อินเดียกลายเป็นอีกหนึ่งตลาดอันหอมหวานสำหรับ Netfix เพราะแค่สองปีครึ่งนับตั้งแต่ Netflix เปิดบริการที่อินเดีย ล่าสุดในปี 2017 มีผู้ใช้ชาวอินเดียกว่าประมาณ 520,000 ราย คลังภาพยนตร์สำหรับผู้ใช้ในอินเดียเติบโตขึ้น 5 เท่า สัดส่วนของภาพยนตร์สูงกว่าเนื้อหาประเภทอื่นๆ มีภาพยนตร์ให้ดูแล้ว 4,706 เรื่อง อยู่ในอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 73 ประเทศ

ตัวเลขนี้ทำให้ Netflix พยายามหาทางเพิ่มจำนวนผู้ใช้มากขึ้นอีก ด้วยการเพิ่มภาพยนตร์เอาใจชาวอินเดีย ทั้งจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อบอลลีวู้ดที่ผลิตภาพยนตร์ 2,000 เรื่องต่อปี และทำสัญญากับผู้ผลิตภาพยนตร์ท้องถิ่นอีกหลายเจ้า ซึ่ง Netflix ทุ่มเงินกว่า 88 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเพื่อสร้างภาพยนตร์สำหรับผู้ชมชาวอินเดียโดยเฉพาะ

เพราะว่ามีภาพยนตร์ออกมาปีละนับพันเรื่อง ภาพยนตร์อินเดียจึงมีเนื้อหาและวิธีนำเสนอที่หลากหลายมาก ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ลองดูจาก 5 เรื่องนี้ก็น่าจะพอได้

OMG-Oh My God!  (2012)

ลืมภาพยนตร์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของศาสนาต่างๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในอินเดียเมื่อหลายศตวรรษที่แล้วไปก่อน เพราะทุกวันนี้มีภาพยนตร์อินเดียว่าด้วยการนับถือศาสนาในสังคมอินเดียสมัยใหม่ ที่ดูเพลิน อมยิ้มเล็กๆ อีกหลายเรื่องที่ไม่ควรพลาด และมีประเด็นถกเถียงที่ขยับขยายต่อจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับศาสนาที่มีชีวิตชีวามาก หนึ่งในนั้นคือเรื่องนี้

วันหนึ่งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนทำให้ร้านขายของที่เป็นแหล่งรายได้เดียวของครอบครัวพังลง เมื่อติดต่อให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ แต่ได้รับคำปฏิเสธที่กลับมา เป็นข้อยกเว้นตัวเล็กๆ ที่อ้างว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเหตุสุดวิสัยที่เป็นการกระทำของพระเจ้า (Act of God) ให้เจ็บใจเล่นๆ แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดี  คานจิ เจ้าของร้านขายวัตถุมงคลในศาสนาฮินดู ไม่ยอมปล่อยให้ครอบครัวต้องเร่ร่อนอยู่ตามถนน เขาจึงตัดสินใจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพระเจ้าเสียเลย

ใครๆ ก็พากันหัวเราะความคิดนี้ แต่คานจิไม่ยอมแพ้ อ้างเหตุผลที่ทำให้ศาลตกลงรับพิจารณาคดี และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันไปทั่วประเทศ ในอินเดียมีผู้นำศาสนาและลัทธิความเชื่อต่างๆ มากมายที่อ้างว่าตนเป็นตัวแทนของพระเจ้า ดังนั้นพวกเขาก็ควรจะมาขึ้นศาลและให้การได้

คานจิโด่งดังและให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์มากมาย แต่การกระทำของเขาก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ โดยเฉพาะศาสนิกชนและสาวกของกูรูในสำนักศาสนาต่างๆ แม้เขาอาจจะชนะคดีในชั้นศาล แต่นอกศาล ไม่มีใครรับรองว่าเขาและครอบครัวจะปลอดภัย!

ขณะที่คานจิพยายามต่อสู้เพื่อนำร้านของเขากลับคืนมา อีกด้านหนึ่งภาพยนตร์ก็ได้ฉายภาพให้เห็นถึงการหาประโยชน์จากศาสนา เช่น พฤติกรรมตีสองหน้าของกูรูเจ้าสำนักต่างๆ ที่นำเสนอออกมาอย่างน่าติดตาม

OMG-Oh My God!  หยิบเอาประเด็นใกล้ตัวเพื่อสนทนากับการนับถือศาสนาที่หลากหลายของชาวอินเดีย คำถามง่ายๆ ที่ดูเหมือนไม่ซับซ้อน แต่ตอบไม่ง่ายเลย หากหนังเรื่อง PK (2014) ของ Rajkumar Hirani  เคยทำให้คุณติดใจหนังอินเดียมาแล้ว เรื่องนี้ยิ่งไม่ควรพลาด เพราะตอนที่ PK ออกฉายใหม่ๆ ก็เกิดการโต้เถียงกันว่าพล็อตเรื่องคล้ายกันขนาดนี้ เป็นการเลียนแบบ OMG-Oh My God! ที่ออกฉายมาก่อนหรือเปล่า?

