หากถามชาวพุทธว่า “ใครคือกษัตริย์ชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่?” 

พระเจ้าอโศกมหาราช คงเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง ด้วยเรื่องราวที่ว่า พระองค์ทรงหันมานับถือพุทธศาสนาหลังมหาสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนนับแสน ทั้งยังสามารถแผ่ขยายพระราชอำนาจ และสถาปนาพุทธศาสนามากถึง 8.4 หมื่นแห่งทั่วทั้งอนุทวีปอันกว้างใหญ่ อีกทั้งความยิ่งใหญ่ของพระองค์ยังก้าวข้ามอ่าวเบงกอลมาถึงยังชายฝั่งสุวรรณภูมิ พร้อมกับพระธรรมทูต 2 รูปนามว่า ‘อุตรเถระ’ และ ‘โสนะเถระ’ 

เรื่องราวของพระธรรมทูตทั้งสองคงยังไม่ใช่ประเด็นที่จะพูดถึงกันในวันนี้ และประเด็นที่จะพูดถึงต่อไปในวันนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับพระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชโดยตรง แต่สิ่งที่อยากชวนคิดชวนคุยผ่านตัวหนังสือของข้อเขียนนี้คือ คนโบราณรับรู้เรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราชหลังจากท่านจากโลกนี้ไปแล้วอย่างไรมากกว่า ผ่านหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับจักรพรรดิองค์แรกแห่งโลกพุทธศาสนา (?) พระองค์นี้ให้มากขึ้น 

จากสงครามกลิงคะสู่พระพุทธศาสนา (?)

การรับรู้เกี่ยวกับพระเจ้าอโศกโดยทั่วไปเริ่มขึ้นเมื่อพระองค์ทรงชนะสงครามกับแคว้นกลิงคะ (รัฐโอริสสา) ตามจารึกหลักที่ 13 ของพระองค์ ในสงครามเมื่อปี 282 มีคนตายไปนับแสน ชัยชนะอาบเลือดนำพระองค์ซึ่งในขณะนั้นชื่อ เทวนัมปิยะ (ผู้เป็นที่รักแห่งเทวดา) ให้เข้าใกล้ธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งประกาศว่า จะทรงเลิกทำสงครามแห่งการฆ่าฟัน (ทิควิชัยยะ) แต่จะทรงประกาศชัยชนะแห่งธรรม (ธรรมวิชัยยะ)

ตามแบบเรียนวิชาพุทธศาสนาเหตุการณ์นี้คือจุดเปลี่ยน ที่ทำให้พระองค์ทรงเปลี่ยนพระนามจาก จันฑาโศก เป็น ธรรมาโศก และเป็นกษัตริย์ผู้นับถือพุทธศาสนา  

ความน่าสนใจอย่างยิ่งในประเด็นนี้คือ ในคัมภีร์มหาวงศ์และทีปวงศ์ของฝ่ายศรีลังการะบุว่า พระองค์ทรงนับถือพุทธศาสนาแล้วตั้งแต่ปีที่ 4 ในรัชกาล ทั้งทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพุทธสถาน (สถูป) 8.4 หมื่นแห่งระหว่างปี 5-7 ของรัชกาล ข้อมูลตามปกรณ์บาลีขัดแย้งกับข้อมูลในที่จารึกหลักที่ 13 ซึ่งระบุว่า พระองค์ได้ก่อสงครามอย่างรุนแรงกับชาวกลิงคะในปีที่ 8 แห่งการครองราชย์ เพราะหากเรายึดถือตามข้อความฝ่ายบาลี พระองค์ไม่ควรจะมุ่งหน้าก่อสงครามที่ร้ายแรงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในสงครามกลิงคะไม่ปรากฏอยู่ในธรรมเนียมศรีลังกา

นอกจากนั้นอโศกาวทาน คัมภีร์สันสกฤตซึ่งเล่าย้อนถึงประวัติของพระเจ้าอโศกเอาไว้อย่างละเอียด ก็ไม่ระบุถึงสงครามกลิงคะเช่นกัน อนันทะ วหิหะนะ ปัลลิยา คุรุเค (Ananda Wahihana Palliya Guruge) นักวิชาการพุทธศาสตร์ชาวศรีลังกาผู้โด่งดัง เสนอว่า นอกจากจารึกหลักที่ 13 แล้วพระเจ้าอโศกไม่เคยพูดถึงสงครามที่กลิงคะอีกเลย จึงมีความเป็นไปได้ว่า สงครามครั้งนั้นอาจถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมของพระองค์ในฐานะพระราชาผู้ทรงธรรม ฉะนั้นแล้วสงครามครั้งนั้นอาจไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลยเสียด้วยซ้ำ  

จักรวาทินองค์แรก (?)

สเตนเลย์ เจ. ตัมเบียห์ (Stanley J. Tambiah) อดีตศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจาก Harvard University เสนอว่า แม้พุทธศาสนาจะมีลักษณะสำคัญของคือ ‘การสละทางโลก’ ซึ่งดูขัดแย้งและเป็นอุปสรรคที่จะได้การสนับสนุนทางการเมือง แต่เอกลักษณ์นั้นมีรากฐานมาจากแนวคิดเรื่องความสงบ สอดคล้องกับระบบการปกครองรัฐที่มุ่งเน้นความสงบของบ้านเมือง ความมั่นคงทางสังคม และความปลอดภัย ทำให้ชนชั้นปกครอง (ในการศึกษาของตัมเบียห์หมายถึง พระเจ้าอโศกมหาราช) เลือกใช้และเผยแพร่ชุดความคิดดังกล่าว อันเป็นผลดีต่อการควบคุมสังคม 

ขณะที่พุทธศาสนาเองวางหลักการควบคุมความประพฤติ การวางตัว คุณธรรม และสิ่งอันพึงเคารพของผู้คนในสังคมไว้อย่างชัดเจน และครอบคลุมถึงการวางตัวของพระเจ้าแผ่นดินด้วย คือการมีทศพิธราชธรรมหรือราชธรรม 10 ประการ และมรรคมีองค์ 8 ข้อพระธรรมเหล่านี้จึงทำหน้าที่ควบคุมวิธีการและแนวคิด (จาริยาและวิธานะ) ในการปกครองของชนชั้นนำและทุกชนชั้นเอาไว้ 

ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะต้องประกอบด้วยหลักการดังกล่าวนั้น ส่งผลให้พระเจ้าแผ่นดินมีสถานะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมอันเป็นเอกลักษณ์โดยทันที คุณธรรมพิเศษของกษัตริย์หรือชนชั้นปกครองนำไปสู่แนวคิดเรื่องบารมีหรือบุญญาธิการของผู้ปกครอง ในฐานะผู้คุ้มครองดูแลพุทธศาสนา หรือในฐานะผู้มีลักษณะอันเป็นอุดมคติทั้งทางกายภาพ (มหาบุรุษลักษณะ) อำนาจจิต และอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดผู้คนให้สยบยอมดังเช่นรัตนะ 7 ประการ (ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว ขุนพลแก้ว จักรแก้ว และรัตนะ) ที่พระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็น ‘จักรวาทิน’ (Chakvartin) หรือมีบุญญาธิการถึงพร้อมเท่านั้นถึงจะได้ถือครองได้หรือพบเห็น 

ทั้งนี้หากว่าด้วยหลักฐานความคิดเรื่อง ‘จักรวาละ จักรวารติน’ (Chakravala Chakravartin) ในเชิงเอกสารนั้นมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายไชนะตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 1 เป็นอย่างน้อย นับว่าเป็นสองศาสนาเก่าที่สุดที่เสนอแนวทางนี้ขึ้น ในขณะเดียวกันศาสนาพราหมณ์ในยุคพระเวทและยุคมหากาพย์พูดถึงพิธีกรรมอย่างอัศวเมธหรือการฆ่าม้าอุปการ ซึ่งเป็นม้าที่กษัตริย์จะปล่อยไปยังเมืองต่างๆ เพื่อประกาศสงคราม โดยการกระทำสงครามไปยังทิศต่างๆ นี้บางครั้งเรียกว่า ทิควิชัยยะ (ชัยชนะเหนือทิศทั้ง 4) ดังนั้นในทางหนึ่งแนวคิดของศาสนาฮินดูจึงดูสัมพันธ์กับสงครามในเชิงกายภาพ ในขณะที่พุทธศาสนาและศาสนาไชนะดูเหมือนจะมุ่งไปยังโลกแห่งจิตวิญญาณเสียมาก 

ในทางโบราณคดี หลักฐานซึ่งแสดงภาพลักษณ์จักรพรรดิที่พบเก่าที่สุดในอินเดียนั้นเกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนา และแน่นอนว่าจักรพรรดิคนนั้นคือพระเจ้าอโศก การขุดค้นและเก็บข้อมูลสถูปอมราวดี (Amarāvati Stupa) พบภาพสลักชั้นนอก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 เป็นรูปบุรุษยืนตรง ยกแขนขวาชี้ไปด้านหน้า แขนซ้ายยกไว้ระดับหน้าอก แวดล้อมด้วยสัญลักษณ์มงคลที่ยังหลงเหลือจากภาพสลัก ได้แก่ จักร ม้า คหบดี และขุนพล นักโบราณคดีพิจารณาว่า ภาพนี้คือรูปแทนองค์พระเจ้าอโศก ในฐานะจักรพรรดิตามคติพุทธศาสนา โดยภาพลักษณะนี้สามารถพบได้อยู่เนืองๆ ในพุทธศิลป์โบราณของอินเดีย โดยเฉพาะศิลปะอมราวดี

ภาพสลักพระเจ้าอโศก/ จักรวาทิน ล้อมด้วยรัตนะ 7 ประการ จากเมืองอมราวดี จัดแสดงอยู่ที่ Guimet Museum กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

