ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองไทยช่วงนี้ หลายพรรคก็เหมือนจะครองพื้นที่สื่อจากการเป็น ‘ข่าวร้อน’ ไม่เว้นแต่ละวัน แต่พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ยังไม่ได้หายไปไหน นับแต่ผู้นำพรรครวมถึงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ยังคงทำงานกันต่ออย่างเต็มที่
เช่นเดียวกับ ‘หมอเอ้ก’ หรือ นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม New Dem หรือนักการเมืองรุ่นใหม่ในรั้วประชาธิปัตย์ กับแฮชแท็กของเขาที่ตั้งขึ้นในอินสตาแกรมว่า #แก่พอที่จะลงสมัครเด็กพอที่จะกล้าลงมือทำ
หมอเอ้กเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกเป็นจักษุแพทย์ และพื้นฐานการทำงานในแวดวงสาธารณสุขนี่เอง ที่ตกผลึกกลายมาเป็น 3 นโยบายสำคัญที่เขาอยากผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ได้แก่ ฐานข้อมูลสุขภาพดิจิทัล ระบบบริจาคอวัยวะแบบ opt-out และการใช้กัญชาในเชิงการแพทย์
เราพูดคุยกับหมอเอ้กเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์—สองวันก่อนเกมการเมืองไทยจะพลิกผันอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความร้อนแรงมาจนทุกวันนี้ แต่ทัศนะของนักการเมืองหน้าใหม่ในพรรคเก่าแก่ที่ไม่ได้มีเพียงนโยบายสาธารณสุข ก็เป็นอีกสีสันน่าสนใจที่สะท้อนถึงจุดยืนและทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ บนเส้นทางไปสู่การเลือกตั้งอันแสนจะไม่ราบเรียบในครั้งนี้
หมอเอ้ก – นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์
คุณเริ่มต้นมาลงเล่นการเมืองได้อย่างไร
ผมสนใจเรื่องบ้านเมืองมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะที่บ้านผมมักจะคุยเรื่องนี้กันเป็นปกติตามประสาครอบครัวชนชั้นกลางทั่งไป แม้กระทั่งตอน ม.ปลาย ผมก็เลือกระหว่างรัฐศาสตร์กับแพทยศาสตร์ แต่ก็เลือกหมอด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าอยากช่วยพ่อแม่ตัวเอง และในช่วงนั้น พอดีว่ามีรัฐประหาร (ปี 2549) มีวังวนความขัดแย้ง เสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. พันธมิตร ฯลฯ มันยิ่งกลายเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราต้องสนใจการเมืองกันมากขึ้น
จนมาถึงตอนนี้ พอเวทีการเมืองมันเปิดแล้ว ผมก็อยากเป็นคนคนหนึ่งที่จะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มันดีขึ้น
ทำไมถึงเลือกเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับผมแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเจ้าของ ไม่ได้มีนายทุนชัดเจนว่าเป็นของใคร และพร้อมเปิดโอกาสให้คนที่เริ่มจากศูนย์ ผมอยากทำงานในระยะยาว ไม่ได้อยากทำงานแค่ระยะสั้น ขอยกตัวอย่างไอดอลของผม คุณชวน หลีกภัย ท่านก็เป็นเด็กวัดมาก่อน อยู่แถวฝั่งธนฯ แล้วท่านก็ใช้ความรู้ความสามารถ การศึกษา พาตัวเองมาสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในสังกัดของพรรคประชาธิปัตย์ ผมเองก็มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านการเมืองมาก่อน คิดว่าประชาธิปัตย์ให้โอกาสคนที่เริ่มจากตรงนั้น และผมก็น่าจะอยู่ได้ยาว จนถึงจุดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
นอกจากนี้ ด้วยอุดมการณ์ในปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ถูกพูดถึงกันมาก มันก็ตรงกับสิ่งที่ผมอยากผลักดันครับ
