ผู้เชี่ยวชาญกำลังประเมินความร้ายแรงของโคโรนาไวรัส ซึ่งตั้งต้นแพร่ระบาดในจีน เวลานี้ยังไม่รู้กันว่า เชื้อโรคชนิดใหม่นี้แพร่กระจายจากคนสู่คนยากง่ายแค่ไหน อัตราการตายด้วยเชื้อตัวนี้สูงต่ำเพียงใด เชื้อจะกลายพันธุ์แล้วยิ่งระบาดเร็วขึ้นหรือเปล่า

คนทั่วโลกพากันหวาดหวั่นกับโคโรนาไวรัสตัวใหม่ ซึ่งมีชื่อทางเทคนิคว่า 2019-nCoV เนื่องจากเจ้าเชื้อชนิดนี้ทำให้ประชาชนในจีนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 56 คน และติดเชื้อเกือบสองพันคน ขณะที่พบผู้ติดเชื้อหลายรายในย่านเอเชีย รวมทั้งบางรายในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ จนถึงขณะนี้ (26 ม.ค.) ยังไม่มีผู้เสียชีวิตนอกเหนือไปจากจีน

วงการแพทย์กำลังพยายามค้นหาคำตอบต่อหลายคำถามที่มาพร้อมกับไวรัสตัวใหม่

ไวรัสวายร้าย

จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังบอกไม่ได้ว่า ถ้าใครติดเชื้อตัวนี้ โอกาสรอดกับไม่รอด อย่างไหนสูงกว่ากัน เพราะตอนนี้เรารู้แค่จำนวนรายของผู้เสียชีวิต แต่เรายังไม่รู้จำนวนคนที่ติดเชื้อจริง

ไวรัสตระกูลนี้เคยเป็นตัวการทำให้เกิดการระบาดร้ายแรงถึงชีวิตมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ซาร์ส เมื่อช่วงปี 2002/2003 ซึ่งเริ่มในปักกิ่ง จากนั้นระบาดในเอเชีย มีผู้ติดเชื้อ 8,069 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 774 ราย และอีกครั้งเมื่อปี 2012 โรคเมอร์ส ซึ่งเริ่มในตะวันออกกลาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 858 รายจากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,494 คน

ด้วยภาพรวมของการระบาดทั้ง 2 ครั้ง เราจึงรู้ได้ว่า ซาร์สกับเมอร์สมีความร้ายแรงแตกต่างกันมาก อัตราการเสียชีวิตจากโรคซาร์สอยู่ที่ 9.5 % ขณะที่โรคเมอร์สนั้นสูงถึง 34.5%

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ยังพูดชัดๆ ไม่ได้ว่า ไวรัส 2019 nCoV มีความร้ายกาจขนาดไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า โดยทั่วไปแล้ว คนที่ติดเชื้อตัวนี้มีอาการไม่หนักเท่าคนติดเชื้อซาร์ส เท่าที่รู้ในขณะนี้ อัตราการตายมีไม่ถึง 5%

อาการคล้ายซาร์ส

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยใช้กรณีตัวอย่างผู้ติดเชื้อ 41 ราย พบว่า อาการของไวรัสตัวนี้คล้ายกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส นั่นคือ ผู้ป่วยทุกรายมีอาการปอดบวม เกือบทุกรายมีไข้ สามในสี่มีอาการไอ และกว่าครึ่งหายใจขัด

อย่างไรก็ตาม เชื้อตัวใหม่มีอาการแตกต่างจากซาร์ส ตรงที่ว่าไม่มีน้ำมูกไหล ไม่จาม ไม่เจ็บคอ และไม่มีอาการเกี่ยวกับท้องไส้ เช่น ท้องร่วง ซึ่งผู้ป่วยโรคซาร์ส 20-25% มีอาการนี้

ผู้ติดเชื้อที่ศึกษาในรายงานชิ้นนี้เกือบทุกรายได้ไปที่ตลาดอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ในตอนกลางของจีน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแหล่งต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้

จากสัตว์สู่คน

นักวิจัยคิดว่า สัตว์ชนิดที่เป็นแหล่งที่มาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ ค้างคาว เช่นเดียวกับเชื้อของโรคซาร์ส ซึ่งพบว่าเชื้อซาร์สมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับของค้างคาว 80%

