รัฐบาลใหม่ของอิตาลีสั่งให้ผู้อพยพ 82 ชีวิต ที่มากับเรือช่วยชีวิต โอเชียนไวกิ้ง สัญชาตินอร์เวย์ขึ้นฝั่งที่เกาะลัมเปดูซ่า เป็นหมุดหมายสำคัญของการสิ้นสุดนโยบายห้ามผู้อพยพขึ้นฝั่งของ นายแมตตีโอ ซัลวินี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยของอิตาลี

นับเป็นครั้งแรกในปีนี้ที่รัฐบาลในกรุงโรมอนุญาตให้เรือช่วยเหลือผู้อพยพของกลุ่มเอ็นจีโอขึ้นฝั่ง หลังจากเรือโอเชียนไวกิ้งที่ดำเนินการโดยองค์กรการกุศล เอสโอเอส เมดิเตอเรเนียน และ แพทย์ไร้พรมแดน จากฝรั่งเศส ร้องขอต่อรัฐบาลอิตาลีและรัฐบาลมอลต้า ให้ช่วยเหลือผู้อพยพที่โดยสารมากับเรือเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เรือโอเชียนไวกิ้ง พาผู้อพยพ 50 คน จากเรือที่อัปปางลงบนชายฝั่งประเทศลิเบียเมื่อวันที่ 8 กันยายน และรับผู้โดยสารเพิ่มเติมจากเรืออื่นโดยไม่มีที่กำบังที่เหมาะสมให้

รัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคไฟว์สตาร์มูฟเม้นต์ (M5S) ซึ่งมีแนวคิดวิพากษ์สหภาพยุโรป และพรรคเดโมเครติก (PD)  ซึ่งมีอุดมการณ์เป็นฝ่ายซ้ายกลาง อนุญาตให้เรือช่วยเหลือขึ้นฝั่งที่เกาะลัมเปดูซ่า แคว้นซิซิเลีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจนี้เป็นไปตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการยุโรป แม้ว่าจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการย้ายผู้อพยพไปประเทศอื่นโดยไม่ต้องขึ้นฝั่งที่ซิซิเลียด้วยก็ตาม

การอนุญาตให้เรือผู้อพยพขึ้นฝั่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัฐบาลใหม่ชนะการโหวตของสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลใหม่จะมีอำนาจเต็ม ซึ่งมีความตั้งใจจะแก้ปัญหาที่ถูกจุดโดยซัลวินี ผู้นำพรรคลีก พรรคการเมืองขวาสุดโต่ง

นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีซึ่งรับตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง ให้คำมั่นว่าจะทบทวนนโยบายต่อต้านการอพยพย้ายถิ่นของรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งทำให้มีการปิดท่าเรือไม่ให้เรือช่วยเหลือที่บรรทุกผู้อพยพเข้าฝั่ง นำไปสู่การจับกุมและเรียกค่าปรับจากเรือช่วยเหลือที่เข้าฝั่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเขาได้กล่าวในที่ประชุมยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันพุธว่า การปฏิเสธที่จะแบ่งเบาภาระของผู้อพยพควรได้รับการลงโทษทางการเงิน

ตั้งแต่ซัลวินีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 มีการเผชิญหน้าระหว่างเรือช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ของอิตาลีถึง 25 ครั้ง ด้วยกัน มีเรือลอยลำอยู่ในทะเลนานถึง 20 วัน ในช่วง 14 เดือน จากนโยบายของเขา

บ่อยครั้งที่เรือช่วยเหลือพยายามจะฝ่าการปิดล้อมของกองทัพเรือขึ้นฝั่งโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อที่จะให้ผู้อพยพได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสภาพจิตใจ นำไปสู่การจับกุมและลงโทษปรับอย่างหนัก เช่นกรณีของ คาโรลา แรคคีต กับตันเรือซี-วอทช์ 3 ที่นำเรือพร้อมผู้อพยพ 40 ชีวิต ฝ่าเข้าไปขึ้นฝั่งที่เกาะลัมเปดูซ่า ซึ่งเสี่ยงต่อการที่เรือของเธอจะชนเข้ากับเรือของกองทัพเรือที่พยายามขัดขวางให้เธอนำเรือเข้าท่า ทำให้เธอถูกจับกุม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

จากการอนุญาตให้เรือเข้าฝั่ง ซัลวินีได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า “รัฐบาลใหม่เปิดท่าเรือให้ผู้อพยพอีกครั้ง รัฐมนตรีใหม่ต้องเกลียดประเทศของเราแน่ อิตาลีกำลังจะกลับไปเป็นค่ายผู้ลี้ภัยของยุโรป”

 

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2019/sep/14/italys-new-government-says-migrants-can-disembark-from-rescue-boat?fbclid=IwAR0Ky6D8EFQ3hjaf6YvtYsSfdW8VrCHykcPsuCpPN9U_TXl_ooLtuRaXUkA

https://edition.cnn.com/2019/09/14/europe/italy-government-migrant-rescue-ship-intl/index.html

https://www.theguardian.com/world/2019/jun/29/sea-watch-captain-carola-rackete-arrested-italian-blockade

ภาพ: Alessandro SERRANO / AFP

Tags: ,