กลิ่นเหม็นเน่ากระจายฟุ้งในอากาศให้สัมผัส ก่อนที่นักล่ากวางจะก้าวขึ้นไปบนซากรถบัสสีขาว-เขียว สาย 142 พวกเขาต้องใช้มืออุดจมูก รถประจำทางคันดังกล่าวจอดร้างอยู่บนเนินเล็กๆ บนเส้นทางสแตมปีดมานานนับทศวรรษ บรรดานักล่าสัตว์และนักเดินทางมักใช้รถเก่าขึ้นสนิมคันนี้เป็นแหล่งหลบภัยกลางป่าของอลาสกา กลุ่มชายนักล่ายืนชะล่าใจอยู่ตรงประตูรถ ก่อนเหลือบไปเห็นแผ่นกระดาษที่เสียบอยู่ตรงซอก บนแผ่นกระดาษมีตัวอักษรขยุกขยิก…
“S.O.S. ผมต้องการความช่วยเหลือ ผมบาดเจ็บสาหัสปางตาย ร่างกายผมอ่อนแอเกินกว่าจะออกไปจากที่นี่ ผมอยู่คนเดียว นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ในนามของพระเจ้า คุณอย่าเพิ่งจากไป ได้โปรดช่วยชีวิตผมด้วย”
พวกเขากลั้นหายใจก่อนย่างเท้าผ่านประตูขึ้นไปบนรถ แล้วพบเห็นภาพชวนสยอง ในถุงนอนสีฟ้าบนฟูกสกปรก มีศพของชายคนหนึ่งซุกอยู่ สภาพร่างกายซูบ แก้มยุบ เนื้อตัวเปื่อยเน่า พอคาดเดาได้ว่าเขาเสียชีวิตมานานนับสัปดาห์แล้ว ในภายหลังเป็นที่รับรู้ว่า หนุ่มผู้ตายชื่อ คริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ (Christopher McCandless) นักพเนจรจากแคลิฟอร์เนีย ผู้ปรารถนาจะใช้ชีวิตในป่า กระทั่งกลายมาเป็นศพ
ชะตาชีวิตของเขาทำให้คนนับล้านทั่วโลกอกสั่นขวัญหาย ทั้งบทความในหนังสือพิมพ์ หนังสือ สารคดีพากันรายงานถึงการเดินทางผจญภัยของเขาผ่านหุบเขา ทะเลทราย และสายน้ำในเกือบ 15 รัฐของอเมริกา นักดนตรีแต่งเพลงอุทิศให้กับการผจญภัย เรื่องราวชีวิตของเขากลายเป็นหนังสือบังคับอ่านในหลายมหาวิทยาลัย สถานที่ซึ่งคริส แม็คแคนด์เลสส์ใช้ชีวิตในช่วงเดือนสุดท้าย ก่อนที่เขาจะหิวโหยอย่างโดดเดี่ยว กลายเป็นที่แสวงบุญ
แอตแลนตาเป็นจุดเริ่มต้น ในเดือนกรกฎาคม 1990 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย หนุ่มแม็คแคนด์เลสส์วัย 22 ก็ขับรถดัตสันคันสีเหลืองของเขาออกจากเมือง ก่อนเดินทาง เขานำเงินที่เก็บออมได้ทั้งหมดมอบให้กับองค์กรช่วยเหลือสังคม เขาไม่ได้เขียนจดหมายลา เขาไม่บอกกล่าวแม้กระทั่งพ่อแม่ หรือน้องสาวเกี่ยวกับสิ่งที่เขาจะทำ
คริส แม็คแคนด์เลสส์เคยวาดฝันมานานถึงการเปลี่ยนแปลงโลก การไปใช้ชีวิตรูปแบบอื่นที่แตกต่างจากพ่อแม่ เขาชื่นชอบนักเขียนอย่าง ลีโอ โตลสตอย, แจ็ค ลอนดอน และเฮนรี เดวิด ธอโร ที่สาปส่งสังคมทุนนิยม และชื่นชมความกล้าของพวกเขาในการวิพากษ์วิจารณ์ ก้าวเดินออกจากระบบ และไปใช้ชีวิตที่แตกต่าง
