ปี 1973 จอห์น พอล เก็ตตี ที่ 3 (John Paul Getty III) ทายาทมหาเศรษฐีพันล้านถูกลักพาตัวในกรุงโรม เหตุเพราะผู้เป็นปู่ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าไถ่ ทำให้แก๊งลักพาตัวต้องตอบโต้ด้วยวิธีเหี้ยมโหด

วันที่ 10 กรกฎาคม 1973 ระหว่างที่จอห์น พอล เก็ตตี ที่ 3 กำลังเดินออกจากดิสโกเธคกลับอพาร์ตเมนต์ที่เช่าร่วมกับเพื่อนจิตรกรอีกสองคน เมื่อไปถึงจัตุรัสแฟร์เนเซใจกลางกรุงโรม เขาก็ถูกกลุ่มชายแปลกหน้าจับตัวและผลักเข้าไปในรถ เหตุการณ์ลักพาตัวเกิดขึ้นเมื่อตอนตีสาม ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องตะโกนขอความช่วยเหลือของเด็กหนุ่มวัย 16

ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์ข่าวซุบซิบรายงานเกี่ยวกับ ‘ฮิปปีเงินล้าน’ ไปปาร์ตี้ฉลองที่ไนต์คลับทรีท็อปส์ ตอนนี้เขากลับตกอยู่ในเอื้อมมือของ ‘นดรันเกตา’ (Ndrangeta) แก๊งมาเฟียชื่อดังแห่งแคว้นคาลาเบรีย ที่เรียกร้องจะเอาเงินค่าไถ่จำนวนมาก เพราะเด็กหนุ่มที่พวกเขาลักพาตัวไป ไม่ใช่เด็กวัยรุ่นไก่กาที่ไหน หากเป็นหลานของชายผู้ซึ่งร่ำรวยที่สุดของโลกในยุคนั้น

จอห์น พอล เก็ตตี ปู่ของเก็ตตี มีเงินรายได้มหาศาลจากกิจการน้ำมัน เขาเป็นคนก่อตั้งบริษัทเก็ตตี ออยล์ เป็นนักสะสมงานศิลปะ และเป็นเจ้าของปราสาทหลังใหญ่ไม่ห่างจากกรุงลอนดอน ซึ่งเขาออกแบบตกแต่งเป็นที่พักอาศัย นิตยสารรายงานเศรษฐกิจในเวลานั้น ระบุว่า เขามีรายได้ต่อวันราว 240 ล้านบาท ซึ่งนั่นเป็นแรงจูงใจให้แก๊งมาเฟียคิดวางแผนลักพาตัวในครั้งนี้

จอห์น พอล เก็ตตี ที่ 3 หรือมีชื่อเรียกว่า ‘พอล’ อาศัยอยู่กับเกล แฮร์ริส (Gail Harris) และพี่น้องอีกสามคนในย่านทราสเตเวเรของกรุงโรม นับตั้งแต่พ่อกับแม่ของเขาแยกทางกัน พอล เก็ตตี มีชื่อในเรื่องของความเกเร เคยต้องเปลี่ยนที่เรียนถึงเจ็ดครั้ง เด็กหนุ่มผมลอนสีแดงนัยน์ตาสีฟ้าและใบหน้าเปื้อนกระใฝ่ฝันอยากหาเลี้ยงชีพจากการเป็นศิลปิน เขาเคยต้องโทษขัง เพราะไปปาระเบิดโมโลทอฟค็อกเทลใส่กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายซ้าย สำหรับหนังสือพิมพ์ข่าวซุบซิบแล้ว ทายาทมหาเศรษฐีคนนี้เป็นแหล่งข่าวชั้นดีสำหรับข่าวพาดหัว เขาเป็นสมาชิกในกลุ่มฮิปปี และใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับฝาแฝดสาวชาวเยอรมัน-กิเซลา มาร์ทีเน ซาแคร์ (Gisela Martine Zacher) และยุตตา วิงเคลมันน์ (Jutta Winkelmann) ทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่มคอมมูน 1 ที่อื้อฉาว (Kommune 1 หรือ K1 กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มแรกๆ ของเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในเบอร์ลินตะวันตกเมื่อปี 1967 และสิ้นสุดบทบาทลงในปี 1969)

