โลกนี้มีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราเสมอ หลังจากผ่านเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนไฮสคูลที่เมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความเคลื่อนไหวและความคิดเห็นประดังประเด ตั้งแต่เรื่องกฎหมายอาวุธปืน จนถึงที่พุ่งเป้าไปยังตัวบุคคล บางเรื่องก็เหนือความคาดหมายไปนิด

ขณะที่ เอมม่า กอนซาเลซ แอคทิวิสต์สาว หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดนหาว่าเป็นสาวโล้นซ่าทุบรถ ทั้งที่จริงคนในภาพนั้นคือบริทนีย์ สเปียร์สในปี 2007 อีกด้านหนึ่งนั้น มือปืนอย่างนิโคลัส ครูซ (Nikolas Cruz) ก็ได้รับจดหมายรักจำนวนมหาศาล จนอัยการยังออกปากว่าตลอด 40 ปีที่ทำงานมา เขายังไม่เคยเห็นนักโทษคนไหนที่มีผู้คนคลั่งไคล้มากขนาดนี้

จดหมายส่วนหนึ่งส่งต่อมิตรภาพ อำนวยอวยชัย ปลอบประโลมจิตวิญญาณ ซึ่งข้อความเหล่านั้นได้ถูกอ่านให้ครูซฟัง ขณะที่เขาถูกเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายและไม่มีสิทธิรับจดหมายเหล่านั้นด้วยตัวเอง แต่สำหรับจดหมายรักและภาพวาบหวิวจำนวนมากนั้น อัยการปฏิเสธที่จะให้ครูซได้รับรู้

ภาพของนิโคลัส ครูซจากหนังสือรุ่น ที่มีส่วนก่อกระแสคลั่งไคล้ในอินเทอร์เน็ต ภาพจาก: http://popculture.com

เนื้อหาในจดหมายก็อย่างเช่น

“ฉันอายุ 18 ปี อยู่ไฮสคูลปีสุดท้ายแล้วล่ะ ตอนที่ฉันเห็นคุณทางโทรทัศน์ บางอย่างในตัวคุณมันดึงดูดฉันเข้าอย่างจัง” เธอยังชมตาและกระของเขาว่า ‘งดงาม’ พร้อมส่งรูปถ่ายหวิวและบอกสัดส่วนของตัวเองมาให้เสร็จสรรพ

ถ้าว่ากันที่ความน่ารัก—จากรายงานข่าว ครูซเป็นผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง เขาเคยข่มขู่เพื่อนนักเรียน และเคยโพสต์ลงในยูทูบว่าอยากเป็น ‘ผู้ก่อเหตุกราดยิงในโรงเรียนระดับมืออาชีพ’ และในวันก่อเหตุ เขาสังหารคนไปทั้งหมด 17 คน เกือบทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียนไฮสคูลเหมือนกับสาวๆ เจ้าของจดหมายรัก จึงดูแปลกๆ เมื่อขณะที่ทั่วโลกสะเทือนใจกับสิ่งที่เขาก่อ กลับมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มอบความรักสุดพิศวาสให้เขา

หากจะพูดถึงกรณีก่อนหน้านี้ ที่ฆาตกรกลายเป็นที่รัก ก็คงจะไม่พ้นเรื่องของเท็ด บันดี้ (Ted Bundy) ที่ก่อเหตุในช่วงทศวรรษ 1970s เขาเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ก่อเหตุฆ่าข่มขืนด้วยวิธีการต่างๆ กว่า 36 รายเท่าที่ยืนยันได้ เจ้าหน้าที่ยังเชื่อว่ามีเหยื่อมากกว่า 100 รายด้วยซ้ำ เขาเป็นหนุ่มหน้าตาดีโพรไฟล์เด่น กำลังจะมีอนาคตในแวดวงการเมือง และมีความรู้ทางกฎหมายในขั้นที่สามารถว่าความให้ตัวเองหลุดรอดมาได้ในหลายๆ คดีช่วงต้น ก่อนที่หลักฐานจะเริ่มมัดตัวแน่นจนดิ้นไม่หลุดและถูกตัดสินประหารชีวิตในที่สุด