Secret Superstar (2017)

อินเซีย เด็กสาวมุสลิมวัย 15 ปีที่มีความฝันอยากเป็นนักร้อง เธอเป็นลูกสาวของนาจมาและฟารุคซึ่งมักจะทุบตีภรรยาของตัวเองเป็นประจำ อินเซียชอบร้องและแต่งเพลง แต่พ่อซึ่งรักลูกชายมากกว่าไม่เห็นด้วย เขายังคิดว่าผู้หญิงไม่ต้องเรียนหนังสือมากและควรจะเชื่อฟังสามีหรือผู้ชาย ฟารุคต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด นานๆ ครั้งจึงจะกลับบ้าน แม่ของอินเซียใช้ช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่ซื้อแล็บท็อปให้อินเซียเป็นของขวัญวันเกิด ชินตัน เด็กชายเพื่อนร่วมห้องซึ่งแอบชอบเสียงเพลงของอินเซียก็พยายามกระตุ้นให้เธอทำตามความฝัน และช่วยเธอด้วยการหาแอร์การ์ดมาให้เธอต่ออินเทอร์เน็ตได้

จากวันนั้นบ้านในวันที่ฟารุคไม่อยู่ อินเซีย แม่ น้องชายและย่าของเธอ ก็ได้ท่องโลกกว้างผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเพลิดเพลินใจ เพราะไปประกวดแข่งขันร้องเพลงด้วยตัวเองไม่ได้ อินเซียจึงเริ่มถ่ายคลิปเล่นกีตาร์และร้องเพลงด้วยตัวเอง โดยคลุมหน้าด้วยนิกอบ (niqab) เพื่อปิดใบหน้าที่แท้จริง อินเซียตั้งชื่อช่องของเธอบนเว็บไซต์ยูทูบว่า ‘Secret Superstar’ คลิปของเธอฮิตชั่วข้ามคืน เมื่อไหร่ที่ว่างและพ่อไม่อยู่ เธอก็จะอัปโหลดคลิป ช่องของเธอโด่งดังจนกระทั่งไปเข้าตาของชักติ นักทำเพลงชื่อดังที่กำลังจะตกกระป๋องด้วยเรื่องส่วนตัว อินเซียหาทางติดต่อกับชักติและทดสอบเสียงร้องของเธอต่อหน้าเขา

ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี หากฟารุคไม่กลับมาบ้านและประกาศข่าวว่า เขาได้งานที่ซาอุดิอาระเบียแล้ว และจะย้ายครอบครัวไปอยู่ด้วย อินเซียต้องแต่งงานกับชายชาวซาอุดิอาระเบียที่เขาจัดหาไว้ให้ อินเซียเสียใจมากและพยายามบอกให้แม่หาทางหนีจากพ่อไป แต่มันก็ไม่ง่ายเลยสำหรับนาจมา ผู้หญิงจากชนบทที่ไม่รู้หนังสือ ไม่มีเงิน และถูกบังคับให้มาแต่งงานกับฟารุค กระทั่งใบหย่าเธอก็ยังอ่านไม่ออก อินเซียคับแค้นใจกับชะตากรรมของแม่และของตัวเอง ทั้งที่น่าจะมีทางหลุดพ้นจากวังวนความรุนแรงในครอบครัวนี้อยู่แล้วเชียว

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงสามรุ่นคือ ย่า แม่ และอินเซียต้องประสบ แต่อินเทอร์เน็ตได้เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับพวกเธอ แม้อาจจะดูเป็นชะตากรรมที่ชวนหดหู่ แต่ความสดใสของวัยรุ่นที่เปี่ยมด้วยความหวังของอินเซียก็ทำให้การเฝ้าดูชีวิตของพวกเธอไม่เศร้าสร้อยจนเกินไปนัก

Dharam Sankat Mein (2015)

ดารัม เจ้าของกิจการบริการจัดอาหารงานเลี้ยงนับถือศาสนาฮินดูและไม่ชอบคนมุสลิมจนถึงขั้นเกลียด เขามักจะมีปากเสียงกับนาซิม ทนายชาวมุสลิมที่อยู่ข้างบ้านเป็นประจำ และไล่นาซิมให้ไปอยู่ในย่านที่ชาวมุสลิมอยู่  แต่นาซิมปฏิเสธ เขาและสมาชิกในครอบครัวมักแสดงท่าทีไม่ชอบชาวมุสลิมเสมอ และมีภาพจำจากข่าว หลังจากแม่ของเขาเสียชีวิตมาหลายเดือน วันหนึ่งดารัมก็หาเวลาไปเปิดตู้เซฟของแม่ที่ธนาคาร เมื่อหยิบของที่อยู่ในตู้ออกมา เขาแทบช็อก เพราะเป็นจดหมายที่บอกว่าเขาเป็นลูกที่เก็บมาเลี้ยง พ่อแม่ที่แท้จริงของดารัมเป็นชาวมุสลิม ดารัมไม่ได้บอกข่าวสำคัญที่เพิ่งรู้นี้กับใคร โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นเวลาสำคัญที่ลูกชายของเขาต้องเอาชนะใจพ่อของแฟนสาวที่เป็นมือขวาของเจ้าสำนักอาศรมฮินดูแห่งหนึ่งให้ได้