ครอบครัวของผู้ถูกลักพาตัวได้รับการติดต่อจากแก๊งมาเฟียครั้งแรกเมื่อสองวันให้หลัง เกล แฮร์ริส-แม่ของเก็ตตี เป็นคนรับสายโทรศัพท์ เสียงของชายในสายข่มขู่เรียกเงินค่าไถ่จำนวนหนึ่งพันล้านลีร์ หรือราว 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่นักแสดงหญิงอย่างเธอไม่สามารถหามาเองได้ ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันเธอยังต้องพึ่งพาเงินค่าเลี้ยงดูจากอดีตสามี-จอห์น พอล เก็ตตี ที่ 2 (John Paul Getty II) ที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงลอนดอนและแอฟริกาเหนือ มัวเมาอยู่กับยาเสพติดและผลาญเงินพ่อ ส่วนผู้นำตระกูล-จอห์น พอล เก็ตตี (John Paul Getty) ก็ปฏิเสธที่จะยอมเจียดเงินมาจ่ายเป็นค่าไถ่ตัวหลานชาย

“ผมมีหลานตั้งสิบสี่คน” มหาเศรษฐีพันล้านให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “ถ้าครั้งนี้ผมจ่ายค่าไถ่ไปสักเพนนีเดียว อีกไม่นานผมก็จะมีหลานถูกลักพาตัวสิบสี่คน” เก็ตตี ซีเนียร์ได้ชื่อว่าเป็นคนมัธยัสถ์ ก่อนหน้านั้นไม่นาน เขายังเคยติดต่อช่างให้ไปติดตั้งโทรศัพท์แบบหยอดเหรียญในปราสาทของเขา เผื่อไว้เวลาแขกของเขาต้องการโทรศัพท์ทางไกล

ในเวลาใกล้เคียงกัน เกล แฮร์ริสยังได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง เป็นลายมือเขียนของลูกชายที่ถูกลักพาตัว ‘แม่ครับ ตอนนี้ผมตกอยู่ในมือของแก๊งลักพาตัว’ หนุ่มวัย 16 เขียน ลักษณะอ้อนวอน ‘อย่าปล่อยให้ผมถูกฆ่านะครับ’

แม่ของเก็ตตีพยายามติดต่อราชาน้ำมัน-พ่อของอดีตสามี แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธอีกครั้ง ทำให้การต่อรองยืดเยื้อออกไปอีกนับเดือน กระทั่งแก๊งลักพาตัวลดค่าไถ่เหลือเพียง 3.4 ล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากมหาเศรษฐียังคงยืนกรานปฏิเสธการจ่ายเงิน เกล แฮร์ริสจึงต้องเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีนิกสัน ขอความช่วยเหลือในการเจรจากับจอห์น พอล เก็ตตี ให้เขายินยอมจ่ายเงินค่าไถ่ตัวประกัน

ขณะเดียวกันเก็ตตี ซีเนียร์ก็เริ่มแคมเปญประชาสัมพันธ์ของตนเอง เพื่อหวังจะกลบความน่าเชื่อถือของกระบวนการลักพาตัว เขาอ้างแม้กระทั่งว่า หลานชายของเขาวางแผนร่วมกับกิเซลา ซาแคร์-เพื่อนสาวชาวเยอรมัน จัดฉากการลักพาตัว เพื่อหวังส่วนแบ่งจากมรดกของตระกูล รวมทั้งเกล แฮร์ริสก็สมรู้ร่วมคิดด้วย ไม่นานหลังจากนั้น แฟนสาวของเก็ตตีตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกควบคุมตัว กลายเป็นประเด็นให้หนังสือพิมพ์เอาไปตีข่าว จนกระทั่งแก๊งลักพาตัวต้องส่งสัญญาณเอาจริงถึงขั้นเลือดตกยางออก

