“เสาต้นนี้ใช่เสาอโศกไหม” คำถามจากเพื่อนร่วมทางรุ่นพี่ชาวไทยดังขึ้น ทำลายความเงียบท่ามกลางอุณหภูมิใกล้ 50 องศาเซลเซียส ในยามบ่ายของชนบทห่างไกลแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย เสาต้นนี้รับการเล่าเป็นทอดๆ กันมาว่า คือ ‘เสาอโศก’ สร้างขึ้นเมื่อคราวพระองค์เสด็จผ่านทางไปยังพุทธสถาน
ดูผ่านๆ เสาหินทรายสูงราว 4 เมตรนิดๆ นี้ มียอดเป็นดอกบัวคว่ำทรงระฆัง ละม้ายกับหัวเสาของพระเจ้าอโศกจากเมืองสารนาถ เพียงแต่ว่ายอดเหนือไปจากดอกบัวหักหายไป และใกล้กับเสาต้นนี้ยังพบซากโบราณสถานสร้างจากอิฐขนาดใหญ่ประมาณหนึ่ง ซึ่งได้รับการขุดค้นเสร็จสิ้นเรียบร้อย
แล้วโบราณสถานแห่งนี้ก็ถูกบอกต่ออีกเช่นกันว่า เป็นหนึ่งในพุทธสถานที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างตามปกรณ์บาลีที่ว่า พระองค์สร้างพุทธสถานถวายเป็นพุทธบูชา 8.4 หมื่นแห่ง
อะไรที่เป็นเสาๆ ก็ดูจะเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกไปหมดเลย แต่มันแน่หรือ
หนึ่งเสา
อย่างที่บอก เสาต้นนี้มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับเสาอโศกมาก แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้วไม่ใช่เลย เสาต้นนี้กำหนดอายุห่างจากรัชกาลพระเจ้าอโศกราว 650 ปี สร้างขึ้นโดยกษัตริย์รุ่นหลัง เพื่อบันทึกชัยชนะของพระองค์เหนือชนหูณะ (Huna) จากเอเชียกลาง ที่เข้ารุกรานอนุทวีปเมื่อราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 9 กษัตริย์องค์นั้นชื่อ ‘พระเจ้าสกันทรคุปตะ’ (พ.ศ. 998-1010)
อธิบายรายละเอียดรูปลักษณ์ของเสาต้นนี้อีกครั้ง เสาต้นนี้สร้างจากหินทรายมีฐานสี่เหลี่ยม ตัวเสาตรง ยอดเสารูปบัวคว่ำ ยอดเสาหักหาย สุดท้ายเรารู้ว่า เสาต้นนี้ไม่ใช่ของพระเจ้าอโศกด้วยเหตุผล 2 ประการ
1. จารึกบริเวณฐานของเสาระบุถึงกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะ นับย้อนไปถึงพระเจ้าศรีคุปตะ ผู้เป็นต้นราชวงศ์ นับย้อนได้ 6 ชั่วคนก่อนจะสิ้นสุดที่พระเจ้าสกันทรคุปตะ
2. รูปแบบทั่วไปของเสาพระเจ้าอโศกไม่ปรากฏฐานสี่เหลี่ยมแบบนี้ จารึกของพระองค์จะสลักอยู่บนตัวเสาโดยตรง และเสาของพระเจ้าอโศกจะขัดเสาจนมัน ซึ่งต่างไปจากเสาต้นนี้ซึ่งมีเนื้อหยาบกว่ามาก
อีกหลักฐานหนึ่งคือ บริเวณโบราณสถานพบรูปเคารพรูปหนึ่งแสดงภาพบุรุษมีปีกด้านหนึ่ง อีกด้านเป็นรูปบุรุษมีวงล้อบริเวณศีรษะ บุรุษทั้งสองอยู่ท่าพนม (อัญชลีมุทรา) บุรุษมีปีกชัดเจนว่า คือ ‘ครุฑ’ ส่วนบุรุษที่มีวงล้อคือ รูปบุคลาธิษฐานของ ‘องค์สุทรรศนจักร’ อาวุธประจำองค์พระวิษณุ ประติมากรรมบุคคลนี้คือ หัวเสาที่หักไป
ทำไมผมจึงคิดเช่นนั้น ราชวงศ์คุปตะเป็นราชวงศ์ที่นับถือไวษณพนิกาย (พระวิษณุ) เป็นหลัก เสาประกาศชัยชนะของกษัตริย์ราชวงศ์นี้ จึงนิยมประดับหัวเสาด้วยรูปประติมากรรมบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับพระวิษณุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครุฑและจักร เราพบหลักฐานสำคัญคือ เสาจารึกพระเจ้าพุทธคุปตะ (ครองราชย์หลักพระเจ้าสกันทรคุปตะราว 9-10 ปี) จากเมืองเอราน (Eran) รัฐมัธยมประเทศ ซึ่งยังตั้งอยู่ ณ สถานที่ดั้งเดิม (In Situ) เสาของพระเจ้าพุทธคุปตะมีสัดส่วนบางประการที่แตกต่างกัน เช่น ประเภทหินที่นำมาใช้และสัดส่วนของฐานเหลี่ยมต่อตัวเสากลม
