ทั้งที่อิตาลีเป็นประเทศก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ European Economic Community (EEC) และมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในสหภาพยุโรป แต่หากจะจำกัดความการเลือกตั้งอิตาลีที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า คงจะต้องบอกว่า ‘เงียบกริบ’ ในสายตาต่างชาติ อาจเป็นเพราะเป็นสนามที่มีแต่ตัวละครตัวเดิม แถมตัวละครใหม่ที่มาแรงก็เหมือนจะแรงไม่พอ จะจัดตั้งรัฐบาลได้ในรอบนี้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้
ถึงประเทศเก่าแก่ในยุโรปตอนใต้นี้จะโด่งดังในฐานะถิ่นกำเนิดของลัทธิฟาสซิสต์ แต่ตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสาธารณรัฐสังคมอิตาลี (Italian Social Republic) ในปี 1946 เราอาจพูดได้ว่าลัทธินี้ก็ได้ตายจากไปช้าๆ พร้อมกับการเริ่มต้นขึ้นของ The First Republic ยุคที่อิตาลีต้องข้ามผ่านกระบวนการฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และกระบวนการปรับตัวในยุคสงครามเย็น ก่อนที่จะเข้าสู่ยุค The Second Republic ที่เริ่มต้นด้วยการขึ้นครองอำนาจโดยคณะรัฐบาลแรกของซิลวีโอ แบร์ลุสโคนี (Silvio Berlusconi) ที่เราคุ้นเคย
แต่เมื่อไหร่ที่อิตาลีจะพ้นจากอิทธิพลของแบร์ลุสโคนีและก้าวเข้าสู่ The Third Republic ที่มีเอกภาพและอิสรภาพ? คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้จนกว่าการเมืองภายในของอิตาลีจะนิ่งกว่าที่เป็นอยู่ และประเด็นทางสังคมที่สำคัญอย่างนโยบายผู้อพยพและเรื่อง Italexit (การตัดสินออกจากการเป็นสมาชิก EU) จะชัดเจนกว่านี้ ซึ่งผลการเลือกตั้งอิตาลีที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคมอาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่า The Third Republic จะเกิดขึ้นจริงตามที่นักวิเคราะห์รอคอยหรือไม่ หรืออิตาลีจะยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านต่อไปอีกนาน
ปูพื้นฐานการเลือกตั้งอิตาลี 2018
อิตาลีไม่ใช่ประเทศที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ถูกประกบด้วยออสเตรีย สโลวีเนีย สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ประกอบด้วย 20 แคว้นที่ล้วนแล้วแต่มีรัฐบาลของตนเอง ทำให้เป็นการยากที่จะปกครองทุกแคว้นและทุกภูมิภาคได้ตามเป้าประสงค์ของรัฐบาลกลาง เพราะในช่วงเวลาหนึ่ง รัฐบาลกลางที่ถืออุดมการณ์หนึ่งก็อาจจะเห็นแย้งกับรัฐบาลของแคว้นต่างๆ ที่ถูกเลือกขึ้นมาด้วยความต้องการเฉพาะของประชาชนในแต่ละแคว้นอย่างเรื่องเชื้อชาติ
เช่นที่ Trieste เมืองหลวงของแคว้น Friuli-Venezia Giulia ทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดชายแดนสโลวีเนีย และเพิ่งถูกผนวกเข้ามาเป็นอิตาลีในปี 1963 ประชาชนมีทั้งที่พูดภาษาอิตาเลียนและสโลวีเนียน และพวกเขาก็มักจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอิตาเลียนเท่าไร เพราะถูกปกครองโดยราชวงศ์ Habsburg มานาน