อย่างไรก็ดี เรายังไม่รู้ว่าสัตว์ชนิดไหนเป็นตัวการส่งผ่านเชื้อมายังมนุษย์ ทีมวิจัยของจีนเสนอว่าอาจเป็นงู แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแย้งว่า ไม่น่าใช่ ตัวการคงจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่า

วงการแพทย์จำเป็นต้องรู้ว่า ตัวการเป็นสัตว์ชนิดไหนกันแน่ เพื่อหาทางป้องกันการระบาด เมื่อครั้งเกิดโรคซาร์ส มีการระบุว่า ตัวการคือชะมด ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมของคนชอบเปิบอาหารป่า ทางการจึงสั่งห้ามเพาะเลี้ยง ห้ามกิน นับแต่นั้น โรคซาร์สไม่หวนกลับมาอีกเลย

ตรงข้ามกับกรณีเชื้อของโรคเมอร์ส ซึ่งมาจากอูฐหนอกเดียว สัตว์ใช้งานที่มีอยู่ทั่วไป การระงับการแพร่ระบาดจึงทำได้ยากกว่า

รบกับโรคระบาด

ถนนในเมืองอู่ฮั่น หลังมีการประกาศห้ามยานพาหนะที่ไม่จำเป็นสัญจรในย่านดาวน์ทาวน์ 26 ม.ค. 2020 (ภาพ: Stringer/ REUTERS)

รัฐบาลจีนใช้ ‘ยาแรง’ ในการระงับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการสั่งปิดเมืองแล้ว 13 เมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน 40 ล้านคน

มาตรการกักกันโรคอย่างขนานใหญ่เช่นนี้ มีมาช้านาน โลกเคยใช้ควบคุมกาฬโรคในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 14 กับศตวรรษที่ 15 และมีการใช้ควบคุมกาฬโรคอีกครั้งที่เมืองมุมไบของอินเดียเมื่อศตวรรษที่ 19

ย้อนไปเมื่อไม่นานมานี้ โลกได้เห็นการปิดกั้นพรมแดนที่แอฟริกาตะวันตกเมื่อช่วงปี 2014-2015 ห้ามคน สัตว์ เรือ เครื่องบิน สัญจรเข้าออก เพื่อป้องกันเชื้ออีโบลา และเมื่อช่วงปี 2002-2003 เราได้เห็นการกักกันโรคในกรณีของซาร์ส ซึ่งเริ่มแพร่จากจีน

มาตรการแบบนี้ใช้แล้วได้ผลตามความมุ่งหวังเสมอไปหรือเปล่า ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ต้องระมัดระวังที่จะเกิดผลลัพธ์เป็นตรงกันข้าม เพราะเมื่อถูกห้ามไม่ให้ไปไหน ผู้คนจะตื่นตระหนก และอาจหาทางหลบหนีออกจากพื้นที่กักกัน

นอกจากนี้ ยาแรงอาจนำไปสู่เหตุจลาจล อย่างที่เกิดในจีนเมื่อปี 2003 ซึ่งประชาชนในเมืองนานกิงและเซี่ยงไฮ้ออกมาประท้วงจนบานปลายเป็นความรุนแรง เนื่องจากไม่พอใจกับมาตรการคุมเข้ม

ดังนั้น แม้ทางการของประเทศต่างๆ พยายามควบคุมการแพร่ระบาดในภาพรวมแล้วก็ตาม ในระดับบุคคล ประชาชนต้องดูแลต้วเองด้วย

วิธีระวังตัวที่ง่ายที่สุดนั้น เป็นแบบเดียวกับการป้องกันไวรัสโดยทั่วไปนั่นเอง คือ ล้างมือบ่อยๆ ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอจาม และสวมหน้ากากอนามัย

 

อ้างอิง:

AFP via France24, 24 January 2020

AFP, MedicalPress.com, 25 January 2020

BBC, 26 January 2020

Los Angeles Times, 25 January 2020

 

ภาพปก: DALE DE LA REY / AFP

 

Tags: , , , , ,