เราถาม กบ-ขจรเดช พรมรักษา หรือที่คนคุ้นเคยกันในนาม ‘กบ บิ๊กแอส’ ว่าด้วยตำแหน่งมือกลองที่ต้องนั่งอยู่สูงที่สุด และอยู่ด้านหลังสุดของเวที ภาพของทุกคนที่อยู่เบื้องหน้าเขา ทำให้เขามองเห็น ‘อะไร’ ที่ต่างไปจากคนอื่นมองหรือไม่ กบบอกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเขาทั้งหมด คือภาพใหญ่ของโชว์ที่ทำให้เขาเห็นการแสดงของเพื่อนในวง ได้เห็นแววตาของคนดูที่ส่งขึ้นมา ได้เห็นโมเมนต์ที่บอกเขาได้ว่าอะไรคือสิ่งที่มัน ‘สะกด’ คนดูได้ และสิ่งที่เขาเห็นทั้งหมด นำเขามาสู่การเป็น ‘คนข้างหลัง’ ที่ครีเอตเนื้อหาไปสู่คนดูและคนฟัง ทั้งในฐานะมือกลอง คนแต่งเพลง และโชว์ไดเร็กเตอร์ ซึ่งเป็นสามสิ่งหลักที่เขาทำงานอยู่ในวงการนี้

ในฐานะมือกลองวงบิ๊กแอส เราคงไม่ต้องเอ่ยอะไรมากเพราะเป็นสิ่งที่คนรู้จักเขาอยู่แล้วในเบื้องหน้า แต่หากเอ่ยถึงกบ บิ๊กแอส ในฐานะคนแต่งเพลง เชื่อว่าทุกคนที่มีลิสต์เพลงไทยสากลอยู่ในมือ ต้องมีเพลงที่กบแต่งอยู่ในอันดับท็อปลิสต์ เพียงแต่คุณจะรู้หรือไม่เท่านั้น กบเขียนเพลงมานานเท่าอายุที่เขาอยู่ในวงการดนตรี และหลายเพลงล้วนเป็นเพลงฮิตเพลงขายของศิลปินเบอร์ใหญ่ อาทิ ทางผ่าน คนไม่เอาถ่าน ฝุ่น ลมเปลี่ยนทิศ อย่างน้อย ฯลฯ ของบิ๊กแอส ความรักทำให้คนตาบอด ยาพิษ ความเชื่อ อกหัก ทางกลับบ้าน คราม งมงาย เรือเล็กควรออกจากฝั่ง เปราะบาง ฯลฯ ของบอดี้สแลม ความเจ็บปวด อยู่ต่อได้หรือเปล่า ทำเป็นไม่ทัก ฯลฯ ของปาล์มมี่  รวมไปถึงเพลงของวงอีโบล่า ลาบานูน ค็อกเทล และอื่นๆ 

ช่วงหลังมานี้ กบมีบทบาทของคนเบื้องหลังเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง บางคนให้เครดิตเขาว่าเป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์ แต่เมื่อดูเนื้องานที่เขาลงไปคลุกรายละเอียดทั้งหมดแล้ว คำว่า ‘โชว์ไดเร็กเตอร์’ น่าจะถูกต้องกว่าอย่างที่เจ้าตัวก็เห็นด้วย และโชว์ในสเกลใหญ่ที่ผ่านมา เช่น คอนเสิร์ต ‘Genie Fest 19   ปี กว่าจะร็อกเท่าวันนี้’ คอนเสิร์ต Bodyslam Fest #วิชาตัวเบา’ ก็เป็นสิ่งการันตีความมือถึงของการเป็นคนเบื้องหลัง ที่นำมาสู่งานคอนเสิร์ตต่อๆ มา 

เรานั่งคุยกับกบในห้องประชุมของค่ายเพลงจีนี่ ในตึกแกรมมี่ กบกำลังเตรียมงานโชว์ของคอนเสิร์ต ‘Genie Fest 2020 ตอน Rock Mountain’ ที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจะมีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ผู้ชายที่ออกตัวว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจตัวท็อป และชอบงานที่ไม่ต้องออกแรงอย่างการเขียนเพลงมากกว่าอย่างอื่น แต่เมื่อต้องมาทำงานครีเอตเนื้อหาของโชว์ที่มีศิลปินนับสิบบนเวทีเดียวกัน ต้องประสานกับคนรอบทิศเพื่อประกอบร่างโชว์ให้ได้อย่างใจ เรายังเห็นภาพของความสนุกที่เขาวาดมันขึ้นมาผ่านแววตาที่มีความฝัน และเราหวังว่ามันจะทำให้คนจดจำได้เช่นเดียวกับเพลงที่เขาแต่ง และดนตรีที่เขาให้จังหวะ  

สถานะแรกที่ทำให้คนรู้จักคุณคือการเป็นมือกลองวงบิ๊กแอส ทราบมาว่าขณะที่สมาชิกในวงคนอื่นๆ เรียนจบสายศิลปะ สายช่างกัน แต่คุณกบมาจากโรงเรียนไปรษณีย์ 

ผมมาสายเด็กใจแตก และเป็นพวกเป็ดครับ เป็นเด็กเกเรอยู่ที่อุดรฯ แล้วมาเรียนกรุงเทพฯ ตอนจบมอสาม มาอยู่กับยายที่บ้านเช่า ไม่มีผู้ปกครอง ก็เละสิครับ ลองทุกอย่าง แต่ไม่ได้ลองยาเสพติดนะ กินเหล้า ดูดบุหรี่ แต่ดันชอบอ่านหนังสือ

ตอนนั้นผมเรียนสายพาณิชย์ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ (ชื่อในสมัยนั้น ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ-ผู้เขียน) โรงเรียนนั้นหล่อหลอมผมมาก เหมือนโรงเรียนฝรั่งเลย เข้าเรียนแปดโมง เลิกบ่ายโมง เวลาที่เหลือจะทำอะไรก็ได้ เราก็เลยเรียนรู้ชีวิตตั้งแต่ตอนนั้น ผมเรียนการขาย มีวิชาที่ติดตัวมาคือศิลปะการพูด การตลาด โฆษณา ช่วงเรียนอยู่จะชอบอ่านหนังสือเพราะพี่สาวชอบอ่านหนังสือ ซึ่งพวกข้อความหรือประโยคอะไรก็ตามในหนังสือเหล่านั้นช่วยชีวิตผมมาจนถึงตอนนี้

หนังสือที่อ่านจะเป็นแนวซีเรียส ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล น้าชาติ กอบจิตติ พี่จิก ประภาส ชลสรานนท์ สามคนนี้เป็นคนที่ผมยึดเป็นครูทางหนังสือ ผมติดการเสพเรื่องแบบนี้มาตลอด พอโตขึ้นก็สนใจเรียนโฆษณา ไปเรียนนิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมอยู่ปีครึ่ง แต่โดนไล่ออกเพราะไปมีเรื่องมีราว แถมตอนเรียนก็จะไปกองอยู่กับเพื่อนที่คณะดนตรีมากกว่า ชีวิตหาความดีได้ไม่ สุดท้ายก็ต้องทำตามบัญชาพ่อ พ่อผมทำงานไปรษณีย์ ผมจึงต้องไปเรียนโรงเรียนไปรษณีย์

ผมเรียนที่โรงเรียนไปรษณีย์หลักสี่อยู่ปีครี่ง ได้รู้จักชีวิตของคนทำงาน ได้รู้จักชีวิตของเด็กที่ 99 เปอร์เซ็นต์มาจากต่างจังหวัด มาเรียนเพื่อจะกลับไปทำงานตามภูมิภาคของตัวเอง จบออกมาผมได้ไปเป็นพนักงานออฟฟิศที่ไปรษณีย์สามเสนใน ที่ตลกร้ายคือผมตั้งใจเรียนให้ได้ที่หนึ่ง เพื่อจะได้สิทธิ์ในการเลือกไปรษณีย์สาขาที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ผมเลือกไปรษณีย์สามเสนเพราะอยู่ใกล้บ้านสุด แต่พอได้ไปทำถึงรู้ว่าสามเสนในคือไปรษณีย์ที่ทำงานหนักที่สุดในประเทศ (หัวเราะ) 

