กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง คือ ปัจฉิมบทสำหรับความมีอิสระของฮ่องกง นับจากนี้ไป เสียงเรียกร้องประชาธิปไตยอาจแผ่วลง สื่อมวลชน นักวิชาการ อาจเซ็นเซอร์ตัวเอง นักกิจกรรมอาจหลบลี้หนีภัย เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพอาจหมายถึงคุกตะราง
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์บอกว่า กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงที่จีนประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา สามารถใช้เอาผิดฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างกว้างขวางกว่าที่คาดคิดกันแต่แรก เนื่องจากเครื่องมือใหม่ของรัฐบาลปักกิ่งที่ว่านี้มีผลใช้บังคับครอบคลุมไกลออกไปนอกอาณาเขตของประเทศจีนด้วย
ที่สำคัญ การกระทำแบบไหนเข้าข่ายเป็นความผิด กฎหมายเขียนไว้ด้วยถ้อยคำกว้างๆ แบบครอบจักรวาล จึงขึ้นกับการตีความของผู้ถือกฎหมาย
แค่ไหน อย่างไร เข้าข่าย ‘ผิด’
กฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 66 มาตรา ใช้เวลาจัดทำแค่ 6 สัปดาห์ก็ประกาศใช้ บัญญัติข้อกล่าวหาต่างๆ 4 ข้อ ทุกข้อมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
ความน่าวิตกอยู่ตรงที่ว่า การกระทำอะไร อย่างไร จึงถือว่าเป็นความผิดฐานแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง ก่อการร้าย หรือคบคิดกับต่างชาติบ่อนทำลายความมั่นคง
แอนโทนี ดาพีแรน ทนายความชาวฮ่องกง ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับขบวนการประท้วงในฮ่องกง หยิบยกตัวอย่างขึ้นตั้งเป็นคำถามว่า ในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งกฎหมายบัญญัติรวมถึงการโจมตีการคมนาคมขนส่งนั้น กรณีผู้ประท้วงขัดขวางการเดินรถไฟฟ้า อย่างที่เคยทำเมื่อปีที่แล้ว จะส่งผลให้ถูกจับกุมด้วยข้อหาร้ายแรงนี้หรือเปล่า
กฎหมายฉบับนี้ยังจัดตั้ง ‘สำนักงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติประจำฮ่องกง’ ขึ้นมา โดยมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของจีนเข้าไปประจำการ ทั้งตัวสำนักงานและบุคคลากร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฮ่องกง แต่อยู่ใต้กฎหมายจีน (ม.60) ดังนั้น เจ้าหน้าที่ฮ่องกงไม่มีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้น หรือควบคุมตัว
ขณะเดียวกัน กฎหมายกำหนดให้ฮ่องกงจัดตั้งคณะกรรมการความมั่นคงของตัวเองขึ้นชุดหนึ่ง โดยมีที่ปรึกษามาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลจีน อีกทั้งยังเปิดช่องว่า ผู้บริหารฮ่องกงมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาสำหรับคดีความมั่นคงด้วย (ม.44) ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลถึงความมีอิสระของศาล
บางคดีจะพิจารณาเป็นการลับ (ม.41) บางคดีอาจไม่ให้ประกันตัว (ม.42) และบางคดีอาจไม่ให้มีทนาย โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเอาไว้ได้นาน ‘ตามความสมควรแก่เวลา’ (ม.46)
ชำแหละรายมาตรา
โดนัลด์ คลาร์ก ผู้ศึกษาระบบกฎหมายจีน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ชี้ว่า ตามมาตรา 38 การทำผิดแม้เกิดขึ้นนอกเขตแดนจีน ไม่ว่าผู้กระทำความผิดเป็นชาวฮ่องกงหรือชาวต่างชาติ ล้วนเข้าข่ายถูกดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น หากเหยียบย่างเข้าไปในฮ่องกง หรือจีนแผ่นดินใหญ่
ดังนั้น คอลัมนิสต์คนไหนเขียนลงหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ สนับสนุนเอกราชของทิเบต ถ้าวันหนึ่งแวะเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง หรือไปเที่ยวเมืองจีน อาจถูกรวบตัวก็เป็นได้
อีกตัวอย่างของการเขียนกฎหมายกว้าง คือ มาตรา 29 ตรงที่บัญญัติว่า ใครสมคบกับต่างชาติปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐบาลจีน หรือรัฐบาลฮ่องกง ถือเป็นความผิด คำถามเกิดขึ้นว่า แล้วถ้าวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีสิทธิ์ติดคุกใช่ไหม
มาตรา 55 เป็นอีกข้อที่คลุมเครือพอๆกัน เพราะเขียนว่า ในคดีที่มีลักษณะ ‘ซับซ้อน’ หรือ ‘ร้ายแรง’ หรือ ‘ยาก’ นั้น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของจีนมีสิทธิที่จะเข้าสอบสวนคดีด้วย
บางมาตราไม่ได้มีปัญหาที่การตีความ แต่เป็นปัญหาความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่นมาตรา 56 เขียนว่า บางคดีอาจส่งไปดำเนินการในจีนแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่ขั้นตอนของการสอบสวน พิพากษา จนถึงลงโทษ
กำราบเสียงเพรียกเสรีภาพ
คลอเดีย โหมว สมาชิกฝ่ายค้านในสภานิติบัญญัติฮ่องกง บอกว่า เป้าหมายของกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ คือ ทำให้ฮ่องกงไม่มีตัวตน ผู้คนจะหวาดผวา รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มีใครกล้าพูดหรือกล้าทำอะไรขวางทางจีน
โหมวซึ่งเคยเป็นนักข่าวมาก่อน บอกอีกว่า สื่อมวลชนกับนักวิชาการเป็นคนอีกกลุ่มที่จะเงียบเสียงลง เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง เสรีภาพสื่อมวลชนก็จะหายไป นักวิจารณ์จะไม่กล้าให้ความเห็นกับสื่อ และสื่อจะเซ็นเซอร์ตัวเอง
แน่นอนว่า ฝ่ายจีนย่อมมองคนละมุม รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการมาเก๊าและฮ่องกง จางเสี่ยวหมิง บอกว่า กฎหมายดังกล่าวจะนำเสถียรภาพกลับคืนสู่เขตปกครองพิเศษแห่งนี้ ฮ่องกงจะเดินไปในแนวเดียวกับแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ทั้งในด้านตัวบทกฎหมาย กระบวนการ และแบบแผนการปฏิบัติ
กฎหมายความมั่นคงดูจะทำให้เกิดคำถามถึงคำมั่นสัญญาของจีน ที่จะธำรงรักษาความมีอิสระของฮ่องกง ภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’
อ้างอิง:
AFP via Yahoo! News, 1 July 2020
Tags: ฮ่องกง, จีน, กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง