นับจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไป รัฐบาลฮ่องกงคงเดินหน้าใช้ไม้แข็งกับผู้ประท้วงหนักมือขึ้น กรณีตำรวจยิงผู้ประท้วง และกรณีคำสั่งห้ามผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ยิ่งโหมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปอีก น่าติดตามว่า ฮ่องกงจะถลำไปถึงขั้นใช้ ‘มาตรการทางทหาร’ หรือเปล่า

หลังจากยืนบนทางสองแพร่งมานานร่วมสี่เดือน แคร์รี หลำ ดูจะต้องเลือกแล้วว่า ระหว่างเส้นทางเลี้ยวซ้าย ใช้ ‘การเมือง’ ตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม กับหนทางเลี้ยวขวา ใช้ ‘กฎหมาย’ ปราบปราม ผู้บริหารเกาะฮ่องกงจะเลือกวิถีทางใดเป็นด้านหลัก

การประท้วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่าเข้มข้นรุนแรงกว่าที่แล้วๆ มามากทีเดียว เหตุการณ์ร้อนแรงขึ้นในทันทีที่ตำรวจยิงผู้ประท้วงวัย 18 ด้วยข้ออ้างป้องกันตัว รัฐบาลของแคร์รี หลำรับมือคลื่นการประท้วงที่ปะทุขึ้นตามมาในแทบทุกย่านด้วยการใช้อำนาจตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกคำสั่งประเดิม ห้ามผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก

กฎหมายยุคอาณานิคมฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวาง จึงประเมินแนวโน้มได้ว่า คำสั่งอย่างอื่นคงตามมาในไม่ช้า

นั่นเพราะดีกรีของการประท้วงเมื่อสุดสัปดาห์ ซึ่งส่งผลให้ฮ่องกงเป็นอัมพาต รถไฟใต้ดินต้องหยุดให้บริการ ถนนหลายสายถูกปิดกั้น ร้านรวงต้องหยุดค้าขาย ผู้คนเริ่มกักตุนอาหาร ขณะที่ผู้ประท้วงก็ยังคงสวมหน้ากากออกมากันเต็มท้องถนนนั้น ดูจะเป็นคำตอบในตัวว่า คำสั่งแรกนี้ใช้ได้ผลหรือไม่

5 ต.ค. 2019 (ภาพ: REUTERS/Tyrone Siu)

ศาลไม่รับไต่สวนคำสั่งรัฐบาล

เมื่อวันอาทิตย์ (6 ต.ค.) กลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติปีกประชาธิปไตยยื่นคำร้องต่อศาลสูง ขอให้ไต่สวนฉุกเฉินว่า คำสั่งห้ามสวมหน้ากากเป็นข้อห้ามที่ละเมิดธรรมนูญการปกครองของฮ่องกงหรือไม่ พร้อมกับร้องด้วยว่า อำนาจของฝ่ายบริหารตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจที่ล่วงล้ำก้ำเกินอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

ปรากฏว่า ศาลสูงไม่รับคำร้อง ปฏิเสธที่จะวินิจฉัยในปมประเด็นที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมองว่าเป็นการขัดกันของกฎหมายแม่บทกับกฎหมายในชั้นที่ต่ำกว่า

นี่อาจเป็นสัญญาณว่า ในสัปดาห์นี้ สถานการณ์ในฮ่องกงคงจะตึงเครียดขึ้นไปอีก เมื่อฝ่ายตุลาการปฏิเสธที่จะทัดทานเช่นนี้ รัฐบาลของแคร์รี หลำ คงจะใช้มาตรการอื่นๆ ตามมา เท่าที่กฎหมายฉุกเฉินได้ให้อำนาจไว้

เครื่องมือของฝ่ายบริหาร

คำสั่งห้ามสวมหน้ากากออกตามกฎหมายควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Regulations Ordinance) ซึ่งเจ้าอาณานิคมอังกฤษประกาศใช้เมื่อปี 1922 เพื่อเป็นเครื่องมือปราบปรามการประท้วงของลูกเรือประมงชาวจีน

ตามคำสั่งฉบับนี้ ไม่ว่าการชุมนุมจะได้รับอนุญาตจากตำรวจหรือไม่ ห้ามผู้ชุมนุมสวมหน้ากากในทุกกรณี ใครไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุก 1 ปี เมื่อผู้ชุมนุมถูกจับกุม เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ถอดหน้ากาก ใครไม่ยอมถอดเจอโทษจำคุกเพิ่มอีก 6 เดือน