อยากให้เล่าถึงสิ่งที่คุณอยากผลักดัน ทั้งฐานข้อมูลทางสุขภาพ ระบบบริจาคอวัยวะแบบ opt-out จนถึงเรื่องกัญชา
ด้วยความที่มาจากฝั่งสาธารณสุข ตอนนี้ผมอยากสร้างฐานข้อมูลสุขภาพระดับประเทศที่เชื่อมโยงถึงกัน จะเห็นได้ว่าการส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนึ่งไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ยังต้องเขียนด้วยมือกันอยู่เลย ซึ่งผมว่าชีวิตคนคนหนึ่งมีอะไรมากกว่านั้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้ข้อมูลออนไลน์ ที่ก็ต้องจัดการให้ปลอดภัย ต้องมีมาตรฐานในการจัดการและจัดเก็บข้อมูล โดยข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมทางสุขภาพเหล่านี้ ก็จะถูกนำไปใช้ในการสร้างนโยบายทางสาธารณสุขที่ตอบโจทย์ประชาชนจริงๆ ด้วย
ต่อมาก็คือเรื่องของการบริจาคอวัยวะ ปัจจุบันประเทศไทยยังใช้ระบบ opt-in system คือใครที่อยากบริจาคอวัยวะก็ไปลงทะเบียน แต่สิ่งที่ผมอยากเสนอคือระบบ opt-out system นั่นคือประชาชนทุกคนเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วก็สามารถอยู่ในฐานะผู้บริจาคอวัยวะได้เลย แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวก ก็มีเสรีภาพที่จะเดินออกจากการเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้ทุกเมื่อ ผลคือเราจะสามารถเพิ่มปริมาณอวัยวะในระบบได้อีกมาก เหมือนอย่างในประเทศที่ประสบความสำเร็จจากระบบ opt-out system อย่างออสเตรีย ที่มีอัตราการบริจาคกว่า 99.4%
เหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีปริมาณอวัยวะในระบบให้มาก เพราะการจะเปลี่ยนถ่ายอวัยวะไม่ใช่ว่าสามารถทำได้เลย ต้องมีการ matching ว่าอวัยวะเข้ากันได้กับร่างกายหรือเปล่า ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยคนหนึ่งจะได้อวัยวะใหม่มีน้อยลงเข้าไปอีก จากประสบการณ์ของผมที่เป็นหมอตา บางเคสที่ต้องเปลี่ยนกระจกตา รอ 5-6 ปียังไม่ได้เลยครับ บางคนกว่าจะได้อวัยวะ พอโทรไปตาม ปรากฏว่า ลุงเขาไม่อยู่แล้ว ผมว่าบางคนอาจจะมองว่านี่เป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่กระทบกับทุกคน
อีกข้อหนึ่ง ผมอยากผลักดันเรื่องกัญชา ที่ในตอนนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเสพเพื่อความบันเทิงเยอะมาก ซึ่งผมไม่ได้พูดถึงเรื่องการเสพเป็นหลักเลยครับ ผมอยากผลักดันในการปลูก การผลิต การสกัด ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการผูกขาด จะทำอย่างไรที่สามารถปกป้องสิทธิบัตร หรือสายพันธุ์ของกัญชาได้ และรัฐจะมีนโยบายอย่างไร ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาไปยังประเทศอื่นๆ ที่ตลาดเริ่มเปิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา หลายๆ มลรัฐในสหรัฐอเมริกา หรือหลายประเทศในยุโรป ผมพูดในมุมนี้
ทีนี้ ในเรื่องของการเสพกัญชา จริงๆ แล้วผมว่าก็ยังไม่มีประเทศไหน ที่ตอบได้ว่าการเสพแบบสันทนาการมีผลกระทบต่อสาธารณสุขในวงกว้างอย่างไร นอกจากว่าจะต้องทำวิจัยกันก่อน ว่าถ้าเปิดเสรีแล้ว คนไทยเสพกันจะมีโอกาสติดเท่าไร นอกจากนั้นยังต้องดูอีกว่าผลิตภัณฑ์ที่จะมีจำหน่ายในประเทศไทย ความเข้มข้นของสาร THC (Tetrahydrocannabinol) กับ CBD (Cannabidiol) ในนั้นมีเท่าไร ต้องหาเส้นตรงกลางที่เราจะอนุญาต
มันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากครับที่ต้องจัดการ แต่การที่เราจะมัวมารอแล้วถกเถียงเรื่องการเสพ ผมคิดว่ามันเป็นการเสียโอกาสของเมืองไทย เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าเรากำลังแข่งขันกับประเทศอื่นๆ อยู่ ลาว มาเลเซีย พม่า กัมพูชา เหล่านี้เขาเปิดให้ปลูกกันได้อยู่แล้ว ส่วนเรายังตามหลังเขาอยู่ แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้
หากได้เข้าไปทำงานในสภา คุณมองภาพเรื่องสาธารณสุขในยุคสมัยของคุณอย่างไร ‘พี่ตูน’ จะต้องออกมาวิ่งระดมทุนอีกไหม
ถ้าเกิดคนภายในระบบสาธารณสุขยังทะเลาะกันอยู่ เช่นเรื่องของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่ยังทะเลาะกันอยู่ว่าอำนาจจัดการควรอยู่ที่ใคร แบบนี้พี่ตูนวิ่งรอบโลกก็ไม่รู้ว่าจะช่วยพยุงระบบนี้ได้ไหม ผมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องยกทั้งระบบเลย คงไม่สามารถแก้ได้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น รายละเอียดปลีกย่อยในแง่กฎหมายก็ยังมีอีกมาก ดังนั้นนโยบายของผมจึงจะขอจับที่ 3 เรื่องก่อน แล้วทำให้ได้จริง
เป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลที่อยู่ได้หนึ่งสมัย จะจัดการปัญหาสาธารณสุขได้
เป็นไปไม่ได้ ผมว่ามันต้องหลายๆ สมัยเลยด้วยซ้ำ ไหนจะเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่เรากำลังจะก้าวไปเผชิญ และในการปฏิบัติมันต้องลงไปว่ากันที่รายละเอียดจริงๆ ว่าจะทำยังไงให้ผู้คนเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างที่สมควรจะเป็น ทำยังไงไม่ให้ต้องรอคิวนาน ทำยังไงให้บุคลากรรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ ผมว่าบางครั้งนักการเมืองก็นั่งอยู่ในห้องประชุมด้วยความหวังดี แต่ยังไม่เคยลงไปทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานว่าประชาชนต้องการอะไร
คุณคิดว่ามีอุปสรรคอะไรบ้าง ที่ทำให้นโยบายที่นักการเมืองเคยสัญญาเอาไว้ มักไม่เกิดขึ้นจริง
มันต้องไปดูก่อนว่าคำมั่นสัญญาที่คุณให้ไว้ นโยบายที่คุณชูขึ้นมาตั้งแต่แรก มันทำได้จริงหรือเปล่า บางอย่างทำออกมาแล้วจะมีผลอย่างไรกับประเทศ ต้องคิดเตรียมไว้ด้วย อย่าสักแต่ว่าหาเสียงเพียงเพื่อให้ได้คะแนนเสียงแล้วจัดตั้งรัฐบาล นโยบายที่ออกมาต้องมีการคิดให้จบจนถึงบรรทัดสุดท้าย ว่าสามารถทำได้จริงและมีมาตรการรองรับผลกระทบต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว
ยกตัวอย่างครับ ในฝั่งสาธารณสุข นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งผมสนับสนุนเต็มที่นะครับ ให้พี่น้องประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่เมื่อมีนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องยอมรับว่าคนจะตื่นตัวทันที ว่ามีอะไรก็ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วยและยินดีมาก แต่ก็ต้องคิดให้จบ ว่าสุดท้ายแล้วงบประมาณจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ จะสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาจากการเปลี่ยนนโยบายโดยทันทีได้ไหม ถ้ารับไม่ได้ จะมีการแก้ไขอย่างไร มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรอย่างไร จัดสรรงบประมาณอย่างไร อันนี้ต้องคิดให้จบ ดังนั้น สัญญาที่ให้ไว้ของนักการเมือง มันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ มันอยู่ตั้งแต่ต้นทางเลยครับ