การทำงานไปรษณีย์ทำให้ผมได้เห็นแววตาของคนที่จะมาต่อคิวส่งธนาณัติหาแม่ตอนต้นเดือน เพราะไปรษณีย์สามเสนในจะอยู่ใกล้กับย่านสถานบันเทิงคือสุทธิสาร มีผู้หญิงกลางคืนเยอะ สิ้นเดือนมาแล้ว รูปหล่อ ส่งเงินหน่อย  300 บาท 200 บาท 50 บาทก็มี ผมมองว่ามันมีค่ามากสำหรับสิ่งที่พวกเขาทำ 

แล้วคุณเล่นดนตรีตั้งแต่ตอนไหน

ช่วงที่ผมทำงานเลย แล้วผมเรียนภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตด้วย ตอนกลางคืนก็เล่นดนตรี ตอนนั้นเริ่มตั้งวงบิ๊กแอสแล้ว แต่การทำหลายอย่างทำให้ผมเบลอในการทำงานเพราะนอนน้อย เขามาส่งธนาณัติ 300 บาท ยื่นเงินให้ผม 300 ผมเขียนในใบส่งว่า 3,000 ปลายทางรับเงินไป 3,000 ผมก็ต้องหามาคืนอีก 2,700 เป็นแบบนี้ติดกัน 4-5 ครั้ง (หัวเราะ) แล้วเงินเดือนผม 5,900 ก็ไม่ไหวแล้ว ต้องลาออก 

ประจวบกับตอนนั้นวงกำลังเข้มข้นเลย กำลังเซ็นสัญญากับค่าย มีเหตุการณ์อกหักครั้งแรกและเป็นครั้งเดียวที่รุนแรงที่สุดในโลก ทุกอย่างประเดประดัง เลยลาออกจากงานไปรษณีย์โดยไม่ได้บอกพ่อ 

ในวงบิ๊กแอสคุณเป็นมือกลอง แล้วหน้าที่แต่งเพลงของคุณเริ่มมายังไง

ตอนนั้นมีโครงการหนึ่งของพี่วินิจ เลิศรัตนชัย คลื่น Pirate Rock เขาจัดเฟสติวัลให้เล่น แต่มีข้อบังคับว่าวงที่จะไปเล่นต้องแต่งเพลงเอง ที่ผ่านมาเราไม่คิดว่าจะต้องแต่งเพลงเองเลย เพราะเล่นเพลงฝรั่งกันมาเรื่อย แต่ความอยากขึ้นเวทีก็ต้องทำเพลงของเราขึ้นมา เรื่องทำนองเราช่วยกันทำอยู่แล้ว แต่พอตรงเนื้อเพลง ทุกคนก็ชี้มาที่ผมว่า ชอบเจ้าบทเจ้ากลอนนักใช่มั้ย ไปเขียนมาเลย เหมือนสถานการณ์บังคับให้เราต้องแต่งเพลง พอไปเล่นในงานนี้ก็มีแมวมองมาเห็น เราเลยรู้สึกว่าเพลงที่เราเขียนมันฟังได้นี่หว่า 

แสดงว่าเพลงของคุณโดดเด่นในงานนั้น

ก็มีสามเพลงที่ได้มาอยู่ในอัลบั้มชุดแรกด้วย แต่เพลงเอกของผมจริงๆ ไม่ได้อยู่ในอัลบั้มนะ เป็นเพลงชื่อ ‘เธอไม่ชอบนุ่งผ้า’ ผมเขียนเพลงนี้จากเหตุการณ์ที่มีดาราสาวคนหนึ่งขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วยภาพหลุด แล้วคนรุมด่าเขาทั้งเมืองว่าทำไมทำตัวแบบนี้ แต่ผมกลับมองอีกมุมหนึ่ง ผมมองว่าเขาผิดตรงไหน ทำไมต้องรุมด่า เขาไม่ใช่ฆาตกร เขาไม่ได้ฆ่าคน สมัยก่อนร้านตัดผมผู้ชายเข้าไปก็เห็นปฏิทินโป๊เต็มไปหมด โรงหนังโป๊ก็เกลื่อน พอเห็นชื่อเพลงคนก็นึกว่าเพลงลามกจกเปรต แต่กลายเป็นว่าเนื้อหาเครียด นี่มันเพลงเพื่อสังคมนี่ แล้วผมก็ติดกับการเล่นสนุกกับไอเดียแบบนี้มา อย่างเพลง ‘ทา ดม อม เช็ด’  ซึ่งอยู่ในอัลบั้มชุดแรก มาจากผมไปขึ้นรถที่หมอชิตเพื่อกลับอุดรฯ ทุกครั้งที่ไปจะมีหาบเร่แผงขายลูกอมยาดมยาหม่อง เขาพูดประโยคนี้คือ “ทาดมอมเช็ด ทาดมอมเช็ด” ทาคือยาหม่อง ดมคือยาดม อมคือลูกอม เช็ดคือทิสชู ผมคิดว่าคำมันโคตรมัน

มีอยู่วันหนึ่งผมไปขึ้นรถเพื่อกลับอุดรฯ เหมือนเดิม แล้วผมเป็นลม แผงขายของเหล่านี้ที่ผมเห็นอยู่ตลอดเวลากลับไม่มีให้เห็นเลยในวันนั้น ผมเลยแต่งเพลงนี้ในเนื้อหาที่ว่า สิ่งที่เราเคยหัวเราะ สิ่งที่เราเคยมองข้าม วันหนึ่งถ้าเราต้องการแล้วเราไม่เจอ สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเรา คืออย่าไปมองข้ามสิ่งที่ไร้สาระ อย่าไปดูถูก 

ผมจะออกแนวสายเครียดตั้งแต่เด็ก วิธีเขียนเพลงก็จะเป็นแบบนี้ จนมาถึงเพลง ‘ทางผ่าน’ ซึ่งอยู่ในอัลบั้มแรก มันเข้าไปอยู่ในคนฟังหมู่มากได้พอสมควร เพลงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นนักแต่งเพลงอาชีพได้ เลยยึดอาชีพหลักเป็นนักแต่งเพลง อาชีพรองคือตีกลอง

คำว่า ‘อาชีพหลัก’ คุณวัดมันด้วยอะไร สิ่งที่ทำเป็นประจำต่อเนื่อง หรือการสร้างรายได้

ผมวัดจากว่าเราเทความสนใจในชีวิตให้เขามากกว่า ผมเป็นมือกลองที่ห่วย มือกลองที่ดีตื่นมาเขาต้องซ้อมสักหน่อย แต่ผมไม่เคยซ้อมเลย จะอัดทีถึงซ้อมที จะเล่นคอนเสิร์ตก็วอร์มนิดหน่อย แต่การทำเพลงผมหายใจเข้าออกเป็นมัน เลยให้น้ำหนักตัวเองไปทางการแต่งเพลงมากกว่า

ผมเป็นคนขี้เกียจที่สุด ความฝันของผมคือทำงานอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องออกแรง ผมเป็นนักดนตรี ผมตีกลอง ซึ่งการตีกลองมันเหนื่อยมาก แล้วอาชีพที่ใช้แรงน้อยมากคือแต่งเพลง ดินสอหนึ่งแท่ง กระดาษ ฟูกนุ่ม เบาะนุ่มๆ เดินปลิวไปปลิวมา กาแฟแก้วหนึ่ง ไม่ต้องไปขัดแย้งกับใคร 