4 ต.ค. 2019 (ภาพ: REUTERS/Jorge Silva)

คำสั่งนี้เพิ่งถูกใช้อีกครั้งนับแต่มีการใช้กฎหมายนี้เมื่อ 52 ปีก่อน คือตอนที่ฮ่องกงปราบจลาจลของฝ่ายซ้ายเมื่อปี 1967 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน และนับเป็นการใช้ครั้งแรกนับแต่ฮ่องกงกลับคืนเป็นของจีนเมื่อปี 1997

กฎหมายฉุกเฉินให้อำนาจแบบครอบจักรวาลแก่ผู้ปกครองของฮ่องกง โดยสามารถ ‘ออกคำสั่งใดๆ’ เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ร้ายแรงหรือภัยอันตรายที่จะเกิดแก่ประชาชนได้

ขอบเขตอันกว้างขวางเช่นนี้เปิดทางให้รัฐบาลของแคร์รี หลำนำมาตรการควบคุมต่างๆ มาใช้ได้ตั้งแต่เบาไปหาหนัก เช่น ปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ควบคุมการใช้ท่าเรือและสนามบิน เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จนถึงจับกุม ควบคุมตัว และสั่งเนรเทศบุคคลที่ถือเป็นตัวอันตราย

ที่หนักกว่านั้น ผู้บริหารมีอำนาจอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล และระงับการติดต่อสื่อสารได้

ที่หนักขึ้นไปอีก คืออำนาจของฝ่ายบริหารตามธรรมนูญการปกครอง มาตรา 14 เปิดช่องไว้ว่า รัฐบาลสามารถร้องขอให้กองทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนประจำฮ่องกงเข้า ‘รักษาความสงบ’ ได้ในกรณีเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายจนตำรวจเอาไม่อยู่

ที่หนักที่สุด มาตรา 18 ของธรรมนูญฯ บอกว่า คณะกรรมการประจำของสภาผู้แทนประชาชนจีนมีอำนาจประกาศสงคราม หรือประกาศภาวะฉุกเฉินในฮ่องกง ถ้าสถานการณ์เลวร้ายถึงจุดนั้น รัฐบาลปักกิ่งมีอำนาจออกกฎหมายสำหรับบังคับใช้ในฮ่องกงได้

ทางออกทางการเมือง

หลักพื้นฐานของการปกครองข้อหนึ่งมีอยู่ว่า ปัญหาการเมืองต้องแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง แต่นั่นย่อมขึ้นกับสถานการณ์ ที่ผ่านมา กรณีผู้บริหารฮ่องกงประกาศถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปจีน ซึ่งเป็นชนวนแรกของการประท้วง ออกจากสภา ถูกฝ่ายผู้ชุมนุมวิจารณ์ว่าเป็นการตอบสนองที่ ‘น้อยเกินไป สายเกินการณ์’

กรณีแคร์รี หลำจัดให้มีเวทีพบปะชาวฮ่องกงเพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเพิ่งจัดไปได้ครั้งเดียว เป็นอีกความพยายามของการแก้ปัญหาบนวิถีทางการเมือง ทว่าถึงตอนนี้ แค่เวทีรับฟังคงไม่เพียงพอแก่สถานการณ์เสียแล้ว

อันที่จริง ทางออกทางการเมืองยังไม่ปิดตาย แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลฮ่องกงไม่เลือกเส้นทางนี้ นั่นคือ ยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่ขอให้สอบสวนการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจ ขอให้ยกเลิกข้อหาของผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม และขอให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารทางตรง

แนวโน้มของสถานการณ์ข้างหน้า ดูน่าหวาดหวั่น เมื่อวันศุกร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด แนะทางออกทางการเมืองว่า แคร์รี หลำควรลาออก พร้อมคาดการณ์ว่า ท้ายที่สุด รัฐบาลจีนจะส่งทหารเข้าปราบปรามในฮ่องกงเหมือนเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา รัฐบาลของแคร์รี หลำ คงต้องรีบตัดสินใจให้ชัดเจน.

อ้างอิง:

Reuters, 4 October 2019

AFP via Yahoo! News, 4 October 2019

AFP via ChannelNews Asia, 6 October 2019

ภาพปก: REUTERS/Athit Perawongmetha

Tags: , , ,