หนึ่งในแบรนด์ไฮสตรีตที่มาแรงที่สุดในปีนี้ เห็นจะเป็น เฮรอน เพรสตัน (Heron Preston) โดยเฉพาะคอลเล็กชั่นนาซ่าที่ทำให้เกิดเทรนด์เสื้อผ้าโลโก้นาซ่าไปทั่วโลก ไม่เพียงทำเสื้อผ้าสไตล์สตรีตแวร์เจ๋งๆ ที่ถูกใจคนรุ่นใหม่เท่านั้น ตอนนี้เขายังหันมาสนใจเรื่องแฟชั่นที่ยั่งยืนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมแฟชั่นซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและทำลายสิ่งแวดล้อมสูงเป็นอันดับสองก็เริ่มจะขยับตัวให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นขนาดใหญ่ของโลกอย่างซาร่า ที่เตรียมหันมาใช้ผ้าเพื่อความยั่งยืนให้ได้ภายในปี 2025 ไนกี้ที่ประกาศใช้ขยะพลาสติกจากท้องทะเลมาทำรองเท้า เช่นเดียวกันกับแบรนด์คอนเวิร์ส หรือแบรนด์หรูระดับโลกจากอิตาลีอย่างแอร์เมเนจิลโด เซนญา ที่นำเอาผ้าที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตของแบรนด์กลับมาสร้างสรรค์ใหม่ เรียกได้ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นแค่เทรนด์แฟชั่น แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ หากเรายังอยากให้โลกใบนี้เป็นโลกที่น่าอยู่ต่อไปในอนาคต

สำหรับเฮรอน เพรสตัน แบรนด์สตรีตสไตล์จากอเมริกาของเฮรอน เพรสตัน จอห์นสัน หนุ่มนักเรียนแฟชั่นจากพาร์สัน ที่เพิ่งจะได้รับการเสนอชื่อรางวัล CFDA Awards ในสาขาดีไซเนอร์ดาวรุ่งในปีนี้ เฮรอน เพรสตัน เริ่มสนใจในประเด็นนี้หลังจากที่เขาได้อ่านโควตจากบทสัมภาษณ์ของ ไอลีน ฟิชเชอร์ (Eileen Fisher) ดีไซเนอร์ผู้ที่หันมาทำเรื่องแฟชั่นและความยั่งยืนอย่างจริงจังที่ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อันดับสองที่สร้างมลภาวะให้แก่โลกและสิ่งแวดล้อม

หลังจากนั้น เฮรอน เพรสตัน ก็มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงาน Tiny Factory ของไอลีน ฟิชเชอร์ ที่ย่านเออร์วิงตัน ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นโรงงานที่นำเอาเศษผ้า ผ้าเหลือใช้ ผ้าเก่า มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลและทำเป็นผ้าใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอีกครั้ง ดังเช่นในแบรนด์ของเธอ นอกจากนี้ เธอยังพยายามเชิญชวนดีไซเนอร์ บริษัทผลิตเสื้อผ้าต่างๆ มาดูงานที่โรงงงานนี้ และพยายามโน้มน้าวให้คนหันมาใช้ผ้าจากการรีไซเคิลในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดจากผ้าและลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ 

ผมไม่คิดว่าอุตสาหกรรมสตรีตแวร์สนใจเรื่องความยั่งยืนเท่าที่ควรในตอนนี้ แต่ผมรู้สึกว่าผู้บริโภคใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสิ่งนี้เองจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ดีไซเนอร์หรือแบรนด์เสื้อผ้าหันมาเข้าสู่กระบวนการการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้นเฮรอน เพรสตัน กล่าว

เฮรอน เพรสตัน เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้อย่างมาก ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาร่วมมือกับพันธมิตรสหประชาชาติเพื่อแฟชั่นที่ยั่งยืน (United Nations Alliance for Sustainable Fashion – UNASF) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ของสหประชาชาติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานกับวงการแฟชั่นในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 แบรนด์เสื้อผ้าทั้งหมดจะหันมาใช้ผ้าและกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน

