนส่วนนี้ยังมีความไม่สงบเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน มากกว่านั้นยังเป็นชนวนของสงครามต่อเนื่องเรื่อยมาระหว่างทั้ง 3 ประเทศ จนกระทั่งเมื่อในช่วงปี 2000s ทั้งสองประเทศจึงพยายามกลับมาพื้นฟูความสัมพันธ์ เพื่อให้มีเสถียรภาพในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ใช่ว่าความสงบจะจบลงกันได้ง่ายๆ (ไม่มีป้าย “เลือกความสงบ จบที่…” ให้เห็นแน่นอน)
ยกเลิกมาตรา 370 กับความไม่สงบรอบใหม่
เหตุการณ์ล่าสุดที่ระอุขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม คือการประกาศยกเลิกมาตรา 370 ตามรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่ให้สิทธิพิเศษกับจัมมูและแคชเมียร์ แล้วถูกจัดลำดับกับสถานะใหม่เป็นดินแดนสหภาพ รวมจัมมูและแคชเมียร์เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งส่วน และลาดักห์ เป็นอีกหนึ่งส่วน (จัมมูและแคชเมียร์ เป็นดินแดนที่มีชาวมุสลิมและฮินดูอยู่ ส่วนลาดักห์ เป็นดินแดนที่มีพุทธศาสนิกชนอยู่ และมีความใกล้เคียงกับทิเบต) ซึ่งสถานการณ์นี้สร้างความตึงเครียดให้กับทั้งภายในอินเดีย และความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านโดยฉับพลัน
มาตราที่ 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย เป็นมาตราที่ให้สิทธิพิเศษกับจัมมูและแคชเมียร์ในการปกครองตนเอง รายงานของบีบีซีระบุว่า มาตรานี้ทำให้แคชเมียร์สามารถมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองได้ มีธงประจำรัฐเป็นของตนเอง รวมถึงการออกกฎหมายต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยที่มิติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การป้องกันประเทศ และการติดต่อสื่อสารต่างๆ จะยังคงเป็นหน้าที่และเรื่องของรัฐบาลกลางอินเดีย
การยกเลิกมาตราดังกล่าว ย่อมแปลว่านับแต่นี้เป็นต้นไป จัมมูและแคชเมียร์จะตกอยู่ภายใต้การสั่งการและบริหารงานจากรัฐบาลกลางโดยสมบูรณ์
ทิศทางเช่นนี้เกิดจากความต้องการของรัฐบาลที่นำโดย นเรนทระ โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดียและตัวแทนจากพรรคภารตียชนตา (BJP: Bharatiya Janata Party หรือพรรคประชาชนอินเดีย) ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของพรรคที่ค้านมาตรา 370 นี้มาโดยตลอด
ความคิดเห็นจากกลุ่มคนในดินแดนแคชเมียร์จำนวนหนึ่ง มองว่า นี่เป็นความพยายามของรัฐบาลกลางอินเดียในการ ‘กลืน’ แคชเมียร์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้คนที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม สามารถเข้ามาครอบครองที่ดินในแคชเมียร์ได้
นอกจากนั้นแล้ว หลายฝ่ายยังมองว่า มีความเป็นไปได้ที่การประกาศจัดระเบียบทางการบริหารใหม่เช่นนี้จะก่อให้เกิดความไม่สงบได้ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้นำทหารเข้าไปตรึงกำลังในพื้นที่ดังกล่าว ตัดช่องทางในการติดต่อสื่อสารต่างๆ ออกจากเขตและดินแดนเหล่านี้ รวมถึงการออกกฎอัยการศึกเป็นของแถมอีกด้วย ขณะที่ปากีสถานเองก็ออกคำเตือนว่าจะใช้มาตรการทุกวิถีทาง และบอกว่าอินเดียกำลังทำผิดกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แม้ปัญหาทั้งหมดนี้จะฟังแล้วเหมือนกับปัญหาภายในของอินเดีย แต่ในมุมกลับกันความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง กล่าวอีกอย่างก็คือ อินเดียกำลังเล่นเกมที่อันตรายมากในทางการเมือง
แม้จะไม่มีใครประเมินสถานการณ์ออกว่านับจากนี้ ดินแดนพิพาทอย่างแคชเมียร์จะตกอยู่ในสถานะใด แต่ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการผนวกรวมดินแดนอย่างจริงจัง ย่อมแปลว่าอินเดียพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้แคชเมียร์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ
สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักของอินเดีย SENSEX ร่วงลงกว่า 1.13% ส่วนดัชนี Nifty ก็ร่วงลงไปกว่า 1.23% ภายในวันเดียว ซึ่งข่าวนี้มาพร้อมกับข่าวเศรษฐกิจโลกที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทำสงครามการค้ากับประเทศจีน รวมถึงปัญหาภายในของอินเดียเองที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลมีการเก็บภาษีเพิ่มจากการลงทุนของต่างชาติด้วย
นับจากนี้ กรณีของแคชเมียร์จะกลับมาอยู่ในความสนใจนานาชาติอีกครั้ง และน่าจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นในปีนี้ที่มีผลทั้งเศรษฐกิจโลก รวมถึงความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียโดยรวมด้วย
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/world-south-asia-16069078
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-49234708