ในขณะที่ภูมิภาคอื่นจะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนีโอ-ฟาสซิสต์ และการตอบโต้จากฝ่ายตรงข้ามอยู่บ่อยครั้ง ในรอบเดือนที่ผ่านมา หลังการประกาศยุบสภาเมื่อกลางเดือนธันวาคมเพื่อที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็เกิดการปะทะขึ้นหลายครั้งทั้งในโบโลญญา เนเปิลส์ และเวนิซ โดยเฉพาะเมืองหลวงของนักศึกษาในอิตาลีอย่างโบโลญญาที่พรรคขวาจัด Forza Nuova ประกาศเดินขบวนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจนมีคนได้รับบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าห้าคนจากการเข้าปราบปรามของตำรวจ
ในช่วงเวลาหนึ่ง รัฐบาลกลางที่ถืออุดมการณ์หนึ่งก็อาจจะเห็นแย้งกับรัฐบาลของแคว้นต่างๆ ที่ถูกเลือกขึ้นมาด้วยความต้องการเฉพาะของประชาชนในแต่ละแคว้นอย่างเรื่องเชื้อชาติ
แต่เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งจะก็ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าปัจจัยรอบข้างจะเอื้อหรือไม่ และทุกการเลือกตั้งก็มีเหตุผลของมัน ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาทำงานครบวาระแล้ว หรือการเมืองภายในมีอุปสรรค ในกรณีของอิตาลีนั้นเป็นอย่างหลัง
หลังจากแบร์ลุสโคนีโดนถล่มเรื่องโกงภาษีและข่าวฉาวต่างๆ จนโดนตัดสิทธิทางการเมืองไป พรรคกลางซ้ายอย่าง Democratic Party (PD) และแนวร่วมก็ขึ้นมาปกครองแทน แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร และไม่สามารถแก้ปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย แก้ปัญหาอัตราการว่างงาน และกำจัดหนี้ของประเทศได้ มาถึงตอนที่นายกฯ แมททีโอ เรนซี (Matteo Renzi) (PD) ทำประชามติเมื่อปลายปี 2016 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มี ‘โหวตโน’ มากกว่า เขาจึงลาออกและให้เปาโล เจนติโลนี (Paolo Gentiloni) ขึ้นเป็นนายกฯ แทนจนถึงปัจจุบัน
แต่ในระยะหนึ่งปีหลังเรนซีลาออก ปัจจุบันของอิตาลีก็ไม่ได้สดใสขึ้น ทำให้ความนิยมตีกลับมาที่ฝ่ายกลางขวาที่นำโดยพรรค Forza Italia (FI) ของแบร์ลุสโคนี แต่ในขณะเดียวกัน ดาวเด่นอย่างพรรค Five Star Movement (M5S) ที่เป็น Populist ก็ขึ้นมาชิงพื้นที่ข่าวจากฝ่ายกลางขวาอย่างไม่สะทกสะท้าน
สามแคนดิเดตและตัวละครในสนามแข่ง
นอกจากนโยบายจะเป็นตัวแปรในการตัดสินใจของประชาชนแล้ว อีกตัวแปรคือการที่แต่ละฝ่ายจะเข้าแข่งอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ เพราะเรื่องที่ ‘ชัวร์’ ที่สุดในการเลือกตั้งอิตาลีก็คือการเกิดขึ้นของรัฐบาลผสม เพราะต้องได้คะแนนเสียงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จึงจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีพรรคเล็กพรรคน้อยมากมายให้แปะมือจอยกัน คล้ายกับบ้านเราสมัยยังมีการเลือกตั้งนี่เอง ซึ่งเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายกลางซ้าย กลางขวา และ Populist
-
แมททีโอ เรนซี กับความแตกแยกในฝ่ายกลางซ้าย
แมททีโอ เรนซี (PD) แคนดิเดตของฝ่ายกลางซ้ายคืออดีตนายกฯ ที่กำลังอยู่ช่วงขาลง ฐานเสียงของพรรคคือประชาชนในตอนกลางของประเทศ ผู้มีการศึกษาสูง และผู้สูงอายุ แนวทางของเรนซีคือ Pro-European เขากล่าวว่าจะเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ สนับสนุนการรวมกลุ่มทางสังคมของผู้อพยพในอิตาลี พร้อมกับผลักดันนโยบายการรับผู้อพยพที่เด็ดขาดขึ้น ซึ่งเป็นการปรับตัวตามแรงกดดันของฝ่ายขวา
