เมื่อโรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส คุณแม่ผู้ตั้งครรภ์หลายๆ คนจึงเลือกจะคลอดที่บ้าน และบางคนได้มีการบันทึกช่วงเวลาสำคัญเหล่านี้เอาไว้ เช่นสองคุณแม่ชาวอเมริกันอย่าง คิมเบอร์ลี บอนซิญญอร์ ที่อนุญาตให้เนชันแนล จีโอกราฟิก เข้าไปบันทึกภาพและเรื่องราวระหว่างคลอด และ แนนซี เปโดรซา ที่อนุญาตให้รอยเตอร์สบันทึกเรื่องราวของเธอเช่นกัน
แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กประกาศข้อบังคับ ให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเข้าไปอยู่ในห้องคลอดได้เพียงคนเดียว และคนคนนั้นต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัส เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ถึงอย่างนั้น โรงพยาบาลก็นับเป็นพื้นที่เสี่ยงอย่างยิ่ง บอนซิญญอร์ วัย 33 ปีจึงเลือกจะคลอดที่บ้าน โดยเธอติดต่อผู้ผดุงครรภ์และผู้ช่วยคลอด (doula) ที่เคยช่วยเธอทำคลอดลูกคนแรกให้มาช่วยในการคลอดครั้งนี้ด้วย (ผู้ช่วยคลอดคือผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคลอดแต่ไม่ได้มีใบรับรองเหมือนนักผดุงครรภ์)
บอนซิญญอร์ติดต่อผู้ผดุงครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ โดยมีการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ก่อนในเบื้องต้นเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกัน จนกระทั่งเริ่มเจ็บท้องคลอด ผู้ผดุงครรภ์และผู้ช่วยคลอดจึงเดินทางมาที่บ้านบอนซิญญอร์เพื่อเตรียมการ ที่สำคัญที่สุดคือสระน้ำเป่าลมที่ถูกนำมาตั้งในห้องนั่งเล่นและเติมน้ำอุ่นเตรียมไว้เพื่อลดความเจ็บปวดของคุณแม่ระหว่างคลอด ระหว่างนั้นจะมีการเช็กจังหวะการเต้นของหัวใจเด็กทุกๆ ครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งปากมดลูกเปิดแล้ว เธอจึงเริ่มบอกให้คุณแม่เบ่ง
เนชันแนล จีโอกราฟิก บันทึกเรื่องราวไว้ตั้งแต่ที่คุณแม่เริ่มท้องแข็ง เจ็บท้องคลอด เริ่มคลอด จนกระทั่งเด็กคลอดออกมาโดยมีสายสะดือพันคอ โชคดีที่ผู้ผดุงครรภ์ช่วยเด็กเอาไว้ได้ เด็กหญิงซูเซตเต้ บอนซิญญอร์ คลอดออกมาอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2020
ขณะที่เปโดรซา วัย 27 ปี นี่เป็นท้องแรกของเธอ เธอจึงเลือกคลอดที่บ้านเพื่อให้สามีของเธอได้อยู่ข้างๆ เป็นกำลังใจ พร้อมกับมีผู้ผดุงครรภ์ดูแลอย่างใกล้ชิด และมีคัลลาแกน โอแฮร์ นักข่าวจากรอยเตอร์สคอยบันทึกภาพไว้ตั้งแต่เริ่มติดต่อกับผู้ผดุงครรภ์ที่ลดราคาการทำคลอดครั้งนี้ให้และเตรียมบ้านของตัวเองไว้ให้เปโดรซาได้ไปคลอดที่นั่น แต่เธอคลอดช้ากว่ากำหนด ในที่สุดเมื่อเจ็บท้องคลอดกะทันหัน จึงต้องมาทำคลอดที่บ้านของเปโดรซาเอง
อย่างไรก็ตามระหว่างที่พยายามทำคลอดที่บ้านกันเป็นเวลานาน โดยเธอต้องทนกับอาการเจ็บท้องอยู่กว่า 12 ชั่วโมง จนเมื่อเริ่มเบ่งคลอด ผู้ผดุงครรภ์พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจเด็กต่ำมากจนอยู่ในขั้นอันตราย จึงตัดสินใจโทรเรียกรถพยาบาล และเปโดรซาจึงไปคลอดที่โรงพยาบาลในที่สุด
“มันน่ากลัวจริงๆ และมันเกือบจะเหนือจริงไปแล้ว ฉันรู้สึกเสียใจกับเปโดรซา เพราะเธอพยายามทำทุกทางที่จะหลีกเลี่ยงโรงพยาบาล แต่สุดท้ายเธอก็ต้องไปที่นั่น” โอแฮร์ นักข่าวที่บันทึกช่วงเวลาตึงเครียดทั้งหมดเอาไว้ กล่าว
แม้จะมีปัญหาขลุกขลัก ไค โรฮาน มอร์แกน ลูกชายของเปโดรซาก็คลอดออกมาอย่างปลอดภัยในที่สุด เมื่อวัน 8 เมษายน
ช่วงเวลาเหล่านี้ถูกบันทึกเอาไว้อย่างละเอียดและน่าประทับใจ หากใครมีเวลาสามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ลิงค์อ้างอิงด้านล่าง
แนวโน้มการคลอดบุตรที่บ้านในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส ก่อนหน้าที่จะมีการระบาด คุณแม่จำนวน 1.61 เปอร์เซ็นในสหรัฐฯ เลือกคลอดที่บ้าน ทั้งด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการรับยาสลบหรือบล็อกไขสันหลัง ต้องการคลอดโดยธรรมชาติ จนถึงความเชื่อทางจิตวิญญาณ ฯลฯ และเป็นไปได้หรือไม่ว่านี่อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งใน new normal ของโลกหลังจากนี้
อ้างอิง:
https://www.nationalgeographic.com/history/2020/05/inside-a-home-birth-in-the-time-of-coronavirus/
https://edition.cnn.com/interactive/2020/05/health/coronavirus-pregnancy-birth-cnnphotos/index.html
ภาพ: Callaghan O’Hare / Reuters
Tags: home birth, โควิด-19, คลอดที่บ้าน