ย้อนกลับไปยังประเด็นสงครามกับแคว้นกลิงคะข้างต้น ผมจึงอย่างจะขยายขอบเขตข้อเขียนของอนันทะ วหิหะนะ ปัลลิยา คุรุเค สักเล็กน้อย การหายไปของสงครามนองเลือดจากจารึกหลังปี 282 จึงอาจเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะไม่ฟื้นผ่อยหาตะเข็บ เพื่อสร้างความยอมรับในกับตัวพระองค์เองในหมู่คณะสงฆ์ที่ทรงนับถือ เพราะนอกเหนือจากการหายไปข้อสงครามกลิงคะแล้ว พระองค์ยังประกาศห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามวิวาทะในหมู่สงฆ์ ประกาศให้มีการแจกจ่ายสมุนไพร-ยาแก่คนและสัตว์ในพระราชอาณาจักร (ดังที่สเตนเลย์ ตัมเบียห์เสนอ) เพื่อให้เกิดความสงบในการปกครองผ่าน ‘ธรรม’ ซึ่งในที่นี้มีความหมายถึง ‘ระเบียบแบบแผน’ ที่พระองค์ยอมรับ 

ความพยายามของพระองค์ในครั้งนั้นนับว่า ประสบความสำเร็จชนิดที่เรียกว่า ‘ถล่มทลาย’ กล่าวคือ ในโลกพุทธศาสนา พระองค์ทรงประกาศสังคายนาครั้งที่ 3 ขึ้น ณ กรุงปาฏลีบุตร พร้อมทั้งจับคนนอกศาสนา (อลัชชี) สึกเสียมากมาย ข้อนี้ เสถียร โพธินันทะ เสนอว่า การสึกอลัชชีตามข้อความในคัมภีร์มหาวงศ์ฝ่ายลังกา แท้จริงคือ บรรดาคณะสงฆ์นิกายอื่นๆ ที่รัฐ (พระเจ้าอโศก) ไม่เห็นชอบ ดังนั้นการส่งสมณทูตออกไปยังดินแดนต่างๆ จึงอาจนับเป็นการประกาศพุทธศาสนาแบบรัฐครั้งแรกก็ได้ สิ่งนี้สะท้อนว่าพระเจ้าอโศกทรงมีอำนาจควบคุมคณะสงฆ์ได้มากเพียงใด รวมถึงคณะสงฆ์และรัฐของพระองค์ใกล้ชิดกันมากเพียงใด

ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ด้วยเหตุใดวรรณกรรมพุทธศาสนาและงานพุทธศิลป์ต่างๆ จึงยกย่องพระองค์มากเสียขนาดนั้น ถึงขนาดต้องมีรูปของพระองค์ในฐานะจักรพรรดิ ผู้ครอบครองสัญลักษณ์มงคลทุกประการประดับประดาพุทธสถานมากมายมาแต่โบราณ 

“สรุปแล้วคนโบราณมองพระเจ้าอโศกอย่างไร”

ในฐานะนักเรียนโบราณคดี ผมขออนุญาตตอบแทนหลักฐานว่า พระเจ้าอโศกเป็นกษัตริย์ต้นแบบที่กษัตริย์ผู้นับถือพุทธองค์อื่นอยากจะดำเนินรอยตาม พระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะก็ทรงประกาศการสังคายนาของตนเอง หรือกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศาตวาหนะแม่แรงใหญ่ในการสร้างสถูปอมราวดีก็เลือกจะสร้างรูปพระเจ้าอโศกซ้ำๆ อยู่หลายรูป เสมือนว่าตนเองเป็นพระเจ้าอโศกอย่างใดอย่างนั้น

อย่างไรก็ดีเรื่องราวของพระเจ้าอโศกนั้นยังมีแง่มุมอีกมาก ข้อเขียนนี้ผมเขียนขึ้นจะบอกว่าเอาสนุกมือ ก็ไม่เกินเลยนัก จึงอย่าพึ่งเอาเชื่อถือมากจนกว่าจะได้ศึกษาและค้นพบพระเจ้าอโศกด้วยตัวคุณเอง

ที่มาข้อมูล

Guruge, Ananda W. P. (1995). “Emperor Aśoka and Buddhism: Unresolved Discrepancies between Buddhist Tradition & Aśokan Inscriptions”. In King Aśoka and Buddhism: Historical and Literary Studies. Anuradha Seneviratna (ed.). Buddhist Publication Society.

Thapar, Romila (2015). Aśoka and the Decline of the Mauryas (3rd ed.). Oxford University Press.

Olivelle, Patrick (2024). Ashoka: Portrait of a Philosopher King. New Haven: Yale University Press

Gombrich, Richard F. (1997) How Buddhism Began: The Conditioned Genesis of the Early Teachings. New Delhi: Munshiram Manoharlal

Tags: , , , ,