‘สถานที่’ แห่งนี้ย้อนเรื่องราวไปในสมัยปี 1880-1940 นับแต่ยุคของการล่าอาณานิคมที่ทำให้เวียดนามต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส จวบจนเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
บนเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ที่ชื่อ Phú Quốc หรือฟูก๊วก ก็ได้รับอิทธิพลจากการล่าอาณานิคม ผ่านออกมาเป็นการแต่งเติมเรื่องราว ว่าด้วยการก่อกำเนิดของ ‘มหาวิทยาลัย’ ฝรั่งอย่างมหาวิทยาลัยลามาร์ก หรือ Lamarck University
บริเวณล็อบบี้โรงแรมมหาวิทยาลัยลามาร์ก
ตามท้องเรื่องเล่าว่า มหาวิทยาลัยลามาร์กก่อตั้งขึ้นในปี 1880 เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังยอดนิยมในหมู่ผู้มีสตางค์และลูกๆ ของเหล่าเจ้าอาณานิคม ซึ่งมีสาขาวิชาชื่อดังครบทุกศาสตร์ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นคณะชีววิทยา กีฏวิทยา วิทยาสัตว์เลื้อยคลาน วิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มานุษยวิทยา วิจิตรศิลป์ ฯลฯ
ประวัติของชอง ลามาร์ก
ชื่อของมหาวิทยาลัย ตั้งชื่อตาม ชอง ลามาร์ก (Jean Lamarck, 1744-1829) บุคคลในประวัติศาสตร์ตัวจริง เป็นนักธรรมชาติวิทยาที่สนใจในทฤษฎีวิวัฒนาการและมีบทบาทมากช่วงหลังปี 1800 แต่แนวคิดของลามาร์ก แตกต่างจากนักธรรมชาติวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษอีกคนที่โด่งดังมากในยุคสมัยใกล้เคียงกันอย่าง ชาร์ลส ดาร์วิน (1809 – 1885)
ขณะที่ลามาร์กเชื่อว่าธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ยิ่งสิ่งมีชีวิตพยายามอยู่รอดกับธรรมชาติ ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสรีระไปในทิศทางนั้น เช่น ที่ยีราฟคอยาวเพราะมันต้องปรับตัวเอื้อมคอให้ไปยืดยอดไม้ แล้วคุณลักษณะที่ปรับตัวใหม่ก็จะถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ที่ยีราฟก็จะคอยาวขึ้นเรื่อยๆ ส่วนทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส ดาร์วิน ต่างออกไป เขาเชื่อเรื่องกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ว่าสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งกว่าก็ย่อมอยู่รอด ที่อ่อนแอก็จะตายไป หากเทียบกับยีราฟ เขาก็จะเชื่อว่ายีราฟที่คอยาวเข้าถึงอาหารได้มากกว่า จึงมีแนวโน้มอยู่รอดได้ดีกว่า และทำให้ออกลูกออกหลานได้มากกว่ายีราฟที่คอสั้นกว่า ซึ่งลูกหลานของยีราฟที่คอยาว ก็จะได้กรรมพันธุ์ที่คอยาวตามมาด้วย
แม้ทุกวันนี้ ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินจะโด่งดังมากกว่า และได้รับการยอมรับมากกว่า แต่ลามาร์กถือเป็นนักธรรมชาติวิทยารุ่นพี่ที่พูดเรื่องนี้เป็นคนแรกๆ ในวงการวิทยาศาสตร์ เป็นตัวจุดประกายและมีอิทธิพลสำคัญให้ดาร์วินศึกษาเรื่องนี้ต่อ และด้วยความสำคัญนี้เอง ผสานกับอิทธิพลของฝรั่งเศส ทำให้ ‘สถานที่’ แห่งนี้บนเกาะฟูก๊วกจึงตั้งชื่อขึ้นมาตามชื่อของ ชอง ลามาร์ก มาเป็น ‘มหาวิทยาลัยลามาร์ก’ หรือ Lamarck University
ออกจากโลกแฟนตาซี สู่โลกแห่งความจริง
แต่ท้องเรื่องก็กำหนดไว้ว่า ‘มหาวิทยาลัย’ แห่งนี้ต้องปิดตัวลงในปี 1940 ทิ้งสภาพอาคารโอ่อ่าเอาไว้จนทรุดร้าง จนกระทั่งซันกรุ๊ป นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในเวียดนามชักชวนสถาปนิกชื่อดัง บิลล์ เบนสเลย์ ให้มาร่วมสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาเป็นโรงแรมห้าดาวในเครือเจดับบลิว แมร์ริออท
บริเวณสนามกีฬาของโรงแรมมหาวิทยาลัยลามาร์ก
