ท้องฟ้าในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนตอนนี้เริ่มสดใสมากขึ้นแล้ว เป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลจีนที่ตั้งเป้าหมายว่าจะต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 แต่จากประสบการณ์ของจีนพบว่า ขณะจัดการปัญหาหนึ่งได้ ก็อาจจะต้องเจอกับอีกปัญหาหนึ่ง เพราะสารก่อมลพิษในอากาศมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เกี่ยวพันกันอยู่
แก้ปัญหาหนึ่ง เจออีกปัญหาหนึ่ง
ปัญหาฝุ่นควันของจีนเข้าขั้นสาหัสมาตั้งแต่ก่อนปี 2013 ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนตรวจพบสารประกอบซัลเฟอร์ในฝุ่นละออง PM2.5 การแก้ปัญหาจึงเน้นไปที่การลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่เมื่อดำเนินการไปสักพัก นักวิจัยชาวอเมริกันและจีนซึ่งทำงานด้วยกันจากโครงการความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชิงหัว และสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน ก็สงสัยว่า ทำไมมลพิษอากาศในช่วงฤดูหนาวของปักกิ่งระหว่างปี 2013-2017 ไม่เปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าจะลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้สำเร็จ
นักวิจัยจึงตรวจสอบอนุภาคฝุ่นละออง ก็พบว่าจริงๆ แล้วอนุภาคจิ๋วนี้ เป็นโมเลกุลที่ชื่อ ไฮดรอซีมีเทน ซัลโฟเนต (HMS) ที่มาจากปฏิกิริยาระหว่างการลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับฟอร์มัลดีไฮด์ในเมฆ
ข้อค้นพบนี้ทำให้คณะทำงานมีข้อเสนอเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ว่า กุญแจสำคัญที่จะลดปัญหามลพิษทางอากาศของจีนได้ อยู่ที่การ ‘ลด’ การปล่อย ‘ฟอร์มัลดีไฮด์’ มากกว่า ‘ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
นอกจากนี้ แม้ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 จะลดลงแล้ว ยังมีปัญหาเกิดขึ้นใหม่ เมื่อเดือนมกราคมนี้ งานวิจัยจากนักวิจัยชาวอเมริกันและจีน จากความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยนานจิงชี้ให้เห็นว่า แม้ฝุ่น PM 2.5 จะลดลง แต่มลพิษทางอากาศจากโอโซนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่
ลด PM2.5 แต่ค่าโอโซนกลับเพิ่มขึ้น
นักวิจัยอ่านค่าคุณภาพอากาศจากเครื่องวัดที่ติดตั้งทั่วประเทศจีน 1,000 แห่งระหว่างปี 2013-2017 ในปี 2013 จีนเริ่ม ‘ประกาศสงคราม’ กับมลภาวะอากาศ จากนั้นก็มีมาตรการมากมายต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งแต่ปิดโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ไปจนถึงห้ามรถยนต์และรถบรรทุกวิ่ง ความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เคยสูงที่สุดในพื้นที่ทางเหนือของจีนก็ลดลงอย่างมาก บางพื้นที่ลดลงถึง 40%
แต่การเปลี่ยนแปลงของ PM2.5 ก็ไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนคุณสมบัติทางเคมีของบรรยากาศ มีการปล่อยอนุมูลที่ผลิตโอโซนมากขึ้น นักวิจัยอธิบายว่า เมื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 โอโซนก็เพิ่มขึ้น เหตุที่ยังไม่มีการสังเกตเจอที่อื่นๆ เพราะว่าที่อื่น PM2.5 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็วเท่านี้
โอโซนมาจากปฏิกิริยาทางเคมีในบรรยากาศระหว่างสารมลพิษในอากาศอื่นๆ ส่วนใหญ่มาจากไนโตรเจนไดออกไซด์กับสารอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds) จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีแสงแดดเป็นแหล่งพลังงาน
ลี เกอ หัวหน้านักวิจัยบอกว่า ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์มีสมมติฐานว่า PM2.5 มีผลกระทบต่อโอโซนในทางใดทางหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่ใจ งานวิจัยนี้ดำเนินการทดสอบหลายวิธีและผลก็ออกมาว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลต่อกัน PM2.5 ดูดซับก๊าซ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ช่วยสร้างโอโซน ส่วนการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายก็ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร ถ้าควบคุมได้ดี มลพิษจากโอโซนก็จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่เป็นผลที่ไม่ได้ตั้งให้เกิดจากนโยบายควบคุมคุณภาพอากาศของจีน
โอโซนเป็นหนึ่งในสารมลพิษทางอากาศที่สำคัญ และเป็น 1ใน 6 อย่างที่อยู่ในดัชนีวัดคุณภาพอากาศของจีน ร่วมกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ PM2.5 และ PM10 ตอนนี้จีนเริ่มตั้งเป้าว่าจะลดไนโตรเจนออกไซด์ และกับสารอินทรีย์ระเหยง่ายภายในปี 2020
นักวิจัยบอกว่า เพราะว่า PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ นโยบายต่างๆ ก็ควรพุ่งเป้ามาที่นี่ แต่ก็ต้องพยายามลดไนโตรเจนออกไซด์ และกับสารอินทรีย์ระเหยง่ายด้วยเพื่อควบคุมมลพิษจากโอโซนพร้อมกันด้วย
เหตุที่มีงานวิจัยแบบนี้ออกมาได้ เพราะว่าจีนพยายามแก้ไขปัญหามลพิษอากาศอย่างแข็งกร้าว ทั้งการควบคุมที่เข้มงวด การใช้พลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหิน รวมทั้งมาตรการควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์ในเมืองใหญ่ รวมทั้งการติดตั้งเครือข่ายตรวจวัดคุณภาพอากาศขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สามารถนำมาศึกษาวิจัยได้
งานศึกษานี้ยังเป็นบทเรียนให้กับหลายประเทศที่กำลังต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศ แม้ว่าจะเน้นไปที่อนุภาคที่เป็นอันตราย ก็ยังต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมระดับโอโซนด้วย
ที่มา:
- https://www.sciencedaily.com/releases/2018/10/181018124948.htm
- https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/chinas-fight-against-air-pollution-sees-pm25-levels-plunge-but-ozone-levels-are
- https://www.scmp.com/news/china/article/2181071/chinas-fight-clean-air-just-got-more-complicated-after-scientists-link
- https://www.sciencedaily.com/releases/2019/01/190102140749.htm