หากใครเป็นแฟนเมืองเก่ากรุงเทพฯ ย่านเสาชิงช้าเป็นอีกย่านหนึ่งที่ห้ามพลาดในการไปเยือน นอกจากอาหารอร่อยราคาเป็นมิตรแล้ว ย่านเก่าแห่งนี้ยังมีวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดหลวงใจกลางพระนคร และไม่ห่างกันมากนัเพียงถนนกั้นยังมีอาคารเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ผนังทาสีขาว หลังคามุงกระเบื้องสีอิฐ ความสำคัญในทางศาสนาของอาคารกลุ่มเล็กๆ นี้นับเป็นหัวใจหลักของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประจำพระนคร
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึง ‘เทวสถานโบสถ์พราหมณ์’
คอลัมน์ Indianiceation ในเดือนเมษายนนี้ ขอพากระโดดกลับมายังแผ่นดินไทย เพื่อชวนคิดชวนคุยเกี่ยวกับหัวใจของศาสนาฮินดูในกรุงเทพฯ ในแง่มุมที่น่าสนใจของออฟฟิศพราหมณ์หลวง ข้าราชการกลุ่มสุดท้ายในประเทศที่ยังมีบรรดาศักดิ์ ในวาระครบรอบ 241 ปี แห่งการสถาปนาเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร
โบสถ์พราหมณ์สำคัญไฉน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ขึ้นเมื่อปี 2327 แล้วโปรดให้นำพราหมณ์จากภาคใต้ขึ้นมาประจำราชสำนัก ทำหน้าที่ประกอบพระราชพิธีสำหรับพระองค์และราชอาณาจักร
ภายในเทวสถานมีอาคารทั้งหมด 3 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มีกำแพงล้อมรอบ กอปรด้วยสถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่) สถานพระคเณศ (โบสถ์กลาง) และสถานพระนารายณ์ (โบสถ์ริม)
สถานพระอิศวร ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน หลังคาทำชั้นลด 1 ชั้น หน้าบันด้านหน้ามีเทวรูปปูนปั้นนูนต่ำ รูปพระอิศวร พระแม่อุมา และเครื่องมงคลรูปสังข์ กลศ กุมภ์ อยู่ในวิมาน ใต้รูปวิมานมีปูนปั้นเป็นรูปเมฆและโคนนทิ หน้าบันด้านหลังไม่มีลวดลาย มีลักษณะพิเศษต่างจากโบสถ์อื่นๆ คือมีขนาดใหญ่กว่าและไม่มีพาไล ภายในประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรประทับยืน ศิลปะอยุธยา พร้อมด้วยเทวรูปขนาดกลางอีก 31 องค์ เข้าใจว่าหมายถึงเทวสวรรค์ของพระอินทร์-ตรายัสตริมษะ (สันสกฤต)/ ดาวดึงส์ (บาลี) ประดิษฐานในเบญจา (ชุกชี)
ถัดไปด้านหลังเบญจามีศิวลึงค์ 2 องค์ ด้านหน้าเบญจามีชั้นลดประดิษฐานเทวรูปพระพรหมและพระนางสรัสวดี ด้านขวามือของเทวรูปประธานมีซุ้มประดิษฐานนางกระดาน 3 องค์ (คงคาเทวี ภูเทวี และพระอาทิตย์-พระจันทร์) สำหรับใช้ในการพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ด้านหน้าเบญจาปรากฏเสาชิงช้าขนาดย่อมสีขาว สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์
สถานพระพิฆเนศวร มีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คาดว่ารับรูปแบบจากอาคารแบบศิลปะอยุธยา ตัวอาคารไม่มีลวดลาย หลังคามีชั้นลด 1 ชั้น หน้าบันเรียบ ภายในโบสถ์มีเทวรูปพระพิฆเนศวรประทับนั่ง 5 องค์ ประดิษฐานบนเบญจาขนาดใหญ่
สถานพระนาราย์ ลักษณะโดยรวมเหมือนสถานพระพิฆเนศวร ภายในประดิษฐานบุษบกสามองค์เคียงกันสำหรับประดิษฐานเทวรูป 3 องค์ ได้แก่ พระลักษมี (บุษบกองค์ซ้ายมือ), พระนารายณ์ (บุษบกองค์กลาง) และพระภูมิเทวี (บุษบกองค์ขวามือ) ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้าขนาดย่อม สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์เช่นเดียวกับสถานพระอิศวร
จากทมิฬถิ่นราเมศวรัม สู่พระนครของพระอินทร์
