อะไรทำให้ “ญี่ปุ่น” กลายเป็นมหาอำนาจด้านกาแฟ ทั้งๆ ที่ไม่สามารถปลูกกาแฟได้ด้วยตัวเอง การนำเข้าเมล็ดกาแฟสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก (ข้อมูลเมื่อปี 2019) คือตัวชี้วัดที่สำคัญ มันคือการนำเข้าเพื่อการบริโภค ซึ่งดูแล้วขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของประเทศที่น่าจะดื่มมัทฉะกันมากกว่า  

หากไม่นับรวมเมืองที่ปลูกชาคงต้องบอกว่าเราพบกับคอฟฟี่ชอปมากกว่าร้านชา โดยเฉพาะในรูปแบบของ “คิตซาเต็น” (Kissaten) ที่เรามักจะเห็นผ่านซีรีส์หรืออะนิเมะญี่ปุ่น ที่มีบาร์กาแฟและมาสเตอร์เป็นคุณลุงที่คอยชงกาแฟแบบแฮนด์ดริป จนเมื่อกระแสของ Third Wave Coffee เข้ามา ทำให้วัฒนธรรมกาแฟของญี่ปุ่นเปลี่ยนไป แน่นอนว่าร้านกาแฟแบบเดิมยังคงมีอยู่ แต่เพิ่มเติมร้านกาแฟแบบ Specialty Coffee เข้ามาด้วย ซึ่งสอดรับกับปริมาณการนำเข้ากาแฟของประเทศ เพื่อนำมาคั่วและดื่มภายในประเทศ 

Kurasu อีกหนึ่งกาแฟจากเกียวโตที่มาเปิดในไทย

คงต้องว่า UCC น่าจะเป็นผู้ริเริ่มการนำเข้าวัฒนธรรมกาแฟจากญี่ปุ่นถึงไทยเป็นเจ้าแรกๆ ที่สยามเซ็นเตอร์ ในรูปแบบของไซฟอน แต่ก็ไม่โด่งดังเหมือนในยุคนี้ กลายเป็นว่าคนแวะมากินอาหารกันมากกว่า เราต้องยอมรับว่าร้านกาแฟญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักในยุคที่เกิดคาเฟ่ฮอปเปอร์ขึ้นมา จากการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อตามหาคาเฟ่และร้านกาแฟดี 

จุดเริ่มต้นยุค Third Wave Coffee ของแบรนด์กาแฟญี่ปุ่นในไทย น่าจะเริ่มต้นจาก Drip & Drop Coffee Supply Bangkok แบรนด์กาแฟจากเมืองเกียวโต ที่มาเปิดที่ตึก G Tower Grand Rama 9 ซึ่งมาในรูปแบบของคาเฟ่ รวมถึงมุมกาแฟดริปที่เราพบเห็นได้บ่อยในร้านกาแฟญี่ปุ่น แต่การเปิดตัวของแบรนด์นี้ไม่พีคเท่าที่ควร อาจจะด้วยมาผิดเวลา

จนกระทั่ง Arabica เจ้าของโลโก้ % ที่ประกาศลงในเว็บไซต์ของแบรนด์ว่าจะมาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2018 และคนไทยก็เริ่มรู้จักแบรนด์นี้จากการไปเที่ยวในเมืองเกียวโตและฮ่องกง ทำให้คนไทยให้ความสนใจค่อนข้างมาก และตั้งตารอ แต่สุดท้ายปล่อยให้แบรนด์เพื่อนร่วมชาติอย่าง Omotesando Koffee แซงเปิดไปก่อนในปีเดียวกันที่สยามพารากอน 

Omotesando Koffee ที่สยามพารากอน

ปัจจุบันสาขาแรกของแบรนด์ Omotesando Koffee ในย่านโอโมเทะซานโดได้กลายเป็น Koffee Mameya ไปแล้ว ส่วนแบรนด์ Omotesando Koffee จะถูกใช้ในคอนเซปต์ของคอฟฟี่สแตนด์นอกประเทศญี่ปุ่น จุดเด่นของที่นี่ยังคงเป็น Ice Cappucino กาแฟปั่นผสมนมเนียนนุ่มโรยหน้าด้วยผงโกโก้ น่าเสียดายที่จนถึงเดี๋ยวนี้ Koffee Kashi ขนมรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่คล้ายคานาเล่ รวมถึงแซนด์วิชไข่ก็ยังไม่ถูกบรรจุลงในเมนูร้านเสียที แบรนด์ได้รับผลตอบรับดีในระดับหนึ่ง

จนแล้วจนรอด Arabica ก็ยังคงเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยเสียที ปล่อยให้ Kurasu แบรนด์กาแฟจากเมืองเกียวโตมาเปิดตัวเมื่อปีก่อน ภายในโครงการ Bambini Villa ซอยสุขุมวิท 26 แบรนด์นี้เริ่มต้นจากขายสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะสินค้าหมวดกาแฟ ก่อนเปิด Flagship Store ใกล้กับสถานีรถไฟเกียวโต และขยายสาขามาที่สิงคโปร์ สำหรับในเมืองไทย แบรนด์นี้นำเข้าสินค้ากาแฟ อาทิ ภาชนะเซรามิกของศิลปินญี่ปุ่น กาดริป และอุปกรณ์กาแฟของแบรนด์มาขายด้วย 

