เมื่อหลายเดือนก่อนมีข่าวอาการป่วยของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ปรากฏออกมา งานแฟชันโชว์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมของ Chanel เขาก็ไม่ได้ไปปรากฏตัวบนเวทีในตอนท้ายเหมือนเช่นปกติ ครั้งนั้นมีคำยืนยันอย่างเป็นทางการว่า “มิสเตอร์คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของห้องเสื้อ Chanel รู้สึกเหนื่อยล้า จึงมอบหมายให้เวอร์จินี วิอาร์ด  (Virginie Viard) ผู้อำนวยการของห้องเสื้อมาปฏิบัติหน้าที่แทน” กระทั่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2019 ทางห้องเสื้อยืนยันข่าวเศร้าอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่า เขาเสียชีวิตแล้ว

คาร์ล อ็อตโต ลาเกอร์เฟลด์ เปรียบเสมือนนักวิ่งมาราธอนของโลกแฟชั่น เขาทำงานออกแบบแฟชั่นให้กับห้องเสื้อชื่อดังของโลกมานานกว่า 50 ปี เริ่มตั้งแต่เดินทางออกจากฮัมบวร์ก ถิ่นกำเนิดในประเทศเยอรมนี ตอนอายุ 18 ปี ไปยังกรุงปารีสพร้อมกับเอลิซาเบธ-แม่ของเขา เพื่อเรียนวาดและสเก็ตช์ภาพที่ลือเซ ม็งเตนญ์

ปี 1954 ลาเกอร์เฟลด์ชนะ International Woolmark Prize ในหมวด ‘เสื้อคลุม’ ในขณะที่อีฟ แซงต์ โลรองต์ อายุ 19 ปี ชนะในหมวดชุดค็อกเทล และทั้งสองเป็นเพื่อนกันนับแต่นั้นมา

หลังชัยชนะ ลาเกอร์เฟลด์ได้รับการติดต่อไปเป็นผู้ช่วยจูเนียร์ เรียนรู้งาน ก่อนเข้ารับตำแหน่งงานในห้องเสื้อ Balmain ส่วนแซงต์ โลรองต์เข้าสู่ห้องเสื้อ Dior นับตั้งแต่ปี 1958 ลาเกอร์เฟลด์ย้ายไปเป็นดีไซเนอร์ให้กับห้องเสื้อ Jean Patou และลาออกอีกครั้งในปี 1963

ปีถัดมา ลาเกอร์เฟลด์ไปเริ่มงานใหม่กับ Chloé และมีส่วนช่วยทำให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จักระดับสากล เช่นเดียวกันกับ Fendi ห้องเสื้อในกรุงโรม ซึ่งเจ้าของติดต่อเขาไปร่วมงานด้วย และลาเกอร์เฟลด์ก็ช่วยให้เสื้อผ้าขนสัตว์ของ Fendi กลายเป็นแฟชั่นหรู มีชื่อเสียงระดับโลก

เข้าสู่ตำนานของโกโก ชาเนล

ปี 1982 อแลง แวร์ตไฮเมอร์ (Alain Wertheimer) อดีตประธานของ Chanel เอ่ยปากชวนคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์เข้าร่วมงานกับห้องเสื้อ คอลเล็กชันโอต กูตูร์แรกที่ลาเกอร์เฟลด์ออกแบบให้กับ Chanel ในเดือนมกราคม 1983 สร้างความตะลึงให้กับบรรดาคู่แข่ง ลาเกอร์เฟลด์ปลุกความงามที่หลับใหลมายาวนานให้ตื่น “เขาทำให้คาแรกเตอร์ของเสื้อผ้าฟื้นกลับมามีชีวิตชีวา โดยไม่ทำลายจิตวิญญาณของชาเนลเลย” นิวยอร์ก ไทม์สเขียนชื่นชมผลงานชิ้นแรกของเขาที่ออกแบบให้กับห้องเสื้อในตำนาน

“ประเพณีเป็นสิ่งที่ต้องจัดการด้วยความระมัดระวัง เพราะมันอาจฆ่าเราได้ แต่การให้ความเคารพอย่างเดียวก็ไม่เคยเป็นเรื่องสร้างสรรค์ สิ่งที่ผมทำเป็นเพียงแค่อัปเดตให้กับชาเนลเท่านั้นเอง” ลาเกอร์เฟลด์บอกกับนิตยสารโว้ก อเมริกาในปี 1984 นับถึงวันที่สิ้นใจ เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และหัวหน้าดีไซเนอร์ของ Chanel มายาวนานถึง 36 ปี