กว่าจะถึงจุดที่ทุกคนยอมรับในการเป็นนักแต่งเพลง คุณใช้เวลานานแค่ไหน

ผมรู้สึกว่าเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ก่อนมันอาจจะไม่มีช่องทางอะไรพาให้คนรู้มั้ง แล้วภาพการเป็นมือกลองบิ๊กแอสของผมมันชัดกว่า เวลามีเพลงที่แต่งให้คนอื่นออกไป เราก็ไม่เคยไปบอกว่าให้พูดถึงเรานะ หรือโฆษณาให้ก็ไม่จำเป็น  เวลาฟังเพลง สมมติเป็นเพลงพี่ตูน (บอดี้สแลม) คนก็จะนึกว่าพี่ตูนแต่ง เพลงปาล์มมี่ หน้าอย่างพี่กบจะแต่งได้เหรอ ถามว่าจริงๆ ผมอยากได้เครดิตไหม บอกเลยว่าโคตรอยากได้ 

การให้เครดิตมันไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง มันคือชีวิต มันคือการให้ความภูมิใจกับผม เมื่อให้ความภูมิใจกับผมก็หมายความว่าให้ความภูมิใจกับครอบครัวผมด้วย อย่างพ่อแม่ผมเวลาไปเดินตลาดที่บ้านนอกนี่เมื่อก่อนเขาจะเรียกว่าลุงขี้เมา เสียงดังโวยวาย แต่พอผมมีชื่อเสียงจากการเป็นศิลปินนักแต่งเพลง พ่อไปตลาดปุ๊บ เขาจะเรียกพ่อว่า พ่อศิลปินมาแล้ว พ่อผมเขาได้หล่อไปด้วย เดี๋ยวนี้พ่อผมทัวร์ตลาดเช้าเย็นเลย (หัวเราะ) เขาภูมิใจมาก แล้วการได้หนึ่งเครดิตมันจะต่อยอดเราไปสู่งานอื่นๆ แต่เราก็ไม่ได้ไปร้องป่าวว่าเพลงของกูนะ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ สุดท้ายแล้วความจริงก็คือความจริง ถ้าเราทำมันจริง วันหนึ่งมันจะบอกเราเอง 

สังเกตว่าเพลงที่คุณแต่ง หากไม่เป็นเพลงรัก เพลงผิดหวังอกหัก ก็จะเป็นเพลงชีวิตที่แฝงปรัชญา สิ่งนี้มาจากตัวตนของคุณจริงๆ หรือทำเพื่อป้อนตลาดที่อาจมีช่องว่างบางอย่างอยู่ 

ผมนี่เป็นตัวด่าเพลงป๊อปเลยนะ สมัยที่ห้องเฉลิมกรุงในพันทิปดังๆ ผมเข้าไปเรื้อนเต็มที่ ทำไมเพลงมันมีแต่ฉันรักเธอ เธอรักฉัน น่าเบื่อ ประเทศไทยมันต้องมีเพลงแบบอื่นบ้างสิ ตอนนั้นผมเลยเขียนเพลง ‘เธอไม่ชอบนุ่งผ้า’ ออกมา แต่ผมดันอกหักแล้วไม่มีที่ระบาย พอได้เขียนสิ่งที่อยู่ในใจคือเพลง ‘ทางผ่าน’ แล้วได้ใช้ชีวิตไปสักพัก เลยรู้ว่าไม่ว่าเพลงปรัชญา เพลงชีวิต หรือเพลงรัก ถ้ามันจริง มันจะทำหน้าที่ของมันได้ดีที่สุด เราไม่มีการตั้งธงว่าตลาดชอบเราถึงเขียน เพียงแต่เรามีเรื่องที่เราอยากจะบอกอยู่ในใจ แล้วเราก็เขียนมันลงไปในเพลง ตอนนั้นผมแค่อยากให้คนนั้นเขาได้ยินเท่านั้นเอง  

ตอนนั้นผมต้องเสียคนรักไปเพราะผมด้อยกว่าเขาทุกด้าน ทั้งเงิน อิทธิพล ผมเจอมาหนัก ผมโดนไล่ล่า ผมพากันหนี สุดท้ายหนีไม่รอด มาเจอเขาอีกทีบนหน้าสังคมในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แฟนเก่าผมแต่งงานกับผู้ชายคนนั้น นี่คือจุดที่ทำให้เกิดเพลงทั้งหมด ผมบอกได้เลยว่าทุกเพลงรักที่ผมเขียนมาจากเรื่องนี้ทั้งหมด ผมมีแรงขับเคลื่อนอย่างเดียวเลย 

สิ่งที่ทำให้คนฟังอินกับเพลงที่เราแต่ง คิดว่ามาจากอะไร

ผมคิดว่าถ้าผมเจอ ก็แปลว่าต้องมีคนเจอเรื่องอย่างผมบ้าง แล้วสำคัญคือ ผมจำมาจากหนังสือว่านักเขียนต้องเขียนในสิ่งที่ตัวเองรู้ เขียนในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ผมก็รู้สึกว่าเรื่องนี้ผมรู้จริง เพราะเจ็บจริง ร้องไห้จริง ไม่ได้สร้างมันขึ้นมา แม้กระทั่งเรื่องปรัชญาชีวิต เรื่องเพลงหนักๆ ผมก็โดนมาจริง เปรียบเทียบเพลง ‘ทางกลับบ้าน’ ของบอดี้สแลม ผมเป็นเด็กบ้านนอกจริงๆ วันหนึ่งผมจะเอาฝันไปกราบเท้าแม่ผม 

ในโมเมนต์ที่เรากำลังเจอกับอะไรอยู่ แล้วมีเพลงสักเพลงลอยเช้ามาในชีวิต เพลงนั้นมันจะอยู่ติดตัวเราไปจนวันตาย สมมติวันหนึ่งเราโดนไล่ออกจากงาน เราไม่มีตังค์กินข้าว แล้วมีเพลง ‘เธอผู้ไม่แพ้’ ลอยมาพอดี ถ้าเกิดเราลุกขึ้นฮึดเพราะเพลงนั้น เพลงนั้นก็จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต 

เพลงแค่สามนาทีมันเปลี่ยนชีวิตคนได้ มันให้หรือทำลายก็ได้ สมมติวันที่เราอกหักอยู่ มีเพลงลอยมาว่าอย่าอยู่มันเลยชีวิต หายไปจากโลกนี้ดีกว่า ผมเชื่อว่าถ้าผมอยู่ในโมเมนต์นั้นผมมีสิทธิ์ที่จะทำร้ายตัวเองนะ เพราะโมเมนต์ที่ทุกข์ทนนั้นคนมันขาดสติ  ถ้ามีอะไรบวกเข้ามาก็จะกลายเป็นบวก แต่ถ้ามีอะไรลบจะไปกันใหญ่ ผมก็เลยพยายามที่จะเป็นนักแต่งเพลงที่จำโมเมนต์นั้นไว้ให้ดี โมเมนต์ที่เพลงช่วยชีวิตผมไว้ เช่น โมเมนต์ที่ผมลาออกจากงานเพราะเพลงของพี่จิก (ประภาส ชลสรานนท์) เป็นเพลงประกอบหนังวัยระเริง ที่พระเอกต้องทำตามพ่อสั่งคือไปเป็นนักธุรกิจ แต่พระเอกอยากเป็นมือกลอง ผมก็ใช้เพลงนี้นำทางชีวิต (เพลงชีวิตนี้เพื่อใคร-ผู้เขียน) ไยต้องฝืน ยืนต่อไป ไยต้องตาม  แล้วเพลงนั้นก็ติดชีวิตผมมาตลอด ผมให้เพลงนั้นเป็นเพลงที่ดีที่สุดในชีวิตผม 

เหมือนคุณจะบอกว่า เพลงมันควรทำหน้าที่อะไรบางอย่างนอกจากฟังเพื่อความเพลิดเพลิน 

ถ้าไปตั้งธงอย่างนั้นมันจะขมไปหน่อย เพราะเพลงไม่ใช่หนังสือฮาวทู หน้าที่ของเพลงคือความบันเทิง ทำให้คนบันเทิงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่บนความบันเทิงเราสามารถเลือกได้นี่ว่าเราจะแซมอะไรลงไปบ้าง ถ้าคนฟังจะได้อะไรติดไม้ติดมือไปบ้างมันก็คุ้มค่า 

