อ้างตามความในอรรถกถาธรรมบท จิญจมาณวิกาเป็นหญิงงามซึ่งเหล่านักบวชนอกศาสนาส่งให้มาทำลายชื่อเสียงของโคตมพุทธเจ้า นางเข้ามาทำทีมีศรัทธาในพุทธศาสนา ร่วมฟังธรรมพร้อมกับคนอื่นๆ แต่พอถึงเวลากลับไม่กลับ ทำทีเดินลับหายไปยังที่พระพุทธเจ้าประทับ แล้วแอบออกไปทางอื่น นางมาวัดแต่เช้ามืดแล้วไปแอบซุ่มบริเวณที่ประทับ 

พอผู้คนมาฟังการแสดงธรรม นางก็จะแกล้งเดินออกไปเป็นกลลวงให้ใครๆ เห็น สุดท้ายนางนำผ้ามาพันท้องให้นูนแล้วนุ่งผ้าปิดทับเอาไว้ เดินท่าทางอุ้ยอ้ายคล้ายหญิงท้องแก่ และกล่าวต่อหน้าสาธุชนผู้มาฟังธรรมว่า ท้องกับพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงไม่ตอบโต้อันใด วางองค์นิ่งเฉย เมื่อเทวดารู้เห็นการกระทำอันเป็นบาปนี้จึงแปลงกายเป็นหนูไต่ไปบนตัวนาง และกัดสายคาดผ้าที่ผูกท้องจนหลุดร่วงลงมากองที่พื้น ชาวบ้านเมื่อเห็นแจ้งในความลวงจึงเข้าไปทุบตีนาง ขับไล่ออกจากเชตวันมหาวิหาร ด้วยความเจ็บปวดและอับอาย นางหนีเอาชีวิตจนพ้นประตูพระวิหาร แต่บาปกรรมนั้นหนักหนานัก นางได้ถูกธรณีสูบในฉับพลันเมื่อก้าวพ้นเขตสีมาวัดเชตวัน

เมื่อเราพินิจดูพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าไปๆ มาๆ ผมคิดว่า ตัวละครหนึ่งที่มีชื่อเสียงร้ายกาจที่สุด ถ้าฝ่ายชายมี เทวทัต ฝ่ายหญิงก็มี จิญจมาณวิกา นี่แหละ ด้วยบาปกรรมที่ทั้ง 2 คนนี้กระทำในขณะมีชีวิต จนถูกเชิญเอาชื่อมาใส่ไว้ในบทชยมังคลอัฏฐกคาถา (บทพาหุง) แม้ว่าที่มาที่ไปของมนต์บทนี้ยังไม่แน่ชัดนัก แต่กระนั้นการปรากฏชื่อของจิญจมาณวิกาก็สะท้อนอะไรที่กว้างใหญ่กว่านั้น และผมก็มองว่า ความรู้สึกที่บรรจุอยู่เบื้องหลังมนต์บทพาหุงยังคงดำเนินต่อมาในสังคมพุทธแบบไทยๆ จวบจนถึงปัจจุบัน

สีกาตัวร้าย

ไม่มีอะไรต้องสงสัยเลยว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่วนเวียนอยู่รอบเพศชาย สิ่งนี้สะท้อนชัดผ่านท่าทีของพระพุทธเจ้าต่อการขอบวชของ พระน้านางปชาบดีโคตมี ถ้าในครั้งนั้นไม่มีพระอานนท์อ้อนวอนขอพระพุทธองค์ก็จะมิทรงอนุญาตให้พระน้านางบวชเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ 

พระพุทธองค์ไม่ชอบการมีอยู่ของภิกษุณีจริงไหม ผมว่าเรื่องนี้อาจจะคล้ายกับเพลงทั้งรักทั้งเกลียดก็ได้ ดูจากวรรณกรรมอย่างเถรีคาถา ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรรเสริญภิกษุณีกลุ่มหนึ่งเอาไว้ในฐานะเอตทัคคะ (ผู้เป็นเลิศ) ในด้านต่างๆ แต่คำถามคือ จริงหรือ

เถรีคาถาเชื่อกันว่า รวบรวมขึ้นโดยพระธรรมปาละในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 (1,000 ปีหลังพระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพาน) มีการศึกษาระดับปริญญาโทเกี่ยวกับเถรีคาถาฉบับหนึ่งของ อาเศียร หนูสิทธิ์ โดยเขาพบลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่

1. พระเถรีเหล่านี้ส่วนมากมาจากวรรณะสูง

2. มักมีแรงจูงใจให้ออกบวช (ความเลื่อมใสและการสูญเสีย)

3. เน้นย้ำคำสอนเรื่องชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ และโทษของการหมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ 

ข้อที่ 3 นั้นน่าสนใจ เพราะดูราวกับว่าจะเน้นย้ำให้กับเหล่าพุทธศาสนิกชนฝ่ายหญิงว่า ‘อย่าหมกมุ่น’ จนเกินไป ความรักนั้นเป็นทุกข์โดยเฉพาะกับสตรี หากเป็นจริงเท่ากับว่า สำหรับผู้หญิงแล้วกามารมณ์นั้นนับเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อชีวิต ซึ่งกลับไปย้ำถึงข้อทัดทานของพระพุทธองค์ต่อการของบวชของพระน้านางว่า “สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ ‘พรหมจรรย์’ จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน”

เหตุแห่งข้อนี้ผมจึงมีความเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงยินดีกับการมีภิกษุณีเพราะผู้หญิงอาจนำพาโลกโลกีย์เข้ามาในสังฆะของพระองค์อันเสมือนโลกในอุดมคติของเหล่าชาย น่าเสียดายยิ่งว่า มหาเถรสมาคมไทยยืนหยัดจุดยืนนี้