GABRIEL BOUYS / AFP

“ประเพณีเป็นสิ่งที่ต้องจัดการด้วยความระมัดระวัง เพราะมันอาจฆ่าเราได้ แต่การให้ความเคารพอย่างเดียวก็ไม่เคยเป็นเรื่องสร้างสรรค์”

มิวส์และแมว

“ปราศจาก ‘มิวส์’ งานออกแบบแฟชันทั้งกระบวนการจะหมดความหมายและขาดชีวิตชีวา” ลาเกอร์เฟลด์เคยให้สัมภาษณ์ในปี 2014 “พวกเขาช่วยนำเสนอความรู้สึกและรูปทรงเสื้อผ้าให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ชอบทำงานกับคนที่เขาพอใจ จนบ้างครั้งเขามักขาดความเกรงใจหากคิดจะเลือกคนที่เขาต้องการทำงานด้วย นางแบบขวัญใจของลาเกอร์เฟลด์ คือ เคลาเดีย ชิฟเฟอร์ ที่เขาเลือกเป็นโฉมหน้าของ Chanel ตั้งแต่ปี 1990 และหวนกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2007 นอกจากนั้นยังมีลิลี แอลเลน เบธ ดิตโต หรือไคอา เกอร์เบอร์-ลูกสาวของซินดี ครอว์ฟอร์ด ส่วนนายแบบคนโปรดของเขาคือ บัปติสต์ เกียบิโคนี ที่ร่วมงานกับลาเกอร์เฟลด์อย่างยาวนาน

ชูเป็ตต์ เป็นชื่อแมวพันธุ์เบอร์แมน (สายพันธุ์จากพม่า) หน้าตางดงาม เกิดเมื่อปี 2011 เดิมเป็นของเพื่อนคนหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน จึงฝากลาเกอร์เฟลด์เลี้ยงดู จนกระทั่งเกิดเป็นความรักและความผูกพัน ลาเกอร์เฟลด์เคยเล่าให้นักข่าวฟัง เขาเสิร์ฟน้ำให้แมวที่บ้านใส่ชามเงิน และให้อาหารอย่างดี ทั้งเนื้อและพาสตา

ชูเป็ตต์ไม่เพียงเป็นแมวสุดที่รักของลาเกอร์เฟลด์เท่านั้น หากยังเป็นที่รักใคร่ของผู้ติดตามในอินสตาแกรมด้วย จำนวนกว่า 1.2 แสนคน

สไตล์ไอคอนกับความลับ

คำว่า ‘Trendsetter’ สำหรับคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ครอบคลุมไม่เพียงแต่ในเรื่องงานแฟชัน หากยังรวมถึงตัวเขาเองด้วย

เพื่อให้สวมชุดสูทของเฮดี สลิมาน-เพื่อนร่วมวงการ ได้นั้น เขาใช้เวลาเพียง 13 เดือน ระหว่างปี 2000 ถึง 2001 ลดน้ำหนักตัวลงได้ถึง 42 กิโลกรัม จนกลายเป็นคนใหม่ ดูอ่อนเยาว์และสดใสกว่าเดิม เคล็ดลับของลาเกอร์เฟลด์คือ เมนูปลานึ่ง และโยเกิร์ตพร่องมันเนยในทุกวัน

เคล็ดลับของลาเกอร์เฟลด์คือ เมนูปลานึ่ง และโยเกิร์ตพร่องมันเนยในทุกวัน

เรื่องภาษาและการพูดของลาเกอร์เฟลด์ เป็นอีกหนึ่งปริศนา ทุกครั้งที่ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ เขามักตอบคำถามด้วยภาษาที่เข้าใจยากและพูดเร็ว ซึ่งเขาน่าจะสืบทอดมาจากแม่ของเขา เวลาต้องพูดเล่าเรื่องน่าเบื่อให้จบก่อนที่ความน่าเบื่อนั้นจะปรากฏที่ใบหน้า หรือถ้าวิเคราะห์อีกแง่ ลาเกอร์เฟลด์ไม่ชอบให้สัมภาษณ์นั่นเอง

หรือเรื่องปีเกิดที่แน่นอนของเขา ระหว่างที่มีชีวิตอยู่เขาเองก็เคยบอกแบบคลุมเครือ ลาเกอร์เฟลด์เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารเล็กซเพรสส์ เล่มที่ตั้งฉายาเขาว่า ‘แดนดีคนสุดท้ายของปารีส’ ว่าเขาเกิดเมื่อปี 1935 หรือไม่ก็ 1938 ในสื่ออีกฉบับกล่าวถึงปี 1933 ท้ายที่สุดแล้วเขาก็ยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับแม่ของตนเอง ที่อาจแจ้งผิด หรือจดจำตัวเลขคลาดเคลื่อน แต่ที่แน่ๆ วันเกิดของเขาคือ 10 กันยายน