แต่หากจะชนะในครั้งนี้ นอกจากจะต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานได้แล้ว ดูเหมือนเรนซียังต้องซื้อใจปีกซ้ายในพรรค ชนชั้นแรงงาน และฝ่ายซ้ายเก่าที่บางส่วนสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียม กลุ่มการเมืองที่แยกตัวออกมาจาก PD ซึ่งหวังคะแนนจากคนที่ไม่ชอบความกลางเกินไปของพรรคและสไตล์การปกครองของเรนซี่ให้ได้ด้วย
-
ซิลวีโอ แบร์ลุสโคนี กับความเหนียวแน่นของฝ่ายกลางขวา
ซิลวีโอ แบร์ลุสโคนี (FI) กลับมาอีกครั้งด้วยความหวังว่าจะถูกเลิกแบนและได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่งภายใต้แนวทางเดิม โดยมีแนวร่วมที่แข็งแกร่งอย่าง Brothers of Italy พรรคขวาจัดที่นำโดยจอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) นักการเมืองหญิงวัย 41 ปีผู้เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลแบร์ลุสโคนี ได้รับการตอบรับที่ดีทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ และ The Northern League พรรคขวาชาตินิยมที่เดินตามแนวทาง Front National ของฝรั่งเศส มีจุดขายอยู่ที่แนวทาง Eurosceptic และ Anti-immigrant มีฐานเสียงอยู่ทางตอนเหนือ แต่เพิ่งเปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า The League เพื่อเพิ่มฐานเสียงทางตอนใต้
จากโพลล์และกระแสข่าว หนึ่งในสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้น่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันจัดตั้งรัฐบาลของสามพรรคนี้ที่มีจุดยืนและนโยบายที่คล้ายคลึงกัน แบร์ลุสโคนีประกาศจะขับไล่ผู้อพยพที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย 600,000 คนออกจากประเทศ เมโลนีประกาศว่าเด็กที่เกิดในอิตาลีจะไม่ได้สัญชาติหากพ่อแม่เป็นคนต่างชาติ และ The League ประกาศจะส่งผู้อพยพกลับประเทศให้ได้ปีละ 100,000 คน แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า Brothers of Italy และ The League จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ FI เพราะยังมีอีกตัวละครเด่นที่สองพรรคนี้อาจเลือกสนับสนุนแทน FI นั่นก็คือ Luigi Di Maio จาก M5S
-
ลุยจิ ดิ มาโย (Luigi Di Maio) กับการโดดเดี่ยวตัวเองของกลุ่ม Populist
ลุยจิ ดิ มาโย วัย 31 ปี ดาวเด่นของการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแคนดิเดตจาก Five Star Movement (M5S) พรรคการเมืองสาย Populist / Anti-establishment ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 ฐานเสียงคือคนหนุ่มสาวและคนว่างงาน นโยบายหลักของ M5S คือการปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 780 ยูโร แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ เพิ่มภาษีบริษัทพลังงาน และพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซีย
ดิ มาโย มีคะแนนนำโด่งในโพลล์หลายเจ้า นั่นคือสูงถึง 28-29 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่น นี่เองที่ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า หากเขาไม่ยอมก็คงไม่มีโอกาสได้นั่งเก้าอี้นายก แต่หากเขายอมก็อาจจะเกิดการรวมกลุ่มกับ Brothers of Italy และ The League เพราะทั้งสามพรรคนั้นเป็น Eurosceptic เหมือนกัน อย่างที่ Financial Times คาดการณ์ไว้ รวมทั้งบอกว่า นี่คงเป็นภาพที่ EU ไม่อยากเห็นที่สุด
ถ้าขวาชนะ จะขวาได้แค่ไหน?