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ บนยอดเสาจากเอรานมีประติมากรรมครุฑหันหลังชนกับองค์สุทรรศนจักรยืนอยู่ยอดสุดของเสา ซึ่งทำให้เราพอจะอนุมานสภาพดั้งเดิมของเสาและยืนยันว่า เสาที่ผมและเพื่อนร่วมทางรุ่นพี่คนนั้นกำลังสนทนาถึง ไม่ใช่เสาพระเจ้าอโศกแน่นอน
จารึกพระเจ้าสกันทรคุปตะกล่าวต่อไปว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างเทวาลัยประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุในพระนาม ‘ศรรงคิน’ (Sharngin) เอาไว้ ณ หมู่บ้านแห่งนี้ พร้อมทรงมีพระราชโองการให้ชนในหมู่บ้านดูแลและบูชาเทวาลัยแห่งนี้ เพื่อเป็นบุญอุทิศให้แด่พระราชบิดาของพระองค์ คำตอบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การใช้งานเดิมของโบราณสถานแห่งนี้จึงเป็น ‘เทวาลัยพระวิษณุ’ ไม่ใช่พุทธสถาน
สองล้อ
ผมขอเฉลยว่า เสาต้นนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ในหมู่บ้านภิตารี ทางตะวันออกของรัฐอุตรประเทศ หมู่บ้านแห่งนี้ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนมุสลิมไปเรียบร้อยแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังคงให้ความสนใจและดูแลเสาของพระเจ้าสกันทรคุปตะเป็นอย่างดี แม้ว่าเทวสถานจะร้างการบูชาก็ตาม การจะไปดูเสาต้นนี้พูดตรงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีขนส่งสาธารณะใดเข้าถึงเลย แต่ด้วยความอนุเคราะห์ของรุ่นพี่คนนั้น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยส่งรูปถ่ายเสาต้นนี้มาให้ผมดูด้วยความสงสัยในคำบอกเล่าจากพี่รุ่นก่อนๆ ว่า นี่คือเสาอโศก! พี่เขาจึงสตาร์ตรถเครื่องสองล้อคู่ใจ พาผมซ้อนท้ายเพื่อไปพิสูจน์ความจริงกัน
เรา 2 คนใช้เวลาบนพาหนะสองล้อคันนั้นนานรวมได้ 5 ชั่วโมง (ไป 2 ชั่วโมงครึ่ง กลับอีก 2 ชั่วโมงครึ่ง) ในการเดินทางไปดูเสาต้นนี้ ผมจำได้ว่า เราไปถึงภิตารีกันตอนราวบ่าย 2 อุณหภูมิในวันนั้นสูงทีเดียวเกือบจะ 50 องศาเซลเซียส
ผมเคยเห็นรูปจารึกฐานเสานี้ในหนังสือเกี่ยวกับราชวงศ์คุปตะครั้งหนึ่ง ด้วยความดีใจ ผมวิ่งไปมาพยายามถ่ายรูปโบราณสถานและเสาต้นนั้นในมุมต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพราะรู้ดีแก่ใจว่า โอกาสที่จะมีคนพาขึ้นรถมาจอดหน้าเสาของพระเจ้าสกันทรคุปตะคงจะไม่เกิดขึ้นซ้ำง่ายๆ ระหว่างนั้นพี่เขาจึงถามขึ้นว่า “เสาต้นนี้ใช่เสาอโศกไหม” ก่อนผมจะนำพี่เขาย้อนเวลากลับไปด้วยข้อสันนิษฐานที่พาผู้อ่านทุกคนมาจนถึงตรงนี้
ที่มาข้อมูล
Fleet, John Faithfull (1888) Corpus Inscriptionum Indicarum: Inscriptions of the Early Guptas. Vol. III. Calcutta: Government of India, Central Publications Branch.
Tags: เสาอโศก, ราชวงศ์คุปตะ, เสาคุปตะ, อินเดีย, โบราณคดี, Indianiceation