เท็ด บันดี้ ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล ภาพจาก www.newyorker.com

อาจจะด้วยลักษณะที่กล่าวมา จึงมีการก่อตั้งกลุ่ม ‘Bundyphile’ หรือกลุ่มคนรักบันดี้ ที่สาวๆ อเมริกันจากทั่วประเทศพากันเขียนจดหมายรักไปให้บันดี้ และในวันพิจารณาคดี พวกเธอก็เข้ามารวมตัวกันที่ศาลในลุคเดียวกับ ‘เหยื่อ’ ที่บันดี้โปรดปรานซึ่งมีต้นตอมาจากคนรักคนแรกที่ทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจอีกทีหนึ่ง (จนถึงตอนนี้ vice.com ก็ระบุว่ามีแอคเคาน์ทวิตเตอร์ที่ประกาศตนเป็น แฟนคลับอันดับหนึ่งของเท็ด บันดี้ และเป็นเฟมินิสต์ควบคู่กันไปด้วย)

มาถึงตอนนี้นิโคลัส ครูซก็ดูเหมือนจะได้ทำลายสถิติของเท็ด บันดี้ ไปแล้วเรียบร้อย รวมถึงอีกหลายๆ ครั้งที่เกิดกรณีแบบนี้ขึ้น

นี่อาจเป็นแค่เรื่องของการกรี๊ดคนหน้าตาดี แต่ในทางจิตวิทยามีชื่อเรียกอาการนี้ว่า hybristophilia ซึ่งศาสตราจารย์จอห์น มันนี (John Money) ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ทางเพศ (Sexologist) ให้คำอธิบายไว้ว่าคือพฤติกรรมผิดปกติทางเพศ ที่ใครคนหนึ่งมักถูกกระตุ้นอารมรณ์ทางเพศหรือสุขสมกับเซ็กซ์พาร์ทเนอร์ที่ก่ออาชญากรรมรุนแรง เช่นข่มขืนหรือฆ่า โดยอาการนี้มีอีกชื่อเรียกคือ ‘บอนนี่ แอนด์ ไคลด์ ซินโดรม (Bonnie and Clyde syndrome)’ ที่มีชื่อมาจากคู่รักนักปล้นฆ่าชาวอเมริกันในยุค 1930s

บอนนี่ อลิซาเบธ พาร์กเกอร์ และไคลด์ เชสต์นัท แบร์โรว ผู้เป็นที่มาของชื่อ Bonnie and Clyde syndrome ภาพจาก en.wikipedia.org

เว็บไซต์ broadly.vice.com พาเราไปคุยกับสาว hybristophile ตัวเป็นๆ เธอคนนั้นคือ นิโคล เจน นักศึกษาการภาพยนตร์วัย 23 ปี ชาวอังกฤษ ที่เล่าว่า “เท็ด บันดี้ คือฆาตกรคนแรกที่ฉันสนใจ จากนั้นก็สนใจฆาตกรคนอื่นต่อมาเรื่อยๆ ฉันพบว่าตัวเองมีอารมณ์เวลาได้ยินว่าพวกเขาฆ่าอย่างไร หรือใช้อะไรฆ่า” โดยนิโคลสังเกตรสนิยมของตัวเองและค้นหาเกี่ยวกับมันจนพบว่านี่คืออาการที่เรียกว่า hybristophilia

บทความจาก psychologytoday.com รวบรวมข้อมูลจากตัวผู้หญิงที่แต่งงานกับฆาตกรจริงๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่สาวน้อยสายกรี๊ด แต่ยังมีอัยการผู้ทิ้งสามีไปแต่งงานกับฆาตกรฆ่าข่มขืน นักกฎหมาย นักจิตวิทยา และสาวไฮโพรไฟล์รายอื่น ซึ่งเหตุแห่งความโรแมนติกที่พวกเธอเล่าก็อย่างเช่น  

ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นคนดี ซึ่งนั่นหมายความว่าเธอเองจะเป็นผู้ที่มีความหมายมากๆ ต่อใครสักคนหนึ่ง และจะเป็นคนเดียวที่ไม่ถูกผู้ชายคนนี้ทำร้าย คล้ายผู้หญิงที่ตกหลุมรักแบดกายและอยากให้เขาหยุดที่เธอคนเดียว รวมถึงความมุ่งหวังที่จะเยียวยาเด็กน้อยผู้เจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ภายใต้ความโหดร้ายรุนแรง และยังมีอีกเหตุผลที่ไม่ ‘นางเอกจ๋า’ เท่าข้อแรกๆ พวกเธอบางคนยอมรับว่าต้องการร่วมเป็นที่รู้จักไปกับนายฆาตกรตัวร้าย บางคนวางแผนไกลถึงการออกหนังสือหรือได้ปรากฏตัวในหนังสารคดีด้วย

นอกจากคำสารภาพเหล่านั้นแล้ว ดร. เลออน เอฟ เซลต์เซอร์ ยังอ้างถึงสมมติฐานในทฤษฎีของดาร์วิน ว่าไพรเมทตัวเมียมักจะถูกดึงดูดโดยตัวผู้ที่ใหญ่กว่า เสียงดังกว่า หรือก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าตัวอื่นๆ และเมื่อวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์แล้ว สัญชาติญาณเหล่านั้นยังคงอยู่ และเมื่อในความรับรู้ของใครหลายคน ปริมาณความก้าวร้าวรุนแรงแปรผันตรงกับปริมาณความเป็นชายในบุคคลนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้หญิงหลายคนแพ้ทางผู้ชายอันตรายและอ่อนระทวยให้ทุกที

และ hybristophilia คือขั้นกว่าของความพิศวาสรูปแบบนั้น ซึ่งมักจะเกิดกับฆาตกรต่อเนื่องหรือสังหารหมู่บ่อยกว่าฆาตกรทั่วไป เพราะสำหรับฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่มักมีอีกหนึ่งคุณลักษณะร่วมด้วยนั่นคือความฉลาดเฉลียวหรือทักษะในการวิเคราะห์วางแผนบางอย่าง ขณะที่ฆาตกรสังหารหมู่ก็ให้ภาพของความกล้าบ้าบิ่นและเด็ดเดี่ยวไม่เหมือนใคร (ยิ่งถ้าหน้าตาดีไปอีกล่ะก็)

“ฉันพบว่าตัวเองมีอารมณ์เวลาได้ยินว่าพวกเขาฆ่าอย่างไร หรือใช้อะไรฆ่า” – นิโคล เจน 

ทางฝั่งนิโคล เจน ก็จริงจังกับเรื่องนี้และนำไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ และจากข้อมูลเท่าที่พบ เธอสรุปได้ว่า hybristophilia มีอยู่สองแบบด้วยกันคือฝ่าย aggressive และ ฝ่าย passive โดยขณะที่ฝ่าย passive ต้องการเพียงอยู่ข้างๆ เป็นคนพิเศษของหนุ่มอันตรายแต่ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการก่อเหตุด้วย ส่วนฝ่าย aggressive ยินดีอย่างยิ่งที่จะได้มีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงของเขา เช่นกรณีที่ภรรยาชาวแคนาดาช่วยสามีในการวางแผนลวงผู้หญิงมาฆ่าข่มขืน ซึ่งเจนเองระบุว่าตัวเองเป็นแบบ passive มากกว่า ปัจจุบันเธอคบกับหนุ่มที่เป็นซาดิสต์ขณะที่เธอเป็นมาโซคิสต์ แต่ไม่เคยต้องการมีส่วนร่วมกับความรุนแรงใดๆ นอกจากบทบาทสมมติบนเตียงเท่านั้น

กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าคู่รัก BDSM มีแนวโน้มที่จะเป็น hybristophilia หรือก่อเหตุความรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแต่นี่เป็นหนึ่งในทางออกทางรสนิยมของสาว hybristophile โดยสาวคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่าเชอร์รี่ ให้สัมภาษณ์ว่า “คู่นอนมักจะกระตุ้นฉันด้วยการไล้มีดไปบนผิวและขู่ว่าจะเชือดคอฉันซะ แต่นั่นเป็นเพียงการแสดง และการนอนกับเขาก็ทำให้ฉันมั่นใจว่าจะไม่ต้องไปนอนกับใครที่ชั่วร้ายจนฉันจะกลายเป็นเหยื่อเข้าจริงๆ”

นั่นคือวิธีที่เชอร์รี่ใช้เติมเต็มความต้องการของตัวเอง ขณะที่ก็ยังแอบตกหลุมรักฆาตกรในข่าวอยู่บ่อยๆ ซึ่งนิโคล เจนมองว่าคือความปรารถนาที่เป็นแฟนตาซีและห่างไกลความเป็นจริง

“มันเป็นแฟนตาซีปลอมๆ ฉันรู้สึกว่าผู้คนที่เป็น hybristophile หลงใหลใครสักคนที่ร้ายกาจเหี้ยมโหด แต่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่าคนที่เหี้ยมโหดขนาดนั้น จะไม่มานั่งแคร์คุณหรอก”

เมื่อในความรับรู้ของใครหลายคน ปริมาณความก้าวร้าวรุนแรงแปรผันตรงกับปริมาณความเป็นชายในบุคคลนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้หญิงหลายคนแพ้ทางผู้ชายอันตราย

และจากเหตุผลหลายข้อที่มีผู้ยกมา คล้ายว่า hybristophilila เป็นอาการเฉพาะสำหรับเพศหญิง แต่แท้จริงอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป

นายแพทย์ไมเคิล แอรอน ผู้เป็นเซ็กซ์เทอราพิสต์ในนิวยอร์ก กล่าวว่า “ในเบื้องต้นมีผู้ชายหลายคนที่ถูกดึงดูดโดยผู้หญิงอันตราย ซึ่งพวกเขามักถูกกระตุ้นด้วยความตื่นเต้นและภาวะทางอารมณ์อันเข้มข้นที่ผู้หญิงคนนั้นๆ มอบให้” นายแพทย์ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปว่า มีผู้ชายที่เป็น hybristophilia เพราะด้วยจำนวนแล้วฆาตกรหญิงก็มีน้อยกว่าฆาตกรชายมากนัก และในจำนวนน้อยนั้นก็ยังไม่พบคนที่ป็อปปูลาร์ขึ้นมา

แต่ใช่ว่าการยกให้ฆาตกรหญิงเป็นไอดอลจะไม่มีอยู่ หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของ เนวาดา-ทัน (NEVADA-TAN) เด็กสาววัย 11 ที่ฆ่าเพื่อนในโรงเรียน และถูกขนานนามว่าเป็น ‘ฆาตกรที่น่ารักที่สุดในประวัติศาสตร์’

คดีของเธอถูกเรียกว่าคดีเชือดซาเซโบ (Sasebo Slashing) เกิดขึ้นในปี 2004 เมื่อเด็กหญิงเรียนดีเก็บตัวคนหนึ่ง เรียกเพื่อนไปในห้องเรียนว่างๆ แล้วเชือดคอเธอจนตาย เหตุจากการทะเลาะกันบนอินเทอร์เน็ต จากนั้นเด็กหญิงก็เดินเข้าห้องเรียนด้วยเสื้อสกรีนลาย NEVADA ที่เปื้อนเลือด จนเป็นที่มาของชื่อ เนวาดา-ทัน

แม้ภาพของเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ แต่ภาพถ่ายหมู่ก่อนก่อเหตุที่เธอยืนชูสองนิ้วยิ้มแย้มถ่ายรูปรวมกับเพื่อนนักเรียน ก็ทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ราวกับไอดอลจากผู้คนไม่จำกัดเพศ เรื่องราวของเธอได้รับการถ่ายทอดออกมาอีกหลายครั้ง ทั้งในการ์ตูนอนิเมะ และยังกลายเป็นมีมในอินเทอร์เน็ต บางครั้งก็ผู้คนก็นำไปแต่งเป็นคอสเพลย์ด้วย

