ผลการโหวตครั้งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยกฎหมายทำแท้งแห่งประเทศไอร์แลนด์ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พ.ค ที่ผ่านมา มีผู้ลงคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 67 สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายห้ามทำแท้ง และนอกจากแสดงถึงความตระหนักเกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงแล้ว ผลที่ออกมาก็สะท้อนให้เห็นว่าศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคกำลังมีบทบาทน้อยลงในวัฒนธรรมไอร์แลนด์

ย้อนไปเมื่อปี 1983 ที่ไอร์แลนด์แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 8 ส่งผลให้แม่และทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มีสิทธิเท่าเทียมกัน การทำแท้งเกือบทุกประเภทในไอร์แลนด์จึงผิดกฏหมาย ทั้งยังเป็นกฎหมายห้ามทำแท้งที่เข้มงวดที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากบทบาทของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคที่มองว่าการทำแท้งคือบาปมหันต์ โทษสูงสุดของผู้หญิงที่พยายามทำแท้งคือจำคุกไม่เกิน 14 ปี จนเมื่อปี 2013 เพิ่งมีข้อยกเว้นให้แม่ที่มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต

เชื่อกันว่าแต่ละปี ผู้หญิงไอร์แลนด์หลายพันคน ทั้งคนที่ถูกข่มขืนทั้งโดยคนแปลกหน้าและคนในครอบครัว ผู้หญิงที่ตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติ หรือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ ล้วนแต่ต้องไปทำแท้งที่ประเทศอังกฤษ

ในการลงมติที่ปราสาทดับบลิน ศูนย์ราชการซึ่งจุคนได้ประมาณห้าพันคน ฝูงชนที่โหวตรับมารวมตัวกัน ปรบมือ ส่งเสียงร้องแสดงความรู้สึกยินดี

อายบีห์ สมายธ์ (Ailbhe Smyth) ผู้อำนวยการร่วมของโครงการ Together For Yes กล่าวชื่นชมคนหนุ่มสาวซึ่งทำงานอย่างหนักในการรณรงค์ และการมีส่วนร่วมของหนุ่มสาวก็ทำให้เธอมีความหวังกับอนาคตของประเทศ

เบรนแดน ลินช์ (Brendan Lynch) อายุ 81 ปี ยืนอยู่ระหว่างคนหนุ่มสาวที่กำลังดื่มไวน์และแม่ที่ลูกของเธอนอนหลับในรถเข็นบอกว่า เขามีความสุขที่ไอร์แลนด์ก้าวออกมาจากอดีตของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือการที่ศาสนาคริสต์ นิกายคาธอลิค “ควบคุมทุกอย่าง” เขารู้ดีว่าตัวเองคิดต่างจากคนวัยเดียวกัน ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นออกมาว่า คนที่โหวตไม่รับส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

“ผมไม่คิดว่าจะได้อยู่เห็นวันนี้ ผมยินดีมากๆ และเสียใจกับผู้หญิงทุกคนที่ต้องไปอังกฤษเพื่อทำแท้ง ตอนนี้มันสิ้นสุดลงแล้ว”

เอมมา กัลลาเกอร์ (Emma Gallagher) อายุ 22 ปี ร้องไห้ด้วยความยินดี “ฉันรู้สึกปลอดภัย สบายใจ ฉันรู้สึกมาตลอดเวลาว่าผู้หญิงไม่สำคัญ ตอนนี้เรารู้แล้วว่า เราสำคัญ” ข้างๆ เธอคือเรเน โวแกน (Rene Wogan) ผู้หญิงอายุ 66 ปี ซึ่งบอกว่าเธอไม่ได้ไปออกเสียงในการประชามติครั้งก่อนเมื่อปี 1983 เพราะกลัวที่จะแสดงออกว่าต่อต้านบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมในเวลานั้น ตอนนี้เธอบอกว่ามันต่างกัน และทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อความยุติธรรม