ตอนนี้มีพรรคไหนที่คุณคิดว่าน่ากลัวหรือน่าจับตาเป็นพิเศษ
ผมว่าทุกพรรคแหละครับ ที่ต่างก็มีจุดแข็งของตัวเอง และทุกพรรคเองก็สู้เต็มที่ ประชาธิปัตย์เองก็มีส่วนที่ผมว่าสู้ได้ สำหรับสมาชิกที่เป็นคนรุ่นใหม่ เราก็ต้องใช้จุดแข็งคือความสด ความขยันเข้าแลก ก็สู้เต็มที่ครับ
นักการเมืองแบบไหนที่คุณไม่อยากเป็น
ผมพูดที่ผมอยากเป็นก็แล้วกันครับ ผมว่าคนที่คิดจะทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง คงไม่สามารถที่จะวู่วามหรือตัดสินใจอะไรด้วยอารมณ์ได้ นี่คงเป็นอันดับแรกที่คนที่คิดจะเป็นนักการเมืองหรือผลักดันนโยบายจะต้องมี อันดับที่สอง ก่อนที่จะพูดอะไรต้องคิดก่อน พูดแล้วต้องทำให้ได้ อันดับที่สาม ผมอยากใช้คำว่าสุจริตครับ ผมจะไม่เป็นนักการเมืองที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการรับเงินโดยตรง หรือในเชิงนโยบาย ผมขอยึด 3 ข้อนี้เป็นสำคัญ
มีวิธีอย่างไรในการไม่ให้ตัวเองถูกระบบกลืนเข้าไป จนกลายเป็นนักการเมืองแบบที่ไม่อยากเป็น
ผมก็ต้องไม่เป็นครับ ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ แล้วผมก็คิดว่าผมมีสิ่งที่อยากจะผลักดันจริงๆ จากสายอาชีพของผมเป็นหลักสำคัญที่จะยึดไว้ ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย เราเห็นต่างกันได้ครับ แต่ผมว่าเราก็ต้องเคารพกัน ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้อิทธิพลหรืออำนาจใดๆ เข้ามาบีบบังคับให้ใครต้องโอนอ่อนผ่อนตาม
รูปลักษณ์ภายนอกสามารถมีส่วนช่วยในเวทีการเมืองของคุณได้ไหม
ต้องยอมรับว่าเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก มันทำให้การเข้าถึงประชาชนง่ายขึ้น แต่มันก็เป็นดาบสองคม เพราะบางครั้งบางคนก็ตั้งคำถามว่ามีแต่รูปลักษณ์ภายนอกหรือเปล่า แล้วความสามารถล่ะจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้การเข้าถึงประชาชนได้ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าจะสามารถเข้าถึงใจพวกเขาได้ ผมว่าสิ่งสำคัญที่ต้องมี—อย่างที่ในทีมบอกว่าผมต้องพัฒนาก็คือการมีเสน่ห์ การพูดคุย การที่มองตากันแล้วเขาจะรู้ได้ว่าผมเข้าใจเขาจริงๆ ผมว่าสิ่งนี้มันมากกว่าความหล่อความสวยครับ
มีนักการเมืองคนไหน ที่คุณรู้สึกว่าสามารถเข้าไปอยู่ในใจผู้คนได้สำเร็จ
ถ้าให้นึกเร็วๆ ผมนึกถึงคุณบารัก โอบาม่า ซึ่งในเขตพื้นที่ของเขาเองอย่างชิคาโก เขาก็ใช้วิธี door to door หรือการเข้าไปพบผู้คนตามบ้านนะครับ เดินเข้าไปคุยว่าอยากให้เขาแก้ปัญหาอะไรเมื่อเขาได้เข้าไปในสภาคองเกรส และเขาก็ได้เสียงเยอะมากจากการทำแบบนี้ แล้วก็นำปัญหาที่เขาได้รับฟังไปดำเนินการจริงๆ หากเป็นเมืองไทยก็คงจะเป็นคุณชวน หลีกภัย นี่แหละครับ ที่สามารถนำปัญหาของประชาชนเข้าไปแก้ไขในสภาได้จริงๆ
มองว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองที่ยังตกค้างมาจากหลายปีก่อน จะระเบิดขึ้นมาอีกไหม จากการเลือกตั้งครั้งนี้
ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รองรับความเห็นต่างอยู่แล้ว มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ถกเถียงกัน เพื่อจะอยู่ร่วมกันได้ ผมว่าตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา ความเห็นต่างมันคงไม่มีทางหมดไปหรอกครับ คนในบ้านเดียวกันเองบางทีก็ชอบคนละพรรค สิ่งสำคัญคือต้องถกกันได้ พูดคุยกันได้ ความเห็นต่างคงต้องปล่อยให้มี สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรกับมันมากกว่า อย่าให้ถึงขั้นที่ทะเลาะกันแล้วประเทศติดหล่มอยู่เหมือนตอนนี้
