หญิงตั้งครรภ์ควรคลอดลูกเมื่อไร ถามคำถามนี้ออกมาแล้วหลายคนคงจั๊กกะจี้ว่าถามทำไม ได้เวลาเมื่อไรก็คลอดเอง
จริงๆ ก็ไม่เป็นแบบนั้นเสียทีเดียว องค์การอนามัยโลกเพิ่งออกมาเตือนให้ฉุกคิดว่า ผู้หญิงควรจะมีเวลาคลอดลูกมากขึ้น ถูกแทรกแซงทางการแพทย์น้อยลง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น
ที่ว่าควรมีเวลาคลอดลูกให้มากขึ้นก็หมายความว่า เวลาที่เริ่มเจ็บท้องจะคลอด หมอจะพิจารณาและอาจใช้วิธีเร่งคลอดเมื่อปากมดลูกขยายช้า
องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผดุงครรภ์ไม่ควรเร่งให้ผู้หญิงคลอดลูกเร็วขึ้นถ้าไม่ใช่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน มีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่ได้คลอดลูกตามธรรมชาติทั้งที่พวกเธอต้องการ
แต่แนวปฏิบัติใหม่จากองค์การอนามัยโลกสวนทางกับคำแนะนำที่มีมาหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ คำแนะนำในช่วงทศวรรษ 1950 บอกว่า หากปากมดลูกขยายในอัตราที่น้อยกว่าหนึ่งเซนติเมตรต่อชั่วโมงในระยะแรกถือว่าเป็นความเสี่ยง ผู้หญิงมักได้รับยาออซิโตซินเพื่อเร่งให้คลอดเร็วขึ้น จบลงด้วยการระงับความรู้สึกเจ็บปวดที่ไขสันหลัง ตามด้วยการต้องใช้ปากคีบหรือที่ดูดเด็กออกมา และบางรายต้องผ่าคลอด
แนวปฏิบัตินี้อาจใช้ไม่ได้จริงสำหรับผู้หญิงจำนวนหนึ่งและไม่แม่นยำพอที่จะระบุว่าผู้หญิงคนนั้นจะอยู่ในภาวะเสี่ยง
งานวิจัยของ WHO ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งการศึกษาผู้หญิงชาวไนจีเรียและอูกันดา 10,000 คน พบว่าอัตราการขยายตัวของมดลูกอาจช้ากว่านั้น โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของแม่และลูก
“(อัตรา 1 เชนติเมตรต่อชั่วโมง) ไม่ใช่จุดอ้างอิงที่ดี ไม่ใช่ว่าอัตราตัวเลขนี้จะใช้ได้กับทุกคน ทุกคนแตกต่างกัน และปากมดลูกผู้หญิงสามารถเปิดช้ากว่าอัตรานี้ได้ และยังคลอดลูกได้ตามปกติ
จุดอ้างอิงที่ดีกว่าคือ 5 เซนติเมตรในช่วง 12 ชั่วโมงแรกสำหรับแม่ที่เพิ่งคลอดลูกคนแรก และ 10 ชั่วโมงสำหรับผู้ที่เคยมีลูกมาแล้ว” เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาวะของการเจริญพันธุ์ของ WHO กล่าว
นอกจากนี้ แต่ละปีมีการคลอดลูก 140 ล้านครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ซับซ้อน แต่ผู้หญิงมักถูกแทรกแซงทางการแพทย์ในนามของการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นเลย WHO พบว่าอัตราการผ่าคลอดทั่วโลกมีมากเกินไป และเพิ่มขึ้นมากกว่า 10-15% ทั้งที่การผ่าตัดก็มีความเสี่ยงในตัวเองอยู่ และไม่ได้ทำให้อัตราการตายของแม่และเด็กระหว่างคลอดลดลง
ผู้หญิงหลายคนอยากคลอดลูกตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการแทรกแซงทางการแพทย์ แต่ในกรณีที่จำเป็น พวกเธอควรจะได้รับข้อมูลเพื่อให้มีทางเลือกและมีส่วนในการตัดสินใจ รวมทั้งควรจะได้รับอนุญาตให้เลือกท่าคลอดได้ด้วยตนเอง ทั้งท่าสวอตหรือนั่งซึ่งบรรเทาความเจ็บปวดได้ดีกว่า
“เราอยากให้ผู้หญิงคลอดลูกในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ที่มีทักษะ มีเครื่องมือที่ดีพอ อย่างไรก็ตาม การคลอดของผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเทคนิคทางการแพทย์ (medicalisation) มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลดทอนความสามารถในการคลอดลูกของผู้หญิง ทำให้พวกเธอมีประสบการณ์การคลอดลูกที่ไม่ดี” ดร.ปรินเซสส์ โนเธมบา ซิเมเลลา (Dr Princess Nothemba Simelela) ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไป ด้านครอบครัว ผู้หญิง เด็ก และวัยรุ่น ของ WHO กล่าว
“ถ้ากระบวนการคลอดลูกดำเนินไปตามปกติ แม่และเด็กอยู่ในภาวะปกติ ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อเร่งให้คลอดเร็วขึ้น”
ในประเทศที่เศรษฐกิจระดับกลาง เช่น ลาตินอเมริกา ตุรกี จีน และอิหร่าน มีอัตราการผ่าท้องคลอดสูง และตามโรงพยาบาลบางแห่งในแถบทะเลทรายซาฮาราของทวีปแอฟริกาก็เช่นกัน ซึ่งการผ่าท้องคลอดเหล่านี้มักจะไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุผลที่ถูกต้อง
ที่มา
https://news.un.org/en/story/2018/02/1002781
Tags: องค์การอนามัยโลก, สุขภาพ, การคลอดบุตร