ในจังหวะเช่นนี้แหละ ตัวละครอย่างจิญจมาณวิกา ผู้กล่าวร้ายพระพุทธเจ้าว่า ทำสาวตั้งท้องก็เข้ามาเติมเต็ม ในฐานะตัวแทนแห่งกามราคะที่เข้ามายั่วยุพระพุทธองค์ ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็ยังมองว่า นางผู้นี้ก็เป็นเพียงเครื่องมือของผู้ชายนอกพุทธศาสนาเท่านั้น แต่กระนั้นทำไมบทพาหุงถึงไม่ลากคอชายเหล่านั้นมาสวดเพื่อกันภัยจากชายเหล่านั้น ทำไมต้องเป็นจิญจมาณวิกา คำตอบเดียวที่ผมคิดออกตอนนี้คือ เพราะนางเป็น ‘หญิง’ 

จากจิญจาถึงสีกากอล์ฟ 

อย่างที่กล่าวไปแล่ว ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘วิกฤตศรัทธา’ ในวงการผ้าเหลืองไทย ภาพตัวแทนของ ‘จิญจมาณวิกา’ ยังคงแข็งแรง ส่วนตัวผมมองกรณีคดีสีกากอล์ฟว่า ใช่ ผู้หญิงคนนี้ใช้จุดอ่อนหลายประการของการเป็นพระ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่สกปรก แต่ความผิดของหญิงคนนี้กับชายในผ้าเหลืองเหล่านั้นมันแตกต่างกันไหม ผมว่าไม่

พระธรรมข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากในฝ่ายเถรวาทคือ ‘พรหมวิหาร 4’ (เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา) พระธรรมข้อนี้ถูกพูดถึงอยู่เสมอ แต่ข้อที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกลับเป็น 3 ข้อแรก เราใช้สิ่งนี้ในการขับเคลื่อนสังคม ทำบุญ ทำทาน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก แต่สังคมไทยกลับมีแนวโน้มที่จะละเลย ‘อุเบกขาธรรม’ หรือการวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในความสุขและทุกข์ของผู้อื่น 

การยกอุเบกขาธรรมมาในจังหวะเวลานี้ เพียงเพื่อจะตั้งคำถามว่า หากอดีตสงฆ์เหล่านั้นวางเฉยได้จริงๆ อย่างที่พวกเขาในฐานะ (อดีต) นักบวชควรจะเป็นได้ เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นไหม 

อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เคยเล่าให้ฟังว่า ปัญหาใหญ่หนึ่งของวงการสงฆ์ไทย คือการที่สงฆ์ส่วนมากบวชโดยขาดประสบการณ์ทางโลก เขาจึงยังอ่อนต่อมัน ไม่รู้จะรับมือ จัดการ และระงับปัญหาแบบที่เราๆ ฆราวาสเจอได้อย่างไร ต่างไปจากพระพุทธเจ้าที่เคยเรียนหนังสือแบบชาวบ้าน มีลูก มีเพศสัมพันธ์ มีลาภ มียศ และมีสรรเสริญ เพียงแต่สุดท้ายท่านมองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเติมเต็มจิตใจของท่านได้จึงได้ออกบวช 

ปัญหานี้ยึดโยงกับโครงสร้างของสังคมเราที่ใครหลายคนไม่อาจเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะ ‘ความจน’ และการบวชเป็นทางออกสุดท้ายเพื่อจะมีชีวิตรอดต่อไปได้ ผมรู้จักพระหลายรูปที่ต้องเข้าสู่กระบวนการนี้ตั้งแต่เด็ก เพราะต้องบรรเทาภาระทางเศรษฐกิจให้กับทางบ้าน ความหิวหลายๆ อย่างในวัยเด็ก วัยรุ่นของพระเหล่านั้นจึงไม่ถูกดับลง ที่น่าตลกคือ ความหิวนั้นถูกเร่งด้วยตัวการสำคัญที่เรียกว่า ‘ยศพระ/สมณศักดิ์’ เมื่อมีลาภและยศ พร้อมกับความโหยหาที่ตัวเองขาดไป นั่นแหละครับคือจุดอ่อนที่สุดของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยหลายรูป 

คำถามสำคัญต่อมาคือ แล้วใครกันแน่ควรรับผิด ในเมื่อหญิงก็ร้ายชายก็เลวแบบนี้ หรือเราจะยังมองว่า ผู้หญิงคือตัวร้ายของเรื่องต่อไป เหมือนที่เรามองจิญจมาณวิกา โดยไม่หันมองปัญหาภายในวงการผ้าเหลืองที่เกี่ยวโยงทั้งโครงสร้างชายเป็นใหญ่และเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน กระนั้นความน่าขบขันหนึ่งที่ผมเห็นว่า มันเป็นความย้อนแย้งอันตลกร้ายคือ ความหญิงแม้จะถูกกีดกันอยู่เนืองๆ ถูกปฏิสัมพันธ์อย่างรักบ้างกลัวบ้าง กลับเป็นเบื้องหลังที่ทรงพลังในการอุทิศสรรพกำลังทั้งกายและทรัพย์แด่พุทธศาสนา เพียงเพราะหล่อนๆ มิอาจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอันแท้จริงได้

ที่มาข้อมูล

หนูสิทธิ์, อาเศียร (2534), “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เถรีคาถาในคัมภีร์พระไตรปิฎก” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Tags: , , , , ,