ความทะเยอทะยานของเขาทำให้เขาป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เขาหลงใหลลัทธิฟาสซิสม์ และพยายามจะทำให้พนักงานของเขามีชีวิตที่มัธยัสถ์เหมือนนักบวชทางศาสนา

อิงก์วาร์ คัมพราด (Ingvar Kamprad) เกิดและเติบโตในฟาร์มที่อยู่ทางตอนใต้ของสวีเดนเมื่อปี 1926 ครอบครัวยากจน เขาต้องหาเงินด้วยการขายไม้ขีดไฟและดินสอในหมู่บ้าน คัมพราดมีปัญหาความบกพร่องทางการอ่าน ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนนัก เขาจดทะเบียนธุรกิจสั่งซื้อของใช้ในบ้านทางไปรษณีย์ ตั้งชื่อว่า อิเกีย (IKEA) ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกของชื่อตัวเอง ชื่อฟาร์ม และชื่อหมู่บ้าน

ในระยะเวลากว่าเจ็ดทศวรรษ คัมพราดทำให้อิเกียกลายเป็นผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก มี 350 สาขากระจายอยู่ 29 ประเทศทั่วโลก ด้วยยอดขาย 47,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท)

จุดเริ่มต้นของอิเกีย (IKEA)

ในปี 1953 คัมพราดเปิดโชว์รูมที่เมืองอัมฮุล์ท (Almhult) ซึ่งกลายเป็นร้านอิเกียร้านแรกในปี 1958 จากนั้นก็เริ่มมีสาขาในสต็อกโฮล์ม และเมืองอื่นๆ ทั่วสวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ คัมพราดไปโปแลนด์เพื่อหาวัตถุดิบและโรงงานซึ่งช่วยลดต้นทุน ต่อมาในปี 1970 อิเกียก็เปิดสาขาใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์และแคนาดา ก่อนที่จะเปิดสาขาแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1985 จนกระทั่งปี 2000 มีร้านอิเกียในรัสเซียและจีน

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา คัมพราดสะท้อนภาพความเป็นอิเกียจากการใช้ชีวิตอย่างประหยัดและขยันทำงาน ขับรถวอลโวเก่าๆ นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด อยู่โรงแรมราคาประหยัด กินอาหารถูกๆ ซื้อเฉพาะสินค้าลดราคา และยืนยันว่าบ้านของเขาไม่ได้ใหญ่โต เขาไม่ได้มีทรัพย์สมบัติมากมาย และอิเกียถือครองโดยกองทุนการกุศล

อิเกียประสบความสำเร็จจากความมัธยัสถ์ สร้างร้านที่มีค่าใช้จ่ายน้อย อยู่ไกลเมือง ซื้อของลดราคา มีจำนวนพนักงานขายน้อย เพื่อทำให้ลูกค้าซื้อของได้โดยไม่กดดัน ในปี 1995  จิลลิส ลุนด์เกรน พนักงานคนหนึ่งเกิดความคิดว่าควรจะถอดขาโต๊ะและวางไว้ใต้โต๊ะ ทำให้ใส่สินค้าลงในกล่องแบน ซึ่งทำให้ขนส่งง่ายและราคาถูก และนั่นก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของอิเกีย เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ต้องประกอบเสร็จ และบรรจุสินค้าในกล่องแบนเพื่อให้ถือกลับบ้านได้สะดวก

ความมัธยัสถ์และพันธสัญญาของคัมพราด

แต่ดูเหมือนข้อมูลที่นักข่าวพบจะขัดกับภาพลักษณ์นี้ เขาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีที่สูงกว่าในประเทศสวีเดน บ้านของคัมพราดเป็นวิลลาที่มองเห็นทะเลสาบเจนีวา และเขามีอสังหาริมทรัพย์ในสวีเดนและไร่ไวน์ ที่โปรวองซ์ ฝรั่งเศส เขาขับรถพอชบ่อยพอๆ กับวอลโว ส่วนการจ่ายค่าเดินทาง โรงแรม และอาหารแบบประหยัดนั้น เป็นเพราะต้องการเป็นตัวอย่างให้ผู้บริหารคนในอิเกียปฏิบัติตาม

“คนรู้จักผมในฐานะที่เป็นคนประหยัดมากๆ และร้านอิเกียก็มีไว้เพื่อคนแบบผม” เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในปี 1997 เกี่ยวกับวัฒนธรรมอิเกีย “ผมไม่บินชั้นเฟิร์สคลาส และผู้บริหารของผมก็ไม่บินในชั้นเฟิร์สคลาสด้วยเช่นกัน”

ในปี 1976 ที่เขาย้ายไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ คัมพราดเขียนคำประกาศเจตนาที่เรียกว่า ‘พันธสัญญาของคนขายเฟอร์นิเจอร์’ (The Testament of a Furniture Dealer)  ด้วยรูปแบบเดียวกับข้อความในคัมภีร์ไบเบิล ระบุว่า ความเรียบง่ายคือความดีและของเสียคือบาป พนักงานถูกคาดหวังให้ซึมซับ ‘จิตวิญญาณของอิเกีย’ ที่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ชัดเจน มีความกล้าหาญ ไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของอิเกียเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจหลักการในการทำงานและใช้ชีวิต ที่เป็นอุดมการณ์ขององค์กรด้วย

