ผู้เชี่ยวชาญกำลังประเมินความร้ายแรงของโคโรนาไวรัส ซึ่งตั้งต้นแพร่ระบาดในจีน เวลานี้ยังไม่รู้กันว่า เชื้อโรคชนิดใหม่นี้แพร่กระจายจากคนสู่คนยากง่ายแค่ไหน อัตราการตายด้วยเชื้อตัวนี้สูงต่ำเพียงใด เชื้อจะกลายพันธุ์แล้วยิ่งระบาดเร็วขึ้นหรือเปล่า
คนทั่วโลกพากันหวาดหวั่นกับโคโรนาไวรัสตัวใหม่ ซึ่งมีชื่อทางเทคนิคว่า 2019-nCoV เนื่องจากเจ้าเชื้อชนิดนี้ทำให้ประชาชนในจีนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 56 คน และติดเชื้อเกือบสองพันคน ขณะที่พบผู้ติดเชื้อหลายรายในย่านเอเชีย รวมทั้งบางรายในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ จนถึงขณะนี้ (26 ม.ค.) ยังไม่มีผู้เสียชีวิตนอกเหนือไปจากจีน
วงการแพทย์กำลังพยายามค้นหาคำตอบต่อหลายคำถามที่มาพร้อมกับไวรัสตัวใหม่
ไวรัสวายร้าย
จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังบอกไม่ได้ว่า ถ้าใครติดเชื้อตัวนี้ โอกาสรอดกับไม่รอด อย่างไหนสูงกว่ากัน เพราะตอนนี้เรารู้แค่จำนวนรายของผู้เสียชีวิต แต่เรายังไม่รู้จำนวนคนที่ติดเชื้อจริง
ไวรัสตระกูลนี้เคยเป็นตัวการทำให้เกิดการระบาดร้ายแรงถึงชีวิตมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ซาร์ส เมื่อช่วงปี 2002/2003 ซึ่งเริ่มในปักกิ่ง จากนั้นระบาดในเอเชีย มีผู้ติดเชื้อ 8,069 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 774 ราย และอีกครั้งเมื่อปี 2012 โรคเมอร์ส ซึ่งเริ่มในตะวันออกกลาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 858 รายจากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,494 คน
ด้วยภาพรวมของการระบาดทั้ง 2 ครั้ง เราจึงรู้ได้ว่า ซาร์สกับเมอร์สมีความร้ายแรงแตกต่างกันมาก อัตราการเสียชีวิตจากโรคซาร์สอยู่ที่ 9.5 % ขณะที่โรคเมอร์สนั้นสูงถึง 34.5%
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ยังพูดชัดๆ ไม่ได้ว่า ไวรัส 2019 nCoV มีความร้ายกาจขนาดไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า โดยทั่วไปแล้ว คนที่ติดเชื้อตัวนี้มีอาการไม่หนักเท่าคนติดเชื้อซาร์ส เท่าที่รู้ในขณะนี้ อัตราการตายมีไม่ถึง 5%
อาการคล้ายซาร์ส
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยใช้กรณีตัวอย่างผู้ติดเชื้อ 41 ราย พบว่า อาการของไวรัสตัวนี้คล้ายกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส นั่นคือ ผู้ป่วยทุกรายมีอาการปอดบวม เกือบทุกรายมีไข้ สามในสี่มีอาการไอ และกว่าครึ่งหายใจขัด
อย่างไรก็ตาม เชื้อตัวใหม่มีอาการแตกต่างจากซาร์ส ตรงที่ว่าไม่มีน้ำมูกไหล ไม่จาม ไม่เจ็บคอ และไม่มีอาการเกี่ยวกับท้องไส้ เช่น ท้องร่วง ซึ่งผู้ป่วยโรคซาร์ส 20-25% มีอาการนี้
ผู้ติดเชื้อที่ศึกษาในรายงานชิ้นนี้เกือบทุกรายได้ไปที่ตลาดอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ในตอนกลางของจีน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแหล่งต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้
