หากบอกว่า จะเดินทางไปญี่ปุ่นพร้อมกับกูเกิล บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลก ภาพที่ลอยมาในหัวใครหลายคนคงเป็นบรรยากาศการเดินทางสู่เมืองทันสมัยที่น่ารัก ระบบรถไฟใต้ดินที่สุดอลังการ แหล่งช้อปสินค้าแฟชั่นล้ำสมัย เกมและเทคโนโลยีที่มาใหม่กว่าที่ไหนในโลก
แต่ประสบการณ์ล่าสุดออกจะห่างไกลจากภาพจินตนาการ เพราะกูเกิลนำทางเราไปเยือนไร่สวนเกษตรกรในเมืองโคไซ จังหวัดชิซูโอกะ ซึ่งเป็นฟาร์มทริปครั้งแรกที่กูเกิลจัดขึ้น พาเราไปเจอชีวิตคนรุ่นใหม่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชีวิตเมืองและชนบท อยู่กับทางเลือกของชีวิตว่าจะทำงานบริษัทใหญ่ในเมือง หรือกลับไปสานต่อกิจการเกษตรของครอบครัวที่สืบทอดมาหลายสิบปี
และบนรอยต่อเหล่านี้ มีครอบครัวเกษตรกรที่ประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาพัฒนาแล้วช่วยป้องกันและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้
มาโกโตะ โคอิเกะ (Makoto Koike) ชายหนุ่มวัย 38 ปี จบการศึกษาด้านไอทีก่อนจะไปทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทรถยนต์ จนกระทั่งปี 2016 เขาตัดสินใจกลับบ้านไปช่วยแม่สานต่อกิจการครอบครัวที่ดำเนินมากว่า 30 ปี ในไร่แตงกวาซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไป 280 กิโลเมตร
งานบางส่วนที่ไร่แตงกวามีลักษณะเป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ ทุกๆ เช้า แม่ของโคอิเกะจะเก็บแตงกวาวันละ 100 กิโลกรัม หรือราวๆ 1,200 ผล ภารกิจรายวันที่ต้องจัดการแตงกวาร้อยกิโลนั้น คือการคัดแยกเกรดของแตงกวา จำแนกตาม สี ความยาว และรูปทรง ออกเป็น 9 ประเภท และเป็นขั้นตอนที่กินเวลานานที่สุด ซึ่งจัดการโดยคนสองคน คือเขาและแม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมญี่ปุ่นที่ละเอียดพิถีพิถันกับเรื่องอาหารการกิน ร้านซูชิต่างก็จริงจังมากกับการเลือกขนาดและรูปร่างของแตงกวาให้เหมาะกับเมนูแต่ละประเภท ไร่แตงกวาของโคอิเกะ ผู้จัดส่งแตงกวาเข้าสู่ท้องตลาด ก็ต้องเตรียมแตงกวาที่ผ่านการคัดเกรดเพื่อส่งตรงให้เหมาะกับความต้องการ
ดูเผินๆ ก็แตงกวาเหมือนกัน แต่มีถึง 9 แบบ
จริงๆ มองแล้วมันก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด ใครจะไปรู้ว่า แตงกวาพันธุ์เดียวกันที่งอกจากต้นเดียวกัน ดินเดียวกัน อาจลงเอยไปที่เมนูคนละจาน เพราะโตมามีขนาดและรูปทรงต่างกัน และมีแต่คนที่อยู่กับแตงกวามาตลอดชีวิตที่จะแยกออกว่า แตงกวาขนาด 22 เซนติเมตร กับแตงกวาขนาด 23 เซนติเมตร คือแตงกวาคนละเกรด
ที่ผ่านมา งานขั้นตอนนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และชั่วโมงบินของแม่ ผู้คัดเกรดแตงกวาส่งขายตามร้านค้า ซึ่งให้ราคา 800-2,000 เยน ต่อแตงกวา 5 กิโลกรัม ราคาขึ้น-ลงตามแต่ฤดูกาล