อย่างที่กล่าวข้างต้น หลังจากรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานสำหรับพระนครแล้ว พระองค์โปรดให้นำพราหมณ์จากภาคใต้ขึ้นมาประจำราชสำนัก ข้อความตรงนี้สรุปได้โดยไม่ยากว่า พราหมณ์หลวงกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ 1 มีที่มาจากเมืองใหญ่ทางภาคใต้
ผมได้มีโอกาสสนทากับ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณฯ ประธานคณะพราหมณ์ท่านปัจจุบัน อยู่ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ก่อนจะได้มีโอกาสพบกับ พระครูวามเทพมุรี (พราหมณ์ภีษม รังสิพราหมณกุล) อีกในระยะหลัง พราหมณ์ทั้ง 2 ท่านเล่าให้ฟังว่า บรรพชนของท่านนั้นเป็นพราหมณ์ ‘รามราช’ มาจากเมืองราเมศวรัม รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ ณ เทวสถานเมืองนครศรีธรรมราช (ที่เมืองคอนปัจจุบันยังมีเทวสถานอยู่ รูปแบบศิลปะใกล้เคียงกับเทวสถานประจำพระนคร)
การศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ชี้ว่า ในราชสำนักกรุงเทพฯ นอกจากพราหมณ์รามราชแล้ว ยังมีพราหมณ์สมอพลือหรือพราหมณ์เมืองเพชร ซึ่งเคยรับราชการในราชสำนักอยุธยา ก่อนเข้ามารับราชการในราชสำนักกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตระกูล ‘ภวังคนันท์’ ซึ่งยังคงมีพราหมณ์รับราชการอยู่ในปัจจุบัน
คำว่าเมืองรามราชนั้นตามที่ท่านพระมหาราชครูได้กล่าว สื่อถึงเมืองราเมศวรัมอย่างที่กล่าวไป ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เคยโพสต์ไว้ใน Facebook ส่วนตัวว่า หลังเบญจาในโบสถ์ใหญ่ปรากฏร่องรอยน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ การประดิษฐานศิวลึงค์ 2 องค์ ซึ่ง ‘น่าจะ’ เป็นการจำลองการประดิษฐานศิวลึงค์ในเทวาลัยประธานของศรีรังคนาถสวามี อันเป็นผลจากตำนานที่ว่า ตอนที่พระรามยกทัพกลับจากลังกา หลังจากช่วยนางสีดาได้แล้วก็ต้องผ่านเมืองราเมศวรัม ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะลังกา ที่เมืองแห่งนี้พระรามได้พบกับฤๅษีตนหนึ่ง ซึ่งแนะนำให้พระรามทำพิธีล้างบาปที่เกิดจากการฆ่าทศกัณฐ์ ผู้มีเชื้อสายพราหมณ์
พระรามจึงต้องทำพิธีล้างบาปด้วยการสถาปนาศิวลึงค์ลงบนเนินเขาคันธมาสน์ ที่อยู่ในเมืองราเมศวรัมนั้น พร้อมสั่งให้หนุมานไปนำศิวลึงค์มาจากแม่น้ำนัมมทา (บ้างว่าเขาไกลาส) แต่หนุมานเอาศิวลึงค์กลับมาไม่ทันฤกษ์ที่กำหนด พระรามจึงใช้ทรายจากบริเวณเนินเขานั้นก่อเป็นศิวลึงค์ขึ้นมาก่อน เรียกว่า ‘รามลึงค์’ หนุมานเมื่อทราบความหลังกลับมาถึงแล้วก็นึกน้อยใจพระราม ถึงขนาดพยายามจะถอนรามลึงค์ทิ้ง พระรามจึงทรงโปรดให้หนุมานนำศิวลึงค์ที่ตนนำมาจากแม่น้ำนัมมทา ไปประดิษฐานทางทิศเหนือใกล้รามลึงค์ พร้อมตั้งชื่อว่า ‘หนุมานลึงค์’ ก่อนจะทรงบัญญัติว่าทุกครั้งที่จะประกอบพิธีบูชาศิวลึงค์ในเทวสถานแห่งนี้ โปรดให้บูชาหนุมานลึงค์ก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ
ผมลองไปค้นต่อจากที่ศิริพจน์ได้ศึกษาไว้พบว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะตำนานศิวลึงค์คู่มีเพียงที่วัดรามนาถสวามี เมืองราเมศวรัมเท่านั้น ฉะนั้นการตั้งศิวลึงค์หลังเบญจาจึงเป็นการจำลองจารีตที่บรรพชนของพราหมณ์หลวงคุ้นเคย ทั้งนี้ข้อน่าสังเกตต่อไปคือ ทำไมต้องไปตั้งอยู่หลังเบญจาซึ่งเป็นจุดที่ไม่สามารถเห็นได้
เมื่อรัชกาลที่ 1 ไม่โปรด ‘ศิวลึงค์’ แต่ศาสนาพราหมณ์ยังจำเป็น
“…แต่ซึ่งสารเทพารักษาอันเอาไม้ทำเปนเพศบุรุษลึงใหญ่น้อยต่างๆ หญิงชายชวนกันนับถือนั้น ทรงพระกรรุณาให้นักปราชญราชบัณฑิตยค้นดูในพระไตรปิฎกก็มิได้มีหย่าง…
จึ่งทรงพระวิจารณเหนว่า แรกเหตุนี้จะมีมาเพราะคนพาลกกขะละหยาบช้า