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือเพลงของคุณจะไม่มีความก้าวร้าวหรือมีคำหยาบในเพลง เทียบกับบางแนวเพลงในยุคนี้ที่เราได้ยินกันดาษดื่น

เรื่องการใส่คำหยาบนี่จริงๆ ตอนเด็กๆ ผมก็ห้าวใส่นะ เคยเขียน จนมีอยู่วันหนึ่งไปงานกิจกรรมปีใหม่ของหลานที่โรงเรียน เด็กเขาก็ร้องเพลงน่ารักกุ๊กกิ๊ก แต่เพลงที่เขาร้องดันเป็นเพลงสองแง่สองง่าม เต็มไปด้วยประโยคคำผวนและหยาบ ผู้ปกครองก็ปรบมือ เด็กก็ร่ายรำกันอย่างมีความสุขบนคำร้องที่ไม่เหมาะสม ผมเดินไปบอกคนที่เปิดเพลงอยู่ว่าปิดเถอะพี่ (หัวเราะ) ผมโรคจิตมาก ผมไม่รู้ว่ามันไปกระทบกับใครเขามั้ย แต่ผมทนฟังไม่ได้ ให้เด็กร้องประโยคพวกนี้ออกมาได้ยังไง พวกเขาไม่ผิดนะเพราะมันมาในรูปแบบของเพลง นักแต่งเพลงต่างหากที่ผิด แล้วเพลงพวกนี้มันจะติดตัวเขาไป อันตรายมากนะ มันทำให้ผมปฏิญาณเลยว่าจะไม่เขียนเนื้ออย่างนี้ ใครจะทำกันก็ไม่รู้แหละ แต่ผมไม่ทำ แม้มันจะเรียกร้องยอดดูยอดวิวยอดไลก์อะไรก็ตามแต่ ทำให้เพลงได้กี่ล้านวิวผมไม่สน จะทำเพลงถ้าไม่สร้างสรรค์ก็อย่าทำลาย ไม่สร้างสรรค์ก็เก็บเพลงนี้ไว้คนเดียวก็ยังได้ 

เหมือนถ้าอยากให้คนหันมามอง ผมแค่ตะโกนคำหยาบคนก็หันแล้วนะ แต่เรามีสิทธิ์ที่จะตะโกนคำอะไรออกไปให้เขาหันมาได้มากกว่าคำหยาบ มันยังมีอีกหลายมุมที่จะทำให้เพลงฮิตได้ ผมว่าเขาแค่ใช้ความพยายามน้อยไปหน่อยเท่านั้นเอง 

คุณให้ความสำคัญกับฉันทลักษณ์ด้วยไหมในการแต่งเพลง

ผมบ้ากลอน ยิ่งโตยิ่งรู้ว่าภาษาไทยมันเพราะ การมีสัมผัสมันทำให้เพลงไหลลื่น ข้อดีที่สุดคือง่ายต่อการจดจำ แม้การหาคำคล้องจองจะต้องออกแรงมากกว่าปกติ แต่ว่ามันสวยงามสำหรับผม มันเหมือนเล่นเกมดีเหมือนกัน ท้าทายตัวเอง เราขึ้นสระยากๆ สักตัวหนึ่งแล้วหาให้เจอว่าจะเอาคำไหนมาลงให้ได้ 

ยุคหนึ่งเรามีไอคอนของนักแต่งเพลงอย่างเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ นิติพงษ์ ห่อนาค สีฟ้า มียุคสุรักษ์ สุขเสวี จักราวุธ แสวงผล ที่แต่ละคนก็มีลายเซ็นที่ต่างกัน จนมายุคของคุณที่ก็จะมีลายเซ็นอีกแบบ แต่ในลายเซ็นที่ต่างกันนั้น อยากรู้ว่าเพลงของรุ่นพี่มีอิทธิพลต่องานของคุณไหม 

โอ้โห มันแทบจะเหมือนตำราเรียนเลย รุ่นพี่เหล่านั้นคือตำราเรียนทั้งวิธีคิดและวิธีเขียน สมัยก่อนผมเปิดปกเทปมาผมจะเห็นชื่อเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ นิติพงษ์ ห่อนาค อรรณพ จันสุตะ ประชา พงศ์สุพัฒน์ ความสนุกคือผมจะวิเคราะห์ว่าเขาเขียนเพลงไหน พี่ประชาจะเขียนขำๆ พี่ดี้ (นิติพงษ์) เขียนแบบโดนๆ พี่นิ่ม (สีฟ้า) จะดินฟ้าอากาศ พี่เขตต์เป็นแนวปรัชญา เราจะศึกษาหมด ส่วนใหญ่ผมจะถูกชะตากับของพี่เขตต์ พี่ดี้ เขาเขียนยังไงกับคำปรัชญาทั้งหลายแหล่ แต่บางทีพี่ก็มาเพลงป๊อปได้ด้วย เก่งหลากหลาย เราก็อยากเป็นแบบนี้ พอมีโอกาสเซตทีมเขียนเพลงของตัวเองที่ค่ายเก่า (มิวสิค บั๊กส์) ผมก็เซตเลย เรามีห้าคน มึงเป็นพี่ดี้ มึงเป็นพี่นิ่ม มึงเป็นพี่เขตต์ มึงเป็นพี่รักษ์ เพื่อให้อัลบั้มมันครบถ้วน หนึ่งอัลบั้มเรามีเพลงเปิดตัว มีเพลงตีหัว มีเพลงตัวตน มีเพลงผ่อนคลาย มีเพลงลึกซึ้ง ปรัชญา จะมีให้ครบด้วยการใช้โมเดลนั้น แล้วมันเจ๋งมาก มันครบถ้วนจริงๆ ไม่ได้ดีที่สุดนะ แต่จะมีฟังก์ชั่นแบบนั้น ซึ่งเป็นแบบแผนที่ใช้เดินมาตลอดชีวิตในวงการดนตรีของผม

ในการแต่งเพลงแต่ละเพลง นักแต่งเพลงต้องจับคาแรกเตอร์ของศิลปินด้วยมั้ย

สิ่งที่เปรียบเทียบได้เห็นภาพที่สุดอย่างที่รุ่นพี่เขาเปรียบเทียบกันมาก็คือ นักแต่งเพลงเหมือนช่างตัดเสื้อ เราไม่สามารถตัดเสื้อไซส์เราไปให้เขาใส่ได้ เพราะมันไม่พอดีกับทุกคน ทุกคนจะมีไซส์ของตัวเอง ช่างตัดเสื้อก็ต้องตัดเสื้อให้ตรงกับรูปทรงของคนคนนั้น ในความหมายของนักแต่งเพลงก็คือ เราต้องเขียนคำ ต้องถ่ายทอดวิธีคิดให้ตรงกับวิธีคิดของเขา เขาเป็นคนแบบหนึ่ง จะไปแต่งเพลงอีกแบบให้เขาไม่ได้ สิ่งที่ผมโดนว่าอยู่เสมอคือตอนแต่งเพลงให้ลาบานูนดังใหม่ๆ แต่เพลงวงตัวเองไม่ดัง ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง ก็ไซส์ตัวเรามันไม่เหมือนไซส์ที่เมธีเป็น มันคือการตัดเสื้อให้แต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดว่ามันจริงมากและยังใช้ได้ดีอยู่ถึงทุกวันนี้

เสื้อตัวไหนตัดยากที่สุดสำหรับคุณ

ณ นาทีนี้เป็นเสื้อวงของตัวเอง วงบิ๊กแอสมันผ่านการเปลี่ยนแปลง มันผ่านยุคสมัย ผ่านการโกงแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่ ตอนนี้เหมือนกับเราไม่รู้ไซส์ของตัวเอง

ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยรู้

เราเคยรู้ เรารู้ว่าแบบนี้พอดีตัว สบายตัว แล้วคนจะชอบ แต่ตอนนี้คนไม่ค่อยชอบแบบนี้แล้ว และไซส์ของตัวเองก็เดี๋ยวอ้วนเดี๋ยวผอม มันอะไรกันแน่ ดูไม่ออก ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (การเปลี่ยนนักร้องนำของวงมาเป็น เจ๋ง-เดชา โคนาโล) เราสี่คนอายุห่างจากเจ๋งกันสิบปี ช่องว่างของอายุมันทำให้แฟนเพลงเราก็ห่างกันด้วย แฟนเพลงที่ยังชอบเราสี่คนอยู่ก็แบบหนึ่ง แฟนเพลงที่ชอบเจ๋งก็อีกแบบหนึ่ง แต่ด้วยความดื้อของเรา เรายังขอต้านขอโกงแรงโน้มถ่วงตรงนี้อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำงานออกมา อย่ามัวแต่นั่งเดา ตัดเสื้อตัวนั้นออกมาแล้วจะรู้ ไม่พอดีก็แก้นิดแก้หน่อย ใส่ไปแก้ไป 

นับเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ยากที่สุดของบิ๊กแอสหรือเปล่า 

ทุกข้อต่อของแต่ละอัลบั้มของบิ๊กแอสจะยากเสมอ เราอยู่บนข้อต่อของความเปลี่ยนแปลงตลอด เราเข้ามาในวงการในยุคอัลเตอร์เนทีฟเฟื่องฟูที่เขาว่ากันว่าใครออกเทปก็ดัง แต่เราดันมาอยู่ตรงปลายฟองสบู่แตก ออกอะไรมาก็เจ๊ง ออกมาสักพักเราเจอการเปลี่ยนแปลงระหว่างเทปจะโดนกลายไปเป็นเอ็มพีสาม ประเทืองน่ะ (ซีดีรวมเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้ามาตีตลาดเพลงในยุคหนึ่ง-ผู้เขียน) บางวงล้มหายตายจากไป แต่เราฝืนอยู่กันมา จากยุคซีดี เปลี่ยนมาเป็นยุคดาวน์โหลดริงโทน อะไรวะ ต้องแต่งเพลงให้เกี่ยวกับโทรศัพท์เหรอ แต่เราก็ผ่านมาได้อีก 

จนผ่านมาเป็นยุคดิจิทัล เป็นยุคสตรีมมิ่งที่คนฟังกันแบบนี้ ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เป็นข้อต่อสำคัญ เรายืนอยู่บนเส้นลวดซึ่งขึงอยู่อย่างเปราะบางมาก วงการดนตรีเดินทางมาถึงจุดที่เปลี่ยนแปลงโดยแท้จริงครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ไม่ใช่กระแสหรือแฟชั่นแล้ว เป็นเรื่องของการเปลี่ยนจริงๆ 

ทุกระยะสิบปีกว่าๆ วงการเพลงจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด สังเกตว่าเด็กๆ จะมีไอดอลเป็นพี่หนุ่ย (อำพล ลำพูน) พี่บิลลี่ (โอแกน) วันหนึ่งเป็นพี่ป๊อด (โมเดิร์นด็อก) สักพักเป็นพี่ตูน (บอดี้สแลม) ทั้งหมดทั้งมวลโดนขึงด้วยรูปแบบเพลงร็อก แต่วันนี้นอกจากไอดอลเปลี่ยนแล้ว แนวเพลงก็เปลี่ยน มันคือการดิสรัป ที่ไปทั้งหน้ากระดาน นี่คือข้อต่อที่สำคัญที่สุดในวงการดนตรีเมืองไทย ถ้าใครสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เพลงไทยต้องศึกษาช่วงนี้ไว้เลย ค่ายใหญ่ถึงเวลาโดนเขย่าตึกสั่นโดยแท้จริงแล้ว ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ความไม่มีค่ายจะมากขึ้น แต่ยังคงอยู่ แต่จะแปรเป็นรูปแบบไหนก็ต้องจับตาดูกันต่อไป ผมก็กำลังศึกษาอย่างเข้มข้นมาก

มันทำให้ตัวศิลปินเองก็ต้องทำงานหนักขึ้นด้วย

ตอนนี้บิ๊กแอสเป็นแค่ผู้ดูแล้วนะ เราไม่ได้เป็นผู้เล่น เราไม่ใช่คนถือธงนำเหมือนแต่ก่อน มียุคหนึ่งที่เราเหมือนคนถือมีดแล้วแหวกพงหญ้า ไปกับกู กูนำ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ยุคของเรา แต่เราก็ยังอยู่ในเส้นทางดนตรีนี่แหละ ยังขอแตะไปกับขบวนนี้ มันพ้นยุคสมัยของเราแล้ว แต่ความท้าทายคือเราเชื่อว่ายังมีคนฟังเพลงในแบบเราอยู่ เพียงแต่ว่าเขาไปอยู่ในที่ที่ชัดเจนขึ้น เราต้องไปหาเขาให้แม่นๆ อย่าไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ที่ของเรา ผมก็ยังสนุกไปกับความเปลี่ยนแปลงนี้และอยากจะเรียนรู้ไปกับมันโดยใช้ตัวเราเข้าไปเรียนรู้ เขาแต่งเพลงแบบนี้กัน ไหนลองเอาเพลงนี้ออกไปซิจะเป็นยังไง จะเกิดอะไรขึ้น 

บิ๊กแอสออกอัลบั้มสุดท้ายปี 2560 จากนี้ไปในอนาคตจะมีอัลบั้มใหม่อีกมั้ย

เป็นความฝันกลางพายุลูกที่หนักหน่วงมาก จริงๆ คือเราทำซิงเกิ้ลไม่เป็นเลย ซิงเกิ้ล ‘ฆ่าคนด้วยมือเปล่า’ ที่ปล่อยออกไป คือการทดลองที่จะพาชีวิตเรากลับมาอยู่ตรงกลางระหว่างข้อต่อกันอีกครั้งว่าเราจะอยู่กันยังไง ในบั้นปลายเรารู้อยู่แล้วว่าเราทำเป็นอัลบั้มอยู่แล้ว เราจะพยายามให้ดีที่สุด แต่ปีหน้ายังไม่ได้แน่นอน 

ตำแหน่งของคนตีกลองซึ่งนั่งอยู่หลังสุดและสูงสุด เมื่อมองลงไปจากเวทีคนเสิร์ต เราเห็นมุมมองที่ต่างไปจากที่คนอื่นในวงไหม

ผมวิเคราะห์แล้วว่าสิ่งที่ทำให้ผมสามารถมาเป็นโชว์ไดเร็กเตอร์ของคอนเสิร์ตได้ สามารถให้คำติชม ให้คำแนะนำกับวงตัวเองและวงอื่นๆ ได้ มันคือมาจากการนั่งตีกลองอยู่ข้างหลัง ตรงนั้นมันคือโมเมนต์ที่วิเศษมากสำหรับผม มองผ่านใบหูนักร้องไป เราจะเห็นแววตาของคนข้างล่างที่ส่งขึ้นมา เห็นว่าเขารู้สึกอะไรกับสิ่งที่นักร้องหรือนักดนตรีส่งออกไป รู้สึกอย่างไรกับเพลงที่เขาเล่นออกไป เราจะเห็นเพื่อนเราสี่ห้าคนมันทำอะไรอยู่ ทำแบบนี้แล้วไม่เวิร์กนะ หรืออันไหนที่ทำแล้วคนข้างล่างฮือเลย เราก็จะบอกมันได้ เวลาตีกลองผมจะสังเกตมวลรอบข้างไปด้วยว่ามันเกิดโมเมนต์อะไรขึ้น เพลงนี้ต่อเพลงนี้แล้วคนดูเขาฮือกันขนาดนี้เลยเหรอวะ

การเคยได้ทำแบบนั้นมันทำให้เราชอบทำงานเบื้องหลัง ชอบสังเกตชีวิตคน ชอบนั่งมองจากข้างหลังแล้วมีความสุขในการอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ผมจะไม่รู้สึกสบายตัวเวลาที่ผมต้องไปทำอะไรอยู่ข้างหน้า การอยู่ข้างหลังมันคือที่ของผม 