ผมคิดว่าคอนเซปต์เรื่องฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา แบบ absolutely มันคงต้องเปลี่ยนแปลงแล้วนะครับ มันต้องว่าเป็นประเด็นๆ ไปมากกว่า เช่นเรื่องของกัญชาที่ผมได้พูดไป หากไปทางเสรีนิยมจ๋าๆ เลย ก็อยากให้ปล่อยเสรีไปเลย แต่ขณะเดียวกันข้อมูลเราก็ยังมีไม่เพียงพอ การวิจัยยังไม่ครบถ้วน การปล่อยเสรีก็อาจจะมีอันตรายมากกว่า มันต้องว่ากันเป็นกรณีครับ หรือเรื่องการทำแท้งควรเป็นอย่างไร การเกณฑ์ทหาร มิติอื่นๆ ล่ะ สังคม เศรษฐกิจ ควรเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าซ้ายคุณก็ต้องซ้ายจัดไปทุกอย่าง ขวาก็ต้องขวาจัดไปทุกเรื่อง มันไม่ใช่แบบนั้นแล้วครับ
หากภาพจำของคนทั่วไป มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคอนุรักษนิยมอยู่มาก คุณคิดอย่างไร
ผมว่าปัจจุบันคงไม่ใช่แล้วมั้งครับ การจะมาติดภาพว่าพรรคนี้เอียงซ้าย พรรคนี้เอียงขวา มันหมดไปแล้วครับ ส่วนในอดีตผมก็คงไปตัดสินคนที่จะมองภาพลักษณ์แบบนั้นไม่ได้
อย่างกลุ่ม New Dem ของเราก็เกิดจากกลุ่มคน 20-30 คนที่เล็งเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และการผลักดันนโยบายใหม่ๆ เพราะตอนนี้รูปแบบโครงสร้างของประชากรได้เปลี่ยนไปเยอะแล้วในหลายปีที่เราไม่ได้เลือกตั้งกันมา แล้วจะทำอย่างไรที่เราจะตอบโจทย์ประชาชนได้จริงๆ ซึ่งผมก็มีโอกาสได้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง พูดตามตรงว่ามันก็มีแรงเสียดทานบ้าง กับเรื่องที่เราเสนอเข้าไป แต่มันก็คงมีกันทุกเรื่อง เพราะความเห็นด้วยหรือเห็นต่างมันเป็นเรื่องปกติ อย่างผมเองตอนที่เสนอเรื่องกัญชา ก็ชัดเจนว่าพรรคได้ให้โอกาสผมที่จะผลักดันนโยบายนี้ หรือเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นนโยบายของ New Dem ก็เป็นเสรีนิยมมากๆ เรียกว่า 20 กว่านโยบายของเราที่เสนอเข้าไปที่พรรค ก็มี 9-10 เรื่องที่ผ่าน และส่วนใหญ่เป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมทั้งนั้น ซึ่งพรรคก็เปิดโอกาสหมด
ความอายุน้อยเป็นจุดเด่นจุดด้อยในเกมการเมืองอย่างไร
ผมคิดว่าความอายุน้อย ทำให้เรามีมุมมองอีกแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงกับคนรุ่นใหม่มากกว่า แต่คนรุ่นใหม่เองก็ต้องตระหนักว่าการทำหน้าที่ทางการเมือง เราก็ไม่ได้ตอบโจทย์แค่คนรุ่นเดียว
จากการลงพื้นที่ไปเจอประชาชน มีเสียงตอบรับแบบไหนที่เซอร์ไพรส์คุณ
ก่อนหน้านี้ผมก็จะมีภาพในหัวว่าการเมืองไทยได้ถูกแบ่งขั้วอย่างชัดเจนมาก สีนี้ก็เป็นสีนี้ แต่พอลงไปจริงๆ แล้วมันกลับไม่ใช่แบบนั้น ผมพบหลายเสียงที่บอกว่าพรรคไหนก็ได้แต่ขอเป็นคนรุ่นใหม่เถอะ เบื่อการเมืองแบบเดิมๆ แล้ว ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมแปลกใจแล้วก็ดีใจ
คนรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้
มีแน่นอนครับ เพราะกลุ่ม new voter มีจำนวนที่เยอะมาก นอกจากเรื่องของจำนวนแล้ว พวกเขาแต่ละคนก็มีการเสพสื่อที่ต่างจากคนรุ่นที่ผ่านมาๆ มีการเข้าถึงข่าวและข้อมูลที่รวดเร็วและฉับไวมาก ซึ่งโมเมนตั้มที่เกิดขึ้นผมว่าสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้เลย
