ว่ากันว่า ‘ดนตรี’ คือภาษาสากลที่ทุกคนล้วนเข้าใจกัน จนเกิดสำนวนที่ว่า ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ชนนั้นสันดานเป็นคนชอบกลนัก’ และหลายครั้งดนตรีก็มีพลังมากเกินกว่าแค่สุนทรียะที่สร้างความบันเทิง แต่ก่อให้เกิดพลังและความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดทั้ง ‘ความกล้า’ และ ‘ความกลัว’ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงเตรียมผ่านร่างกฎหมายแบนดนตรีต่างชาติ ท่ามกลางคำค้านมากมาย

ล่าสุดที่อินโดนีเซีย ผู้คนจากแวดวงการดนตรีหลายร้อยคนอยู่ระหว่างการเดินหน้าต่อต้าน ‘ร่างกฎหมายดนตรี’ ที่แม้ดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปที่ศิลปินจากฝั่งเคป๊อปและตะวันตก แต่อาจจะกลายเป็นล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคนดนตรีทั่วประเทศ

ท่ามกลางข้อถกเถียงมากมายหลายปัญหาในร่างกฎหมาย ‘มาตราที่ 5’ คือส่วนที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เพราะเป็นมาตราที่ระบุว่า สื่อที่มี ‘อิทธิพลทางลบจากต่างชาติ’ รวมถึงสื่อที่มีเนื้อหาดูหมิ่นหรืออนาจารถือว่ามีความผิดตามกฎหมายจะต้องได้รับโทษจำคุกหรือปรับ

ด้าน Jerinx นักดนตรีพังก์ร็อคชาวอินโดนีเซียคือหนึ่งใน 200 คนจากแวดวงดนตรีที่ออกมาต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านอินสตาแกรมของเขา โดยการโพสต์ว่า “ร่างกฎหมายดังกล่าวจะ ‘ข่มขืน’ และ ‘ทำลาย’ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางดนตรี” และชี้ว่านี่เป็น ‘ความเสแสร้งขั้นสูงของรัฐบาล’ เพราะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ ของอินโดนีเซียเองก็เป็นแฟนตัวยงของ ‘เมทัลลิกา’ วงร็อคเมทัลต่างชาติเช่นกัน

ถึงแม้จะไม่ชัดเจนนักว่าเป้าหมายของร่างกฎหมายดังกล่าวคือใคร แต่ที่อินโดนีเซียมีหลายครั้งที่สถานการณ์ความวุ่นวายเกิดจากป๊อปสตาร์ต่างชาติกระทำผิดจารีตประเพณีของอินโดนีเซีย อย่างเช่นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โฆษณาโทรทัศน์ที่นำแสดงโดยเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘Blackpink’ ซึ่งสวมใส่มินิสเกิร์ตและเดรสสั้นถูกถอดจากการออกอากาศใน 11 สถานีโทรทัศน์ของอินโดนีเซีย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ‘อนาจาร’ รวมถึงละเมิดคุณธรรมอันดีและบรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคมที่ประชากรส่วนมากเป็นมุสลิม เช่นเดียวกับการยกเลิกคอนเสิร์ตที่ขายหมดเกลี้ยงของเลดี้กาก้าในปี 2012 เนื่องจากถูกกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามขู่ว่าจะหยุดการขึ้นเครื่องบินของเธอ

โดย “Kartika Jahja” นักดนตรีชาวอินโดนีเซียอีกคนเปิดเผยถึงความกังวลของศิลปินที่ต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวว่า สาเหตุที่ทุกคนกังวัลกันค่อนข้างมากเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ไม่รู้ว่าโผล่มาจากไหนนี้ เพราะร่างมีบทบัญญัติที่เป็นปัญหามากมายเกินไป และส่วนตัวเธอคิดว่าการควบคุมเนื้อหาของเพลงไม่ได้สามารถหยุดอิทธิพลจากต่างชาติได้ แต่ร่างกฏหมายที่จะผ่านออกมานี้อันตรายอย่างยิ่ง เพราะมันจะปิดปากคนดนตรี ทั้งที่ดนตรีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวได้สร้างล่ารายชื่อล่มร่างกฎหมายในเว็บไซต์ chang.org โดยในวันแรกมีผู้ร่วมลงนามกว่า 65,000 คน รวมถึงแฮชแท็ก #TolakRUUPermusikan ที่หมายความถึง ‘ปฏิเสธร่างกฎหมายดนตรี’ ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ และความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงอยู่ โดยมีกลุ่มนักดนตรีเริ่มพูดคุยกับนักกฎหมายและเรียกร้องให้รัฐพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในอุตสาหกรรมดนตรีก่อนการผ่านร่าง เพราะนอกจากร่างกฎหมายนี้จะทับซ้อนกับร่างกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายอื่นๆ แล้ว ร่างกฎหมายนี้ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกอีกด้วย

 

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2019/feb/04/indonesia-seeks-to-ban-negative-foreign-influences-on-music

https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/2177701/indonesia-bans-indecent-tv-ad-featuring-all-girl-miniskirt

Tags: ,