ทุกครั้งที่มีโอกาสไปเดินตามงานมหกรรมการเงินต่างๆ หรือที่มีการตั้งบูธเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าการเงิน โดยเฉพาะการนำเสนอ ‘ประกันชีวิต’ หลายๆ ครั้งก็เห็นป้ายโฆษณาชวนฝากเงินด้วยผลตอบแทนที่สูงถึง 6-8% บางทีก็ปาไปที่ 10% เลยก็มี ตอนแรกที่เห็นก็ดูน่าสนใจอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเดี๋ยวนี้ดอกเบี้ยจากการฝากธนาคารต้องบอกเลยว่าต่ำมากจริงๆ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจะต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ นั่นคือ การซื้อประกันชีวิตที่มีการการันตีผลตอบแทนสูงที่ 6%++ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
ทำไมผลตอบแทนสูงจึงเป็นไปไม่ได้สำหรับประกันชีวิต ?
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโดยทั่วไปแล้วเมื่อเราจ่าย ‘เบี้ยประกัน’ ออกไปในแต่ละปี บริษัทประกันจะนำเงินเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. ค่าประกันภัยและค่าจัดการกรมธรรม์
เรียกได้ว่าเป็นต้นทุนส่วนประกันชีวิตและค่าการตลาดต่างๆ ของบริษัท โดยทั่วไป ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะสูงมากในปีแรก แล้วจะค่อยๆ ลดลงตามจำนวนกรมธรรม์ที่เพิ่มมากขึ้น
2. นำเงินไปลงทุนต่อ
เงินส่วนที่เหลือจากส่วนแรกในแต่ละปี บริษัทประกันจะนำไปลงทุนต่อเพื่อหาผลตอบแทนให้กับเงินที่รับจากเราไป แต่ด้วยตัวธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงค่อนข้างสูง ดังนั้นตามกฎของ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) แล้ว ไม่อนุญาตให้บริษัทนำเงินตรงนี้ไปลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งส่วนใหญ่การลงทุนก็จะเป็นพวกพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน อาจจะมีหุ้นได้บ้าง แต่น้อยมากๆ แล้วผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนของบริษัทประกัน ปัจจุบันก็จะอยู่แถวๆ 3-5% เท่านั้นเอง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยของโลกที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา
ลองคิดง่ายๆ ว่า บริษัทประกันเอาเงินเราไปลงทุนได้ผลตอบแทนไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำในปัจจุบัน ดังนั้นผลตอบแทนจากการซื้อประกันชีวิต ยังไงก็ไม่มีทางที่จะได้ผลตอบแทน 6% แน่นอน
แล้วผลตอบแทน 6% ที่โฆษณาคืออะไร ?
เรามาลองยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น สมมติว่าเราจ่ายเบี้ยประกันปีละ 10,000 บาททุกปี แล้วกรมธรรม์ฉบับนี้จะมีเงินคืนให้เราปีละ 600 บาทไปเรื่อยๆ ทุกปี จะเห็นได้ว่า 600 บาทที่จ่ายคืนมาเป็น 6% ของ 10,000 บาทจริงๆ
แต่หลายๆคนดันลืมคิดไปว่าเมื่อปีที่ 2 เราจ่ายเบี้ยเพิ่มขึ้นไปอีก 10,000 บาท นั่นแปลว่าเงินต้นที่เราจ่ายไปรวมเป็น 20,000 บาท แต่เรายังจะได้เงินคืนเพียง 600 บาทต่อปีเหมือนเดิม หมายความว่า ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปเราก็ไม่ได้ 6% อย่างที่กล่าวอ้างแล้ว ได้เฉพาะปีแรกเท่านั้น และยิ่งเวลาผ่านไป เรายิ่งจ่ายเบี้ยประกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่เราคิดก็จะยิ่งลดลง หากเราอยากดูผลตอบแทนที่แท้จริงจากกรมธรรม์ แนะนำว่าให้ลองศึกษาเรื่อง IRR
เพราะถ้าหากเราคำนวณเป็น เราจะรู้ทันทีเลยว่าผลตอบแทนจากประกันชีวิตที่เราได้นั้น ปัจจุบันอยู่ที่เพียง 2-3% เท่านั้นเอง แต่ถ้าคนขายหรือตัวแทนคนไหนบอกว่าได้ IRR เกิน 4% แล้วยังบอกว่าการันตีอีก ให้คิดไว้เลยว่ามีอะไรแปลกๆ หรือเราอาจจะกำลังโดนหลอกอยู่ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม สมัยนี้ก็มีประกันชีวิตแบบใหม่ๆ ที่ช่วย ‘สร้างโอกาส’ ให้เราได้ผลตอบแทนที่สูงออกมาอยู่เหมือนกัน เช่น ประกันชีวิตควบการลงทุนอย่าง Universal Life หรือ Unit Linked ที่มีแนวคิดคือแทนที่จะนำเงินส่วนที่ 2 ไปลงทุนในนามของบริษัทประกันชีวิตเองแล้วการันตีผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อประกันแบบเรา แต่ประกันชีวิตควบการลงทุนจะนำเงินส่วนที่สองไปลงทุนเองใน ‘กองทุนรวม’ ที่ทางบริษัทประกันคัดมาให้แล้ว ลงทุนได้เท่าไร เราก็ได้ไปเลยเต็มๆ
แต่การซื้อประกันชีวิตควบการลงทุนก็จะมีความเสี่ยงเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมเข้ามา เพราะไม่ได้มีการการันตีผลตอบแทนแบบประกันชีวิตสะสมทรัพย์แบบเดิมๆ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ บอกได้เลยว่าโอกาสที่จะได้มากกว่า 6% นั้นมีอยู่ แต่ไม่มีการการันตีผลตอบแทนแต่อย่างใด เพราะผลตอบแทนจะเป็นตามสภาวะตลาดการลงทุนตามที่เราเลือกลงทุนเลย
จริงๆ แล้วหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง คปภ. น่าจะมีบทบาทเข้ามากำกับดูแลเรื่องการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในลักษณะนี้ หรือถ้าตัวแทนที่มีใบอนุญาตคนไหนจงใจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ก็น่าจะมีบทลงโทษที่เอาจริงเอาจังมากกว่านี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการควบคุมตรงนี้ยังไม่ค่อยเข้มงวด ดังนั้นทางที่ดีที่สุด ก็คือการที่เราติดอาวุธกับตัวเราเอง โดยการมีความรู้ความเข้าใจในตัวสินค้าการเงินนั้นๆ ให้มากที่สุด คิดไว้เสมอว่าไม่มีใครใส่ใจเงินเราได้เท่ากับตัวเราเองแน่นอน
Tags: IRR, ผลตอบแทน, personal finance, ประกันชีวิต, การเงินส่วนบุคคล