เมื่อโคอิเกะกลับมาช่วยงานที่บ้าน เขาจึงลองพัฒนา AI ให้เข้ามาช่วยคัดแยกผลิตผล โดยใช้ TensorFlow ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส ที่ใช้สำหรับสอนให้เครื่องจักรให้เกิดการเรียนรู้ (หรือที่เราเรียกว่า Machine Learning)
เขาประกอบอุปกรณ์ขึ้น โดยติดตั้งแทบเล็ต เชื่อมกับกล้องถ่ายรูป สอนโปรแกรมให้ทำงานง่ายๆ เพียงแค่วางแตงกวาลงบนจอแท็บเล็ต กล้องจะบันทึกข้อมูลแล้วแสดงผลบนจอแท็บเล็ตทันทีว่า แตงกวาผลนั้น มีขนาดเท่าไร ต้องจัดเข้าเกรดใด
AI ช่วยงานได้บ้างแต่ยังไม่ฉลาดพอ
โคอิเกะบอกว่า แม้เขาจะสร้าง AI ตัวนี้มาเพื่อช่วยผ่อนแรงเขาและแม่แล้ว แต่ดูเหมือนแม่เขาจะไม่ชอบใจนัก ยืนยันว่า “แม่แยกเองได้เป๊ะกว่า” ซึ่งตอนนี้เขาก็ยอมรับว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ เครื่องจักรยังไม่ฉลาดเท่าแม่
นับแต่ปี 2016 ที่เขาค่อยๆ สอน AI ให้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้พัฒนาระบบมาสู่เจเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว เมื่อวัดสถิติความแม่นยำ เครื่องเจเนอเรชั่นแรกวัดค่าได้ถูกต้องที่ 60% พอพัฒนาเข้าสู่เจเนอเรชั่นที่ 2 เครื่องฉลาดขึ้นที่ 80% ส่วนเจเนอเรชั่น 3 ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นล่าสุด ให้ค่าความถูกต้องที่ 70%
แต่ทำไมค่าความถูกต้องของเครื่องเจนฯ 3 ถึงน้อยกว่าเครื่องเจนฯ 2 ? เขาอธิบายว่า เพราะเครื่องเจนฯ 2 นั้นใช้พลังงานมากเกินไปและทำงานได้ช้า อาศัยกล้องถึงสามตัว แต่ละตัวก็วัดค่าแตงกวาได้แค่คราวละผล เขาจึงพัฒนาให้เครื่องเจนฯ 3 ลดจำนวนกล้องลงเหลือแค่สองตัว และวัดค่าพร้อมกันหลายผลได้ เรียกได้ว่าเพียงวางแตงกวา ไม่ว่าจะกี่ผล เครื่องก็สามารถคำนวณค่าแสดงผลในเสี้ยววินาที
ทุกวันนี้ โคอิเกะยังพัฒนา AI ต่อไป เขาหวังให้ในอนาคตจะสามารถใช้กล้องมือถือยกถ่ายแล้วคัดเกรดได้เลย (แบบเดียวกับเวลาที่เราใช้ฟังก์ชันกล้องถ่ายรูปกับกูเกิลทรานสเลต) โดยไม่ต้องใช้วิธีเอาแตงกวามาวางบนเครื่อง
และตอนนี้ เมื่อเทียบกับมาตรฐานการคัดเกรดด้วยคุณแม่ โคอิเกะบอกว่า ระดับนั้น ค่าความถูกต้องเป็น 100% แต่หากยังคงใช้แรงงานมนุษย์ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเวิร์กโหลดได้ เพราะนอกจากคนรุ่นใหม่จะไม่อยากกลับไปทำงานในไร่แล้ว ความเชี่ยวชาญบางเรื่องก็ต้องอาศัยชั่วโมงบินสูงที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้ง่ายๆ
“แทนที่จากเดิม แม่ใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงต่อวันไปกับขั้นตอนของการคัดเกรดแตงกวา พอมี AI แม่ก็เอาเวลาไปพักหรือทำอย่างอื่นบ้าง” โคอิเกะบอก
การคิดค้นเอไอมาช่วยงานในฟาร์มก็มาจากสภาพสังคมญี่ปุ่นที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดไปทำงานในภาคเกษตรลดลง เครื่องมือที่มาช่วยลดเวลาการทำงาน จะได้ทำให้คนแบ่งเวลาไปจัดการงานด้านอื่นๆ ได้ด้วย
Tags: AI, ญี่ปุ่น, กูเกิล, ปัญญาประดิษฐ์, เกษตรกรรม, เอไอ, เกษตรกร, Google