ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโดเปิดเผยการค้นพบซากฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่นับว่าใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยตีพิมพ์บนวารสารออนไลน์ Scientific Reports เมื่อวันที่ 6 กันยายน ได้รับคำยืนยันแล้วว่าเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดสปีชีส์ใหม่
เดิมไดโนเสาร์ชนิดนี้ถูกเรียกว่า มุคาวะริว ตามชื่อของเมืองที่ซากฟอสซิลถูกค้นพบ ต่อมาได้มีชื่อเป็นทางการว่า คามุยซอรัส จาโปนิคัส (Kamuysaurus japonicus)
ซึ่งมาจากคำว่า ‘คามุย’ แปลว่าพระเจ้า เป็นภาษาของชาวไอนุ ชนพื้นเมืองของฮอกไกโด ภูมิภาคตอนเหนือของญี่ปุ่น ‘ซอรัส’ แปลว่า สัตว์เลื้อยคลาน ส่วน ‘จาโปนิคัส’ คือประเทศญี่ปุ่น
“มันเป็นมาตรฐานของวงการวิชาการที่จะตั้งชื่อไดโนเสาร์ตามชื่อสถานที่ที่ค้นพบ การตั้งชื่อของเราได้รวมเอาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเราเข้ามาด้วย คือตั้งตามความเชื่ออันเป็นตัวแทนของญี่ปุ่น” ศาสตราจารย์โยชิทซึกุ โคบายาชิ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
กระดูกของคามุยซอรัส จาโปนิคัส สภาพเกือบสมบูรณ์ถูกค้นพบในตะกอนน้ำที่ทับถมมาเป็นเวลา 72 ล้านปี ข้างซากฟอสซิลของเต่าทะเลและโมซาซอร์ (สัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่สูญพันธุ์แล้ว รูปร่างคล้ายวาฬปัจจุบัน) เป็นหลักฐานสนับสนุนว่าไดโนเสาร์ชนิดนี้อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล
ไดโนเสาร์ปากเป็ด หรือฮาโดรซอร์ เป็นกลุ่มไดโนเสาร์ที่มีชีวิตและแพร่พันธุ์ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส (100 ล้านปี- 66 ล้านปีก่อน) มีการค้นพบซากฟอสซิลกระดูกของไดโนเสาร์ชนิดนี้ในยูเรเซีย อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา มันสามารถเดินได้สองขาและสี่ขา ซึ่งสามารถทำให้มันกินหญ้าตามพื้นและเอื้อมถึงกิ่งไม้สูงได้
รูปร่างของคามุยซอรัสวิเคราะห์ตามกระดูก 350 ชิ้น ได้ว่า เป็นไดโนเสาร์ขนาดกลางเมื่อโตเต็มวัย ตายลงเมื่ออายุ 9 ปี นักวิจัยวิเคราะห์ว่าซากของมันลอยออกไปในทะเล และจมลงสู่ก้นทะเล ซึ่งตะกอนก้นทะเลช่วยรักษาซากของมันไว้ เมื่อมีชีวิต เชื่อว่าวัดความยาวได้ 8 เมตร และหนัก 4-5.3 ตัน
คามุยซอรัสและฝูงของมันเดินทางผ่านอลาสก้าที่ซึ่งเป็นแผ่นดินเชื่อมต่อระหว่างเอเชียกับอเมริกาเหนือในช่วงปลายของยุคครีเทเชียส นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า สมาชิกของฝูงเดินทางมาจากอเมริกาเหนือแล้วมาขยายพันธุ์ในเอเชีย นั่นแสดงให้เห็นว่า ไดโนเสาร์ย้ายถิ่นไปทั่วและขยายพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ จนถึงยุคปลายของมัน
ลักษณะพิเศษของคามุยซอรัสคือส่วนหน้าของกะโหลกมีกระดูกชิ้นประสานเป็นแนวยาวกับส่วนหน้าของจมูก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ด ทีมนักวิจัยค้นพบว่า คามุยซอรัสมีลักษณะเฉพาะ 3 อย่างที่ไม่ปรากฏในไดโนเสาร์อื่นที่มีลักษณะทางชีววิทยาคล้ายกัน นั่นคือ รอยบากบนกระดูกล้อมรอบสมองอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำ กระดูกขากรรไกรที่สั้น และกระดูกสันหลังด้านหลังที่ 6-12 มีความเอียงไปข้างหน้า
คามุยซอรัสถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยเริ่มจากการพบส่วนหางของไดโนเสาร์ระหว่างการขุดค้นโดยพิพิธภัณฑ์โฮเบทซึและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ก่อนจะนำไปสู่การขุดพบส่วนอื่นๆ
อ้างอิง:
https://mainichi.jp/english/articles/20190906/p2a/00m/0na/016000c
https://gizmodo.com/newly-discovered-japanese-duck-billed-dinosaur-was-a-cr-1837907747
https://edition.cnn.com/2019/09/05/world/new-duck-billed-dinosaur-scn-trnd/index.html
ภาพ: Behrouz MEHRI / AFP
Tags: ญี่ปุ่น, Kamuysaurus japonicus, ไดโนเสาร์, ไดโนเสาร์ปากเป็ด, คามุยซอรัส จาโปนิคัส