 

หลังจากหาข้อมูลจนรู้ว่าพ่อที่แท้จริงยังไม่ตาย ป่วยหนัก และอยู่ในความดูแลของมัสยิดแห่งหนึ่ง ดารัมจะเข้าไปเจอหน้าพ่อ แต่ต้องถูกสกัดจากอิหม่าม ด้วยเหตุผลที่ว่า เกรงว่าพ่อของดารัมจะตกใจจนอาจเสียชีวิตได้ ถ้ารู้ว่าลูกชายของตัวเองไม่ใช่มุสลิม ดารัมจนใจจึงต้องขอความช่วยเหลือจากนาซิม ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมา เพื่อเรียนรู้วิถีมุสลิมผ่านการปฏิบัติในชีวิตประจำวันทุกแง่มุม

ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยให้เห็นอคติที่คนต่างศาสนามีต่อกันตรงไปตรงมา เช่น มุสลิมเป็นพวกหัวรุนแรงก่อปัญหาแบ่งแยกดินแดน การเลือกปฏิบัติไม่รับคนต่างศาสนาเข้าทำงาน  ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ชมเรียนรู้ไปพร้อมกันว่าในรัฐฆราวาส (secular state) ของประเทศที่มีความเชื่อหลากหลายอยู่รวมกันนั้น อยู่ด้วยกันด้วยข้อตกลงแบบไหน แล้วเขาคุยหรือตกลงกันอย่างไรเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น จากความไม่ลงรอยที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน

The Rat Race (2010)

เมื่อฟ้ามืดลงในมุมไบ ภารกิจของชายกลุ่มหนึ่งเพิ่งเริ่มต้น พวกเขาพกกระบอกไฟฉายและไม้คีบไปทั่วเมือง แล้วกลับมาพร้อมกับศพหนูจำนวนหนึ่ง เทศบาลเมืองจ้างนักฆ่าหนูให้จับหนูมาให้ได้วันละ 30 ตัว สารคดีของมิเรียม ชานดี เมนาเคอรี่ (Miriam Chandy Menacherry) ตามติดชีวิตคนที่มีอาชีพจับหนูเป็นระยะเวลา 2 ปี และยังคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์และอัมสเตอร์ดัมมาแล้วด้วย

ภาพการนับศพหนูทีละตัว 1,2,3…คงไม่ใช่ภาพที่เราจะเห็นกันได้ทั่วไปในภาพยนตร์ แต่นี่เป็นเรื่องปกติของเมืองที่มีประชากร 14 ล้านคน และหนูอีกนับไม่ถ้วน

“ตลอดการทำงาน  34 ปี ผมและทีมฆ่าหนูมาแล้ว 2.8 ล้านตัว ผมคิดว่าการฆ่าหนูไม่บาป งานนี้เหมือนกับทหารหรือเจมส์ บอนด์ที่มีใบอนุญาตฆ่าคน  เรามีใบอนุญาตฆ่าหนู” เบห์รัม ฮาร์ดา หรือ The Boss ผู้ควบคุมทีมจับหนูเขต B พูดถึงงานของเขา โดยเทศบาลมุมไบจ้างทีมจับหนูมาตั้งแต่ปี 1967 เพราะหนูเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง

ขณะที่หนูเป็นสัตว์พาหะนำโรคที่ต้องกำจัด แต่นักฆ่าหนูก็ไม่ได้ห่อหุ้มร่างกายมิดชิด ไม่มีเครื่องแบบ เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ การปฏิบัติการล่าหนูของพวกเขาเริ่มจากใช้กลิ่นล่อให้หนูออกมา ฉายไฟไปที่ตาของมัน แล้วฟาดไม้ตามลงไป

งานที่หากเลือกได้ก็ไม่ค่อยมีใครอยากทำ เช่น คเณศ โบราเร นักศึกษามหาวิทยาลัยที่กลายเป็นนักฆ่าหนูกะดึกทำงานที่เขต B มาแล้ว 3 ปี แม้ครอบครัวจะไม่รังเกียจ แต่เขาก็รู้ว่า “งานฆ่าหนูเป็นงานชั้นต่ำ แต่ผมไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าเป็นวิศวกรผมคงบอกเพื่อนๆ ได้ แต่เป็นนักฆ่าหนู ผมบอกใครไม่ได้”