นานแค่ไหนแล้วที่คุณมาทำงานอยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ต 

จริงๆ เป็นการตกกระไดพลอยโจน ไม่ใช่อาชีพในฝัน มันเริ่มจากวงลาบานูนที่ย้ายมาอยู่ค่ายจีนี่ แล้ววงประสบความสำเร็จ ค่ายเลยอยากให้มีคอนเสิร์ตใหญ่ ด้วยความที่ผมพาลาบานูนมาค่ายนี้ ก็คิดว่าจะมีใครเข้าใจวงนี้ไปดีกว่าเรา เลยอาสาดูพาร์ตดนตรีในคอนเสิร์ตใหญ่ให้ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำงานแบบนี้ต่อ พอจีนี่จะทำคอนเสิร์ต G19  Genie Fest 19 ปี กว่าจะร็อกเท่าวันนี้’ เขาก็พยายามหาใครมาทำพอสมควร สุดท้ายทุกคนก็ชี้มาที่ผม ตอนนั้นในใจก็คิดว่ามันยากมากกับการต้องดูวงเทพเจ้าทั้ง 19 วงในค่ายนี้ ผมจะเอาบารมีที่ไหนไปบอกให้เขาทำนั่นทำนี่ แต่อีกใจหนึ่งก็อยากลองดูสักตั้ง เพราะมันก็เป็นโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตด้วย

พอจบงานนั้นแล้วก็ติดใจ เริ่มไปทำคอนเสิร์ตใหญ่วงกะลาที่ธันเดอร์โดม ได้เจอคนใหม่ๆ ทีมงานใหม่ๆ ก็ยิ่งสนุก จนลามปามไปทำคอนเสิร์ตค็อกเทล คอนเสิร์ตบอดี้สแลม ที่รัชมังฯ แล้วก็มางานนี้คือ ‘Genie Fest 2020 ตอน Rock Mountain’ ที่เขาค้อ

คุณดูแลพาร์ตไหนบ้างในการทำคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง 

ผมดูตั้งแต่ภาพรวม คอนเสิร์ตนี้จะออกมาหน้าตาเป็นยังไง คือดูหน้าหนัง วิธีคิด ทำสคริปต์ เลือกทีมงาน ไปจนถึงนักดนตรี เรียบเรียงเพลง ทำทุกอย่างเลย เน้นไปทางงานครีเอทีฟ ดังนั้นเวลาใครเรียกผมว่าเป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์ผมจะคิดว่ามันไม่ถูกต้องนัก คล้ายๆ เป็นโชว์ไดเร็กเตอร์มากกว่า

โชคดีที่ในวงบิ๊กแอสผมเป็นคนทำสคริปต์ทุกโชว์มาตั้งแต่เริ่มตั้งวง พอบอดี้สแลมมีคอนเสิร์ตใหญ่ ตูนเขาจะชอบชวนผมไปคิดสคริปต์ด้วย เวลามีเฟสติวัลหรือได้ไปเป็นเกสต์ ผมจะชอบมั่วนิ่มเข้าไปนั่งฟัง งานพี่เต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) ผมจะชอบมาก ไปนั่งถาม พี่ทำไมคิดแบบนี้ ทำไมทำแบบนี้ คนนี้คือใคร ทำหน้าที่อะไร ผมเป็นคนแบบนั้นมาตลอด มันก็เลยสะสมอยู่ในตัว แล้วเวลาได้ทำอะไรสักอย่างผมจะต้องขอให้ได้ดูทั้งหมด ขอแตะตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย เลยกลายเป็นว่ามีความสุขกับการดูภาพรวม 

คุณคิดว่าอะไรเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจะทำคอนเสิร์ตดีๆ ขึ้นมาสักโชว์ 

ผมเชื่อในเรื่องการกำหนดหน้าหนัง แม้เราจะทำภาคยิบย่อยให้ดีแทบตายแค่ไหน แต่ถ้าคอนเซ็ปต์ไม่ชัด มันจะไม่ชัดไปทั้งหมด แต่ถ้าหน้าหนังเราชัด ชิ้นงานอื่นเราจะแม่นไปด้วย แล้วทุกคนจะพูดเรื่องเดียวกัน เทียบคอนเสิร์ตเป็นหนัง หนังเรื่องนี้จะให้เป็นแนวไหน แอ็กชั่น ดราม่า ฟีลกู้ด ซึ่งมันจะมีตามลักษณะของศิลปินนั้นๆ 

ถ้าเปรียบเทียบว่าหนังมีพลอตเป็นพระเอก แล้วคอนเสิร์ตจะมีใครเป็นพระเอก 

ผมเพิ่งวิเคราะห์เมื่อเร็วๆ นี้เองว่าคอนเสิร์ตมันคืออะไร ตอนนี้ผมพูดได้ค่อนข้างชัดเจนว่ามันคือหนังเรื่องหนึ่ง บังเอิญผมเป็นคนชอบดูหนังด้วย แล้วก็ศึกษามา หนังเรื่องหนึ่งไม่ว่าพระเอกจะเล่นดีแค่ไหน หล่อแค่ไหน นางเอกสวยเริดแค่ไหน โปรดักชั่นระเบิดภูเขาเผากระท่อมแค่ไหนก็ตาม ถ้าบทห่วย หนังก็ห่วย แต่ถ้าบทดี บทจะพาหนังให้รอด แม้จะไม่ดีที่สุดก็ตาม 

ในคอนเสิร์ต บทคือสคริปต์โชว์ ถ้าสคริปต์โชว์รอด มันจะไม่ขี้เหร่จนเกินไป สคริปต์จะมีชีพจรของมัน มีวิธีเปิด เล่าแบบนี้ การวางกราฟ วางลมหายใจ วางหนักเบา เอาอะไรมาต่อกับอะไร ผมใช้ความชอบดูหนังของผมมาจัดการสคริปต์ แต่เราทำงานบนความคาดเดาครับ อาชีพแบบนี้ถ้าเดาแม่นจะได้เปรียบ แต่การเดาแม่นหมายถึงว่าเรามีข้อมูลมากพอในการเดา เท่าที่ผมศึกษามา การที่เราดูหนังแล้วจะร้องไห้ให้กับมัน เขาจะไม่เล่นกับการลากอารมณ์ไปเรื่อย แต่เขาจะแกล้งด้วยการพาเราไปหัวเราะหนักๆ แล้วทุบปั้ก น้ำตาร่วง มันเป็นการเล่นกับอารมณ์คนดูในโมเมนต์นั้นๆ เหมือนกับคอนเสิร์ต เราจะมีวิธีการเรียงเพลงยังไง จัดกลุ่มก้อนของมัน เพลงช้ามาอยู่ตรงนี้แล้วจะไปยังไงต่อ เพลงบู๊ เพลงเดือดจะต้องวางยังไง 

ถ้าเป็นคอนเสิร์ตที่เล่นวงเดียวอาจจะจัดการได้ง่ายเพราะแต่ละวงก็มีแนวทางของตัวเองอยู่ แต่ในคอนเสิร์ตใหญ่ที่มีวงขึ้นเวทีเป็นสิบวง คุณมีวิธีการที่ลากอารมณ์เหล่านั้นอย่างไร

ข้อนี้ผมยังไม่กระจ่างชัดว่ามันถูกต้องหรือเปล่า แต่สำหรับผมผมมองว่าแต่ละวงคือหนึ่งแนวเพลง ยกตัวอย่างคอนเสิร์ตหนึ่ง บิ๊กแอสคือเพลงบู๊ดุเดือด ผมจับมาเปิดเป็นวงแรก แต่ถ้าต่อบู๊ด้วยบู๊ คนจะไม่ตื่นเต้น ผมก็ต้องเอาอะไรสวยๆ อย่างวงเคลียร์มาคั่น คือแต่ละวงเขาจะมีเสียงของเขา มีลักษณะของเขา 