โดยเฮรอน เพรสตัน และ UNASF ได้เดินทางไปยังเมืองไนโรบี ประเทศเคนย่า เพื่อสำรวจตลาดผ้ามือสองในแอฟริกา และหาทางนำเอาเสื้อผ้ามือสองจากหลากหลายตลาดทั่วโลกมาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เขาได้ตัดสินใจหันมาใช้ฝ้ายออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองมาผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ Heron preston ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากไอลีน ฟิชเชอร์นั่นเอง

ไม่เพียงแค่นั้น ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฮรอน เพรสตัน ยังขึ้นเวทีเสวนาในเรื่อง “Can Fashion Change The World” ซึ่งจัดโดย Depop แอปพลิเคชันสำหรับช้อปปิ้ง ซึ่งมีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 13 ล้านคน โดยในงานเสวนาในครั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นมากมาย โดยจากการศึกษาของสถาบัน New York City Department of Sanitation พบว่า ในปี 2017 ในนิวยอร์ก มีผ้าและเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะสูงถึง 2 แสนกิโลกรัมเลยทีเดียว ผ้าเหล่านี้สามารถนำไปทำเป็นเสื้อยืดได้ประมาณ 800 ล้านตัว และนิวยอร์กก็ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อตัน ในการจัดการขยะที่เกิดจากผ้าเหล่านี้ ในขณะที่ทุกๆ ซีซั่น แบรนด์ดีไซเนอร์ทั่วโลกต่างก็ออกเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ตลอดเวลา

จากการได้ไปเยี่ยมชม Tiny Factory ของไอลีน ฟิชเชอร์ และการทำงานกับ UNASF ที่ผ่านมา เฮรอน เพรสตัน พยายามหาพันธมิตรในวงการแฟชั่นเพื่อขับเคลื่อนแฟชั่นที่ยั่งยืนให้ได้ และหนึ่งในพันธมิตรของเขาก็คือเวอร์จิล แอบโลห์ จากแบรนด์ Off-White ซึ่งช่วยกันทำคอลเล็กชั่นแฟชั่นที่ยั่งยืนให้กับนักร้องชื่อดัง จัสติน ทิมเบอร์เลก ในการออกทัวร์

ในขณะที่เฮรอน เพรสตันเอง ร่วมมือกับ New York City’s Department of Sanitation ในการนำเอายูนิฟอร์มทหารเก่า 9,000 ชุดมาสร้างสรรค์เป็นคอลเล็กชั่นพิเศษออกจำหน่าย โดยเขาสร้างสรรค์เป็นคอลเล็กชั่นชื่อ “JUMP” ที่ผลิตจากผ้าร่มและยูนิฟอร์มของทหารทั้งหมดที่กำลังจะถูกกำจัดให้กลายเป็นขยะ คอลเล็กชั่นนี้มีเสื้อผ้า 12 รูปแบบ ทั้งแจ็กเก็ตกันลม กางเกงขาสั้น กางเกงกีฬา เสื้อฮู้ด เสื้อทีเชิ้ต กระเป๋าเป้ และกระเป๋าสะพาย โดยวางจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ssense.com และช็อปของ Heron Prestonในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา

มันคือความอยากรู้อยากเห็นและความท้าทายที่อยากจะทำแฟชั่นให้ดีกว่านี้ ผมเพิ่งได้เรียนรู้และค้นพบว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายนั้นสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่รู้เลย และไม่รู้เลยว่า ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นเฮรอน เพรสตัน กล่าว

คาดว่าอีกไม่นาน เราจะได้เห็นคอลเล็กชั่นเต็มของแบรนด์ Heron Preston ที่สร้างสรรค์มาจากจิตวิญญาณที่ต้องการให้แฟชั่นรักษ์โลกในแบบที่มันควรจะเป็น

อ้างอิง

https://hypebeast.com/2019/8/heron-preston-ssense-exclusive-jump-capsule-release?

http://officemagazine.net/heron-preston-sustainability-workwear-and-showing-inauguration-day

https://wwd.com/fashion-news/fashion-scoops/heron-preston-visits-nairobi-with-united-nations-alliance-for-sustainable-fashion-1203090878/

https://wwd.com/fashion-news/fashion-scoops/heron-preston-iris-alonzo-on-sustainability-at-depop-live-1203164469/

https://www.glossy.co/sincerity-sustainability/how-heron-preston-is-bringing-sustainable-practices-to-the-streetwear-industry

ภาพ : Heron Preston

Tags: , , ,