ภาพเด็กสาวที่แต่งคอสเพลย์เป็นเนวาดา-ทัน ภาพจาก www.negisoku.com

ความคลั่งไคล้เนวาดา-ทันอาจไม่ได้เป็นเชิง sexual เสียทีเดียว แต่ในความคล้ายคลึงกันกับ hybristophilia ในข้อที่ว่าฆาตกรและบุคลิกรูปลักษณ์ที่พิเศษบางอย่าง ดึงดูดความสนใจและความชื่นชมจำนวนมหาศาล ชวนให้ตระหนักถึงพลังของ ‘รูปลักษณ์ดี+เสน่ห์แบบดาร์กๆ’ ที่หากมันไปไกลจนเกินขอบเขตสามัญของมนุษย์ขึ้นมาก็คงจะนับว่าเป็นเรื่องน่ากลัว

น่าสนใจอีกข้อ ที่หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งได้พูดคุยกับนิโคล เจนบอกกับเธอว่า รสนิยมทางเพศของเธอเป็นเรื่องความหลากหลายของมนุษย์ และ— “มันได้ทำลายกรอบมาตรฐานของสังคมออกหมดเลย ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ฉันยินดีมาก” เธอกล่าว

หลายครั้งเมื่อมันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก หรือกระทั่งรสนิยมทางเพศที่ห้ามไม่ได้ และพูดกันยากว่าถูกหรือผิด ขณะเดียวกันก็ยังมีมิติอื่นๆ ที่ต้องหยิบมาพิจารณาพร้อมกัน เช่นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่กลายเป็นเหยื่อ จนถึงการมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวฆาตกรเอง

เราคงไม่ได้มีหน้าที่มานั่งตัดสินใครว่าชั่วร้ายหรือบิดเบี้ยว แต่สำหรับเราแล้ว hybristophillia นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจและชวนให้ย้อนกลับมามองตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้ดีทีเดียว

 

อ้างอิง

Fact Box

  • แครอล แอนน์ บูน (Carole Ann Boone) คือหนึ่งในสาวกลุ่มบันดี้ไฟล์ และเธอได้แต่งงานกับเท็ด บันดี้ จริงๆ ระหว่างที่เขาถูกพิจารณาคดีและมีลูกด้วยกันหนึ่งคน ซึ่งหลังจากที่บันดี้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง เธอก็ตัดสินใจหย่าและพาลูกหนีไป
  • บอนนี่ แอนด์ ไคลด์ ซินโดรม มีที่มาจากเรื่องของ บอนนี่ อลิซาเบธ พาร์กเกอร์ (Bonnie Elizabeth Parker) และ ไคลด์ เชสต์นัท แบร์โรว (Clyde Chestnut Barrow) คู่รักที่ก่อคดีปล้นหลายต่อหลายคดีในช่วง great depression และถูกวิสามัญฆาตกรรมพร้อมกันในปี 1934 เรื่องของบอนนี่และไคลด์เป็นที่นิยมจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง รวมถึงปรากฏในท่อนแรพของเพลง 'As if it’s your last' ของ Blackpink
  • เรื่องของเนวาดา-ทัน ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องกฎหมายคุ้มครองเยาวชนในญี่ปุ่น เพราะขณะก่อเหตุเธอมีอายุเพียง 11 ปี ซึ่งเป็นอายุที่ต่ำกว่าจะถูกแจ้งข้อหาในฐานะอาชญากร รวมถึงเกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเผยแพร่ความรุนแรงในสื่อ เมื่อมีข้อมูลเผยออกมาว่าเนวาดา-ทันชอบอ่านการ์ตูนรุนแรง และชื่นชอบนิยายกับหนังเรื่อง Battle Royale
Tags: , , ,