สิ่งที่นำเสนอตัวตนของวงคือแววตาของศิลปิน วิธีการเล่น และบุคลิกตัวตนของวง อย่างวงบิ๊กแอส พวกผมคือคนก้าวร้าว เด็กช่างน่ะ แม้เราจะเล่นเพลงช้าก็ตาม แต่เสียงหรือบรรยากาศที่ออกมาจะบอกตัวตนของเรา แต่ถ้าเพลงของเราถูกเล่นด้วยอีกวงหนึ่ง คนดูจะได้รับมวลอารมณ์ที่ต่างกัน ให้บิ๊กแอสไปเล่นเพลงของวงเคลียร์มันก็จะไม่จริง ให้วงเดอะมูสส์มาเล่นเพลงบิ๊กแอส ต่อให้โน้ตเหมือนแค่ไหน ให้ตายยังไงก็ไม่ได้มวลอารมณ์แบบบิ๊กแอส 

ทุกวงจะมีกลุ่มแฟนของตัวเอง และสิ่งที่คนดูซึ่งเป็นแฟนของวงคาดหวังคือเขาอยากได้ดูโชว์ในเพลงเด็ดๆ โดนๆ แต่ด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัด จะทำยังไงให้คนดูรู้สึกว่าเขาเต็มอิ่มกับวงโปรดของเขา 

ในสถานะที่ตัวเองเป็นนักดนตรีด้วย เราจะรู้ว่าทุกวงจะมีชีพจร มีวิธีโชว์ของเขา ไอเดียของผมคือ ผมอยากเห็นงานนี้เป็นเฟสติวัลเหมือนต่างประเทศที่แต่ละวงได้โชว์ศักยภาพของวงตัวเองเต็มที่ แล้วผมคิดว่ามันจะเปล่งรัศมีของเขาออกมา แต่ผมจะให้โจทย์บางๆ แล้วถามกับบางวงว่า ถ้าอยากแจมบอกได้นะ เดี๋ยวผมจะช่วยจัดวางหลวมๆ ไว้ให้ ถ้าเขาไม่อยากก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายแล้วโชว์ที่ดีที่สุดจะเกิดจากการอยากโชว์ของศิลปินนั้นๆ หน้าที่ผมคือเรียงสคริปต์ให้เขารู้ว่าวงเขาเล่นตอนไหน เล่นก่อนใคร เล่นต่อใคร แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่างานเฟสติวัลรูปแบบนี้มันเป็นงานของค่ายก็จริง เป็นงานมิตรภาพก็จริง แต่มันจะเกิดการแข่งขันกันอยู่กลายๆ ไม่มีศิลปินคนไหนยอมให้ตัวเองดรอป พอเขาเห็นว่าวงที่เล่นก่อนเขาเป็นใคร เขาจะรู้ว่าจะบิลต์วงตัวเองในรูปแบบไหน จะไล่กราฟยังไง เขาจะตัดสินใจด้วยตัวเอง นี่คือโจทย์ที่แต่ละวงจะต้องคิด

ศิลปินจะเป็นคนเลือกเพลงมาโชว์เอง เราไม่มีสิทธิ์จะบอกให้เขาทำอะไรได้เลย เพราะแต่ละวงจะมีลมหายใจของเขา เพลงแต่ละเพลงจะมีช่องว่างมีช่องไฟของเขา มีโดมิโนที่จะส่งไปหากันและกัน เขาจะดูออกว่าเขาควรจะทำอะไรกับโชว์ แต่ความท้าทายคือระหว่างคั่นโชว์ต่างหากที่ผมใส่ใจ เฟสติวัลที่ผมชอบมันต้องเกิดการเคลื่อนไหว ทำยังไงให้ระหว่างคั่นโชว์นั้นยังเป็นจีนี่อยู่ ซึ่งตรงนี้ผมขออุบไว้ก่อน

สถานที่จัดงานซึ่งเป็นต่างจังหวัดและมีทาร์เก็ตของคนดูที่เปลี่ยนไป ทำให้คุณต้องคิดต่างไปจากเดิมไหม

สิ่งที่ท้าทายไม่ได้มีแค่สิ่งที่เราจะเอาไปโชว์ คนดูต่างหากที่จะเป็นคนกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานนั้น ถ้าเป็นงานคอนเสิร์ตใหญ่ของแต่ละวงเราจะเห็นหน้าคนดูชัดมาก วงนี้คนดูจะอายุประมานนี้ ไลฟ์สไตล์ประมานนี้ บุคลิกประมานนี้ เราก็จะเสริมสคริปต์ที่ทำให้เขามีความสุขกับรูปแบบนี้ แต่พอเป็นงานเฟสติวัลที่หลายคนรวมกัน สำคัญกว่านั้นคือไปจัดที่ต่างจังหวัด คำถามแรกเลยคือ คนดูงานนี้คือใคร 

งานนี้ไปจัดที่เขาค้อ ความยากคือจังหวัดเพชรบูรณ์อยู่ระหว่างภาคอีสานกับภาคเหนือ และติดภาคกลางด้วย บุคลิกคนดูก็จะไม่เหมือน และที่ยากอีกคือคนกรุงเทพฯ ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของจีนี่จริงๆ จะไปกันแค่ไหน ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำให้การเดาของเรามีประสิทธิภาพที่สุดก็คือทำเลย ทำไปก่อน ทำตามความฝันของเราที่อยากให้มันเกิดก่อน การเสิร์ฟทุกกลุ่มมันจะพินาศ เพราะออกมาเป็นวาไรตี้จนเกินไป แล้วบิดเบี้ยวเกินกว่าที่เราอยากให้เป็น ด้วยความหลากหลายของสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้นี้ สิ่งที่เราเดาได้คือความฝัน ความรู้สึกเรา ฉะนั้นเราต้องกุมมันไว้แน่นๆ ว่าเราอยากทำอะไร เราอยากมอบสิ่งไหน เราอยากให้คนเดินออกไปจากงานแล้วอุทานคำว่าอะไรออกมา 

ความฝันของคุณที่ใส่ลงไปในงานนี้คือ… 

งานนี้ผมวางความฝันที่อยากให้คนดูได้รับเอาไว้สามสี่ข้อ อย่างแรกคือคุ้มค่า เพราะมันไกล และทุกคนคาดหวังว่าอากาศจะยังหนาว เมื่อดูจากข้อมูลที่เป็นจริง ผมเคยไปเขาค้อกลางฤดูร้อน พอหกโมงเย็นอุณหภูมิ 25 องศาฯ เหมือนคนเปิดแอร์เลย ดังนั้นเราจัดกันเดือนกุมภาพันธ์อากาศก็น่าจะพอไหวอยู่ อย่างที่สองคืออยากให้ทุกคนปลอดภัย เราทำได้ด้วยการจัดระบบไฟส่องสว่างให้เพียงพอ มีระบบการขนส่งที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความฝันของผมคืออยากพัฒนาไปจนถึงเป็นเทศกาลที่พ่อแม่พาลูกมาได้ มีคิดส์โซนที่พ่อแม่ปล่อยลูกไว้ตรงนี้ก็ปลอดภัย แต่วันนี้อาจจะยังไปไม่ถึงจุดนั้นด้วยข้อจำกัดมากมายหลายประการ แต่ว่าอยากให้ไปถึงตรงนั้นได้จริงๆ 

แล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้ทุกคนได้รับกลับไปคือ แรงบันดาลใจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าศิลปินของจีนี่มีอาวุธหนักที่แข็งแรงที่สุดคือเป็นค่ายที่เข้มข้นในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำเพลง แต่แรงบันดาลใจของงานนี้อาจไม่ได้รับมาจากบนเวทีอย่างเดียว มันมาจากรอบข้างได้ เช่น ผมจะซีเรียสมากเรื่องขยะ ผมอยากให้งานนี้เป็นเทศกาลดนตรีที่มีจุดทิ้งขยะเยอะที่สุดในประเทศไทย เพราะในหนึ่งคนจะมีขยะอยู่ในตัวสามสี่ชิ้นเสมอ รวมกันสองหมื่นคนมันไม่รู้เท่าไร ผมจะเอาฟังก์ชั่นนำความสวยงาม