ร้าน Arabica ที่ไอคอนสยาม

แต่ที่ต้องบอกว่าเป็นจุดพีคที่สุดของแบรนด์กาแฟญี่ปุ่นในไทยก็คือการมาถึงของ Arabica ที่โดนโรคเลื่อนมาไกลถึงกลางปี 2020 ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แน่นอนว่ามันคือ Flagship Store ของแบรนด์ในเมืองไทย กาแฟทั้งหมดนำเข้ามาเป็นเมล็ดดิบแต่นำมาคั่วด้วยเครื่อง Tornado King Coffee Roaster เครื่องคั่วสัญชาติญี่ปุ่นที่กลางร้าน ทั้งการคั่วขายและคั่วไว้ใช้ภายในร้าน แบรนด์นี้ปัจจุบันมีถึง 58 สาขา ด้วยปรัชญาของแบรนด์ที่ตั้งใจเดินทางรอบโลกโดยใช้กาแฟเป็นสื่อกลาง “See the World Through Coffee”

ข่าวคราวเกี่ยวกับแบรนด์กาแฟญี่ปุ่นยังคงไม่หยุดนิ่ง เริ่มมีร้านที่วางแผนเปิดตัวในบ้านเราอย่าง UCC Coffee Roastery ร้านกาแฟที่เด่นเรื่องเครื่องชงไซฟอนที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งที่ Gateway Ekamai หลังจากเคยเปิดและปิดตัวไปได้ไม่ถึงปี เรียกว่าล้มเร็วและลุกเร็ว และ Café Kitsuné แบรนด์ฝรั่งเศสที่มีหุ้นชาวญี่ปุ่นที่จะเปิดปลายปีนี้ที่เอ็มควอเทียร์พร้อมกับ Maison Kitsuné แบรนด์แฟชั่น ซึ่งนำเอากลิ่นอายและดีไซน์บางอย่างของญี่ปุ่นมาเป็นจุดขาย

Café Kitsuné แบรนด์ฝรั่งเศสที่มีหุ้นชาวญี่ปุ่นที่จะเปิดปลายปีนี้ที่เอ็มควอเทียร์

และที่ตอกย้ำสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกาแฟของไทยกับญี่ปุ่นได้ชัดเจนก็คือ Akha Ama Japan แบรนด์กาแฟไทยอาข่า อ่ามา โดย ลี อายุจือปา ที่ได้รับการชักชวนจากเพื่อนชาวญี่ปุ่น เจ้าของร้าน Cafe Today is my life ที่ใช้เมล็ดกาแฟของอาข่า อ่ามา มาโดยตลอด ให้ร่วมกันเปิดร้านกาแฟของอาข่า อ่ามา ในญี่ปุ่นด้วยกัน แน่นอนว่านี่คือโอกาสดีที่ลีจะพาเมล็ดกาแฟของดอยแม่จันใต้ บ้านเกิด ไปสร้างชื่อในญี่ปุ่น แต่เขากลับไม่ทำเช่นนั้น เขาอยากพาเมล็ดกาแฟของเกษตรกรไทยทั้งหมดไปคั่วและขายให้คนญี่ปุ่นได้ดื่ม เขาอยากให้ที่นี่เป็นเวทีของกาแฟไทย อยากส่งเสริมคนผลิตกาแฟไทย และแน่นอนว่าต้องเป็นการค้าแบบแฟร์เทรดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โดยอาข่า อ่ามา จะเปิดให้บริการในกรุงโตเกียวตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

การมาถึงของแบรนด์กาแฟญี่ปุ่นอาจจะยังเป็นสายสัมพันธ์ทางเดียว แต่เราก็เชื่อว่าการสวนกลับไปของแบรนด์กาแฟไทยอย่างอาข่า อ่ามา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดประกายให้แบรนด์กาแฟไทยแบรนด์อื่นขยับขยายไปในญี่ปุ่น หรือเวทีโลกได้เช่นกัน อย่าลืมว่าบ้านเราเป็นผู้ผลิตกาแฟ ญี่ปุ่นไม่ใช้ประเทศผู้ผลิตกาแฟยังสามารถขยายวัฒนธรรมกาแฟมาบ้านเราได้ ทำไมแบรนด์ไทยจะทำบ้างไม่ได้ ไม่แน่ว่าเมนูเอสเย็น ที่อาข่า อ่ามา พาไปด้วยจะกลายเป็นเมนูฮิตในโตเกียวที่แม้แต่ร้านกาแฟญี่ปุ่นก็ต้องเลียนแบบก็เป็นได้

Tags: , , , , , ,