แม็คแคนด์เลสส์เขียนบันทึก และถ่ายภาพสถานที่ทุกแห่งระหว่างการเดินทาง ในภาพถ่ายเขายิ้มสดใส กับผู้คนที่เขาพบเจอระหว่างทาง บางภาพเป็นภาพเดี่ยวของเขา ถ่ายคู่กับเหยื่อที่เขาล่ามาได้ หรือบางภาพเป็นธนบัตรที่เขาถ่ายตอนจุดไฟเผามัน ในสมุดบันทึก แม็คแคนด์เลสส์ไม่ได้ใช้ชื่อจริงของตนเอง เขาตั้งชื่อเสียใหม่ว่า ‘อเล็กซานเดอร์ ซูเปอร์แทรมป์’ (Alexander Supertramp) และบ่อยครั้งเขามักเขียนแทนตนเป็นบุคคลที่สาม เรื่องราวของเขาเต็มไปด้วยความรู้สึกโปร่งสบายและข้อคิดส่วนตัว
คริส แม็คแคนด์เลสส์เคยวาดฝันมานานถึงการเปลี่ยนแปลงโลก การไปใช้ชีวิตรูปแบบอื่นที่แตกต่างจากพ่อแม่
บนเส้นทางการผจญภัย แม็คแคนด์เลสส์พบเจอนักเดินทาง บุปผาชน และชาวนาชาวไร่ เขาโบกรถ กระโดดลงบนหลังคารถไฟที่กำลังแล่น พายเรือแคนูจากแม่น้ำไปสู่ท้องทะเล ต้องเผชิญกับอันตรายถึงชีวิตหลายต่อหลายครั้ง ส่วนใหญ่เพราะความขาดประสบการณ์หรือความไร้เดียงสา เขากลับเข้าไปพักในเมืองไม่กี่สัปดาห์ เพื่อทำงานในร้านอาหารฟาสต์ฟูด จากนั้นก็ออกไปยืนโบกรถที่ริมถนนอีกครั้ง ไม่มีสถานที่ไหนที่เขาพักค้างนานเกินกว่าสองเดือน เขาเขียนจดหมายถึงผู้คนที่เขาพบเจอระหว่างการเดินทางสม่ำเสมอ หรือไม่ก็จะแวะเวียนไปเยี่ยม จะมีก็แต่ครอบครัวของเขาเท่านั้นที่เขาไม่เคยติดต่อกลับไป
“ฉันเข้าใจมาตลอดว่าทำไมเขาถึงออกจากบ้านไป” แครีน แม็คแคนด์เลสส์ (Carine McCandless) น้องสาวของเขาเล่าในเวลาต่อมา “รวมทั้งทำไมเขาถึงหนีไปอย่างนั้น มันคือวิธีที่เขาจัดการกับปัญหาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัยเด็กของเรา เขาคิดเอาเองว่า การที่เขานิ่งเงียบจะไม่ทำให้ใครเจ็บปวด”
ในเดือนกุมภาพันธ์ 1991 คริส แม็คแคนด์เลสส์เขียนลงในสมุดบันทึกของเขา…
“นี่ยังเป็นอเล็กซ์ คนเดียวกับที่หนีออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 1990 หรือไม่ การอดอาหารและการใช้ชีวิตบนถนนทำให้ร่างกายของเขาซูบผอม น้ำหนักตัวลดลงกว่า 25 ปอนด์ สภาพจิตใจคงไม่ดีไปกว่าแน่ๆ”
แม็คแคนด์เลสส์ใช้เวลากว่าสองปีเพื่อไปถึงอลาสกา เขาคาดหวังว่าธรรมชาติป่าที่นั่นจะทำให้เขาค้นพบชีวิตแบบบริสุทธิ์และดั้งเดิม ในเดือนเมษายน 1992 เขาจัดเตรียมข้าวของเท่าที่จำเป็นให้พร้อมเพื่อเข้าป่า ในเป้ของเขาบรรจุเพียงถุงข้าวสารห้ากิโลกรัม ปืนคาลิเบอร์กระบอกเล็ก รองเท้าบูตยาง และหนังสืออีกนับสิบเล่ม ไม่มีขวาน ไม่มีเข็มทิศ ไม่มีแผนที่ หลายต่อหลายคนที่พบเจอแม็คแคนด์เลสส์ก่อนการผจญภัยอลาสกาของเขา ต่างมีความเห็นตรงกันว่า เขาไม่มีประสบการณ์ ไร้เดียงสา และหัวรั้น เขาไม่เชื่อคำแนะนำของใครเลย รวมทั้งมองไม่เห็นภยันตรายของป่าใหญ่
แต่จริงๆ แล้วแม็คแคนด์เลสส์พอหยั่งรู้ได้ถึงความเสี่ยงกับการเดินทางตามลำพัง โปสการ์ดแผ่นสุดท้ายที่เขาเขียนส่งถึงเพื่อนคนหนึ่ง มีประโยคอำลา…