โรงแรมนี้กำเนิดขึ้นในปี 2017 มหาวิทยาลัยลามาร์กไม่เคยมีอยู่ในปี 1880 เป็นเรื่องแต่งที่สร้างขึ้นมาโดยมีท้องเรื่องที่สะท้อนอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส โดยมี ซันกรุ๊ป เจดับบลิว แมร์ริออท และบิลล์ เบนสเลย์ ที่เห็นโอกาสรังสรรค์อาณาจักรแห่งนี้ขึ้นมากลายเป็นโครงการสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ แล้วตั้งชื่อว่า มหาวิทยาลัยลามาร์ก บนเกาะฟูก๊วก
การก่อสร้างครั้งนี้ของบิลล์ เบนสเลย์ ไม่ได้มาเพียงแค่การดีไซน์ทางสถาปัตยกรรม แต่เสริมมาด้วยเรื่องเล่าการก่อกำเนิดของมหาวิทยาลัยลามาร์กบนเกาะฟูก๊วก แม้ว่าในความเป็นจริงไม่เคยมีเรื่องราวแบบนั้นอยู่
อาคารห้องพักธีม Fine Art
อาคารห้องพักธีมคณะเกษตร
ห้องอาหาร Tempus Fugit ที่ตกแต่งในธีมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
โครงสร้างของโรงแรมมหาวิทยาลัยลามาร์ก หรือ JW Marriott Phu Quoc Emerald Bay Resort & Spa: Lamarck university กระจายโซนของห้องพักออกเป็นอาคารตามภาควิชาต่างๆ ที่ผู้เข้าพักจะได้ลุ้นว่า เมื่อจองห้องพักแล้วจะได้เข้าไปเป็นนักเรียนในภาควิชาอะไร การตกแต่งก็จะเล่นธีมตามคอนเซ็ปป์ของภาควิชานั้นๆ เช่น ภาควิชาที่ว่าด้วยสัตว์น้ำ ก็อาจจะมีภาพอะนาโตมีของเต่าอยู่ตามตึก และภาพวาดสัตว์น้ำแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของห้อง ภาควิชาที่ว่าด้วยวิจิตรศิลป์ ก็จะมีผลงานศิลปะของจิตรกรก้องโลกมาประดับตกแต่ง รวมถึงโควทคำพูดสำคัญๆ ของศิลปินมาเป็นลวดลายบนผนัง
ภายในห้องพักของโรมแรม
บริเวณบาร์ของโรงแรมที่ตกแต่งกำแพงเป็นสูตรเคมี
ห้องอาหารที่นี่ที่ชื่อว่า Tempus Fugit สำนวนลาตินที่แปลว่า Time flies เวลาช่างผ่านไปไวโดยเฉพาะเวลาที่เราสนุก ถือว่าอยู่ในส่วนของภาควิชาสถาปัตยกรรม จึงตกแต่งด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญสำหรับสถาปนิก โซนร้านอาหารของที่นี่ เสิร์ฟทั้งอาหารเวียดนาม ญี่ปุ่น และอาหารนานาชาติ
ในส่วนของบาร์ เป็นความชาญฉลาดที่โยงคอนเซ็ปป์เข้ากับภาควิชาเคมี ที่เปรียบการผสมค็อกเทลสูตรพิเศษด้วยองค์ความรู้แบบนักเคมีทำการทดลอง เวลาสั่งค็อกเทลก็จะเล่นกิมมิกด้วยการเสิร์ฟมาในขวดแก้วทดลองด้วย
Pink Pearl ร้านอาหารฝรั่งเศสแบบ Fine Dining
ที่พิเศษสุดและเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2018 คือ Pink Pearl ร้านอาหารฝรั่งเศสแบบ Fine Dining ภายใต้การดูแลของมาดามเพิร์ล (Madame Pearl) คาแรกเตอร์สมมติว่าเป็นภรรยาคนที่สองของอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยลามาร์ก เธอเป็นลูกครึ่งชาวฝรั่งเศส-เวียดนาม ลูกสาวของพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอันมั่งคั่งกับแม่ซึ่งเป็นชนชั้นนำของเวียดนาม และได้ความเชี่ยวชาญด้านอาหารฝรั่งเศสมาจากคุณย่า
ปลากะพงจากชิลี (Sustainable Chilean Seabass)
เพราะสีโปรดคือสีชมพู นั่นจึงทำให้ทั่วทั้งร้านตกแต่งออกมาด้วยธีมสีชมพูจนเหมือนเข้าไปในบ้านตุ๊กตา เพิ่มความอลังการในแบบของเบนสลีย์ด้วยอาคารเพดานสูงที่ทำให้ภายในแลดูหรูหราโอ่อ่า ที่พิเศษคือ ที่พิงก์เพิร์ล มีบริการเป็นแบบ Private dining room ด้วย
เป็ดย่างซอสไวน์แดง (Armagnac dry aged barbarie duck)
ขนมหวานช็อกโกแลตรูปทรงโปร่งกลม Opera Pearl