สืบมาหญิงชายผู้หาปัญามิได้ก็เอาเยี่ยงหย่างนับถือสืบมา…
อันหนึ่งเปนที่แขกเมืองนานาปรเทษไปมาค้าขายได้เหนจะดูหมิ่นถิ่นแคลน
กรุงเทพพระมหานครอันกอปด้วยเกิยติยศ…
ห้ามอย่าให้มีเพศบุรุษลึงอันลามกอัประมงคลไว้ในสารเทพารักษ์เปนอันขาดทีเดียว…”
กฎหมายตราสามดวง
สายชล สัตยานุรักษ์ เสนอว่า หลังรัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงมีแนวพระราชดำริด้านการศาสนาแบบมนุษยนิยมต่างไปจากสมัยก่อนหน้า อาจเป็นไปเพื่อผลแห่งความชอบธรรมในฐานะผู้ชำระศาสนาให้บริสุทธิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน เหตุนี้อาจสัมพันธ์กับการรั้งรอถึง 2 ปีก่อนการสถาปนาเทวสถานสำหรับพระนคร ซึ่งโดยปกติแล้วพิธีกรรมอย่างพราหมณ์นั้นมีความจำเป็นมากสำหรับการประกอบพระราชพิธีต่างๆ สังเกตได้จากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีองค์ประกอบความเป็นพราหมณ์มากกว่าพุทธอย่างชัดเจน
แต่กระนั้นสายชลกล่าวต่อว่า แม้รัชกาลที่ 1 มีความคิดที่มีลักษณะมนุษยนิยม สัจนิยม และเหตุผลนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถสลัดความคิดที่เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติออกไปได้อย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นสุดท้ายแล้วองค์ประกอบอย่างพราหมณ์ ก็ได้รับการเชื้อเชิญเข้ามายังพระนครในท้ายที่สุด โดยปรับเปลี่ยนบางอย่าง
ในกรณีเทวสถาน การที่ไม่ตั้งพระศิวลึงค์ขึ้นเป็นประธานบนไพทีของโบสถ์ใหญ่อาจสัมพันธ์กับการที่รัชกาลที่ 1 มิโปรดและตราไว้ในประมวลกฎหมายตราสามดวง มิให้ชายหญิงในพระนครบูชาลึงค์ จึงน่าจะเป็นไปตามพระราชปณิธานของพระเจ้าอยู่หัว แต่พราหมณ์ก็มิสามารถละเลยการบูชาศิวลึงค์ตามรากฐานในคัมภีร์ของพวกตน จึงได้เพียงแต่เอาไปแอบไว้ด้านหลังในมุมลับตาคน
ซึ่ง ‘คน’ ที่ว่านี้หมายถึง ‘รัชกาลที่ 1’ นั่นเอง
อย่างที่สายชลได้เสนอไว้ สุดท้ายองค์ประกอบพิสดารซึ่งในที่นี้มักจะหมายถึงศาสนาพราหมณ์ ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะเครื่องมือทางการปกครอง รูปวาดเทพเจ้ามากมายจึงถูกวาดประดับวิหารหลวงและโบสถ์วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ในฐานะธรรมบาล ก่อนวัดใหญ่อื่นๆ จะทำสืบกันต่อมา
หรือภาพวาดรามเกียรติ์ก็ถูกเชื้อเชิญเข้าไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดหลวงประจำพระนคร ในฐานะเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ ผู้สามารถชำระความวุ่นวายแห่งโลกได้ เช่นเดียวกับพระราม มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งดินแดนภารตะ
ที่มาข้อมูล
Harshananda, Swami (2012). Hindu Pilgrimage Centres (second ed.). Bangalore: Ramakrishna Math.
คมกฤษ อุ่ยเต็กเค่ง (2563) พราหมณ์พัทลุง และความหลากหลาย ของ “พราหมณ์พื้นเมือง” ในไทย เข้าถึงจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_296617
สายชล สัตยานุรักษ์ (2546). พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325-2352). กรุงเทพฯ: มติชน
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ https://www.facebook.com/share/p/163Cy4W3sS/
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (2549). เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า. กรุงเทพฯ: สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
Tags: ศิวลึงค์, Indianiceation, เทวสถานโบสถ์พราหมณ์, พราหมณ์, พราหมณ์-ฮินดู, กรุงเทพมหานคร, ฮินดู