จอห์น บาร์โลว์ หนึ่งในผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตเสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 70 ปี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
นอกจากจะเป็นทั้งกวี นักเขียน นักแต่งเพลงให้กับวงร็อคที่ชื่อ Grateful Dead แล้ว จอห์น เพอร์รี บาร์โลว์ (John Perry Barlow) เป็นบุคคลสำคัญของวงการอินเทอร์เน็ตในฐานะผู้บุกเบิกและยึดถือหลักอิสรนิยมไซเบอร์ (cyber-libertarian)
เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation-EFF) องค์กรปกป้องเสรีภาพดิจิทัล เมื่อปี 1990 หลังจากที่ตระหนักว่ารัฐไร้ความสามารถในการทำความเข้าใจสิ่งที่เขาเรียกว่า “ธรรมชาติของอาชญากรรมของข้อมูล ทั้งทางกฎหมาย ทางเทคนิค และการเปรียบเทียบ” เขาเชื่อว่า อิสรภาพของทุกคนจะตกอยู่ในความเสี่ยง
EFF ก่อตั้งขึ้นไม่นานนักหลังจากที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอมาพบบาร์โลว์ เพื่อให้เขาช่วยติดตามกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้อมูล (info-terrists) ซึ่งเชื่อว่าขโมยโค้ดของแอปเปิล ทำให้เขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของอาชญากรรมข้อมูล บาร์โลว์และเพื่อนอีกคนคือมิทช์ คาเปอร์ ผู้สร้างซอฟต์แวร์ Lotus 1-2-3 จึงจัดงานเลี้ยงอาหารเย็นร่วมกับผู้นำในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อีกหลายคน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของ EFF
บาร์โลว์เป็นผู้เขียน ‘คำประกาศเอกราชของไซเบอร์สเปซ’ (A Declaration of the Independence of Cyberspace) เมื่อปี 1996 และเรียกร้องให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการแทรกแซงอินเทอร์เน็ตที่เขาบอกว่าเป็น บ้านหลังใหม่ของความคิด (“the new home of the mind”)
บาร์โลว์ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเสรีภาพสื่อมวลชน (Freedom of the Press Foundation) เมื่อปี 2012 ซึ่งสนับสนุนการทำงานข่าวเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยเป็นกรรมการร่วมกับเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน และเกล็นน์ กรีนวัลด์ นักข่าวสืบสวนสอบสวน
บาร์โลว์มองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ของเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นที่ซึ่งเราจะได้ยินเสียงที่ถูกทำให้เงียบมานาน และเป็นที่ที่ผู้คนเชื่อมโยงกันโดยไม่ต้องคิดถึงระยะห่างทางกายภาพ
ดังที่เขาเขียนไว้ในคำประกาศเอกราชของไซเบอร์สเปซว่า “อินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่ทุกคนเข้าไปได้โดยปราศจากอภิสิทธิ์หรืออคติจากเชื้อชาติ อำนาจทางเศรษฐกิจ กำลังทหาร หรือถิ่นกำเนิด เป็นโลกที่ทุกคนสามารถแสดงความเชื่อของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกบังคับให้เงียบหรือต้องยอมจำนน”
ที่มาภาพ: By Joi [CC BY 2.0], via Wikimedia Commons
ที่มา
https://www.eff.org/cyberspace-independence
Tags: สื่อมวลชน, internet, สิทธิเสรีภาพ, freedom