“การผจญภัยครั้งนี้อาจจะจบลงด้วยความตาย เป็นไปได้ว่าแกอาจจะไม่ได้ข่าวจากฉันอีก แต่อย่างไรเสียฉันก็ยังอยากให้แกรู้ว่า ฉันชื่นชมแกมาก ฉันจะต้องเข้าป่าแล้วละ”
หลายต่อหลายคนที่พบเจอแม็คแคนด์เลสส์ก่อนการผจญภัยอลาสกาของเขา ต่างมีความเห็นตรงกันว่า เขาไม่มีประสบการณ์ ไร้เดียงสา และหัวรั้
การเอาตัวรอดในภูมิประเทศเวิ้งว้างและทุรกันดารบนเส้นทางสแตมปีด สำหรับแม็คแคนด์เลสส์แล้วนับเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด นานๆ ครั้งเขาถึงได้กินเนื้อกวาง หรือหมูป่า ไม่ก็ผลเบอร์รีเป็นอาหาร บ่อยครั้งเขาต้องอดอยาก ร่างกายของเขาซูบผอมลงอย่างรวดเร็ว
กระทั่งเมื่ออาหารที่พกพามาด้วยใกล้หมดเต็มที หนุ่มนักผจญภัยก็เริ่มใจคอไม่ดี เขาตัดสินใจที่จะผละออกจากซากรถบัส และเดินทางกลับเข้าสู่เมือง สภาพภูมิประเทศในฤดูหนาวจะปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็ง แต่ในฤดูร้อนมันคือแม่น้ำสายเชี่ยวที่กั้นขวาง และแม่น้ำสายเชี่ยวนี่เองทำให้แม็คแคนด์เลสส์ประสบเคราะห์ร้าย แม่น้ำเทคลานิคา-ที่เขาเคยข้ามผ่านแบบสบายๆ เมื่อเดือนเมษายน ครั้นเมื่อน้ำแข็งละลายมันกลับกลายเป็นสายน้ำเชี่ยวกราก และนั่นคือมหันตภัยสำหรับแม็คแคนด์เลสส์ เขาต้องย้อนกลับไปที่ซากรถบัสที่พักอย่างผู้แพ้ และเขียนระบายลงในสมุดบันทึก…
“เป็นไปไม่ได้เลยที่จะข้ามแม่น้ำไป รู้สึกโดดเดี่ยว กลัว”
หากว่าในเวลานั้น คริส แม็คแคนด์เลสส์ มีแผนที่ติดเป้ไปด้วย เขาคงจะเห็นว่า ถัดจากจุดนั้นไปเพียง 10 กิโลเมตรมีกระเช้าที่เขาสามารถลากตนเองข้ามแม่น้ำไปได้ ตราบถึงทุกวันนี้ ชาวอลาสกาหลายคนยังส่ายหน้าให้กับความดื้อรั้นไร้เดียงสาของแม็คแคนด์เลสส์ บางคนเรียกเขาว่าเป็นนักฝันอ่อนหัด ที่มีความกล้า แต่ปราศจากประสบการณ์ จนต้องเอาชีวิตมาทิ้ง
ตรงข้ามกับบรรดาสาวกของแม็คแคนด์เลสส์ ที่ยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษ เป็นหนุ่มชายขอบผู้แสวงหาอารยธรรมดั้งเดิมของความเป็นอเมริกัน พวกเขาชื่นชมในอุดมการณ์และความมุ่งมั่นของเขา จอน คราเคาเออร์ (Jon Krakauer) ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของแม็คแคนด์เลสส์ที่ขายดี ก็เป็นหนึ่งในจำนวนสาวก
“แม็คแคนด์เลสส์ไม่ใช่คนเพ้อพก หรือเป็นคนสิ้นหวังไร้ทิศทาง ตรงกันข้าม เขายังอยากมีชีวิต ยังอยากใช้ชีวิตที่เข้มข้นเท่าที่จะเป็นไปได้ และเขารู้ด้วยว่าเพื่ออะไร”
วันที่ 30 กรกฎาคม 1992 แม็คแคนด์เลสส์บันทึกข้อสังเกตเกี่ยวกับตนเอง “รู้สึกหมดแรง คงเพราะเมล็ดมันฝรั่ง แทบยืนไม่ไหวแล้ว หิว ถึงขีดสุดของอันตราย”
หกวันถัดมาครบรอบ 100 วันการผจญภัยในป่าของเขา เขาบันทึกว่า “ครบร้อยวัน! สำเร็จแล้ว! แต่ไร้เรี่ยวแรงเหมือนคนใกล้ตาย ไม่น่าเชื่อ อ่อนแรงเกินกว่าจะออกไปจากที่นี่ ติดกับดัก”