ในสารคดีเรื่องนี้นอกจากจะเห็นอีกโลกหนึ่งที่เราไม่รู้จัก หนังยังฉายให้เห็นถึงเสี้ยวหนึ่งของระบบราชการของอินเดียด้วยเหมือนกัน เกือบทั้งทีมนักฆ่าหนูที่ต้องผ่านการทดสอบอย่างการแบกกระสอบหนัก 50 กิโลกรัม เป็นลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีการเลื่อนตำแหน่ง เพิ่มเงินเดือน และยังถูกกดดันให้จับหนูให้ได้จำนวนมากขึ้น ถ้าจับได้ไม่ครบ 30 ตัวก็ถือว่าขาดงาน หลายคนที่ทนสภาพการจ้างงานเช่นนี้ไม่ได้ ก็ลาออกไป นายจ้างก็ไม่ได้สนใจแก้ไข เพราะเลือกได้ ยังมีคนอีกมากมายที่ต้องการงาน

แรกๆ เราอาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับการดูศพหนูที่ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาในหลายตอน บางคนอาจถึงกับได้กลิ่นลอยออกมา แต่เมื่อผ่านไปสักพักไม่รู้ว่าความรู้สึกนั้นหายไปตอนไหน สารคดีความยาว 54 นาทีนี้ชวนให้เราตั้งคำถามหลายอย่าง อาจทั้งคำถามเชิงศีลธรรม ไปจนถึงตั้งคำถามกับเมืองที่เราอยู่ด้วย

Dhobi Ghat (2011)

“ถนนที่อเมริกามันสะอาดเกินไปใช่ไหมล่ะ” มุนนา ชายหนุ่มจากรัฐพิหารที่เข้ามาทำงานรับจ้างซักผ้าในมุมไบ ถามกับ ไช นักการเงินที่ทำงานอยู่ในอเมริกา ซึ่งขอลาพักกลับมาอยู่ที่บ้านชั่วคราวเพื่อทำวิจัยเล็กๆ เรื่องธุรกิจขนาดเล็กในอินเดีย เธอบอกว่าจริงๆ แล้ว มันเป็นข้ออ้างที่ทำให้เธอได้ทำสิ่งที่เธอชอบอย่างการถ่ายรูปมากกว่า

มุนนาพาไชทัวร์ไปทั่วมุมไบตามย่านที่คนรวยอย่างเธอไม่เคยรู้จัก เพื่อให้เธอได้ถ่ายภาพผู้คนที่มีชีวิตต่างจากเธอราวฟ้ากับเหว ตั้งแต่ย่านคนซักผ้าที่ใหญ่ที่สุดในมุมไบ ที่เรียกว่า Dhobi Ghat ไปจนถึงอาชีพนักฆ่าหนู การใช้เวลาร่วมกันนานเข้าทำให้มุนนาซึ่งต้องนอนอยู่ในห้องแคบๆ ริมทางรถไฟหลงรักไช แต่เขาก็รู้ดีว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลย

การกลับบ้านคราวนี้ ไชยังได้พบกับอรุณ ศิลปินที่ทำงานศิลปะหลายรูปแบบเพื่อนำเสนอภาพมุมไบในแง่มุมต่างๆ ในวันเปิดนิทรรศการของเขา เธอชอบอรุณแต่ก็รู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายที่เข้าใจยาก แม้ทั้งคู่จะมีรสนิยมหลายอย่างคล้ายกัน อรุณย้ายเข้ามาอยู่บ้านเช่าใหม่ เขาเจอม้วนเทปวิดีโอที่เจ้าของบ้านคนเดิมทิ้งเอาไว้ จึงไล่เปิดดู เรื่องราวของผู้หญิงที่เพิ่งแต่งงานและย้ายตามสามีมาอยู่ในมุมไบจุดประกายให้อรุณเริ่มวาดภาพอีกครั้ง

ต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่แนะนำ เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์รักที่ไม่อึกทึกครึกโครมหวือหวา มีช่วงเงียบๆ ให้คนดูได้ใคร่ครวญ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมุมไบ เมืองซึ่งเป็นที่พักใจชั่วคราวของบางคน แต่ก็เป็นความหวังสุดท้ายเพื่อดับความหิวของอีกหลายล้านคน การลัดเลาะไปในมุมไบ คุยกับคนที่ต่างจากเรา ถ่ายรูปด้วยกล้องไลกาแล้วได้ภาพสวยๆ มีชีวิตชีวาออกมา สิ่งที่ไชได้พบชวนให้เราตั้งคำถามกับวิธีที่เรามองสังคมอื่นได้ตลอดทั้งเรื่อง

Tags: , ,