กล่องพัสดุบรรจุสิ่งบ่งชี้ความเป็นความตายถูกส่งถึงหนังสือพิมพ์ Il Messaggero ในกรุงโรมในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1973 ภายในกล่องพบถุงพลาสติกซึ่งมีปอยผมลอนสีแดง และใบหูข้างขวาที่ถูกตัดขาด แต่แม้ว่าเกล แฮร์ริสจะยืนยันว่าเส้นผมปอยนั้นเป็นของลูกชายของเธอจริง แต่พ่อของอดีตสามีก็ยังยืนกรานไม่ยอมจ่ายค่าไถ่ เพราะยังไม่เชื่อว่าใบหูในกล่องพัสดุนั้นเป็นของหลานชาย

ไม่กี่วันต่อมา ตำรวจทางหลวงพบจดหมายจากแก๊งลักพาตัวบนมอเตอร์เวย์เดล โซล (Sun Motorway ที่เชื่อมระหว่างเมืองมิลานและเนเปิลส์) ในซองมีรูปถ่ายของตัวประกัน และข้อความข่มขู่ว่าจะส่งอวัยวะของเด็กหนุ่มที่เพิ่งอายุครบ 17 เป็นชิ้นๆ กลับไปให้ครอบครัว หากว่าพวกเขายังไม่ได้รับเงินค่าไถ่ ถึงตอนนั้นราชาน้ำมันเริ่มอ่อนใจ ยอมควักเงินราว 2.8 ล้านดอลลาร์จ่าย โดยให้คนสนิทนำถุงธนบัตรสกุลเงินลีร์ซึ่งถูกมัดเป็นก้อนบรรจุลงในถุงใหญ่สามถุง ไปวางที่ริมถนนมอเตอร์เวย์ใกล้เมืองลาโกเนโกร ไม่ห่างจากกรุงโรม

วันที่ 15 ธันวาคม 1973 มีคนพบตัวจอห์น พอล เก็ตตี ที่ 3 บริเวณจุดพักบนถนนมอเตอร์เวย์ ทางใต้ของเมืองเนเปิลส์ หลังจากถูกกักขังเป็นตัวประกันอยู่นานห้าเดือน เด็กหนุ่มอยู่ในสภาพผ่ายผอม เนื้อตัวสกปรก บาดแผลบริเวณใบหูข้างขวามีอาการอักเสบ เขาพูดเล่าให้นักข่าวฟังถึงเรื่องราวตลอดหลายเดือนที่เขาต้องถูกควบคุมตัวอยู่บนภูเขาในคาลาเบรีย ในกระท่อมหลังคาสังกะสี และในถ้ำ

วันรอดชีวิตของเขาตรงกับวันครบรอบปีที่ 81 ของเก็ตตี ซีเนียร์ แต่พอหลานชายโทรศัพท์ไปเพื่อกล่าวขอบคุณ คนเป็นปู่กลับไม่ยอมรับสาย อีกทั้งยังบอกผ่านลูกชายของเขากลับไปด้วยว่า เงินค่าไถ่ตัวนั้นถือเป็นเงินกู้ยืม ที่จะต้องชดใช้คืนพร้อมอัตราดอกเบี้ย 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

หลังจากได้รับการปล่อยตัว เด็กหนุ่มพอล เก็ตตีเริ่มกลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ระหว่างที่เขากับแม่เดินทางไปพักผ่อนเล่นสกีที่ใกล้เมืองอินสบรุกของออสเตรีย เขาได้รับจดหมายจากบรรดาหญิงสาวราว 200 ฉบับต่อสัปดาห์ ที่เขียนมาชื่นชมความกล้าหาญของเขา จดหมายจากแฟนๆ ส่วนใหญ่จ่าหน้าซองสั้นๆ เพียง ‘พอล เก็ตตี, ออสเตรีย’ เท่านั้นก็ถึงผู้รับ