เบื้องหลังคัมพราดที่พัวพันกับฟาสซิสม์

ในปี 1994 หนังสือพิมพ์สต็อกโฮล์มรายงานว่า มีชื่อของคัมพราดอยู่ในขบวนการฟาสซิสต์ในปี 1942 และเขาเข้าร่วมการประชุมหลายครั้ง หาทุน และหาสมาชิก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เขาก็ยังติดต่อกับ พอร์ เองดาห์ล (Per Engdahl) ผู้นำขบวนการในปี 1950 ว่าภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับขบวนการนี้

หลังจากที่ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผย คัมพราดส่งข้อความถึงพนักงานของเขาว่า กิจกรรมที่เกี่ยวกับฟาสซิสม์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่เขารู้สึกผิด และเป็นความผิดพลาดที่โง่เง่าที่สุดในชีวิต เขาบอกว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากยายชาวเยอรมันที่อพยพมาที่สวีเดนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และเขามีภาพว่าเองดาห์ลเป็นนักสังคมนิยมของยุโรป

สำหรับชาวสวีเดน การเปิดเผยนี้เป็นการปลุกความทรงจำต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมา เพราะสวีเดนประกาศตัวเป็นกลาง ระหว่างที่ทหารเยอรมันเดินทางผ่านสวีเดนเข้าไปนอร์เวย์ และไม่มีตัวเลขว่าชาวสวีเดนที่ฝักใฝ่นาซีมีจำนวนเท่าใด  หลังจากการเปิดเผยในครั้งนั้น กลุ่มชาวยิวเรียกร้องให้บอยคอตต์อิเกีย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่ออิเกียมากนัก และไม่นานนักคัมพราดก็กลับมาอยู่ในภาพของชายผู้มัธยัสถ์ได้อีกครั้ง

คัมพราดในวัยเกษียณ

ในปี 1982 คัมพราดก่อตั้งมูลนิธิในเนเธอร์แลนด์ เขาออกจากการเป็นกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอิเกีย Inter Ikea Group ซึ่งเป็นบริษัทหลักเมื่อปี 2013 และให้ลูกชายคนเล็กที่สุดเป็นกรรมการ เขาประกาศเกษียณการทำงานเมื่อปี 1986 แต่ยังคงเดินทางไปยังร้านอิเกียทั่วโลกและยังเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ

อิเกียดำเนินงานผ่านกองทุนการกุศลในเนเธอร์แลนด์ และมีผู้ถือหุ้นที่ซับซ้อน ทั้งหมดควบคุมโดยครอบครัวของคัมพราดเพื่อไม่ให้อิเกียอยู่ในมือของคนอื่นหรือต้องปิดกิจการ กองทุนการกุศลนี้ยังเป็นวิธีลดภาษีและเป็นโครงสร้างที่จะรักษาบริษัทไว้ได้ หลังจากที่คัมพราดเสียชีวิต

คัมพราดรักสันโดษ มักเดินทางไปที่ร้านอิเกียทั่วโลก บางครั้งไปแบบไม่ให้ใครรู้และถามพนักงานราวกับว่าตัวเองเป็นลูกค้า และถามลูกค้าราวกับว่าเขาเป็นพนักงานที่กระตือรือร้น เขาเข้าประชุมกรรมการบริหารบริษัท ไปพูดตามมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง เขาแทบจะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อ แต่ก็ไม่ปิดบังว่าเขาเป็นโรคติดสุราเรื้อรัง

ด้านชีวิตครอบครัว คัมพราดแต่งงานกับ เคิร์สติน วาดลิงก์ เมื่อปี 1950  มีลูกสาวหนึ่งคนและหย่าในปี 1960 และแต่งงานใหม่อีกครั้งในปี 1963 มีลูกชายสามคน ภรรยาคนที่สองเสียชีวิตในปี 2011 เขาย้ายกลับมาอยู่ที่เมืองอัมฮุล์ท ประเทศสวีเดนเมื่อปี 2014 และเสียชีวิตลงในบ้านที่ห่างจากฟาร์มที่เขาเกิดเพียงระยะขับรถราว 10 นาที

“ผมมองว่าหน้าที่ของผมคือการรับใช้ผู้คนส่วนใหญ่” คัมพราดให้สัมภาษณ์ในนิตยสารฟอร์บส “คำถามก็คือ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาต้องการอะไร วิธีใดที่ดีที่สุดในการรับใช้พวกเขา คำตอบของผมก็คือ ทำให้ตัวเองใกล้ชิดกับคนธรรมดา เพราะว่าจริงๆ แล้วผมก็เป็นหนึ่งในนั้น”

 

 

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2018/01/28/obituaries/ingvar-kamprad-dies.html

https://www.theguardian.com/business/2018/jan/28/ikea-founder-ingvar-kamprad-dies-aged-91

https://www.forbes.com/sites/maxjedeurpalmgren/2018/01/28/ingvar-kamprad-founder-of-ikea-dead-at-91

Tags: ,