ลีโอ วารัดการ์ (Leo Varadkar) นายกรัฐมนตรีซึ่งโหวตให้ยกเลิกกฎหมายนี้บอกว่า ผลออกมาเป็น “การปฏิวัติเงียบ” และกล่าวว่าผู้มีสิทธิออกเสียงแสดงให้เห็นว่า พวกเขา “ไว้ใจและเคารพผู้หญิงในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง” เขาบอกว่าวันเสาร์หลังจากที่รู้ผลประชามติจะเป็นวันที่ถูกจดจำไว้ว่า “ไอร์แลนด์โอบรับความรับผิดของของพวกเราในฐานะพลเมือง และในฐานะประเทศ วันที่ไอร์แลนด์ก้าวออกมาจากการอยู่ใต้เงาของตัวเองมาสู่แสงสว่าง วันที่เราข้ามพ้นวัยมาในฐานะประเทศ วันที่เราได้รับการยอมรับจากชาติต่างๆ”

แต่ไม่ใช่ทุกคนในไอร์แลนด์จะดีใจกับผลที่ออกมานี้

จอห์น แมคเคิร์ค (John McGuirk) ผู้อำนวยการการสื่อสารของกลุ่มต่อต้านการทำแท้ง Save the 8th โพสต์บนเฟซบุ๊กของกลุ่มว่า “เมื่อวานการทำแท้งเป็นความผิด วันนี้มันก็ยังผิดอยู่”

ส่วนคอรา เชอร์ล็อค (Cora Sherlock) โฆษกของกลุ่ม LoveBoth ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการทำแท้งให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ในไอร์แลนด์ว่า “มันเป็นวันที่น่าเศร้ามากสำหรับไอร์แลนด์ ประชาชนลงคะแนนให้การทำแท้ง ฉันคิดว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นของขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านการทำแท้ง เราจะรวมกลุ่มอีกครั้ง จะจัดองค์กรใหม่เพื่อให้แม่และทารกในไอร์แลนด์ปลอดภัย”

ฝ่ายเซียรัน แคนนอน (Ciaran Cannon) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพลัดถิ่นและพัฒนาระหว่างประเทศประกาศทางทวิตเตอร์ว่า เขาโหวตไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมาย แต่เขาบอกว่าเขาเคารพผลการลงประชามติที่ออกมา และจะ “โหวตตามเจตจำนงของประชาชนของเราที่แสดงออกมาในวันนี้”

กระบวนการแก้ไขกฏหมายจะเริ่มต้นในวันอังคารที่ 29 ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ร่างกฎหมายจะเข้าสู่สภาในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และคาดว่าการแก้ไขกฎหมายจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ซึ่งจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ ในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และไม่เกิน 24 สัปดาห์ในกรณีที่ความต้องการเป็นพิเศษ

นักรณรงค์เพื่อปฏิรูปการทำแท้งในไอร์แลนด์กล่าวว่า อยากให้กฎหมายนี้มีชื่อว่า ‘ซาวิตา ฮารัปปานาวาร์’ (Savita Halappanavar) อันเป็นชื่อของผู้หญิงอายุ 31 ปีที่เสียชีวิตหลังจากถูกปฏิเสธไม่ให้ทำแท้งในปี 2012 หลังจากทราบผลประชามติ มีผู้คนหลั่งไหลไปวางดอกไม้และข้อความ จุดเทียนที่หน้ารูปของฮารัปปานาวาร์ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์

บางข้อความบอกว่า “ขอโทษที่เราช้าเกินไป แต่เราอยู่ที่นี่แล้ว เราไม่ได้ลืมคุณ” อีกข้อความหนึ่งบอกว่า “เราเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความทุกข์ที่คุณมี คุณได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์และชะตาชีวิตของพวกเรา”

ที่มา:

https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2018/05/26/irish-antiabortion-campaign-promises-to-regroup-as-ban-is-overturned/

https://www.theguardian.com/world/2018/may/27/ireland-to-start-abortion-law-reform-after-historic-vote

https://edition.cnn.com/2018/05/26/europe/ireland-abortion-referendum-yes-vote-reaction-intl/index.html

https://www.theguardian.com/world/2018/may/27/church-must-recommit-to-supporting-life-after-irish-abortion-vote-archbishop