เดือนถัดมา เจ้าหน้าที่ตำรวจของอิตาลีสามารถจับกุมตัวแก๊งลักพาตัวแปดคน จากทั้งหมด 15 คนได้ ทั้งหมดนั้นเป็นสมาชิกแก๊งมาเฟียในคาลาเบรีย แต่ไม่สามารถติดตามเงินค่าไถ่กลับมาได้ทั้งหมด

ในระหว่างนั้น จอห์น พอล เก็ตตี ที่ 3 พยายามปรับตัวกลับสู่ชีวิตปกติอีกครั้ง ใบหูข้างขวาของเขาได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมด้วยใบหูสังเคราะห์ ไม่กี่เดือนถัดมาเขาก็เข้าพิธีแต่งงานกับเพื่อนสนิทที่ชื่อกิเซลา ซาแคร์ และเนื่องจากเขาผิดสัญญาของตระกูล ที่ว่าห้ามแต่งงานก่อนอายุครบ 22 ปี เขาจึงถูกถอดชื่อออกจากกองมรดก

คู่สมรสหนุ่ม-สาวโยกย้ายไปอยู่ลอส แองเจลีส กิเซลาแนะนำสามีของเธอให้รู้จักกับวิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) ผู้กำกับฯ ชาวเยอรมัน ที่ต่อมาหยิบยื่นบทในภาพยนตร์เรื่อง The State of Things (1982) ให้เล่น ทว่าความสำเร็จคงอยู่เพียงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น

นอกจากฝันร้ายจากเหตุการณ์ลักพาตัวจะตามหลอกหลอนเก็ตตีแทบทุกค่ำคืนแล้ว เขายังมาติดเฮโรอีนเข้าอีก หลังจากที่ทดลองเสพแบบธรรมดาทั่วไปแล้ว เขาค่อยๆ เพิ่มระดับการเสพที่รุนแรงยิ่งขึ้น ในปี 1981 ขณะอายุ 25 ปี เขามีอาการเส้นเลือดในสมองแตกอย่างเฉียบพลัน แพทย์พบค็อกเทลยาเสพติดในเลือด ทั้งเมธาโดน แวเลียม และแอลกอฮอล์ หลังหกสัปดาห์ที่พ้นจากอาการโคมา พอล เก็ตตีก็กลายเป็นอัมพาต นัยน์ตาเกือบบอด และไม่สามารถพูดได้อีกต่อไป

เกลผู้เป็นแม่เสนอตัวมาคอยพยาบาลดูแล ทั้งสองย้ายเข้าอยู่ในบ้านที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัยในเบเวอร์ลี ฮิลส์ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จต่อเดือนสูงถึง 25,000 ดอลลาร์ เงินสะสมที่เกล แฮร์ริสมีอยู่จึงค่อยๆ ร่อยหรอ ครั้นเอ่ยปากขอจากอดีตสามี ที่ขณะนั้นร่ำรวยมหาศาลหลังจากพ่อตาย เขากลับไม่ยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด กระทั่งมีการยื่นเรื่องส่งฟ้องศาลในลอส แองเจลีส จนเขาแพ้คดีความ ยอมควักเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลลูกชาย และนั่นคือชัยชนะครั้งสุดท้ายของจอห์น พอล เก็ตตี ที่ 3 และเกล แฮร์ริส ที่มีเหนือตระกูลตระหนี่

ปี 2011 ‘ฮิปปีเงินล้าน’ เสียชีวิตด้วยอาการอวัยวะภายในล้มเหลว ขณะอายุ 54 ปี

 

อ้างอิง:
Spiegel Online
www.bunte.de

Tags: , ,