แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับเมืองลาส เวกัส นี้เริ่มแตกอย่างช้าๆ ออกจากธารน้ำแข็งเกาะไพน์ (Pine Island Glacier) ชายฝั่งของแอนตาร์กติกา ตั้งแต่ปี 2017 และนักวิทยาศาตร์ก็เฝ้าดูมันเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดาวเทียมก็สามารถบันทึกภาพได้ว่ามันหลุดออกจากธารน้ำแข็งเกาะไพน์เรียบร้อยแล้ว
การที่แผ่นน้ำแข็งหลุดออกจากธารน้ำแข็งนั้น แม้จะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าอัตราการละลายและการหลุดจากธารน้ำแข็งในแถบแอนตาร์กติกาตะวันตกนั้นเพิ่มอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการหลุดของแผ่นน้ำแข็งนี้จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และส่งผลให้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลในประเทศต่างๆ จมลงไปใต้น้ำเร็วมากขึ้นอีกด้วย
ธารน้ำแข็งเกาะไพน์ และธารน้ำแข็งทเวตส์ (Thwaites Glacier) ซึ่งอยู่ติดกันทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมระหว่างธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกกับมหาสมุทร โดยในภูมิภาคดังกล่าวมีน้ำแข็งมากพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 1.2 เมตรหากมันละลายในมหาสมุทร ตามข้อมูลขององค์การนาซ่า
แผ่นน้ำแข็งที่หลุดออกมานี้ ถูกเรียกว่าพิก (PIG) ตามลักษณะรูปร่างที่ดูเหมือนลูกหมู ซึ่งมีการแตกตัวออกเป็นแผ่นน้ำแข็งย่อยๆ อีกมากมาย โดยแผ่นที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า B-49
นับตั้งแต่ปี 2012 ธารน้ำแข็งมีการแตกตัวประมาณ 58 พันล้านตัน การแตกตัวของธารน้ำแข็งเกาะไพน์ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่ปี 2001 และถือเป็นแผ่นน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่าที่แตกตัวออกมาในปี 2017 และ 2018
ส่วนในปี 2019 ที่ผ่านมานั้น หิ้งน้ำแข็งอาเมรี (The Amery Ice Shelf) ในแอนตาร์กติกาก็เพิ่งจะแตกลง ก่อให้เกิดภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี โดยมีขนาด 1,636 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีชื่อว่า D28
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การแตกตัวของธารน้ำแข็งเกาะไพน์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของริมขอบของธารนำแข็ง และยังส่งผลต่อรูปทรงด้านหน้าของธารน้ำแข็ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการแตกตัวในครั้งต่อไป และคาดว่าจะมีการแตกตัวเพิ่มขึ้นในไม่ช้า
อ้างอิง:
https://edition.cnn.com/2020/02/12/world/iceberg-breaks-off-antarctica-glacier-scn-intl/index.html
https://www.nationalgeographic.com/science/2020/02/antarctica-pine-island-glacier/
https://www.sciencealert.com/satellite-footage-shows-the-moment-a-las-vegas-sized-iceberg-broke-off-antarctica
ภาพ : NASA
Tags: ธารน้ำแข็ง, โลกร้อน, ระดับน้ำทะเล, แอนตาร์กติก