หลังจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวว่าอินสตาแกรมอาจจะสร้างฟีเจอร์ใหม่ ซึ่งจะทำให้อินสตาแกรมไม่เปิดเผยจำนวนไลก์ของรูป จะมีแต่เจ้าของแอคเคานต์เท่านั้นที่เห็นจำนวนไลก์ เพราะอินสตาแกรมต้องการให้ผู้ติดตามสนใจไปที่รูปและการแชร์ ไม่ใช่ยอดไลก์ที่ได้

ล่าสุด ปรากฏว่าอินสตาแกรมได้ทดลองใช้ฟีเจอร์นี้ที่ซ่อนยอดไลก์ของผู้ใช้ใน 6 ประเทศ คือ บราซิล ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ 

ประเทศแรกที่ทดสอบมาก่อนหน้านี้ก็คือแคนาดา ส่วน 6 ประเทศที่เพิ่งจะประกาศรายชื่อ จะเริ่มทดสอบในวันนี้ ซึ่งผู้ใช้อินสตาแกรมในประเทศนั้นๆ จะยังเห็นว่าเขาได้ยอดไลก์เท่าไร แต่ตัวเลขยอดไลก์นั้นจะไม่ปรากฏต่อสาธารณะเหมือนที่เราเคยเห็นมาโดยตลอด โดยจะปรากฏแต่ชื่อเพื่อนที่มาไลก์และตามด้วย others ที่ไม่ใช่เพื่อนที่มาไลก์

อินสตาแกรมให้เหตุผลในการทดสอบฟีเจอร์ใหม่นี้ว่า “เพราะเราต้องการให้ผู้ติดตามของคุณให้ความสำคัญกับภาพถ่ายและวิดีโอที่คุณแบ่งปัน ไม่ใช่จำนวนไลก์ที่คุณได้รับ ที่ทำให้พวกเขาชื่นชอบคุณ”

แนวคิดและวิธีการนี้จะช่วยลดแรงกดดันทางสังคมบนโซเชียลมีเดีย จากงานศึกษาของ The Royal Society for Public Health ที่พบว่าการใช้อินสตาแกรมอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ โดยเฉพาะใช้ที่มีอายุยังน้อย ข้อสรุปหนึ่งคือ สื่อออนไลน์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยได้อย่างมาก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้สื่อออนไลน์มากที่สุดในโลก

สำหรับผลกระทบด้านอื่นต่อการใช้ฟีเจอร์ซ่อนยอดไลก์ในครั้งนี้ของอินสตาแกรมก็คือ ผู้ใช้ที่เรียกว่า “อินฟลูเอ็นเซอร์” ที่ต้องการโชว์ยอดไลก์เพื่อการทำงานในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ของตัว ย่อมต้องหาวิธีการใหม่ในการสร้างความนิยมให้กับตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ไม่นานมานี้ อินสตาแกรมก็เพิ่งจะแก้ปัญหานี้ให้เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ (และทำให้อินสตาแกรมเป็นแพลตฟอร์มการช้อปปิ้งซื้อขาย) ด้วยการให้โพสต์นั้นๆ สามารถติดแท็กได้ โดยแท็กดังกล่าวจะลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์ที่มีการขายสินค้าชิ้นนั้นๆ วิธีการนี้ยังคงทำให้อินฟลูเอ็นเซอร์ในอินสตาแกรมยังคงทำงานโฆษณาสินค้าให้กับแบรนด์ได้อยู่ แต่ขณะเดียวกันการซ่อนยอดไลก์นี้ก็จะทำให้การเกิดขึ้นของอินฟลูเอ็นเซอร์หน้าใหม่ๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน อินสตาแกรมเพิ่งจะประกาศใช้ฟีเจอร์ใหม่ที่ใช้ AI ตรวจจับข้อความเชิงลบก่อนโพสต์ เพื่อป้องกันการบุลลี่และการสร้างความคิดเห็นเชิงลบในแฟลตฟอร์ม โดย AI ตัวนี้จะสกรีนข้อความที่ผู้ใช้โพสต์ลงในอินสตาแกรม ทั้งการโพสต์และการคอมเมนต์ ด้วยระบบตรวจจับคำ หากพบข้อความที่มีคำที่มีความหมายเชิงลบ ระบบจะแสดงข้อความเตือนว่า “คุณแน่ใจหรือที่จะโพสต์สิ่งนี้” เพื่อให้ผู้ใช้ทบทวนก่อนตัดสินใจอีกที 

นอกจากนี้ ในอนาคต อินสตาแกรมอาจจะทดสอบฟีเจอร์ใหม่อีกตัวที่เรียกว่า “Restrict”  เพื่อควบคุมความคิดเห็นเชิงลบ หรือการบุลลี่ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม สำหรับผู้ใช้ที่ไม่อยากจะเห็นข้อความของฟอลโลว์เวอร์หรือผู้ที่มาคอมเมนต์หรือส่งไดเร็กเมสเสจ แต่ยังไม่อยากจะบล็อกหรือรายงานบัญชีคนนั้น การใช้ฟีเจอร์ “Restrict” จะทำให้ผู้ใช้ไม่เห็นข้อความของผู้ที่ถูกกำหนดว่า Restrict โดยที่ผู้ที่ถูกกำหนดว่าเป็น Restrict ก็จะไม่รู้ว่าตนเองถูกกำหนด Restrict และยังสามารถโพสต์ข้อความได้อยู่ แต่ข้อความนั้นจะไม่ถูกเห็นเท่านั้นเอง

ทั้งหมดนี้คือความพยายามในการหยุดยั้งการบุลลี่ การกลั่นแกล้ง และความคิดเห็นเชิงลบบนอินสตาแกรม เพื่อสร้างอินสตาแกรมให้เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยและสร้างสรรค์มากขึ้น 

 

อ้างอิง:

Tags: , ,