จากสัตว์สู่คน
นักวิจัยคิดว่า สัตว์ชนิดที่เป็นแหล่งที่มาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ ค้างคาว เช่นเดียวกับเชื้อของโรคซาร์ส ซึ่งพบว่าเชื้อซาร์สมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับของค้างคาว 80%
อย่างไรก็ดี เรายังไม่รู้ว่าสัตว์ชนิดไหนเป็นตัวการส่งผ่านเชื้อมายังมนุษย์ ทีมวิจัยของจีนเสนอว่าอาจเป็นงู แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแย้งว่า ไม่น่าใช่ ตัวการคงจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่า
วงการแพทย์จำเป็นต้องรู้ว่า ตัวการเป็นสัตว์ชนิดไหนกันแน่ เพื่อหาทางป้องกันการระบาด เมื่อครั้งเกิดโรคซาร์ส มีการระบุว่า ตัวการคือชะมด ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมของคนชอบเปิบอาหารป่า ทางการจึงสั่งห้ามเพาะเลี้ยง ห้ามกิน นับแต่นั้น โรคซาร์สไม่หวนกลับมาอีกเลย
ตรงข้ามกับกรณีเชื้อของโรคเมอร์ส ซึ่งมาจากอูฐหนอกเดียว สัตว์ใช้งานที่มีอยู่ทั่วไป การระงับการแพร่ระบาดจึงทำได้ยากกว่า
รบกับโรคระบาด
รัฐบาลจีนใช้ ‘ยาแรง’ ในการระงับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการสั่งปิดเมืองแล้ว 13 เมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน 40 ล้านคน
มาตรการกักกันโรคอย่างขนานใหญ่เช่นนี้ มีมาช้านาน โลกเคยใช้ควบคุมกาฬโรคในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 14 กับศตวรรษที่ 15 และมีการใช้ควบคุมกาฬโรคอีกครั้งที่เมืองมุมไบของอินเดียเมื่อศตวรรษที่ 19
ย้อนไปเมื่อไม่นานมานี้ โลกได้เห็นการปิดกั้นพรมแดนที่แอฟริกาตะวันตกเมื่อช่วงปี 2014-2015 ห้ามคน สัตว์ เรือ เครื่องบิน สัญจรเข้าออก เพื่อป้องกันเชื้ออีโบลา และเมื่อช่วงปี 2002-2003 เราได้เห็นการกักกันโรคในกรณีของซาร์ส ซึ่งเริ่มแพร่จากจีน
มาตรการแบบนี้ใช้แล้วได้ผลตามความมุ่งหวังเสมอไปหรือเปล่า ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ต้องระมัดระวังที่จะเกิดผลลัพธ์เป็นตรงกันข้าม เพราะเมื่อถูกห้ามไม่ให้ไปไหน ผู้คนจะตื่นตระหนก และอาจหาทางหลบหนีออกจากพื้นที่กักกัน
นอกจากนี้ ยาแรงอาจนำไปสู่เหตุจลาจล อย่างที่เกิดในจีนเมื่อปี 2003 ซึ่งประชาชนในเมืองนานกิงและเซี่ยงไฮ้ออกมาประท้วงจนบานปลายเป็นความรุนแรง เนื่องจากไม่พอใจกับมาตรการคุมเข้ม
ดังนั้น แม้ทางการของประเทศต่างๆ พยายามควบคุมการแพร่ระบาดในภาพรวมแล้วก็ตาม ในระดับบุคคล ประชาชนต้องดูแลต้วเองด้วย
วิธีระวังตัวที่ง่ายที่สุดนั้น เป็นแบบเดียวกับการป้องกันไวรัสโดยทั่วไปนั่นเอง คือ ล้างมือบ่อยๆ ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอจาม และสวมหน้ากากอนามัย
อ้างอิง:
AFP via France24, 24 January 2020
AFP, MedicalPress.com, 25 January 2020
Los Angeles Times, 25 January 2020
ภาพปก: DALE DE LA REY / AFP
Tags: เมอร์ส, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ไวรัส, ซาร์ส, ไวรัสโคโรนา