“ในอนาคตจะมีงานที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์น้อยลงทุกที ผมไม่ได้บอกว่าผมอยากเห็นสิ่งนี้ แต่นี่คือสิ่งที่เราจะได้เห็น”
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของ Tesla, Spacex และ Neuralink กล่าวในการประชุม World Government Summit ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากวาจาหักหาญน้ำใจเจ้าภาพและผู้นำชาติอาหรับในที่ประชุม ด้วยการบอกแบบหน้าซื่อตาใสว่า “อีกไม่นานจะหมดยุคพลังงานอย่างน้ำมัน!” อีลอน มัสก์ ยังเป็นห่วงเป็นใยว่าในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ จนก่อให้เกิดการว่างงานอย่างมหาศาล และสังคมมนุษย์คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหันไปพึ่งระบบ Universal Basic Income หรือระบบประกันรายได้พื้นฐานให้กับทุกคนในสังคม
“เรื่องท้าทายที่ยากยิ่งกว่า คือความรู้สึกถึงคุณค่าความหมายในตนเอง แต่เดิม คนจำนวนมากรู้สึกว่าตนมีค่าจากการงานที่ทำ แล้วอีกหน่อยเมื่อไม่มีงานทำ ต่อให้อยู่สบายไม่ขัดสน แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการหรือเปล่า เราจะรู้สึกไร้คุณค่าหรือไม่”
ไม่ใช่อีลอน มัสก์ เพียงคนเดียวที่เป็นห่วงเรื่องการว่างงานและรายได้ของประชากรโลกในอนาคตอันใกล้ เจน คิม (Jane Kim) นักกฎหมายจากซานฟรานซิสโก ก็เป็นอีกคนที่คิดถึงเรื่องนี้อย่างเคร่งเครียด เธอมองข้ามช็อตถึงขั้นเตรียมหาลู่ทางจัดเก็บภาษีหุ่นยนต์
จะไม่ให้เธอเคร่งเครียดได้อย่างไร ในเมื่อมีวี่แววว่าในอนาคต มนุษย์จะถูกหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์แย่งงานอย่างแน่นอน
คำถามต่อมาก็คือ เมื่อคนเราว่างงาน ก็ย่อมสูญเสียรายได้ แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีจากใคร ถ้าไม่ใช่หุ่นยนต์
แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีจากหุ่นยนตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ คิมได้แนวคิดนี้มาจากบทสัมภาษณ์ของบิล เกตส์ ในวารสาร Quartz ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บิลบอกว่าสมมติคนงานคนหนึ่งทำงานในโรงงาน ได้ค่าจ้าง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี รายได้นี้จะถูกนำมาคำนวณภาษีและเงินประกันสังคม ถ้าหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่คนงาน เราก็ควรเก็บภาษีจากหุ่นยนต์พวกนี้ในทำนองเดียวกัน
ลองคิดถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอนาคตที่คนหนึ่งในสามสูญเสียงานให้กับหุ่นยนต์ แล้วรัฐบาลยังนั่งอยู่เฉยๆ ไม่สนใจว่าจะหาอะไรมาชดเชยรายได้จากภาษีที่หายไป หวังจะให้เศรษฐีไฮเทคทั้งหลายยอมจ่ายภาษีเพิ่มงั้นหรือ คงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่ารีดเลือดจากก้อนหิน และทุกวันนี้พวกเขาก็มีช่องทางประหยัดภาษีกันมากมายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่คิมยังแก้ไม่ตกก็คือ หุ่นยนต์ประเภทใดควรเข้าข่ายเป็นผู้เสียภาษี