ประชาธิปัตย์ในตอนนี้ กับประชาธิปัตย์ก่อนที่ คสช. จะเข้ามา มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ก่อนที่ คสช. จะเข้ามา ผมยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เลยจะขอพูดจากมุมมองของคนนอกที่มองเข้าไปดีกว่า ผมมองว่าในปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์มีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งในแง่ของความชัดเจนและในแง่ของเสรีนิยมประชาธิปไตย
ความชัดเจนในที่นี้หมายถึงความยึดมั่นในระบอบรัฐสภา วิธีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เรามีชื่อเดียว คือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เราไม่เคยเชื่อเรื่องนายกฯ คนนอก และเราก็เป็นพรรคแรกๆ ด้วยซ้ำ ที่ให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตัวแทนพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วก็แข่งขันกันจริงจังนะครับ ไม่ใช่ปาหี่หลอกกัน ต่อให้ใครจะมาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่กับฝั่งไหนก็ตาม อยู่กับเผด็จการ อยู่กับประชาธิปไตย หรืออยู่ฝั่งที่สามก็ตาม ผมว่าดูการกระทำดีกว่า พรรคอื่นๆ ที่บอกว่ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยล่ะ ทำแบบนี้หรือเปล่า
อะไรที่ทำให้คนประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ต้องยอมรับว่าท่านก็ผ่านเหตุการณ์มาเยอะ และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งท่านอยู่ในสนามการเมืองมายาวนาน เจอทั้งเรื่องดีเรื่องไม่ดี ผมคิดว่าด้วยประสบการณ์และชั่วโมงบินของท่านทำให้หลายคนเชื่อมั่น รวมถึงการเปิดรับอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ผมก้าวเข้ามาวันแรก ท่านก็ซักถามผมเรื่องสาธารณสุขแบบเป็นจริงเป็นจัง
พอสิ่งเหล่านี้มาผนวกรวมกัน มันทำให้เห็นว่าการเสนอนโยบายต่างๆ และการผลักดันอะไรที่ตอบโจทย์คนทั้งประเทศ ไม่ใช่การดูแลหรือตอบโจทย์คนเพียงกลุ่มเดียว ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์สามารถนำประเทศไปสู่จุดนั้นได้ครับ
ประสบการณ์ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรืออดีตนายกรัฐมนตรี สามารถเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งของพรรคคุณอย่างไรบ้าง
เป็นทั้งสองอย่างครับ ผมว่าคนที่เคยล้มมาก่อน จะมีบทเรียนว่าอะไรที่เราต้องระวัง อะไรที่เราอย่าเดินไปทางนั้นอีก และอะไรที่เราต้องแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้น ส่วนจุดอ่อนก็อย่างที่เห็นกัน เราสามารถโดนตีง่ายๆ จากพรรคอื่นๆ
ผมขอฝากนิดหนึ่งครับ ผมคิดว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มันไม่ได้เป็นการเลือกตั้งที่จะมาตัดสินว่าอดีตที่ผ่านมาคุณจะชอบหรือไม่ชอบ คุณตัดสินว่ามันถูกหรือผิด แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ตัดสินอนาคตประเทศ ว่าประเทศควรจะไปในทิศทางไหน เพราะฉะนั้นผมก็อยากเรียกร้องให้คนออกมาใช้สิทธิเถอะครับ
คุณมองว่ากรณีเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร
เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ ที่สุดแล้วคนก็จะออกมาทะเลาะกันจนเลยเถิดอีก ต้องออกมาอยู่บนถนน ไม่เคารพสิทธิของกันและกัน จนกระทั่งต้องเรียกร้องให้มีอำนาจอื่นเข้ามาจัดการ แล้วก็วนกลับมาในลูปเดิมอีก