ทำไมถึงสนใจเรื่องขยะจนถึงกับเอามาเป็นโจทย์หลัก 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเราเห็นภาพขยะเหล่านั้นมาตลอด ภาพที่ฝังใจผมคือการได้ดูคอนเสิร์ตระดับโลกครั้งแรกคือคอนเสิร์ตไมเคิล แจ็กสัน ที่สนามศุภชลาศัย หลังจบคอนเสิร์ตมีขยะเต็มสนาม ลึกๆ ผมว่าคนอยากทิ้งขยะลงถังขยะนะ แต่มันไม่มีที่ให้เขาทิ้งแค่นั้นเอง ผมเคยไปเทศกาลดนตรีที่ญี่ปุ่นมาสองสามครั้งโดยเฉพาะเทศกาลฟูจิร็อก โอ้โห ทำไมดีงามอย่างนี้ โอเคว่าวัฒนธรรมเรากับเขาไม่เหมือนกัน เรื่องการคัดแยกขยะบ้านเราก็ไม่เหมือนเขา แต่ถ้าเราไม่มีความหวังกับมันเลยเราก็จะไม่ได้เริ่มสักที  อีกภาพฝันของผมก็จึงเป็นภาพที่คนตั้งใจจะไม่ทิ้งขยะ คนตั้งใจที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผมอยากให้พฤติกรรมคนล้อมรอบบรรยากาศ ผมอยากลองทำดู

จากที่เคยบอกว่าชอบทำงานที่ออกแรงน้อย ไม่ต้องอยู่กับคนเยอะๆ เลยเลือกนักแต่งเพลงเป็นอาชีพหลัก กลายเป็นว่างานโชว์ไดเร็กเตอร์คุณต้องเจอกับคนเป็นร้อยคน แต่ดูเหมือนว่าคุณก็สนุกกับมันได้ 

ต้องบอกว่ามันคนละศาสตร์กันเลย คนละชีวิต คนละวิธีคิด ผมไม่ชอบขัดแย้งกับใคร ไม่ชอบไปตะล่อมกับใคร ผมเหนื่อย  แต่สุดท้ายมันก็ลากผมมาตรงนี้จนได้ มันกลับขั้วจากการที่เคยนอนเขียนเพลงอยู่บ้านคนเดียว ต้องมาทำงานกับคนระดับครึ่งพันเป็นอย่างต่ำ แล้วผมเป็นประเภทที่กูต้องรู้ทุกอย่าง เพราะผมมาใหม่ ผมเพิ่งเริ่ม สิ่งที่ทำให้ผมไปได้เร็วที่สุดคือผมต้องรู้ทุกอย่างในเวลาอันรวดเร็วที่สุด ผมจะนั่งอยู่กับที่ไม่ได้ 

วันเข้าไซต์งานผมไปตั้งแต่วันแรก เขาขึ้นนั่งร้าน ทำฉาก ผมก็ไปนั่งคุยกับเขา เขาไม่รู้หรอกว่าผมเป็นใคร ถามเขาว่าตรงนี้คืออะไร ทำไมต้องทำแบบนี้ ผมถามทุกอย่างจนคนอาจจะรำคาญ แต่ผมไม่สนเพราะชีวิตนี้ผมรอดมาได้ด้วยคำถาม ผมไม่ได้เก่งมาจากไหน แล้วการอวดฉลาดไม่ได้ช่วยอะไร ยิ่งอวดยิ่งโง่ ดังนั้นผมก็โง่ไปเลย 

ทุกวันนี้ผมก็ยังถาม ยังไปไซต์งานวันแรก ความสุขของผมคือนั่งดูเขารื้อเวที ปกติหลังคอนเสิร์ตเขาจะมีปาร์ตี้กัน แต่ผมชอบโมเมนต์ที่ผมนั่งอยู่ตรงที่เดิมที่ผมนั่งตั้งแต่ตอนโชว์ มองจอมองเครื่องฉายที่กำลังย้ายลงมา เห็นคนงานที่ระหว่างนักดนตรีโชว์พวกเขานอนอยู่ใต้เวที พอนักดนตรีเสร็จปุ๊บ งานเขาถึงเริ่ม พวกนักดนตรีจะรู้มั้ยว่าระหว่างที่กำลังเย้วๆ กันอยู่บนเวที มีใครอีกเป็นร้อยที่นอนรอให้พวกคุณลงมา บางคนอดหลับอดนอนสามสี่วันเพื่อต่อนั่งร้านให้พวกคุณ ดังนั้นคุณจะขึ้นไปมั่วๆ ไม่ได้นะ หรืออยู่ดีๆ จะไปชี้นิ้วสั่งเขาไม่ได้นะ เราต้องเคารพเขา ผมไม่ได้พูดให้ตัวเองหล่อ แต่มันเป็นความจริง อาชีพนี้มันสอนผมเยอะ มันสอนการทำงานกับคนหมู่มาก สอนว่าอย่าเพิ่งตัดสินคน สอนการอ่านเกม หลักอย่างเดียวเลยคือ อยากให้เขาทำอะไรให้เรา เราต้องเอาใจให้เขาก่อน การชี้นิ้วไม่เกิดสิ่งดี  

หากเทียบการเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง โชว์ไดเร็กเตอร์ หน้าที่ไหนที่ทำให้หัวใจคุณเต้นแรงที่สุดเมื่อเห็นผลลัพธ์หน้างาน 

กลายเป็นว่าหัวใจมันเต้นแรงผิดกัน ความฟินของการแต่งเพลงคือแต่งเสร็จคืนนั้น ตื่นมาดูตอนเช้าแล้วรู้สึกเขียนได้ตามที่คิดเลยว่ะ แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ต ความฟินของมันคือโมเมนต์ที่คนกรี๊ด โมเมนต์นี้คนร้องไห้ มันเหมือนเรามีไม้เท้าวิเศษเลย แต่ตอนนี้ด้วยงานคอนเสิร์ตมันเป็นเรื่องใหม่ของชีวิต ก็เลยเป็นความตื่นเต้นอีกแบบหนึ่ง แต่ปีหน้าผมคงต้องถามตัวเองว่าจะเอายังไงเหมือนกัน ยังไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหนต่อ 

Fact Box

  • ขจรเดช พรมรักษา นักแต่งเพลงและมือกลองแห่งวงบิ๊กแอส ที่มีผลงานออกมาทั้งหมด 8 อัลบั้มในช่วงระหว่างปี 2540-2560 นอกจากเขียนเพลงให้วงตัวเองแล้ว ขจรเดชยังฝากผลงานการแต่งเพลงเอาไว้กับอีกหลายศิลปิน อาทิ บอดี้สแลม ปาล์มมี่ ลาบานูน อีโบล่า ค็อกเทล โนมอร์เทียร์ เพลงประกอบภาพยนตร์ นอกจากเขียนเพลงและเล่นดนตรี เขายังเป็นโชว์ไดเร็กเตอร์ที่ฝากความประทับใจเอาไว้ให้กับคอคอนเสิร์ตในหลายเวทีที่ผ่านมา
  • ขจรเดชร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งทีมทำเพลงชื่อ ‘Mango Team’ ซึ่งประกอบด้วยนักเขียนเพลงมือดีอย่าง โป โปษยะนุกูล เหนือวงศ์ ต่ายประยูร สุรชัย พรพิมานแมน อภิชาติ พรมรักษา พูนศักดิ์ จตุระบุล และวิรชา ดาวฉาย ทำเพลงให้กับศิลปินต่างๆ เพลงประกอบภาพยนตร์ และเพลงประกอบละคร ที่หากเอ่ยชื่อขึ้นมาเพลงไหนก็จะต้องร้องอ๋อกันเพลงนั้น
Tags: ,