หลังจากที่สึนามิบริเวณช่องแคบซุนดา อินโดนีเซีย ระหว่างเกาะชวาและสุมาตราพัดเข้าชายฝั่งในคืนวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2018 เวลา 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตมีอย่างน้อย 222 คน และบาดเจ็บ 843 คน ผู้สูญหาย 28 คน และทางการคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้
มีบ้านเรือน 556 หลัง โรงแรม 9 แห่ง ร้านอาหาร 60 แห่ง และเรือ 350 ลำเสียหาย หน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพยายามเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและนำน้ำสะอาด รวมทั้งจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กาชาดเตือนว่าให้เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่มีการแจ้งเตือนสึนามิล่วงหน้า คาดว่าเป็นเพราะ สึนามิครั้งนี้มาจากการการระเบิดของภูเขาไฟอานัก กรากาตัว ที่อยู่ใกล้ฝั่งมากและเคลื่อนตัวเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที การแจ้งเตือนจึงไม่ทันการณ์ ส่วนทุ่นเตือนสึนามิก็ถูกออกแบบมาให้เตือนภัยในกรณีสึนามิจากแผ่นดินไหวมากกว่า
ทางการอินโดนีเซียตัดสาเหตุเรื่องการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกออกแล้ว สึนามิที่มีสาเหตุมาจากภูเขาไฟเกิดขึ้นยากมาก หนึ่งในนั้นคือการระเบิดของภูเขาไฟกรากาตัว ในปี 1883 ครั้งนั้นความรุนแรงของระเบิดทำให้ก้อนหินขนาดยักษ์ร่วงลงน้ำจนทำให้เกิดสึนามิมาแล้ว และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน
การระเบิดของภูเขาไฟทำให้เกิดสึนามิได้หลายแบบ มีความเป็นไปได้ทั้งแรงระเบิดหรือความอ่อนตัวของพื้นที่ด้านข้างตอนที่แมกมาไหลผ่าน ในกรณีนี้น่าจะมาจากดินถล่มใต้น้ำจนทำให้มวลน้ำขนาดใหญ่เคลื่อนตัวและก่อให้เกิดคลื่นสูง หรืออาจจะมาจากแมกมาถล่มลงไปใต้ภูเขาไฟที่มีช่องว่างอยู่
คอสตัส ซินโนลาคิส (Costas Synolakis) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสึนามิมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนียให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ว่า นี่เป็นสึนามิจากภูเขาไฟซึ่งทำให้ไม่มีการแจ้งเตือน ศูนย์แจ้งเตือนสึนามิจึงไม่มีประโยชน์ เขาบอกว่า เนื่องจากภูเขาไฟอานัก กรากาตัว อยู่ใกล้ชายฝั่ง สึนามิจึงพัดเข้าชายฝั่งภายในเวลา 20-30 นาที
แม้พอจะคาดเดาได้ว่าสาเหตุของสึนามิน่าจะมาจากภูเขาไฟ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สรุป เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ยังจำกัด มีสองทฤษฎีที่เป็นไปได้ ทั้งดินถล่มใต้น้ำหรือการพ่นลาวาออกมาทำให้แผ่นดินเลื่อนไหล ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าน่าคลื่นน่าจะเป็นผลจากดินถล่มใต้น้ำ
เดวิด รอเธอรี (David Rothery) ศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอเพ่น สหราชอาณาจักรให้ความเห็นว่า สึนามิที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากดินถล่มใต้น้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะใหม่และก่อตัวขึ้นขณะที่ภูเขาไฟเติบโต ภูเขาไฟกรากาตัวไม่ใช่ภูเขาไฟที่เพิ่งกลับมามีพลัง แต่มันระเบิดมาอย่างต่อเนื่องแล้วตลอดปีนี้ ส่วนเอมิล โอคาล (Emile Okal) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งศึกษาสึนามินานกว่า 35 ปีกล่าวว่า ภูเขาไฟเป็นสิ่งที่มีชีวิต มีลักษณะทางธรณีวิทยาไม่คงที่ เขาคาดว่าน่าจะมีดินถล่ม และถ้ามันอยู่ใต้น้ำ ก็จะทำให้น้ำเคลื่อนที่และเกิดคลื่น
ภูเขาไฟอานัก กรากาตัว เป็นเกาะใหม่ที่เกิดขึ้นราวปี 1928 ในปล่องภูเขาไฟที่เหลืออยู่จากการระเบิดของกรากาตัวในปี 1883
ในรอบ 6 เดือน อินโดนีเซียเผชิญกับสึนามิถล่ม 3 ครั้งแล้ว ยังมีภูเขาไฟที่ยังมีชีวิตอยู่อีก 127 แห่งที่ตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟ ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยๆ
ที่มาภาพ: DASRIL ROSZANDI / AFP
ที่มา:
- https://www.nbcnews.com/news/world/why-tsunami-struck-indonesia-without-warning-n951416
- https://www.theguardian.com/world/live/2018/dec/23/indonesia-tsunami-dozens-dead-hundreds-injured-after-anak-krakatoa-erupts
- https://www.straitstimes.com/asia/another-tsunami-could-hit-indonesia-experts-warn
- https://www.straitstimes.com/asia/another-tsunami-could-hit-indonesia-experts-warn
- https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/2179317/another-tsunami-could-hit-indonesia-experts-warn