อีกอย่างหนึ่งที่ผมกังวล ก็คือการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งบริหารก็ตาม หรือฝั่งนิติบัญญัติก็ตาม ด้วยรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมา จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรมีความเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน อันนี้ผมคงตอบไม่ได้ ว่าด้วยเสถียรภาพที่จะออกมา จะทำให้เกิดการติดล็อกทางการเมืองอีกหรือเปล่า
ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว สร้างความลำบากใจให้คุณในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ไหม
ผมว่าเป็นความลำบากใจของคนเลือกตั้งด้วย เพราะบางคนอาจจะชอบผู้สมัครในเขตตัวเอง แต่ไม่ชอบพรรค หรือบางคนชอบพรรคแต่ไม่ชอบผู้สมัครในเขตตัวเอง มันทำให้ประชาชนตัดสินใจยาก แต่ผมเชื่อว่าอย่างนี้ครับ คนที่พรรคเลือกมาก็จะยึดมั่นอุดมการณ์ของพรรคก็จริง อย่างผมเจอประชาชนก็มีคนบอกว่า โอ๊ย ผมอยากเลือกหมอนะ แต่ว่าผมไม่เลือกดีกว่าเพราะผมไม่ชอบประชาธิปัตย์ แต่ส่วนตัวผมไม่อยากจะเป็นแค่เสาไฟฟ้านะครับ อย่างน้อย ส.ส.คนนั้นๆ ก็จะเป็นกระบอกเสียงของประชาชนเอง ดังนั้นอยากให้มองว่าคนที่คุณจะเลือกให้มารับฟังปัญหาในเขตของคุณคือใคร แต่ที่สุดแล้วผมเข้าใจว่าระบบนี้ทำให้ตัดสินใจยากลำบากจริงๆ และพวกเราก็เคารพในการตัดสินใจประชาชนครับ
ด้วยระบบการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคใหญ่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลของตัวเองได้ เราจะมีโอกาสเห็นประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยทำงานร่วมกันไหม
ผมว่าเรื่องนี้ตอบยากครับ คงต้องรอผลการเลือกตั้งก่อน ว่าใครได้ที่นั่งเท่าไหร่ ซึ่งถ้าอุดมการณ์เกี่ยวกับนโยบายตรงกัน ก็คงจะทำงานร่วมกันได้ครับ
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเป็นฝ่ายบริหาร จะมีการรื้อฟื้นคดีความของคุณอภิสิทธิ์เมื่อปี 2553-2554 ขึ้นมาไหม
ผมว่าคงไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์นะครับ แต่คำถามนี้น่าจะเกิดกับทุกพรรค ที่ว่าถ้ามีอำนาจขึ้นมาแล้วจะจัดการกับสิ่งที่ผ่านมาอย่างไร สำหรับผม อะไรที่ได้ตัดสินไปแล้วก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย อะไรที่มีผู้กระทำผิดก็ต้องมีการลงโทษ อะไรที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องเดินหน้าต่อให้เป็นไปตามครรลอง หากมีการดำเนินคดีอย่างไร ส.ส.เองที่อยู่ในสภา ก็ต้องทำหน้าที่กันต่อในฐานะตัวแทนของประชาชน
Fact Box
- หมอเอ้กเป็นอดีตจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนหน้านั้นประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ เขายังเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท รักดี เวนเจอร์/คราวด์ฟันดิ้ง จำกัด และอดีตนักแสดงและนายแบบด้วย
- เขาเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตบางซื่อ เบอร์ 15 สำหรับนโยบายในเขตของเขา คือการผลักดัน TOD (Transit Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่รอบบริเวณสถานีการคมนาคมให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าหลายสายที่จะเกิดขึ้นในเขตบางซื่อ