มาถึงตรงนี้นักวิเคราะห์และผู้เขียนเองเชื่อว่านี่คือขาลงของ PD ด้วยเหตุผลหลักคือ ประชาชนเหลืออดกับการบริหารงานของฝ่ายกลางซ้ายและพลังของปีกคอมมิวนิสต์ที่อ่อนแรง ฉะนั้น คำถามต่อไปก็คือ หากฝ่ายขวาและ FI ชนะ หรือ M5S ยอมจัดตั้งรัฐบาลผสม รัฐบาลใหม่ของอิตาลีจะกลายเป็นรัฐบาลขวาจัดหรือไม่ กระแส Racism / Xenophobia / Anti-immigrant จะเลวร้ายขนาดไหน และความเป็นไปได้ของ Italexit จะสูงอย่างที่เคยมีสื่อหลายเจ้าคาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้วหรือไม่
ความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นจริงแน่นอนและแอบซ่อนตัวอยู่ในมุมลึกของสังคมอิตาลีอย่างแนบเนียน แต่การสร้างสถานการณ์ของกลุ่มขวาจัดก็ยังไม่ได้บ่งบอกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศในนาทีนี้มีเซนส์ของความเหยียดเชื้อชาติสูงถึงขีดสุด เพราะปัญหาหลักที่ประชาชนอิตาลีโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกังวลที่สุดก็ยังเป็นเรื่องปากท้อง และดูเหมือนแบร์ลุสโคนีเองก็ใช้นโยบายการขับไล่ผู้อพยพเพื่อเป็นการจับมือกับ The League เป็นหลัก ถึงอาจจะใช้นโยบายนี้ขึ้นมาจริงๆ หากวิกฤติผู้อพยพในอิตาลีจะรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต
ส่วนกระแสที่ว่าจะเกิด Italexit นั้นน่าจะตัดทิ้งไปได้ในตอนนี้ เพราะไม่มีฝ่ายไหนหรือพรรคใดใช้ความเป็นไปได้ของ Italexit มาเป็นนโยบายหลัก การออกจาก Eurozone และเปลี่ยนสกุลเงินกลับไปเป็น lira อย่างที่ใช้มาก่อนปี 2002 ก็ไม่ได้ขายออก เพราะสถานการณ์ของอิตาลีไม่ได้แย่เท่ากรีซตอนปี 2010 แถมยังไม่ได้รับประกันว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะตอนยังใช้ lira ก็มีวิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นเดียวกัน ส่วน M5S ที่เคยสนับสนุนการออกจาก Eurozone ก็ต้องยอมกลับลำเมื่อ Di Maio ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตและประกาศว่าจะต่อต้านฝ่าย Anti-European
การสร้างสถานการณ์ของกลุ่มขวาจัดก็ยังไม่ได้บ่งบอกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศในนาทีนี้มีเซนส์ของความเหยียดเชื้อชาติสูงถึงขีดสุด เพราะปัญหาหลักที่ประชาชนอิตาลีโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกังวลที่สุดก็ยังเป็นเรื่องปากท้อง
นอกจากนั้นทุกพรรคยังมีนโยบายการแก้ปัญหา Fiscal compact กับ EU เช่น FI และ M5S บอกว่าจะทำการเจรจาต่อรอง ส่วน PD นั้นบอกว่าจะร่วมมือกับ EU คล้ายจะส่งสัญญาณว่าสายสัมพันธ์นี้จะยังดำเนินต่อไป
สุดท้ายแล้ว เราเชื่อว่าสถานการณ์ของอิตาลีทั้งในแง่การเมืองภายใน การเมืองระหว่างประเทศ และการโอบรับกระแสขวาจัดนั้นจะยังไม่ถึงจุดวิกฤติหลังการเลือกตั้งครั้งนี้หรือในเร็ววันนี้ แต่หากจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ อิตาลีอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนถึงปีหน้า แต่นั่นก็เป็นการเลื่อนตามระบบที่ได้มีการตกลงกันตามรัฐธรรมนูญ หาใช่การเลื่อนจนมองไม่เห็นจุดหมายแบบที่เกิดในประเทศที่ถูกรัฐประหารใส่เบรคมือเอาไว้ไม่
อ้างอิง
- https://ig.ft.com/italy-poll-tracker/
- https://www.thelocal.it/20180125/who-is-running-italy-2018-election
- https://www.theguardian.com/world/2018/feb/07/italys-election-everything-you-need-to-know
- https://www.theguardian.com/world/2018/feb/09/giorgia-meloni-brothers-of-italy-party-friendly-face-surging-far-right
- https://www.jacobinmag.com/2018/01/italian-election-berlusconi-five-star-movement
- https://www.jacobinmag.com/2018/02/italian-elections-berlusconi-five-star-movement-italexit