หลังผ่านไป 30 ปี ญี่ปุ่นถอนตัวจากข้อตกลงและเตรียมกลับมาล่าวาฬอีกครั้งในเดือนหน้า ประเดิมวันแรกด้วยกองเรือ 5 ลำล่าวาฬเบอเรียส ก่อนเดือนถัดไปย้ายน่านน้ำล่าวาฬมิงค์ต่อ กรีนพีซประณามทำลายสมดุลโลก
กว่าสามทศวรรษนับตั้งแต่ญี่ปุ่นได้ลงนามในข้อตกลงคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (International Whaling Commission) ในปี 1982 และหยุดการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในปี 1986 แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังพบเห็นการล่าวาฬด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้กลับไปล่าวาฬเชิงพาณิชย์ จนในที่สุดในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่ญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์อีกครั้ง หลังถอนตัวออกจากข้อตกลง
สำนักข่าวเจแปนไทมส์ รายงานว่า กองเรือห้าลำของญี่ปุ่นจะเริ่มภารกิจล่าวาฬเชิงพาณิชย์ครั้งแรกทันทีในวันที่ 1 ของเดือนหน้า โดยพวกเขาวางแผนที่จะล่าวาฬ berardius (ปลาวาฬจงอย) ในน่านน้ำญี่ปุ่นแถบ Minamiboso ที่ใกล้กับกรุงโตเกียวเป็นเวลาสองเดือน ก่อนในช่วงปลายเดือนสิงหาคมจะจัดกลุ่มใหม่ในน่านน้ำ Kushiro ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เพื่อไล่ล่าวาฬมิงค์ต่อไป
ที่ผ่านมา แม้ญี่ปุ่นจะประกาศว่าให้ล่าวาฬเพื่อเหตุผล ‘ทางวิทยาศาสตร์’ เท่านั้น แต่ก็มีรายงานว่าระหว่างพฤศจิกายน 2017 ถึงมีนาคม 2018 มีการจับวาฬมิงค์ทั้งหมด 333 ตัว ซึ่ง 122 ตัวเป็นวาฬที่กำลังตั้งครรภ์ ทำให้เหตุผลที่ญี่ปุ่นอ้างต่อโลกว่าเป็นการล่าสัตว์เพื่อการวิจัยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกว่าเป็นการล่าปลาวาฬเพื่อการพาณิชย์ นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังล่าในน่านน้ำสากลและอาร์กติกที่เป็นพื้นที่ต้องห้าม
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกลับมาล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ แต่ขณะนี้ความต้องการเนื้อวาฬในญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ต่างจากช่วงปี 1960 ญี่ปุ่นมีการบริโภคเนื้อวาฬประมาณ 200,000 ตันในแต่ละปี ปัจจุบันตามข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นมีการบริโภคเนื้อวาฬประมาณ 5,000 ตันเท่านั้นและมีแรงงานในอุตสาหกรรมประมาณ 1,000 คน
Hisayo Takada ผู้อำนวยการโครงการกรีนพีซญี่ปุ่น กล่าวว่า มหาสมุทรและระบบนิเวศของโลกกำลังถูกคุกคามจากน้ำทะเลที่อุณหภูมิสูงขึ้นและเป็นกรด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุตสาหกรรมการประมง และมลพิษจากพลาสติก โดยวาฬนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัญหาทั้งหมดจำเป็นต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่ภัยคุกคามอย่างการล่าวาฬเชิงพาณิชย์นั้นสามารถหยุดยั้งได้ทันที
“น่าผิดหวังมากที่ญี่ปุ่นยอมสูญเสียความไว้วางใจจากประชาคมโลกในการกลับไปล่าวาฬเชิงพาณิชย์ กรีนพีซขอเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหา”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลหรือ WWF ระบุว่า ปัจจุบันวาฬจัดอยู่ในสัตว์ใกล้สูญพันธ์ โดยเฉพาะวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 300 ตัวและมีการลดจำนวนลงอย่างน่าวิตก ส่วนประชากรวาฬสายพันธ์อื่นๆ แต่ละสายพันธ์มีจำนวนแตกต่างกันไปซึ่งคาดว่ามีจำนวนรวมทั้งหมดอยู่ระหว่าง 10,000-90,000 ตัว
ที่มา
https://www.worldwildlife.org/species/whale
ที่มาภาพ: KYODO Kyodo/REUTERS
Tags: ล่าวาฬ