เมื่อถามผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ 10 คน เราจะได้คำนิยามของ ‘หุ่นยนต์’ ที่แตกต่างกัน 10 แบบ ที่น่าสนใจที่สุดในเวลานี้คือคำนิยามของ Hanumant Singh แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าคือระบบที่สามารถแสดงพฤติกรรมที่ซับซ้อนได้ และมีการรับรู้และตอบสนองได้อย่างสมจริง
คำนิยามนี้กว้างจนกระทั่งครอบคลุมแทบทุกอย่าง ตั้งแต่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง ไปจนถึงระบบนักบินอัตโนมัติของเครื่องบิน 747 ยังไม่รวมถึงปัญญาประดิษฐ์หลายรูปแบบที่จะทำให้คนตกงานมากมายมหาศาลยิ่งกว่า แม้ว่างานของมันเป็นแค่การประมวลผลอัลกอริทึมบนสมาร์ตโฟน
คำถามนี้ไม่ใช่ข้อถกเถียงทางปรัชญา ถ้าเราต้องการอุดช่องโหว่รายได้ของรัฐบาล นักการเมืองต้องเริ่มคิดอย่างจริงจังว่าระบบอัตโนมัติ (automation) แบบใดบ้างที่ควรจะต้องจ่ายภาษี อย่างซอฟต์แวร์ด้านภาษี หรือเว็บไซต์สั่งซื้อสินค้าที่บริหารจัดการโดย bot และในไม่ช้าจะใช้หุ่นยนต์หรือโดรนส่งของถึงบ้านคุณ ความคลุมเครือที่ต้องเร่งหาคำนิยามโดยเร่งด่วนนั้นรวมถึงช่องว่างอย่างเช่นถ้าหุ่นยนต์ตัวนั้นมีหลายแขน แทนที่จะต้องใช้หุ่นยนต์ทำงาน 5 ตัว ก็ใช้เพียงตัวเดียว แบบนี้จะเอื้อให้เกิดการเลี่ยงภาษีหรือไม่
คำถามต่อเนื่องอีกหนึ่งคำถามคือ ทุกตำแหน่งงานที่เสียไปคือการสูญเสียรายได้ที่รัฐเคยได้รับจากคนเหล่านั้น นอกจากนี้ การไร้งานยังหมายถึงการไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย นั่นหมายความว่ารัฐจะสูญเสียภาษีอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีอสังหาริมทรัพย์
ถ้าเราใช้โครงสร้างภาษีของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้ ร้อยละ 30 ของรายได้จากภาษีของรัฐ มาจากภาษีการขาย (สำหรับประเทศไทยคือภาษีมูลค่าเพิ่ม) และอีกร้อยละ 20 มาจากภาษีรายได้ส่วนบุคคล ถ้ามีการตกงานขนานใหญ่ ภาษีจะหายไปจำนวนมหาศาล ถ้ารัฐหวังจะพึ่งภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลิตภาพสูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลงเพราะหุ่นยนต์ ก็เรียกได้ว่าฝันกลางวัน เพราะภาษีจากบริษัทเหล่านี้มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 ของภาษีทั้งหมดที่รัฐเก็บได้ทุกวันนี้
การเก็บภาษีหุ่นยนต์คงไม่ใช่ทางออกของเรื่องนี้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยลดผลกระทบจากการนำหุ่นยนต์จำนวนมหาศาลมาใช้แทนแรงงานคนในอนาคต ขณะเดียวกัน รัฐก็จำเป็นต้องปรับแนวทางและโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้สอดรับกับการหดหายไปของงานและรายได้ของผู้คน
ในอนาคตอันใกล้ มนุษย์โลกจะมีทุกสิ่งอย่างในชีวิตเพียบพร้อมจากฝีมือและแรงงานหุ่นยนต์ แต่เราอาจต้องเข้าสู่ระบบปันส่วนอาหาร มีชีวิตไม่ต่างจากระบบคอมมูน
บางคนอาจพอใจกับความเสมอภาคแบบนี้ แต่บางคนอาจคิดว่านี่ไม่ใช่อนาคตที่ฉันเลือก
บางทีเราอาจต้องเลือกอะไรบางอย่าง ในห้วงเวลาที่ยังพอมีเหลืออยู่
Tags: ปัญญาประดิษฐ์, Universal Basic Income, หุ่นยนต์, บิล เกตส์, ภาษีหุ่นยนต์, อีลอน มัสก์