เมนูซิกเนเจอร์ของ Pink Pearl เริ่มด้วยแอพพิไทเซอร์อย่างหอยเม่นทะเลฟูก๊วก (Phu Quoc Sea Urchin) ตามด้วยเมนูปลากะพงจากชิลี (Sustainable Chilean Seabass) และเป็ดย่างซอสไวน์แดง (Armagnac dry aged barbarie duck) ที่เสริฟมากับฟัวกราส์ ปิดท้ายด้วยของหวานอันลือชื่อกับช็อกโกแลตรูปทรงโปร่งกลม Opera Pearl
ฟูก๊วก เวียดนามที่แตกต่าง
ทุกวันนี้ เกาะฟูก๊วกเองพยายามเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนเกาะแห่งนี้มากขึ้น ที่ผ่านมาการเดินทางอาจจะลำบากสักนิดเพราะมีเที่ยวบินบินตรงไม่มากนัก ด้วยไม่ใช่เมืองใหญ่ มีประชากรบนเกาะแค่ราวแสนคนเท่านั้นเอง ซึ่งนับแต่ 1 มกราคม 2561 เกาะฟูก๊วก ถูกประกาศเป็นโซนเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม โดยหนึ่งในภาคธุรกิจสำคัญก็คือการท่องเที่ยว ทั้งภาคโรงแรมและการบินต่างก็พยายามดึงดูดด้วยการเปิดเส้นทางบินตรง ที่สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ หรือดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนจากกวางโจว ฯลฯ บินตรงมาถึงฟูก๊วกได้เลย
โรงงานน้ำปลา ธุรกิจส่งออกสำคัญบนเกาะฟูก๊วก
แต่ว่าถ้ามาฟูก๊วกแล้วยังมีอะไรให้ท่องเที่ยวอีกบ้างไหม ที่นี่มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม พื้นที่กว่าครึ่งของเกาะเป็นเขตอุทยาน อีกทั้งยังมีร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น เรือนจำฟูก๊วก ซึ่งเป็นเรือนจำแห่งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ทางใต้ของเวียดนาม
หากต้องการหากิจกรรมอื่นๆ ทางโรงแรมมีบริการไกด์ทัวร์เพื่อพาไปดูวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ซึ่งเน้นให้ทำความรู้จักชีวิตของคนฟูก๊วก กิจกรรมของทัวร์ในแบบที่มีเวลาสั้นๆ ก็มีความเป็นทัวร์ชะโงกอยู่บ้าง โดยพาไปดูแหล่งเศรษฐกิจส่งออกสำคัญของฟูก๊วก อันได้แก่ โรงงานน้ำปลาอันลือชื่อ สวนพริกไทยดำ และฟาร์มไข่มุก
ทริปครึ่งวันอาจไม่มีอะไรว้าวเท่ากับบทสนทนาน่าสนใจจากไกด์หนุ่มน้อยที่เล่าว่า รัฐบาลอยากจะให้ฟูก๊วกพัฒนาไปเหมือนสิงคโปร์ โดยเอาการท่องเที่ยวเป็นตัวนำ จนมีมาตรการ free visa ให้นักท่องเที่ยว ‘ทั่วโลก’ ที่เดินทางมาฟูก๊วกได้เลยโดยไม่ต้องขอวีซ่าและอยู่ต่อเนื่องได้ 30 วัน (แต่ต้องเป็นทริปการเดินทางที่มุ่งหน้าตรงมาที่ฟูก๊วกเท่านั้น และไม่ไปต่อที่เมืองอื่น)
และด้วยความที่เป็นเมืองเล็กมีประชากรแค่แสนคน คนทำงานจำนวนไม่น้อยต้องข้ามมาจากที่อื่น อย่างพ่อหนุ่มไกด์เวียดนามเองก็มาจากโฮจิมินห์ ส่วนคนท้องถิ่นนั้นอาจหาแรงงานมีทักษะได้ไม่มากนัก ไกด์บอกว่าบนเกาะนี้ไม่มีมหาวิทยาลัยเลย (เว้นแต่มหาวิทยาลัยลามาร์ก) ขณะที่โรงเรียนมัธยมปลายก็มีเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งบนเกาะชาวประมงอย่างฟูก๊วกที่รุ่มรวยทรัพยากรทางธรรมชาติก็พบว่า เด็กๆ เลือกที่จะมาทำงานประมงเพื่อหารายได้มากกว่าจะใช้เวลาไปกับโรงเรียน
ทุกวันนี้ เกาะฟูก๊วกเป็นเกาะแสนสะดวกที่ไปง่ายๆ แล้วอยู่สบาย และสามารถพบเจอได้ทั้งโลกแฟนตาซีและโลกแห่งความจริงที่มีกิจกรรมหลากหลายให้ลองสัมผัส
Fact Box
- สำหรับคนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ มีเที่ยวบินตรงของสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ไปถึงสนามบินนานาชาติฟูก๊วก เวลาบินราว 1.50 ชม.
- โรงแรมมหาวิทยาลัยลามาร์ก หรือ JW Marriott Phu Quoc Emerald Bay Resort & Spa: Lamarck university บนเกาะฟูก๊วก เปิดให้บริการเมื่อปี 2017 ส่วนห้องอาหาร Pink Pearl เพิ่งเปิดให้บริการอาหารฝรั่งเศสแบบ Fine Dining เมื่อตุลาคม 2018