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวของเขา ลาเกอร์เฟลด์เคยมีความสัมพันธ์ที่เขาเปิดเผยเองว่า ‘แบบเพื่อน’ กับฌากส์ เดอ บาสแชร์ (Jacques de Bascher) ผู้ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ไปเมื่อปี 1989 แต่หลังจากนั้นเขายังมีใครที่ข้างกายอีกหรือไม่ ยังคงเป็นความลับที่ตายไปพร้อมกับเขาแล้ว

เสพสื่อหนังสือพิมพ์ เหมือนคนเสพบุหรี่

FRANCOIS GUILLOT / AFP

แม้ว่าลาเกอร์เฟลด์มักจะกลายเป็นจุดสนใจของสาธารณชนและแสดงตนเป็นคนมากด้วย ‘อีโก้’ แต่แท้จริงแล้ว ถึงเขาจะปรากฏตัวด้วยชุดหรูหราอย่างไรก็ตาม เขาไม่เคยแสดงตนเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองเลย ใครก็ตามที่มีโอกาสได้พบเจอเขาเป็นการส่วนตัว จะรับรู้ได้ว่าเขาเป็นคนใจกว้าง ที่ชอบเสพสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน เหมือนคนทั่วไปที่ชอบเสพบุหรี่ และเขามักรู้แจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนเสมอ

ในที่พักของเขามีหนังสืออยู่ราว 3 แสนเล่ม แต่เขาสามารถจดจำและพูดตอบได้ทันทีว่า เล่มไหนบ้างที่เขามีหรือไม่มี ลาเกอร์เฟลด์ชอบใช้ชีวิตอยู่กับการจดจำเรื่องราวในอดีต เพียงแต่ไม่เคยโหยหา หรือนำมาพูดเป็นเรื่องบ่นให้คนรอบข้างฟัง เขาชอบอยู่ท่ามกลางผู้คนดีๆ ที่ไม่พูดคุยกันถึงประเด็นความป่วยไข้และเรื่องอายุ เขาเคยบอก เรื่องนี้สำคัญ เขาไม่รู้จักคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่เป็นแบบนี้ และเขารู้สึกว่าน่ารังเกียจ   

ตำนานจะมีชีวิตสืบต่อไป

ครั้งสุดท้ายที่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ปรากฏตัวในงานโชว์ของตนเอง คือเมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีกลาย ครั้งนั้นเขาอยู่ที่เวทีเป็นเวลานาน เพื่อเก็บเกี่ยวเสียงปรบมือชื่นชม สมาชิกครอบครัวแวร์ตไฮเมอร์เจ้าของ Chanel ก็ไปร่วมงานครั้งนั้นด้วย เพื่อแสดงความยินดีกับดีไซเนอร์ ซึ่งถึงตอนนี้มีคนแปลความว่าเป็นการล่ำลากันครั้งสุดท้าย

ลาเกอร์เฟลด์มักทำงานโดยยึดถือระเบียบวินัยเป็นกฎเหล็ก แต่กลับมองว่างานที่เขาทำไม่ใช่เพราะหน้าที่ หากเป็นความรื่นรมย์ เขาไม่เคยคิดอยากครอบครองหรือเป็นเจ้าของกิจการ เหตุเพราะกลัวว่ามันจะทำให้เวลาว่างของเขาเหลือจำกัด

เวลาว่างของลาเกอร์เฟลด์ เขาใช้หมดไปกับการเสพหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แม้ในวัยชรา เขายังรู้สึกรับรู้ได้ถึงเทรนด์ ดนตรี หรือเทคนิคใหม่ๆ ที่กำลังมา

แฟชันวีคในปารีสที่จะมีในวันที่ 5 มีนาคม คอลเล็กชันฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวจะเป็นผลงานแรกของ Chanel ที่ปราศจากลาเกอร์เฟลด์ แต่เป็นผลงานของเวอรจินี วิอาร์ด คนสนิทที่ทำงานร่วมกับเขามานานถึง 30 ปี และจะรับช่วงต่อจากคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์

เพื่อว่า ‘มรดก’ ของโกโก ชาเนล และคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์จะได้มีชีวิตสืบต่อไป

 

ที่มาภาพหน้าแรก: REUTERS/Charles Platiau

อ้างอิง:

Tags: , ,