วันที่ 12 สิงหาคม เขาเขียนบันทึกเพียงว่า “บลูเบอร์รีที่งดงาม” วันที่ 18 สิงหาคม…133 วันของการเดินป่า แม็คแคนด์เลสส์ยุติการบันทึก
ตอนที่กลุ่มนักล่ากวางพบร่างของแม็คแคนด์เลสส์ในถุงนอนบนรถบัสในเดือนกันยายน 1992 น้ำหนักตัวของเขาเหลือเพียง 33 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบกลักฟิล์มที่ยังไม่ได้ล้างบริเวณใกล้กันกับศพ ภาพสุดท้ายบนแผ่นฟิล์มเป็นภาพแม็คแคนด์เลสส์โบกมือให้กับกล้อง ผมเผ้ากระเซิง ร่างกายซูบผอม เขายิ้ม ส่งข่าวเป็นข้อความสุดท้ายในกล้อง…
“ที่ผ่านมาผมมีชีวิตที่มีความสุข และรู้สึกขอบคุณพระเจ้าสุดหัวใจ ลาก่อน และขอพระเจ้าอวยพรทุกคน!”
“ที่ผ่านมาผมมีชีวิตที่มีความสุข และรู้สึกขอบคุณพระเจ้าสุดหัวใจ ลาก่อน และขอพระเจ้าอวยพรทุกคน!”
20 ปีหลังความตายของคริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ รถบัสขึ้นสนิมคันนั้นยังจอดนิ่งอยู่บนเส้นทางสแตมปีด นักเดินป่าหลายพันคนพากันแห่แหนไปที่นั่น เพื่อไปสัมผัสกับบรรยากาศและสถานที่ซึ่งแม็คแคนด์เลสส์เคยใช้ชีวิตก่อนสิ้นชีพ พวกเขามาจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย เดินทางด้วยสกีโมบายล์ รถเลื่อนสุนัข จักรยานภูเขา หรือเดินเท้า ในอินเทอร์เน็ตมีทั้งภาพและเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขามากมาย กล่าวถึงรถประจำทางเก่าขึ้นสนิมสาย 142 ที่ไกด์หลายคนแนะนำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ นำเสนอพร้อมบริการทัวร์ของคนท้องถิ่น
“ฉันต้องใช้เวลาอยู่นานถึงสิบห้าปี กว่าจะพร้อมเดินทางมาที่รถบัสคันนี้” แครีน-น้องสาวของคริส แม็คแคนด์เลสส์บอก “มันไม่เกี่ยวกับรถคันนี้หรอก เพราะมันมีเรื่องราวของมันเอง ที่ทั้งไม่ได้เป็นของคริส และไม่ใช่ความทรงจำเกี่ยวกับเขา”
แครีน แม็คแคนด์เลสส์วางหนังสือของจอน คราเคาเออร์ทิ้งไว้ในรถบัสคันนั้น ส่วนพ่อแม่ของแม็คแคนด์เลสส์ได้ติดแผ่นโลหะที่ระลึกไว้ที่ประตูด้านใน อนุสรณ์ที่มีความหมายที่สุดนั้น คริส แม็คแคนด์เลสส์ทำมันด้วยตนเอง เป็นข้อความแกะสลักบนแผ่นไม้ในรถบัส…
“หนีจากมลพิษของอารยธรรม ลัดเลาะไปบนผืนดินตามลำพัง เพียงเพื่อจะพ่ายแพ้กับความทุรกันดาร, อเล็กซานเดอร์ ซูเปอร์แทรมป์, พฤษภาคม 1992”
อ่านเพิ่มเติมได้จาก:
- Christopher McCandless, Back to the Wild: The Photographs and Writings of Christopher McCandless, Twin Star Press (2011)
- Jon Krakauer, Into the Wild (ฉบับภาษาไทย เข้าป่าหาชีวิต แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, สำนักพิมพ์ มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม, พิมพ์ครั้งแรก 2559)